10 วิธีที่จะทำให้ลูกของคุณหลงรักการอ่าน

“ยิ่งอ่านมาก ยิ่งรู้มาก”

มีคนพูดคำนี้นับล้านๆ ครั้งเพื่อจูงใจใครสักคนให้เริ่มเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ เพราะความ “รู้มาก” ในที่นี้ หากกล่าวกับเด็ก มันอาจจะหมายถึงการเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นสร้างอนาคตซึ่งต้องปูพื้นฐานกันตั้งแต่ยังเด็ก หรือในโรงเรียนที่การอ่านล้วนมีผลต่อทุกๆ วิชา แต่จะทำอย่างไรให้เด็กๆ หลงรักการอ่านมากขึ้น วันนี้เรามีวิธีง่ายๆ มานำเสนอ

1. ให้พวกเขาเลือกสิ่งที่อยากอ่านด้วยตัวเอง

การได้เลือกสิ่งที่ตัวเองอยากอ่าน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการ์ตูน นิทาน นิยาย จะทำให้เขามีความสุขและรักที่จะอ่านไปตลอดชีวิต และการได้มีส่วนร่วมในการเลือกสิ่งที่เขาชื่นชอบด้วยตนเองก็มีแนวโน้มที่เขาจะจดจำข้อมูลต่างๆเอาไว้ได้

2. เลือกหนังสือให้เหมาะสมกับวัยของลูก

ใช่…ด้านบนเราบอกให้ปล่อยให้เด็กๆ เลือกหนังสือที่ชอบด้วยตัวเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถปล่อยให้เขาเลือกแบบสุ่มสี่สุ่มหน้าได้หรอกนะ อย่างน้อยหนังสือที่นำมาให้เขาเลือกก็ต้องเหมาะสมกับวัยของพวกเขา เพื่อให้เป็นการจุดประกายให้เกิดความหลงไหลในการอ่าน ลองชวนเขาไปห้องสมุด ร้านหนังสือ หรืองานหนังสือต่างๆ การเข้าถึงตัวเลือกที่หลากหลายนั้นทำให้ผู้ปกครองสามารถช่วยให้เด็กค้นพบเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงโลกแห่งการอ่านได้ง่ายขึ้น

3. ทำทุกวันให้เป็นวันแห่งการอ่าน

“อ่านด้วยตา แต่พัฒนาที่สมอง” ลองจัดช่วงเวลาในทุกๆวันให้เป็นเวลาอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเราอ่านให้เขาฟัง หรือให้เขาอ่านให้เราฟัง เมื่ออ่านจบแล้วลองตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่องให้เด็กๆ ตอบ เช่น ส่วนไหนของเรื่องที่เขาชอบที่สุด สิ่งนี้สามารถทำให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับการพูดคุย เลือกคำศัพท์ที่ชอบ และพัฒนาความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ที่เหมือนกับเนื้อเรื่อง การทำให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จะทำให้เด็กๆ ได้รู้จักกับข้อมูลความรู้ใหม่ๆ แนวคิด คำศัพท์ รวมไปถึงการออกเสียงและความหมายที่ถูกต้องของเรื่องราวและศัพท์ต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือนั้นด้วย

4. ไม่ว่าอะไร-ที่ไหน-อย่างไร ก็อ่านได้

สร้างนิสัยรักการอ่านและช่างสังเกตโดยการ จัดวางหนังสือ นิตยสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถอ่านได้ไว้ในที่ที่เห็นได้ อย่าลืมชักชวนให้พวกเขาอ่านด้วย นอกจากนี้เวลาออกนอกบ้าน มันจะน่าตื่นตาตื่นใจมาก หากคุณชักชวนเด็ก ๆ อ่านเมนูอาหาร ชื่อภาพยนตร์ ป้ายริมถนน คู่มือเกม รายงานสภาพอากาศ และข้อมูลอื่น ๆ ที่ใช้งานได้ทุกวัน การอ่านจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเด็กไปโดยผู้ใหญ่แทบไม่ต้องบังคับหรือหาวิธีการที่แยบยลอะไรเลย

5. อ่านหนังสือด้วยความลุ่มหลงและสนุก

แม้ว่าคุณจะอ่านนิทานก่อนนอนบางเรื่องเป็นร้อยๆ รอบแล้ว แต่ทุกครั้งที่เริ่มอ่านครั้งใหม่ คุณต้องทำการแสดงที่แตกต่างออกไปอย่างสนุกสนาน นั่นจะทำให้เด็กๆ หวนกลับมาลุ่มหลงนิทานเรื่องนั้นได้ราวกับว่าได้ยินมันเป็นครั้งแรก คุณต้องคิดแล้วล่ะว่า คืนนี้จะเข้าสู่บทบาทในนิทานเรื่องอะไร

