หยุดอยู่บ้านไม่หยุดเรียนรู้ ในแบบ Home School ที่ทุกบ้านทำได้

ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมเด็กส่วนใหญ่ก็จะอยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ยิ่งตอนนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ก็กำลังระบาดอยู่ ก็เลยยิ่งไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ไหนเข้าไปอีกดังนั้นเรามาเปลี่ยนเวลาว่าง สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่บ้านกันดีกว่าค่ะ

ปิดเทอมสร้างสรรค์ จึงได้พูดคุยกับ คุณแม่บ้านเรียนลูกสองที่ทำบ้านเรียนให้ลูก อย่างแม่อี๋สุรวดี รักดี ที่ให้ลูกชาย 2 คน อายุโตอายุ  15 ปีและคนเล็ก 7 ปีเป็นมาเล่าให้ฟังว่า หยุดอยู่บ้านไม่หยุดเรียนรู้ ในแบบ Home School ที่ทุกบ้านทำได้  ทุกคนสามารถทำได้

แม่อี๋เล่าว่า บ้านเราทำบ้านเรียน หรือที่เรียกว่า Homeschool เด็กของเราไม่ได้โรงเรียนเป็นปกติอยู่แล้ว เราเลยไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่มีตารางสอนจำกัดเวลา หรือสถานที่ แต่ที่บ้านเราฝึกกัน คือ “นิสัยการเรียนรู้” ที่ทำให้ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร (แม้แต่เล่นเกมออนไลน์) เด็กก็สามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วดีต่อเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบไหน และผู้ปกครองทุกบ้านก็ทำได้ ด้วยแนวทาง 3 ข้อดังนี้ค่ะ

อย่างแรก..รู้ธรรมชาติของเด็ก และ ตัวเอง

ด้วยความที่บ้านเรียนเราจะกำหนดหัวข้อรูปแบบกิจกรรมการเรียนกันเอง ซึ่งต้องคุยกันทั้งเด็กและผู้ปกครอง เพราะเราไม่ปล่อยเด็กทำไปคนเดียว หลายบ้านอาจจะมองว่าเด็ก คือศูนย์กลางของการเรียนรู้ ซึ่งถูกต้องในส่วนหนึ่ง  แต่พ่อแม่เองก็มีหน้าที่ต้องสังเกตและเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยและธรรมชาติของลูกแต่ละคนเช่นกัน  ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์ที่เด็กจะต้องทำอะไรได้เมื่อถึงวัย รวมถึงธรรมชาติความถนัด และความชอบ ที่ตอนเล็ก ๆ อาจชอบอย่างหนึ่งโตขึ้นมาก็เปลี่ยนไปชอบอีกอย่าง และพี่น้องโตมาในบ้านเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย

แต่อย่าลืมว่า “เรา” นี่แหล่ะที่ต้องเป็นทั้งผู้ปกครอง ทั้งครู ทั้งเพื่อน ดังนั้นเราเป็นส่วนสำคัญมากในการเรียนรู้ของเด็ก  เคล็ดลับอีกอย่างคือ กิจกรรมที่ทำต้องไม่ขัดกับธรรมชาติพ่อแม่จนเกินไปนักด้วย เช่น  แม่ชอบทำอาหาร ก็ลองชวนลูกทำของโปรดเขา เป็นต้น ถ้าสิ่งที่เด็กอยากทำเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดเลย แต่ถ้ามีเวลาและความอยากเพิ่มขึ้น เราเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมกับลูกด้วยเช่นกัน

สอง..สร้างวินัยและบรรยากาศในการเรียนรู้ร่วมกัน 

การที่พ่อ-แม่อยู่กับลูกทั้งวันในช่วงนี้ ที่สำคัญต้องให้เรียนรู้ “วินัย” ทั้งต่อตัวเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นค่ะ สามารถฝึกโดยการให้ทำกิจวัตรประจำวัน ให้รู้ว่าต้องทำอะไร เมื่อไหร่ และที่สำคัญเพื่ออะไร  เช่น การที่ไม่ไปโรงเรียนก็ไม่ต้องนอนดึกหรือตื่นสาย  ตื่นมาต้องทำอะไรบ้าง มา “ตกลงร่วมกัน” แบ่งหน้าที่ช่วยกันจัดการงานบ้าน แบ่งเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และเวลาส่วนตัว เด็กจะมีเป้าหมาย มีความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง  เข้าใจการมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เองจะได้มีเวลาทำงาน ดูแลงานบ้าน และดูแลตัวเองด้วยค่ะ

“บรรยากาศในการเรียนรู้ร่วมกัน”

ก็คือทุกคนต้องช่วยกันในกิจกรรมการเรียนรู้นั้น ๆ ค่ะ อาจไม่ต้องมาทำด้วยกันทั้งบ้านทุกกิจกรรมนะคะ แต่อย่างน้อยต้องไม่รบกวนหรือมาขัดจังหวะ เวลาที่ทำกิจกรรมก็กำหนดบทบาทให้ชัด ใครนำ ใครตาม  เช่น จะทำกิจกรรมอ่านหนังสือนิทาน  ก็ควรมีพื้นที่หรือสมาธิ จะมีสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งเล่นโทรศัพท์ก็ไม่ใช่ เป็นต้น

