“งีบหลับ” มีดีกว่าแค่ “แก้ง่วง” กับเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมเด็กๆ ต้องนอนกลางวัน

ทำไมเด็กๆ ต้องนอนกลางวัน?

เหตุผลไม่ใช่เพียงเพราะต้องการให้ชั่วโมงในการนอนของเด็กได้ครบเต็มจำนวนเท่านั้น แต่การนอนหลับกลางวันของเด็กๆ (หรือแม้แต่การงีบหลับสั้นๆ ของผู้ใหญ่) มีความสำคัญมากกว่านั้นเป็นอย่างมาก

เป็นที่รู้กันดีกว่า พัฒนาการในช่วงวัยเด็กนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก นั่นอาจจะทำให้เด็กๆ อ่อนล้าได้ แต่การนอนหลับจะทำให้ทั้งร่างกายและสมองของเด็กๆ ได้พักผ่อนระหว่างนั้น และได้เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องราวใหม่ๆ ที่เขาจะได้เรียนรู้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ทั้งนี้การนอนช่วยเด็กๆ ในเรื่องการควบคุมอารมณ์ (เคยมีการศึกษาพบว่า เด็กอายุ 2 ขวบที่ไม่ยอมนอนกลางวัน จะอารมณ์เสียง่าย ขี้หงุดหงิด และตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ไม่ดีนัก) และการพัฒนาการเรียนรู้ และเพิ่มทักษะทางด้านความจำด้วย

ในระหว่างการนอนหลับร่างกายจะมีการเจริญเติบโต ขณะเดียวกันก็มีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ กระบวนการเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและการสร้างความจำด้วย

การทดลองหนึ่งที่ทำกับเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบโดยการให้เด็กทุกคนเรียนรู้การเล่นกับของเล่นด้วยวิธีการใหม่ และเมื่อถึงเวลางีบหลับ มีเด็กเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ได้นอน ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งถูกกักตัวไว้ เมื่อเวลาการงีบผ่านไป เด็กทุกคนจะได้รับของเล่นชิ้นเดิมอีกครั้ง เด็กที่ได้งีบหลับสามารถเล่นของเล่นชิ้นนั้นได้ตามวิธีการที่ถูกสอนก่อนหน้า แต่ดูเหมือนว่าเด็กครึ่งที่ไม่ได้หลับจะลืมวิธีการเล่นไปแล้ว

ระหว่างการนอนหลับร่างกายจะประมวลประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างวันและเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น โดยสร้างการเชื่อมต่อใหม่ในสมอง ถ่ายโอนจากความทรงจำระยะสั้นไปสู่ความจำระยะยาว กระบวนการนี้ทำให้เด็กๆ (รวมถึงผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัย) มีความสามารถทางสมองมากขึ้น ทำให้เป็นคนมีเหตุผล แก้ปัญหา วางแผน ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ โดยรวมก็คือ มีไอคิวเพิ่มขึ้น

ความต้องการการงีบหลับนั้น ในแต่ละวัยของเด็กๆ ก็มีความต้องการการที่ไม่เท่ากัน

  • วัยแรกเกิด – 3 เดือน พวกเขาสามารถนอนได้ถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน และโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาเพียงชั่วโมงหรือสองชั่วโมงตื่นในแต่ละครั้ง
  • วัย 3 เดือน – 1 ปี พวกเขาต้องการงานนอนกลางวันวันละ 2-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมงติดต่อกัน
  • วัย 1 – 2 ปี เมื่อรวมการงีบหลับแล้ว เด็กวัยนี้ควรนอน 12 – 14 ชั่วโมงต่อวัน และเพราะมีเริ่มมีกิจกรรมในชีวิตที่น่าสนใจบ้างแล้ว อย่างเช่น การหัดเดิน พวกเขาจึงอาจจะงีบหลับแค่ครั้งเดียว แต่ยาวนานถึง 3 ชั่วโมง
  • วัย 2 – 5 ปี เด็กวัยนี้ต้องการเวลานอน 11 ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน แต่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาคือการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่มทั้งคืนมากกว่าการงีบหลับ แต่หากพวกเขานอนกลางคืนได้ไม่พอ ก็สามารถชดเชยด้วยการให้งีบหลับในช่วงบ่ายได้
  • วัย 5 ขวบขึ้นไป เด็กส่วนใหญ่ไม่ต้องงีบหลับอีกต่อไป แต่การได้พักผ่อนช่วงกลางวันเป็นเวลาประมาณ 30 นาทีก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้าและความเครียดให้กับเด็กๆ รวมไปถึงวัยรุ่นด้วย แต่ต้องให้แน่ใจว่าพวกเขาจะตื่นขึ้นมาในช่วงบ่าย เพื่อที่จะไม่มีปัญหาต่อการนอนหลับปกติในเวลากลางคืน

แต่แม้จะรู้ว่าการได้งีบหลับสักนิดนั้นมีประโยชน์มากเพียงใด แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากมากในการบอกให้เด็กๆ เข้านอนตามต้องการ ดังนั้นสิ่งสำคัญในการจัดสรรเวลาให้ลูกได้นอนอย่างดีก็คือ พยายามให้เขาได้นอนหลับในเวลาเดิมทุกวัน โดยอาจจะสร้างสถานการณ์ต่างๆ คล้ายชักจูงให้เขาเช่น กล่อมนอนโดยการเล่านิทาน ลูบหลัง ร้องเพลงเบาๆ หรือดูว่าเขาเหนื่อยเต็มที่หรือยัง หากเขาเหนื่อยแล้วแต่พ่อแม่ยังไม่จัดให้เขาได้งีบหลับก็มีความเป็นไปได้ว่า เขาจะมีแรงกลับขึ้นมาตื่นตัวอีกครั้งและลืมเรื่องการนอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวันไปเลย ดังนั้นแม้ว่าจะมีตารางกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว แต่หากเห็นว่า เด็กๆ เริ่มเหนื่อยล้าและต้องการการนอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวันอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะมีการหาว หรือขยี้ตา ให้วางทุกอย่างลงแล้วพาพวกเขาเข้านอนในห้องที่เงียบและอากาศสบายทันที

เพราะการที่พวกเขาได้นอนหลับตอนกลางวันแม้จะช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีคุณค่ามหาศาลและส่งผลดีกับเขาไปตลอดชีวิต

ข้อมูล

  • Jennifer Rainey Marquez:Naptime Know-How: A Parent’s Guide 
  • MA, Dr. Rebecca Spencer, a professor of Psychological and Brain Science, University of Massachusetts. Laboratory studies how sleep make learning and memory better. 2019. 
  • Lukowski AF, Milojevich HM. Sleeping like a baby: Examining relations between habitual infant sleep, recall memory, and generalization across cues at 10 months. Infant Behav Dev. 2013 Jun;36(3):369-76. Doi: 10.1016/j.infbeh.2013.02.001. Epub 2013 Apr 9. PMID: 23578887.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า