วันปิดเทอมอาจจะเป็นวันที่เด็กๆ รอคอย แต่กับพ่อแม่บางคนแล้ว อาจจะต้องปวดหัวหนักเลยทีเดียว เพราะมันหมายถึงการต้องเลี้ยงลูกแบบเต็มเวลาควบคู่ไปกับการทำงานเต็มเวลาด้วยเช่นเดียวกัน
การเป็นผู้ปกครองในวันที่เด็กๆ ปิดเทอม โดยเฉพาะในวัยที่กำลังต้องการการเอาใจใส่และกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา จึงเปรียบเสมือนผู้กำกับใหญ่ในหนังครอบครัวของตนเองด้วย แน่นอนว่า เป้าหมายของหนังเรื่องนี้จะต้องออกมาดีที่สุดทั้งต่อตัวผู้ปกครองเอง และต่อเด็กๆ ที่เขารัก
พ.ญ. โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ รองผู้อำนวยการฯ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า เมื่อเด็กๆ ปิดเทอม และไม่ว่าเด็กจะอยู่กับบ้านที่มีแม่เต็มเวลา หรือต้องอยู่กับแม่ที่ทำงานออฟฟิศ สิ่งสำคัญอยู่ที่กว่าสถานที่คือ เวลาที่เด็กๆและผู้ปกครองได้อยู่ร่วมกันนั้น “มีคุณภาพ” มากแค่ไหน
“ถ้าเราพูดถึงกลุ่มเด็กประมาณอนุบาลหรือประถมตอนต้น คือวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้เป็นหลัก เป็นช่วงวัยที่เด็กส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความพร้อมต่อวิชาการมากนัก ยังไม่นิ่ง ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะเป็นการเปิดประสบการณ์ที่หลากหลาย จะส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะชีวิตมากกว่า และส่งผลต่อความพร้อม ความอยากเรียนรู้วิชาการทางอ้อม ช่วงปิดเทอมจึงควรให้เด็กได้อยู่กับการเล่น กับธรรมชาติมากกว่าการเรียน”
“และหากต้องติดอยู่กับที่ทำงานพ่อแม่ช่วงปิดเทอม มันอยู่ที่ว่าเด็กได้ทำอะไรบ้าง การอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ก็มีส่วนด้านดี โดยเฉพาะเด็กในเมือง เพราะช่วงเปิดเทอมเด็กหลายคนก็แทบจะไม่ได้มีโอกาสใช้เวลากับคุณพ่อคุณแม่ แต่ช่วงปิดเทอม ต่อให้ไปที่ทำงานกับคุณพ่อคุณแม่ โดยพวกท่านยังต้องทำงานแต่เด็กก็ยังได้รู้สึกว่าได้ใกล้ อาจสร้างแรงบันดาลใจด้านอาชีพ หรือเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีความลำบากในการทำงาน อย่างไรก็ต้องดูว่า ได้ใช้เวลาคุณภาพด้วยกันหรือเปล่า หากไปที่ทำงานแล้วไปฝากคนอื่นเลี้ยง หรือไปที่ทำงานแต่ถูกจำกัดสถานที่ อิสระมาก เช่น ต้องนั่งนิ่ง ๆ ทั้งวันอาจจะยิ่งเกิดความกดดันต่อตัวเด็ก หรือถูกตำหนิโดยไม่จำเป็น ซึ่งอันนี้จะกลายเป็นผลลบมากกว่าผลดี”
และเหล่านี้คือตัวอย่างกิจกรรมบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถร่วมทำกับลูกได้ แม้จะต้องวุ่นวายกับการทำงาน หรือกิจกรรมทางบ้านจนไม่สามารถพาลูกๆ ออกไปที่ไหนไกลจากบ้านมากนักได้
1. ทำบ้านให้กลายเป็นโรงเรียนแห่งความสนุกสนาน
งานวิจัยกล่าวว่า เด็กๆ จะสูญเสียทักษะทางด้านคณิตศาสตร์มากกว่าการอ่านหนังสือในช่วงปิดเทอม เพราะพ่อแม่ (ที่ใส่ใจลูก) มักจะสนใจในเรื่องการฝึกทักษะการอ่านมากกว่าการคำนวน แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเพิ่มพูนทักษะคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องเคร่งเครียดเลยสักนิด และมีหลายวิธีการมากด้วย อาทิ
- ชวนเด็กๆ ทำอาหาร การชั่ง ตวง วัด ปริมาณของส่วนผสมในอาหาร เบเกอรี่ ของคาว ของหวาน ต่างๆ นั้น ล้วนเป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนานได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้ได้กับทุกหลายช่วงวัย เช่น เป็นจำนวนธรรมดา อย่าง 2 ช้อนชา 3 ช้อนโต๊ะ อาจจะเหมาะกับลูกคนเล็ก แต่เมื่อไรที่เราต้องการส่วนผสมเป็น เศษ 1 ส่วน 4 ช้อนชา ลูกคนเล็กอาจจะต้องพึ่งพาพี่คนโตก็เป็นได้ ดังนั้น นอกจากจะได้ทักษะคณิตศาสตร์แบบสนุกสนานแล้ว ยังได้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย
