“เลี้ยงลูกอย่างไรให้ดี…ทั้งที่ครั้งหนึ่งตัวเองเคยมีภาวะซึมเศร้า”

ที่ในวันนี้… เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณแม่ตุ๊ก นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์” คุณแม่ที่มีลูกสาว ที่ทั้งเก่ง ฉลาด น่ารัก และเป็นธรรมชาติด้วยกันถึง 2 คน อย่าง น้องจิน และ น้องเรนนี่ รวมทั้งเป็นเจ้าของแฟนเพจเฟสบุ๊ค Little Monster และ A Mom 2 Dauthers แล้วยังเป็นเจ้าของช่องยูทูปที่ทำคอนเทนต์เรื่องของเด็ก ๆ และครอบครัวอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะใน Little Monster Family, Little Monster Kids รวมถึงในอินสตาแกรม ที่ใช้ชื่อว่า littlemonsterrocknroll ฯลฯ ที่มียอดผู้ติดตามทั้งสิ้นในทุก ๆ แพลตฟอร์มเกือบ 5 ล้านคน ณ ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเคยได้รับรางวัล Best Influencer on Social Media 2018 สาขา Kids and Family (ผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียยอดเยี่ยม กลุ่มเด็กและครอบครัว) จนเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของคุณแม่ยุคใหม่ ที่ในครั้งหนึ่งเคยประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด จนแทบไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไรเลยด้วยซ้ำ

วันนี้เราจึงนำเอาบทสัมภาษณ์ของคุณแม่ตุ๊ก ที่ได้นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วงที่ตัวเองมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue) ออกมาถ่ายทอดผ่านมุมของคุณแม่สีเทาๆ ให้ทุกคนได้รับรู้กัน ว่ากว่าจะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณแม่ทั้งหลาย ที่ประสบกับสภาวะแบบเดียวกันในช่วงเวลาแบบนั้น คุณแม่ตุ๊กมีวิธีในการจัดการกับสภาวะทางจิตใจของตนเองอย่างไร รวมถึงมีวิธีการอย่างไรในการดูแลน้อง ๆ ที่น่ารักทั้งสองจนถึงทุกวันนี้บ้าง…

“ช่วงนั้นตัวตุ๊กเองก็ไม่แน่ใจค่ะว่าจะต้องจัดการกับตัวเองยังไง เพราะเพิ่งมีลูกคนแรก แค่รู้ว่ามันมีอาการผิดปกติ เหมือนไม่ใช่ตัวเราเลย ก็ลองไปเสิร์ชหาข้อมูล ถามเพื่อน ๆ แล้วก็ไปปรึกษาคุณหมอ ซึ่งอาการตอนนั้นเราแค่รู้สึกว่าการเป็นแม่จะต้องไม่ใช่แบบนี้ จะต้องแฮปปี้มีความสุขเวลาที่ได้อุ้มลูกเลี้ยงลูกหรือดูแลลูกสิ เพราะภาพที่เราเห็นตามสื่อฯ หรือเห็นเพื่อน ๆ ที่มีลูกเค้าก็โพสกันและดูมีความสุขมาก แล้วทำไมเราถึงไม่เป็นแบบนั้น ไม่ได้อยากอุ้มลูกหรือทำอะไรเลย อยากนอนเฉย ๆ อย่างเดียว ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าน่าจะมีความผิดปกติแน่ ๆ สรุปคือคุณหมอบอกว่าที่เราเป็นมันอาจเกี่ยวกับการเผชิญกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บวกกับการใช้ชีวิตแตกต่างออกไปจากเมื่อก่อนโดยสิ้นเชิง (หักดิบ) และทำตรงข้ามกับที่เคยทำหมดทุกอย่างก่อนมีน้อง แล้วมันก็คงเป็นความนอยด์ของเราเองด้วย ที่พอมีลูกตุ๊กหมกตัวอยู่แต่ในบ้านในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ กับลูกแค่ 2 คน ไม่ได้ออกไปเจอใคร ก็เลยมีความเครียดสะสม คุณหมอก็เลยให้เราค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันจนอาการค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหายไปในทันที กว่าจะกลับมาปกติได้ก็นานอยู่ แต่พอเป็นเรนนี่ (ลูกคนที่2) ก็ย้ายมาอยู่บ้านหลังใหญ่ขึ้น มีคนอยู่ด้วยเยอะ เลยทำให้เราไม่รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว เลยสามารถตั้งรับกับสภาวะนั้นได้ง่ายขึ้น ภาวะหลังคลอดเรนนี่ก็จะมีแค่เครียดง่าย นอยด์ง่าย ร้องไห้ง่ายแค่นั้น แต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่นานเหมือนตอนจิน ตอนจินสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกโทษตัวเองมาก ๆ ก็คือ ตุ๊กไม่สามารถอาบน้ำให้ลูกเองได้ ต้องให้พี่เหว่งช่วย เราก็เลยยิ่งโทษตัวเองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี คือเซ้นท์ซิทีฟมาก มองฟ้าก็ร้องไห้ โลกมันเป็นสีเทา ๆ มันแย่ แล้วอีกอย่างคือการที่เราเล่นโซเชี่ยลมีเดีย มันยิ่งทำให้อาการยแย่ลง เพราะเราเห็นว่าคนอื่นเค้าโอเค เหมือนมีแต่เราคนเดียวที่เป็นแบบนี้ อาการก็เลยยิ่งหนักขึ้น”