6. แสดงให้เด็กรู้ว่า การอ่านมันดีมากนะ

เมื่อเด็กๆ หรือตัวคุณเองต้องทำอะไรใหม่ ลองหาเวลาอ่านวิธีการทำด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประกอบตุ๊กตาใหม่ กติกาเกมใหม่ นิทานเล่มใหม่ ให้เด็กรู้ว่าคุณกำลังอ่านอะไรและทำไมคุณถึงรักการอ่าน เด็ก ๆ มักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในสภาพแวดล้อมของพวกเขา อ่านด้วยกันแล้วพวกเขาจะเห็นว่าการอ่านมีประโยชน์มากแค่ไหน

7. หาเพื่อนอ่าน

อาจจะเป็นผู้ปกครอง คุณครู เพื่อนบ้าน หรือผู้ใหญ่คนใดก็ตามที่รู้สึกมีความสุขที่จะได้รับฟังเรื่องราวการอ่านในแบบเด็กๆ มีรายงานว่า วิธีการนี้จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด เพราะการอ่านให้คนหนึ่งคนที่ตั้งใจฟัง เด็ก ๆ จะมั่นใจมากขึ้น เพราะบางครั้งก็จะได้รับคำชมเป็นการส่วนตัวจากคนฟัง ที่สำคัญเพื่อนอ่านคนนี้จะสามารถสอนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างเด็กๆ อ่านเรื่องราวให้ฟังได้ด้วย

8. อ่านซีรี่ส์

การให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือที่เป็นซีรี่ส์ มีตัวละครนำเดียวกันเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือมีธีมเรื่องที่คล้ายคลึงกันเป็นเรื่องง่ายมาก และ เมื่อเด็ก ๆ มีประสบการณ์ในเชิงบวกกับหนังสือเล่มหนึ่ง ก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาอ่านเล่มต่อๆ ไปด้วย ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาในการหาหนังสือให้อ่านแทบจะหมดไป สำหรับซีรี่ส์ที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ อาทิ กัปตันกางเกงใน (The Captain Underpants), ไดอารี่ของเด็กไม่เอาถ่าน (Diary of a Wimpy Kid), A Classic Case of Dr. Seuss, Dragon Slippers, Warriors, Holes, Anne of Green Gables, Spirit Animals, The Penderwicks, คู่หูผจญภัยล่าขุมทรัพย์สุดขอบโลก (X-Venture Xplorers ) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทุกซีรี่ส์ควรเลือกให้เหมาะกับวัย เช่น เด็กชั้น ป.3 อาจจะยังไม่รู้สึกสนุกกับการอ่านแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เท่ากับเด็กที่โตกว่านั้นก็เป็นได้

9. ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน โดยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้ แต่เทคโนโลยียังช่วยให้นักเรียนที่เติบโตในยุคของสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไปเป็นอีกหนึ่งทางออกที่พวกเขาคุ้นเคยเพื่อการเติบโตและเรียนรู้ เราอาจจะเพิ่มเทคโนโลยีเช่น แท็บเล็ต หรือ e-reader สำหรับอ่านหนังสือให้เด็ก เพื่อให้รู้สึกมั่นใจของนักเรียนเพิ่มขึ้น

การสร้างความภาคภูมิใจในตนเองผ่านเทคโนโลยีที่ใช้และทักษะการอ่านที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบเชิงบวกต่อพื้นที่อื่น ๆ ในชีวิตของเด็กๆ ได้

10. อย่าลืมคำชมเชย

เมื่อเด็กๆ อ่านหนังสือจบหนึ่งเล่ม หรืออ่านถูกต้องในหนึ่งบท คำชมเชย หรือการแสดงท่าทางในเชิงบวกต่อเด็กๆ ล้วนเป็นตัวการขับเคลื่อนที่ดีสำหรับการอ่านครั้งต่อๆ ไป เพราะเด็กจะรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนเองมากขึ้น

หรืออาจจะสร้างเป็นบอร์ดสำหรับเก็บสถิติในการอ่านหนังสือของเด็กๆ ก็ได้ เช่น แยกประเภทของหนังสือที่เด็กๆ อ่าน แล้วมาดูว่า เล่มต่อไปเขาจะเลือกอ่านหนังสือประเภทไหน

“The more that you read, the more things you will know.  “ยิ่งเราอ่านมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้มากขึ้นเท่านั้น

The more that you learn, the more places you’ll go.”
ยิ่งเราเรียนรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสถานที่ที่เราจะไปมากขึ้นเท่านั้น”

Dr. Seuss, I Can Read With My Eyes Shut!
ดร.ซูสส์ นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก จากหนังสือ I Can Read With My Eyes Shut!

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า