2. ระดมพลสร้างสิ่งประดิษฐ์อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างพัฒนาการทางกายให้เด็กๆ
งานศิลปะ งานประดิษฐ์ วาดรูป ระบายสี งานปั้น และอีกหลายรูปแบบ ล้วนแล้วแต่เป็นการละเล่นที่นอกจากจะนำความเพลิดเพลินมาให้กับเด็กๆแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ สติปัญญา และกายภาพของเด็กๆ ด้วย
คุณเชอร์รี่ อัญะพัชร์ จินดานนท์ คุณแม่ลูกสอง เจ้าของเพจ “โอ้…มายลูก” และ “เมนูลูกรัก” เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมที่ให้เด็กๆทำเสริมระหว่างอยู่บ้าน
“เด็กๆ เรียนโรงเรียนทางเลือกที่เน้นทำกิจกรรม เวลาอยู่บ้านก็จะทำกิจกรรมตลอด ไม่อย่างนั้นเขาจะเซ็งๆ เพราะไม่มีอะไรทำ ทำให้คุณแม่ไม่สามารถนั่งเฉย ๆ ได้ แล้วลูก 2 คนคนละวัย กิจกรรมบางอย่างร่วมกันได้ บางอย่างก็ร่วมกันไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะหากิจกรรมที่ทำด้วยกันได้ เพราะในความเป็นจริงมันแยกกันยาก
ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็ระบายสีมาก่อน แต่ว่าเราจะมีโจทย์ว่าเราจะไม่ทำเหมือนเดิม คืออาจจะต้องหาหลอด หาใบไม้มาประดิษฐ์แต่งเติม คือหาของเหลือใช้ต่างๆมาให้เขาทำ เขาก็จะมีเทคเจอร์ต่างๆในการวาด เช่น วาดบนกล่อง บนกระถาง เขาก็จะทำไปเรื่อยๆ ของเขา พอเบื่อวาดรูปก็ไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ กินขนม แต่ทุกอันที่พูดมาเราต้องทำกับเขาหมด โดยเราอาจจะเป็นคนตั้งต้น เช่น การปั้นแป้งโด เราก็ต้องเริ่มทำตั้งแต่นวดแป้ง เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเขาได้รับการบริหาร คนเล็กอาจจะปั้นได้ไม่ดีเท่าคนโตเพราะกล้ามเนื้อยังไม่ดีเท่า จากนั้นก็ให้เขาเป็นคนเลือกสีเอง ผสมสีเอง จากนั้นก็มาเล่นกัน ปั้นเล่น บางอันเราก็มีบล็อกให้เขา เป็นรูปต่างๆ กิจกรรมนี้ก็ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน แล้วก็ไปทำอย่างอื่นต่อ
กิจกรรมที่ทำมาทั้งหมดมันส่งผลตอนโตได้หมด อย่างแป้งโดก็ช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็ก ส่วนเรื่องมัดใหญ่ ก็จะต้องไปวิ่งไปออกกำลังกาย ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้วย เช่น กล้ามเนื้อมัดเล็กดีก็จะเขียนหนังสือได้ดี หรือหากตอนเล็กๆ เขาจับช้อนกินเองได้เร็ว เขาก็จะทำอย่างอื่นได้ดี เช่นผูกเชือกร้องเท้าได้เอง ก็ตามสเต็ปของเขา”
3. ทาสีผนัง รั้ว ทางเดินของบ้านด้วยกัน
แป้งข้าวโพด พู่กัน สีผสมอาหาร และเหยือก เพียงแค่นี้ก็สามารถสร้างความสนุกสนานพร้อมทักษะในการแยกสีสันต่างๆให้กับลูกๆได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นกิจกรรมยามว่างที่ทำให้ผู้ปกครองและลูกๆ ได้ใช้เวลาร่วมกันด้วย และจะทำให้ผนังบ้าน หรือรั้วบ้านของคุณดูมีชีวิตชีวาและมีความทรงจำอันน่าประทับใจด้วย เน้นว่า…เป็นแป้งข้าวโพดและสีผสมอาหารนะ
4. ช่วยกันทำ family tree
ช่วยกันส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก รวมทั้งให้ความรู้สึกผูกพันกับทั้งครอบครัว ด้วยการพรินต์รูปครอบครัว ตั้งแต่คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย พ่อ แม่ รวมถึงตัวเด็กเอง แล้วนำภาพเหล่านั้นมาติดที่ต้นไม้ที่เด็กๆ ประดิษฐ์ขึ้นเองจากกระดาษที่เตรียมไว้ เพียงเท่านี้ แม้สังคมปัจจุบันจะไม่ใช่สังคมขยายที่ทุกคนอยู่รวมกันในบ้านหลังใหญ่ แต่เด็กๆ ก็จะรู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับทุกๆคนได้อย่างง่ายดาย
