“เรียนรู้” ผ่านประสบการณ์ “เล่น” ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง พลังแห่ง “ความสุข” สู่เครือข่ายตำบลสนับสนุนการเล่นเด็กปฐมวัย

“เรียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็จะพาเด็กไปที่นั่นจริงๆ เช่นเรียนเรื่องวัดก็จะพาไปวัด เรียนเรื่องต้นไม้ก็จะพาเด็กไปดูว่าทุ่งนาเป็นอย่างไรมีต้นไม้อะไรบ้าง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทอผ้า ก็พาเข้าไปในหมู่บ้านที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างการจัดการสอนรูปแบบเดิมที่ครูจะเปิดหนังสือหรือเล่าให้ฟังเท่านั้น ทุกครั้งก่อนจะจัดกิจกรรมอะไรเราก็จะต้องถามเด็กๆ ก่อนเสมอว่า วันนี้เขาอยากเรียนหรือทำเรื่องอะไร”

“ครูมด”  นารศ จันทร

เป็นคำอธิบายของ “ครูมด”  นารศ จันทร ถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยอายุ 2-4 ปี จำนวน 18 คนของ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง ตำบลหนองม้า อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ  ที่ได้เข้าร่วมเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก”  ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการเล่น ใช้การ “เล่นอิสระ” เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว

 “ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจเลยว่าเด็กต้องการอะไร ไม่สามารถควบคุมเด็กได้ ไม่รู้วิธีการจัดการกับเด็กๆ ต่อมาเมื่อได้เข้ารับการอบรมในการเป็น Play Worker หรือ ผู้อำนวยการเล่น ทำให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของเด็กๆ มากยิ่งขึ้น การปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระตามที่เขาต้องการนั้นง่ายกว่าการบังคับให้เด็กต้องทำอย่างที่เราต้องการ  เมื่อเด็กได้เล่นจนพอใจแล้ว เราจึงค่อยถามเขาว่าการเล่นวันนี้สนุกไหม แล้วจึงชวนเด็กมาทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อ เขาก็จะทำตามและพร้อมที่จะเรียนรู้” ครูมดระบุ

โดยที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง ได้ใช้การเล่นนำการเรียนมา 5 ปี โดยประยุกต์การเล่นเข้ากับการจัดประสบการณ์ 6 กิจกรรมหลักโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีจุดเด่นคือการเปิดให้เด็กได้เล่นอิสระตามต้องการ และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนเข้ามาสนับสนุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ  นอกจากเด็กๆ จะได้เล่นอิสระตามที่สนใจในแต่ละวันแล้ว ทุกวันอังคารและพฤหัสยังเป็น “วันเล่น” เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นสนุกได้อย่างเต็มที่ โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเสริมเติมเต็มประสบการณ์เรียนรู้จากการได้ลงมือทำ

“ครั้งแรกทำเรื่องเล่นโดยที่ไม่ได้บอกก่อน ผู้ปกครองเห็นว่าเสื้อเลอะสี จึงถามว่าให้ลูกเล่นอะไร เมื่อมีเสียงสะท้อนและความสงสัย จึงเชิญเข้ามาประชุมชี้แจงการเรียนการสอน เชิญวิทยากรมาอธิบายความสำคัญของการเล่น หลังจากนั้นก็ให้เข้ามาดูเด็กเล่น ชวนให้ผู้ปกครองนึกย้อนว่าตอนที่เป็นเด็กชอบทำอะไรมากที่สุด ทุกคนก็จะนึกถึงและจำได้แต่เรื่องเล่น แล้วก็ชวนให้เล่นกับเด็กผู้ปกครองก็จะเข้าในการเล่นมากขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่รับเด็กใหม่ก็จะจัดอบรมแบบนี้ทุกครั้งเพื่อให้ผู้ปกครองยอมรับ เข้าใจ และสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ” ครูมดเล่าถึงแนวทางการสร้างความเข้าใจ

นอกจากนี้สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองมากที่สุดก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เมื่อก่อนเวลามาส่งก็มักจะร้องไห้ไม่อยากมา แต่พอ “ครูมด” เปลี่ยนการเรียนเป็นการเล่น เด็กๆ ก็อยากจะที่จะมาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากขึ้น เดินเข้ามาในพื้นที่และทำกิจกรรมต่างๆ ที่เตรียมไว้เอง โดยไม่ร้องไห้งอแง และมีวินัยสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนิน “โครงการเยี่ยมบ้านประสานสัมพันธ์”  โดยคณะครูลงไปเยี่ยมบ้านของเด็กๆ  ทุกคน ให้คำและแนะนำความรู้เรื่องการเล่นกับผู้ปกครอง มีหนังสือนิทานให้ยืมเพื่อให้นำไปอ่านให้ลูกฟัง แนะนำการจัดสถานที่เพื่อให้เด็กๆ ได้มีมุมเล่นอิสระที่บ้าน วัสดุเหลือใช้อะไรก็นำมาเป็นของเล่นให้กับลูกหลานได้ได้ หากขาดเหลืออะไรก็พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องไปถึงที่บ้าน