ในขณะที่ทำกิจกรรมทุกคนก็ต้องมุ่งไปสู่เป้าร่วมกัน แต่ไม่ต้องเคร่งเครียด ที่สำคัญต้องมีการชื่นชมให้กำลังใจ ถ้าเด็กทำสำเร็จ ชมไปที่คุณสมบัติที่เราต้องการให้ชัด เช่น ตั้งใจดีมาก, ดีที่วันนี้เราได้รู้อะไรเพิ่มอีกแล้ว แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร แต่บอกให้เขาเข้าใจด้วยนะคะว่าไม่สำเร็จเพราะอะไร และไม่โทษใคร หากลูกทำผิด วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การดุด่าหรือตะคอก แต่คือการสอนและคุยกันด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์กับลูก หากไม่อยากให้ผลเสียต่าง ๆ ติดตัวลูกไปจนโต

สำหรับบ้านเรา เราคิดไว้เสมอว่า “ทุกสิ่งคือการเรียนรู้ แต่เราไม่ต้องเรียนทุกสิ่ง” คนเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างที่เห็นว่าดี โดยเฉพาะคนอื่นเป็นคนเห็น เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะดีไปหมด อยากทำไปหมดทุกอย่างนั่น และไม่ต้องเครียด ว่าลูกจะต้องได้รับการเรียนรู้ทุกกิจกรรมที่ทำ ไม่ต้องเยอะ ที่จริงแม้แต่การผิดพลาดก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน  เพราะอาจเป็นการค้นพบว่าไม่ชอบอะไร หรือแม้กระทั่งว่าเราสามารถเล่นสนุกโดยไม่ต้องหวังผลที่เป็นสาระก็ได้นะคะ เช่น เล่นจักจี้ เล่าเรื่องตลก เป็นต้น เพราะการเรียนรู้อารมณ์ โดยเฉพาะความสุขก็เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมากของชีวิตคนเรา

และสุดท้าย..ร่วมแบ่งปันทรัพยากรกับคนอื่น 

การทำบ้านเรียน  เราไม่ได้ทำเองคนเดียวเหงาๆ เราสามารถแบ่งปันกันเป็นกลุ่มได้  แต่ละบ้านไม่มีใครเหมือนกันเลย ดังนั้นนอกจากรูปแบบการเรียนรู้ การแชร์ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ กิจกรรมอะไรที่บ้านนึงทำแล้วดี อีกบ้านอาจได้ผลต่างออกไป การได้ปรึกษาแลกเปลี่ยนก็จะเป็นการช่วยกันพัฒนาสังคมการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ของเราได้

สำหรับเด็ก  การได้คิดสร้างสรรค์ ลงมือ ทำแล้วการได้แชร์ หรือ สอนคนอื่นสำคัญมากเป็นสุดยอดกระบวนการประเมินที่ง่ายที่สุด ลองให้เด็กแบ่งปันความรู้ของตัวเอง เริ่มจากให้สอนคนในบ้าน เพราะจะได้ทบทวน ประเมินผล เรียบเรียง ความรู้นั้น ๆ แถมได้ feedback จากมุมมองและประสบการณ์คนอื่นเพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุง พัฒนาตัวเองต่อ ๆ ไปด้วยค่ะ

ซึ่งในภาวะอยู่บ้านดีกว่าอย่างตอนนี้การใช้ Social Network  ให้เกิดประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนกัน ทั้งตัวผู้ปกครอง และลูกหลานที่ต้องการทักษะทางสังคมที่มากกว่าในครอบครัว รวมทั้งการต่อยอดจากการบันทึกเรื่องราวการเรียนรู้ไปเป็น blog ไปจนถึงช่อง YouTube ก็เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เข้ากับยุคสมัยและความสนใจของเด็ก ๆ มาก

สิ่งที่สำคัญที่สุด  ลูกต้องการแบบอย่าง ต้องการกำลังใจ หากผู้ปกครองเห็นความสำคัญการเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ฝึกลูกสร้างนิสัยรักการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็กจะทำให้ลูกติดเป็นนิสัย และจะทำให้ลูกเป็นคนมีวินัยต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อหน้าที่การงานที่ตนเองรับผิดชอบ  ลูกเราสามารถไปเรียนในระบบการศึกษาแบบไหนก็ได้แน่นอนค่ะ

………………………………………………………………………………………

แม่อี๋ – สุรวดี รักดี ทำบ้านเรียนมา 5 ปี มีลูกชาย 2 คน อายุ  15 ปีและ 7 ปี

แต่ถ้าสนใจอยากทำ homeschool จริงจังลองเข้าศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม https://www.homeschoolnetwork.org/

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า