5. ปั่นจักรยานกันทั้งครอบครัวที่สวนใกล้บ้าน
นับเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ทั้งการออกกกำลังกาย และได้แสดงความรักความผูกพันที่ทุกๆคนในครอบครัวมีต่อกัน ดังนั้นจงเตรียมจักรยานและอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัยให้พร้อม จากนั้นก็ไปกันเลย
6. ร่วมกันสร้างสิ่งประดิษฐ์จากขยะรีไซเคิล
ในยุคที่ผู้คนตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก การลดโลกร้อน และการดูแลขยะในบ้านเรือนของตนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ทั้งทางบกและทางทะเล จะเป็นอย่างไรหากเราสอนลูกหลาน ให้รู้จักคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในบ้านให้เป็นประโยชน์สูงสุด ลองให้เด็กๆที่บ้าน ออกแบบให้กล่องกระดาษเหลือใช้ให้กลายร่างเป็นสัตว์เลี้ยงที่เขาชื่นชอบ หรือบ้านตุ๊กตาดูสิ
7. อ่านหนังสือ…ด้วยกัน
มันอาจจะดูเป็นกิจกรรมง่ายๆ สบายๆ ที่หลายๆ บ้านร่วมกันทำมานานแล้ว แต่ถ้าหนังสือนั้นไม่ใช่นิทานก่อนนอนล่ะ ถ้าหนังสือนั้นถูกคัดเลือกและตัดสินใจโดยคุณพ่อคุณแม่และลูกๆ ไม่ใช่เพียงหนังสือที่คุณแม่อยากให้ลูกอ่าน แต่เป็นหนังสือที่ลูกอยากอ่านและคุณแม่พิจารณาแล้วว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับวัยและจะช่วยด้านการพัฒนาการในด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกๆด้านให้กับลูก แน่นอนว่า หนังสือเล่มนั้น ก็จะกลายเป็นหนังสือสุดพิเศษเล่มหนึ่งเลยทีเดียว
เป็นอย่างไรกันบ้าง มีกิจกรรมไหนที่คิดอยากจะนำไปทำร่วมกับเด็กๆกันบ้างหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม พ.ญ. โชษิตา ก็ยังได้ฝากทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกิจกรรมของเด็กวัยกำลังเรียนรู้อย่างน่าสนใจ
“จริงๆ แล้วเด็กวัยเรียนยังต้องการกิจกรรมทั้งฝึกความนิ่งภายในและส่งเสริมความแข็งแรงร่างกายภายนอก เพื่อเพิ่มความสมดุล เช่น มีกิจกรรมในเชิงการเคลื่อนไหว ได้ออกแรง กับกิจกรรมเพิ่มความนิ่งหรือสมาธิ ทั้งการวิ่งเล่นอิสระ ดนตรี ศิลปะ หรือ การฝึกทักษะชีวิต เช่น งานบ้าน ทำอาหาร หรือ เรื่องของกิจกรรมที่เสริมทักษะความคิด หรือการฝึกแก้ปัญหาต่างๆ ทุกอย่างที่เด็กยังไม่เคยทำมัน ช่วยได้หมดเลย
เรื่องการจัดการเวลาและจังหวะกิจกรรมในชีวิตเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่ใช่แค่ปิดเทอม แต่เปิดเทอมเด็กก็ต้องการกิจกรรมพวกนี้ในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ เด็กหลายคนช่วงเปิดเทอมก็วิชาการมากเกินไป ปิดเทอมก็คืออิสระมากเกินไป ซึ่งมันกลายเป็นสุดโต่งมากจนเกินไป ก็ส่งผลไม่ดีกับเด็ก
“ที่ดีที่สุดคือ ความพอดีที่ต้องดูเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละคน ไม่ได้ให้เด็กต้องรู้สึกปรับตัวอยู่ตลอดเวลา”
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก
- https://www.weareteachers.com/at-home-learning-a-guide-for-parents/
- https://parentsafrica.com/2018/10/29/fun-ideas-during-school-break-activities/
- https://thesimpleparent.com/diy-kids-crafts-diy-sidewalk-paint/
- https://rentickets.org/learn-more/blog/five-arts-activities-for-school-break/
- https://www.simplystacie.net/2013/05/family-photo-tree-craft/