“กว่าจะดีขึ้นก็ใช้เวลานานพอสมควรค่ะ คุณหมอแนะนำว่าให้เราหาอะไรที่ชอบทำให้รู้สึกผ่อนคลายตุ๊กเริ่มวาดรูป แล้วก็เขียนอะไรเก็บไว้เพื่อระบายสะสมไปเรื่อย ๆ จากนั้นก็เอามาคุยกับพี่เหว่งว่าอยากทำเพจที่พูดถึงด้านนี้ของแม่ ๆ บ้าง ด้านที่มันไม่ได้สวยหรูอย่างเดียว เพราะถ้ามีแม่คนอื่นที่เป็นเหมือนเรา เค้าจะได้รู้สึกว่าไม่ได้เผชิญชะตากรรมอยู่คนเดียวนะ มีคนอื่นที่เป็นแบบเราเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นก็ใช้เวลาเป็นปีเลยค่ะกว่าจะเริ่มตั้งเพจและกลายเป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งเราตั้งต้นเพจขึ้นมาเพราะว่าอยากทำ เพราะมีแง่มุมที่แตกต่างอยากนำเสนอ ช่วงแรกจะเป็นแนวคอมมูนิตี้ของแม่ ๆ ที่มาคุยกันอะไรแบบนี้”

“สำหรับการเลี้ยงลูกๆ ช่วงที่เริ่มเข้าโรงเรียน… ตัวตุ๊กเองก็ลองผิดลองถูกมากค่ะสำหรับลูกคนแรก ตั้งแต่วันเข้าเรียนวันแรกเลย ตอนนั้นก็เลยสะบักสะบอมกันไปทั้งแม่ทั้งลูก แต่พอเป็นลูกคนที่สองเราเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ก็เลยรู้สึกว่ามันช่วยให้เรนนี่ปรับตัวได้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องการดูแลเค้าในชีวิตประจำวันเราก็จะใช้วิธีการในแบบค่อยเป็นค่อยไปทั้งคู่นะคะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสอนการบ้าน หรือการใช้ชีวิตต่าง ๆ บางอย่างต้องสอนให้เค้าทำได้ด้วยตัวเองเพื่อเป็นการช่วยเค้าตอนเข้าโรงเรียนด้วย ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุดเลยกลายเป็นเรื่องของการแบ่งเวลาของเราเองให้ดีมากกว่า ทั้งในเรื่องของการทำงาน แล้วก็การดูแลเค้าทั้งสองคน เพราะมันยากมาก ๆ เราทำงานที่บ้านด้วยเลยไม่มีเวลาว่างเลย พอลูกไปโรงเรียนเราก็จะต้องเคลียร์งาน ประชุมกับน้อง ๆ ในทีม ซึ่งยังไม่นับรวมงานบ้าน เพราะพอลูกกลับมาจากโรงเรียนเราก็จะทำไม่ได้แล้ว”

