หมอแนะเลี้ยงลูกวัยรุ่น พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ตัวเองก่อน เลี้ยงแบบเข้าใจ-ไม่จ้องจับผิด

“หม่าม้าเลี้ยงลูกมา 18 ปี แต่เหมือนกับไม่เคยรู้จักลูกของตัวเองเลย” 

“ทำไมลูกเราขี้โมโหจัง มีเรื่องชกต่อยไม่เว้นแต่ละวัน”

“เมื่อก่อนเคยตั้งใจเรียน ทำไมเดี๋ยวนี้เกเรจัง”

ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์  ได้ให้นิยามของคำว่า “วัยรุ่น” หมายถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากความเป็นเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ ไม่เพียงทางด้านร่างกาย แต่ยังรวมถึงความคิด จิตใจด้วย ในเวลานี้พ่อแม่จึงอาจรู้สึกว่าลูกมีอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย หรือพูดอะไรนิดหน่อยก็โกรธ ไม่พอใจ ต่อต้าน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ก่อนหน้านี้ลูกไม่เคยเป็น

พญ.ปราณีดังนั้นวันนี้ ผศ.พญ.ปราณี ให้คำแนะนำไว้ว่า ในเวลานี้พ่อแม่ควรเปิดใจให้กว้าง ทำความเข้าใจลูก หากลูกมีคำพูดหรือพฤติกรรมต่อต้านไม่เชื่อฟัง อย่าถือว่านั่นเป็นตัวตนของลูก แต่ควรเข้าใจว่า นี่เป็นอีกช่วงพัฒนาการหนึ่งของลูก ไม่ต่างกับตอนที่ลูกเป็นเด็กเล็ก มีงานวิจัยจาก Berlin’s Max Planck Institute ที่พบว่าการเชื่อมโยงเส้นใยสมองของวัยรุ่นอายุ 13 – 17 ปี มีความเหมือนกับพัฒนาการสมองของเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2 – 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกมักมีร้องอาละวาด เอาแต่ใจ  แต่เมื่อเกิดขึ้นในวัยรุ่น ที่ทักษะการสื่อสารพัฒนาเต็มที่แล้ว การเลือกใช้คำ และความคิดที่ซับซ้อนขึ้น ก็อาจทำให้พ่อแม่ปวดหัวมากกว่า

คำแนะนำยังมีเพิ่มเติมว่า คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองอาจต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมลูกอยู่ห่างๆ อย่างใกล้ชิด นั่นคือเฝ้าดูแต่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ใส่ใจแต่ไม่ใช่จ้องจับผิด หากเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงซ้ำๆ หลายครั้ง แม้จะตักเตือนแล้ว เช่น มีเรื่องชกต่อย รอยฟกช้ำไม่เว้นวัน หรือมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปจากหน้ามืดเป็นหลังมือ เก็บตัวมากขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียวจนถึงขั้นทำข้าวของเสียหาย ระงับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เปลี่ยนกลุ่มเพื่อนกะทันหัน  ติดเกมหรือกิจกรรมใดหนึ่งๆ อย่างหนักจนเสียการเรียนและกระทบชีวิตประจำวัน นี่อาจเป็นสัญญาณว่าลูกจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ 

เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือจัดการกับอารมณ์ของตัวคุณเองก่อน!

สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ จัดการความเครียด ความโกรธความกังวล ให้ตัวเองสงบที่สุดก่อนที่จะพูดคุยกับลูก ฟังลูกอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน และไม่พูดแทรกแม้จะเป็นการให้คำแนะนำ เพราะสิ่งที่ลูกวัยรุ่นต้องการคือความเข้าใจและการที่พ่อแม่มองเห็น คุณค่าในตัวเขา ระหว่างที่ฟังลูกให้มองสบตาลูกตลอด ไม่ใช่ฟังไปกดโทรศัพท์ไป คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับเขาจริงๆ หากรู้สึกว่าไม่สามารถช่วยลูกรับมือปัญหาต่างๆ ได้การพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ทั้งพ่อแม่และลูกได้ ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป

สำหรับพ่อแม่ก็อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป เพราะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของลูก ก็ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของพ่อแม่ ที่จะต้องปรับตัวและยอมรับการเติบโตของลูกเช่นกันจึงไม่แปลกหากบางครั้งจะรู้สึกว่า เราแทบไม่รู้จักลูกของตัวเองเลย แต่หากนึกย้อนไปลูกของเราก็เปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการอยู่ทุกวัน ลูกวัย 6 เดือน ย่อมต่างไปจากวันแรกคลอด ลูกวัยเรียนย่อม พูดเก่งกว่าวัยเตาะแตะ ลูกวัยรุ่น ก็ย่อมเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าทุกๆ วัยที่ผ่านมา พ่อแม่จึงอาจต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ดูแล ไปเป็นโค้ชชีวิต ที่ค่อยให้คำแนะนำหลังจากปล่อยให้ลูกได้ลองผิดลองถูกเองบ้างแล้ว

…สุดท้ายไม่ว่าลูกจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความเป็นพ่อแม่ลูก ผศ.พญ.ปราณี กล่าว ทิ้งท้าย 

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า