นักเรียนแลกเปลี่ยน เรียนรู้วัฒนธรรม นำกลับมาพัฒนาตนและประเทศชาติ

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างแล้วว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะขาดไม่ได้ หลายโรงเรียนนำมันใส่ไว้ในตารางสอน ขณะที่พ่อแม่บางครอบครัวก็ใส่ไว้ในตารางวันหยุดที่ตัวเองและลูกจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมเพิ่มการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ทั้งร่างกาย สมอง และสติปัญญา

และแล้ววันหนึ่งเมื่อเด็กๆ โตขึ้นอีกช่วงวัย การเรียนรู้ที่กว้างออกไปก็เริ่มเป็นสิ่งท้าทาย ช่วงเวลานี้เองที่หลายครอบครัวเริ่มทำความรู้จักกับคำว่า ‘การแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมนานาชาติ’ (Intercultural Learning)

การแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมนานาชาติ คือการเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจนทำให้เกิดเป็นความรู้และทักษะที่สนับสนุนความสามารถของผู้เรียนในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตนเอง

คุณยุฐิษพักตร์ ตะวันนา หรือคุณมิลค์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม เอเอฟเอส ประเทศไทย (AFS Intercultural ProgramsThailand) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้ได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมยังนานาประเทศทั่วโลกมากว่า 60 ปีเล่าให้เราฟังถึงประโยชน์ของการเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างประเทศว่า เป้าหมายของ AFS ทั้งโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นและระยะยาว นอกจากการพัฒนาด้านทักษะการสื่อสารทางภาษาแล้ว สิ่งสำคัญคือการพัฒนานักเรียนให้มีความฉลาดทางวัฒนธรรม สามารถปรับตัวได้เมื่ออยู่ในสังคมและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายอย่างมีความสุข มีความเข้าอกเข้าใจผู้คนที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ความคิด ตลอดจนพฤติกรรมที่แสดงออกมาที่แตกต่างกัน  โดยสิ่งนี้จะช่วยหล่อหลอมสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่เป็นที่พึงพอใจทั้งกับองค์กรเอง และครอบครัวของเด็กๆ ที่ได้เข้าร่วมกับโครงการ

สำหรับค่ายพัฒนาทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรมหรือ AFSer Junior Camp เป็นค่ายที่สอนเรื่องของการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมและการเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ นักเรียนจะได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ร่วมแชร์ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากพี่ๆนักเรียนเก่าที่เคยไปแลกเปลี่ยน อีกทั้งนักเรียนจะได้ทำ Project เล็ก ๆ ซึ่งจะได้ลองคิด ลอง Brainstorming กันระหว่างเพื่อนในกลุ่มเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก (Global Issues) เพื่อที่จะสร้างเสริมให้เขาเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก (Active Global Citizen) ส่วนค่ายจอหงวน อันนี้เป็นค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน จะเปิดโอกาสให้น้องม.ต้น ได้เข้ามาเรียนรู้ภาษจีนเบื้องต้น รวมถึงเรียนรู้วัฒนธรรมจีน เช่น การปั้นเกี๊ยว การชงชา การเขียนพู่กันจีน และมีกิจกรรมจากพี่ๆ นักเรียนเก่าที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่จีนเข้ามาช่วยสอนภาษาและวัฒนธรรมรวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้น้องๆที่ร่วมกิจกรรมได้ทราบ”

สำหรับโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีนั้น คุณมิลค์เล่าว่า AFS สามารถการันตีได้จริงว่า การได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศนั้น ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการทุกด้านอย่างครบถ้วนจริงจากความรู้และทักษะแปลกใหม่ที่ได้รับซึ่งไม่เหมือนที่ประเทศไทย ทั้งนี้เกิดจากการที่เด็กๆ ต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ (Host family) หรือระบบการเรียนการสอนใหม่ๆในประเทศนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เด็กๆ เปลี่ยนไปจากวันแรกที่ได้พบกัน และหลายคนก็สามารถใช้ทักษะต่างๆ ที่ได้นี้ไปสร้างอนาคตของตัวเองได้