“ยิ่งถ้าเป็นตอนปิดเทอมนี่คือแทบจะไม่ได้ทำงานเลย แต่โชคดีที่มีพี่เหว่งช่วยกันดูแลเรื่องงานที่บริษัท ดังนั้นถ้าถึงช่วงปิดเทอมสิ่งที่บ้านเราทำก็คือจะพาเค้าไปต่างจังหวัดบ้าง เพราะบ้านเรามีธุรกิจ แฟมมิลี่ การ์เด้น (ที่สามพราน จ.นครปฐม) เค้าก็เลยจะอยู่ที่นั่นกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันมีกิจกรรมให้เค้าทำเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเดินเล่น เลี้ยงปลา เล่นชิงช้า วาดรูป ฯลฯ เราก็เลยจะไม่ค่อยได้ไปไหนไกล ก็ให้เค้าได้เล่นอิสระในขอบเขตที่เรากำหนด ไม่ถึงกับฝืนแล้วบังคับว่าจะต้องทำอะไรแบบไหน ตัวพี่เหว่งเองเค้าจะชัดเจนในเรื่องการเลี้ยงลูกมาก เค้าจะค่อนข้างให้อิสระลูก แล้วก็เน้นเลี้ยงลูกตามธรรมชาติของเขา ไม่ได้อัดกิจกรรมให้กับเค้าจนแน่น แต่พี่เหว่งเค้าจะเน้นในเรื่องของการสอนสิ่งต่าง ๆ แบบเฉพาะเจาะจงลงไปมากกว่า อยากให้เค้าเชี่ยวชาญด้านนี้ตรง ๆ ไปเลย เพราะพี่เหว่งเค้ามองว่าสังคมในยุคนี้ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกด้านก็ได้ แต่จะต้องเก่งวิชาใดวิชาหนึ่งแบบเจาะลึกได้ อย่างจินเราจะซับพอร์ตเค้าตลอดเรื่องศิลปะ เพราะรู้ว่าเค้าชอบ เค้าอยากทำกระเป๋าที่เป็นชื่อของตัวเองเป็นลายที่วาดเอง เราก็พร้อมซับพอร์ตเพื่อให้เค้าได้ภาคภูมิใจในตัวเองว่าสิ่งที่เค้าคิดและทำมันเป็นจริงได้แล้วมันก็ขายได้ด้วยนะ อาจจะดูเร็วไปหน่อย แต่พี่เหว่งเอง เค้าก็อยากให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการสร้าง แบรนด์ไว้ ค่อยๆ ซึมซับไปทีละนิดก็ยังดีค่ะ”

“ถ้าถามว่าอยากจะฝากอะไรถึงคุณพ่อคุณแม่และน้อง ๆ ตอนนี้… จริง ๆ ก็มีหลายคนที่เข้ามาปรึกษาตุ๊กเหมือนกันนะคะว่าจะให้ลูก ๆ ไปทำอะไรดีในช่วงปิดเทอม ตุ๊กก็แนะนำไปว่า ทำอะไรก็ได้ที่พ่อกับแม่สะดวกดีกว่าค่ะ มีเวลาก็พาเค้าไป แค่แบ่งเวลาให้ลูก และไม่อัดตารางกิจกรรมให้เขาจนแน่นหรือแพลนให้หมดทุกเรื่อง ตุ๊กว่าเราปล่อยให้ลูก ๆ เบื่อบ้างก็ได้นะคะ เพราะพอเค้าว่าง หรือเบื่อ เค้าก็จะหาอะไรที่ชอบมาทำเอง เราก็จะได้เห็นความชอบจริง ๆ ของเค้าด้วย มันช่วยให้ง่ายขึ้นในการค้นหาตัวเองตอนโต อย่างตุ๊กเองตอนเด็ก ๆ พอปิดเทอมพ่อแม่ก็ให้เราออกไปเล่นนอกบ้าน ให้เราได้คิดว่าจะเล่นจะทำอะไร ซึ่งตรงนั้นก็มีส่วนช่วยให้เราได้คิดเอง วิเคราะห์เองว่าควรไหม เหมาะสมไหม คือพ่อแม่เราจะค่อนข้างให้อยู่กับความเป็นจริงค่ะ อะไรที่มันเกินไปท่านก็จะบอกเลยว่าไม่ และตรงนี้ตุ๊กว่ามันเป็นเรื่องของการส่งต่อการเลี้ยงดูด้วย ว่าพ่อแม่เราเลี้ยงเรามายังไง โตมาแบบไหนเราก็จะเลี้ยงลูกของเราไปในแบบนั้นค่ะ”

ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอยู่ ก็คงจะพอเบาใจลงได้บ้างว่า ไม่ได้มีเพียงแค่คุณคนเดียวเท่านั้นที่จะต้องทุกข์ และเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์แบบนี้ แต่ยังมีคุณแม่ตุ๊ก ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ร่วมแบบเดียวกันนี้มาแล้ว ที่เต็มใจอย่างยิ่ง ที่จะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในมุมของตัวเอง รวมทั้งถ่ายทอดวิธีการที่พอจะช่วยเหลือ หรือสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า