“ครูเต่า” อรุณรัตน์ สุระ

“ครูเต่า” อรุณรัตน์ สุระ จาก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองม้า เล่าว่าก่อนที่นำเรื่องเล่นอิสระมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อน เพราะความเชื่อของคนส่วนมากจะเข้าใจว่าการมาโรงเรียนก็คือต้องมาเรียนหนังสือ

“เรามีการอบรมผู้ปกครองให้เข้าใจถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ว่าเป็นการเรียนปนการเล่น ใช้การเล่นอิสระมาจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย มีวิทยากรให้ความรู้เรื่องประโยชน์และคุณค่าของการเล่น วันที่มีกิจกรรมก็ชวนผู้ปกครองให้มาดูเด็กๆ พอได้เห็นว่าเด็กมีความสุขและมีพัฒนาการต่างๆ ที่ดีขึ้นก็จะเริ่มเชื่อมั่น และพร้อมให้การสนับสนุนทุกครั้งที่มีกิจกรรม”

“ครูเต่า” อรุณรัตน์ สุระ

สำหรับวันนี้ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง ได้จัดกิจกรรม “วันเล่น” ขึ้น มีกิจกรรมวาดภาพระบายสี เล่นสนุกกับฟองสบู่ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่สนุกและอิ่มอร่อยคือ “การทำขนมบัวลอย” และ “ส้มตำ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ เรียกร้องให้คณะครูจัดการเรียนรู้ให้กับพวกเขา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนทุกช่วงวัยเข้ามาเตรียมสถานที่ วัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเองในทุกขั้นตอนโดยมีผู้อาวุโสในชุมชนคอยอธิบายให้คำแนะนำ สอดแทรกความรู้และเรื่องราวต่างๆ ในการทำเข้าไปอย่างสนุกสนาน รวมไปถึงมีกิจกรรมประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุพื้นบ้านในธรรมชาติ อาทิ การร้อยพวงมาลัยดอกไม้ และจักสานปลาตะเพียน

สบา พันธ์ขาว

สบา พันธ์ขาว ผู้ปกครองของ น้องโปรด น้องเนย และน้องแพน เล่าว่า เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องทำกิจกรรมแบบนี้ พอคุณครูชวนให้มาดูว่าเด็กๆ ที่นี่อยู่กันยังไง ได้เห็นพฤติกรรมต่างๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ทำให้เข้าใจเรื่องของการเล่นอิสระว่าการเล่นก็แทรกการเรียนรู้ไปได้ อย่างผักผลไม้ต่างๆ ที่นำมาทำส้มตำในวันนี้เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องสีต่างๆ  ได้สอนชื่อเรียกภาษาไทยคู่กับภาษาอีสาน ได้ฝึกสังเกตเรียนรู้เช่นใส่น้ำปลามากไปก็เค็ม ใส่พริกมากไปก็เผ็ด หลังจากนั้นเลยมาช่วยงานตลอดเพราะอยากให้หลานๆ มีความรู้ มีความสุขจากการได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ

“ครูยาย” สุรชาติ วิทสิงห์

“ครูยาย” สุรชาติ วิทสิงห์ อดีตครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านจาน ที่มาเป็นจิตอาสาช่วยดูแลการจัดกิจกรรมต่างๆ เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า จะไปช่วยงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 แห่งทุกครั้งเมื่อมีการจัดงาน โดยจะชวนเด็กๆ มาสานปลาตะเพียน ทำของเล่นจากวัสดุพื้นบ้าน และเล่านิทานให้ฟัง

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 แห่งของเรามีพัฒนาการที่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก  ซึ่งเกิดขึ้นจากมีการให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ใช้การเล่นเป็นหลัก เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และลงมือทำ ทำให้ชุมชนเข้าเข้าใจและมามีส่วนร่วมมากขึ้น ผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี”

ร.ต.อ.เสถียร พรหมสุวรรณ

ร.ต.อ.เสถียร พรหมสุวรรณ นายก อบต.หนองม้า กล่าวถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลงว่า เป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 2 แห่งในพื้นที่ เพราะเด็กในวัยนี้การเล่นนั้นมีความสำคัญมาก เป็นการเตรียมความพร้อมทักษะด้านต่างๆ ช่วยพัฒนาสมอง และความคิดสร้างสรรค์ให้พร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา

ถ้าเราช่วยกันปลูกฝังสิ่งดีๆ เหล่านี้ก็จะติดตัวเด็กไปจนโต เราจึงได้นำครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ปกครองมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ในด้านต่างๆ ให้กับเด็ก และมีแนวคิดว่าจะต่อยอดขยายผลไปสู่การดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ โดยเปิดศูนย์ 2 วัย ทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ให้คนเฒ่าคนแก่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน เด็กสนุกผู้ใหญ่ก็ไม่เหงา ได้สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้าน และสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกัน

การอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเด็กคนนั้นเก่งกว่าคนนี้ แต่เราจะเน้นที่พัฒนาการสมวัย คำว่าพัฒนาการสมวัยก็คือ พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการเล่น การมีความสุข ได้สนุกกับสิ่งที่ทำ ซึ่งการที่เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย จะทำให้เขาสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่า

“ครูมด” นารศ จันทร กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า