“พวกน้องๆ จะต่างไปจากวันแรกที่มาสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ เมื่อพวกเขากลับมาจากการไปแลกเปลี่ยน ได้รับความรู้ ประสบการณ์และความสามารถ ทักษะต่าง ๆ ที่เขาไม่เคยได้รับที่เมืองไทย ทำให้พอน้อง ๆ กลับมา น้อง ๆ มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น มีความมั่นใจ เพราะก่อนไปน้องไม่กล้าพูดคุยหรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเลย พอน้องกลับมา เราจะมีกิจกรรมให้น้องทำ เราก็จะได้เห็นพัฒนาการว่า เขามีความเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมเพื่อส่งต่อให้รุ่นน้องที่กำลังจะเข้ามาในโครงการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเขาไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่แน่นอนว่า เขาจะมีประสบการณ์มีทัศนคติ มีเจตคติใหม่ ๆ ขึ้น เขาจะได้รับสิ่งดี ๆ จากทางนั้นกลับมามีมุมมองต่อโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของเขา ความคิดความอ่านมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ใส่ใจต่อสังคมมากขึ้น”

“มีน้องๆที่ไปแลกเปลี่ยนหลายคน หลังจากที่ได้ไปต่างประเทศ ได้เจอกับความคิดความอ่านหรือการพัฒนาภายในต่างประเทศมีมากกว่าประเทศไทย เขาก็เลยอยากเอาสิ่งตรงนั้นมาปรับปรุงช่วยเหลือสังคมชุมชนที่เขาอยู่ เป็น Change Maker อยากเปลี่ยนอะไรในสังคมที่อยู่ให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากกิจกรรมภายในโรงเรียนก่อน แล้วก็ส่งเสริมชุมชนรอบข้างเขาไปด้วย จนกระทั่งปัจจุบันเขาทำงานเป็นอาสามัครช่วยงานกับทาง UN”

อย่างไรก็ตามคุณมิลค์ยังกล่าวด้วยว่า การ ‘แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม’ นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเมืองนอกอย่างเดียว ดังเช่นที่ AFS เองก็มีโครงการอบรมทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรมรูปแบบออนไลน์ อย่างโปรแกรม Global Up ซึ่งเป็นโปรแกรมออนไลน์ที่คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปสามารถเรียนรู้และเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมได้

“การเรียนรู้และพัฒนาทักษะความฉลาดทางวัฒนธรรมนี้ถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตค่ะ โปรแกรมGlobal Up จะสอนในเรื่องทักษะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมให้กับผู้ที่สนใจไม่เพียงแต่น้องๆมัธยมเท่านั้นแต่ผู้ใหญ่วัยทำงานก็สามารถสมัครเรียน Global Up ได้เช่นกัน เพราะเราคิดว่าจริงๆแล้วในเรื่องของการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมหรือว่าการใช้ชีวิตที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง มันไม่ใช่เรื่องไปเรียนที่ต่างประเทศอย่างเดียว ที่เราอยู่ในประเทศไทยเราอยู่ในสังคมเพื่อน การทำงาน สิ่งแวดล้อมรอบข้างเรา เราย่อมจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มันต่างอยู่แล้วไม่เพียงแต่เราจะต้องไปอยู่ต่างประเทศเท่านั้น เพราะฉะนั้นการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอด ซึ่งถ้าเกิดว่าเรามีความรู้ที่ใช้เครื่องมือตรงนี้ในชีวิตประจำวันได้มันก็จะทำให้เรามีประสิทธิภาพในการสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีมากขึ้น”

แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะ “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” รูปแบบใด คุณมิลค์ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนี้มาหลายปีก็เชื่อว่า ประโยชน์ที่ได้มาซึ่งการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขได้

“เด็ก ๆ กลับมาแล้วเขามีจิตใจที่เปิดกว้างมาก ยิ่งขึ้นทำให้น้องเขามีความเข้าอกเข้าใจในผู้คนมากยิ่งขึ้น ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างของแต่ละคนได้ เหล่านี้เป็นสิ่งแรก เป็นขั้นแรก ที่ทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น แล้วหลังจากนั้นความคิดริ่เริ่มที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมทำให้สังคมน่าอยู่ (Change maker) ก็จะตามมา”

จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมนั้นยังประโยชน์ให้มากมาย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการเคารพความแตกต่างของผู้คน และพยายามเชื่อมความสัมพันธ์จากผู้คนที่มีภูมิหลังต่างกันให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ นำมาซึ่งความเข้าใจและช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นอีกด้วย เพราะความหลากหลายที่ได้เจอจะทำให้มุมมองต่างๆ เปลี่ยนไป นั่นย่อมทำให้ผลลัพธ์แตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีโอกาสการให้ลูกได้เรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมบ้าง ก็นับเป็นตัวเลือกที่ดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า