เครือข่าย “ครู-ผู้ปกครอง-ชุมชน” สร้างและหนุน “หลักสูตรการเล่น”

นวัตกรรมการเล่น “ใครๆ ก็ทำได้” สู่วิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ตำบลปางมะผ้า

ทุกๆ การเล่นคือการเรียนรู้ ทุกๆ การเรียนรู้ล้วนเกิดมาจากประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ ดังนั้นการเล่นของเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของความสนุก แต่คือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างมีความสุข ที่มีงานวิชาการยืนยันแล้วว่าสามารถสร้างเสริมและเติมเต็มพัฒนาการเด็กปฐมวัยในด้านต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน

ลึกเข้าไปในเทือกเขาถนนธงชัยชายแดนไทยพม่า ณ บ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของชาวไทยภูเขาหลายชนเผ่าทั้ง ไทใหญ่ ปะโอ และลาหู่ แต่ความห่างไกลไม่ได้เป็นข้อจำกัด ขัดขวางโอกาสการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ได้นำเอาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาหลอมหลวมเป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยอายุ 2-4 ปีผ่านการ “หลักสูตรการเล่น”

เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม

“หลักสูตรการเล่น” เป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดขยายผลจากกิจกรรมการ “เล่นอิสระ” ที่ “ครูเล็ก” พัชรา รักสัตย์สัญญา  นำการเล่นมาใช้เป็นเครื่องมือในจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุขเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ครบทุกมิติของ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางคาม” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก”  ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ของเล่นพื้นบ้านสร้างการเรียนรู้

“การออกแบบการเรียนการสอนหรือวิธีจัดการเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางคาม ไม่มีสูตรตายตัว  ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ และจัดการเล่นตามความสนใจของตัวเด็กเอง เช่น บางวันเด็กๆ อยากไปดูวัว ก็จะพาไปดูวัว หรือ อยากไปเก็บชา ก็จะพาไปเก็บชาที่ไร่ชา พาไปเล่นน้ำ ไปดูชาวบ้านดำนา บางวันเรียนหน่วยลอยกระทง ก็จะสอนให้เด็กเล่นลงมือทำกระทงและพาไปลอยที่แม่น้ำ  ทำให้เด็กมีความสุข ครูก็สอดแทรกเรื่องราวในหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ เข้าไปในกิจกรรมนั้น พร้อมอำนวยความสะดวกในการเล่น และดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กๆ” ครูเล็ก พัชรา เล่าถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้

เพราะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเด็กใช้ภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธ์เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ภาษาไทย “ครูเล็ก” จึงเริ่มประยุกต์ใช้ “การเล่น” เข้าไปแก้ปัญหาเรื่อง “การสื่อสารภาษาไทย” ผ่านการจัด  “กิจกรรม เล่น เรียนรู้ สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย”  จนได้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Practice ระดับปฐมวัยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเครื่องยืนยันว่าการเล่นนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องสนุก แต่สามารถประยุกต์ใช้ไปสู่สร้างการเรียนรู้ได้ทุกๆ เรื่อง

ครูเล็ก

เด็กหลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เมื่อสื่อสารกับเพื่อนและครูไม่ได้จึงไม่อยากมาโรงเรียน ดังนั้นทุกกิจกรรมจึงสอดแทรกคำศัพท์ภาษาไทยคู่กับภาษาถิ่น ให้เด็กออกเสียงและพูดตามซ้ำๆ จนเด็กจำได้ขึ้นใจและเกิดความมั่นใจ สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง

ครูเล็ก กล่าว

เพราะเชื่อมั่นว่าทุกพื้นที่ในชุมชน ทุกมุมของบ้าน ทุกกิจกรรมของคนในครอบครัว สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่และเรื่องราวให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ ทางคณะครูผู้ดูแลเด็กทั้งหมดของตำบลปางมะผ้า จึงรวมตัวกันจัดกิจกรรมอบรมผู้ปกครองในวันแรกรับบุตรหลานเข้าเรียน โดยเชิญทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็กมาเป็นวิทยากรปูพื้นฐานความคิด เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการเล่นที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการและสมองของเด็ก  พร้อมกับชักชวนให้ผู้ปกครองที่มีความพร้อมมาร่วมกันเป็น Play Worker เพื่ออำนวยการเล่นให้กับเด็กๆ ทั้งที่บ้าน และในการจัดกิจกรรมต่างๆ

เมขิ่น ฉิ่งต่า คุณแม่ของน้องบุญ

เมขิ่น ฉิ่งต่า คุณแม่ของ “น้องบุญ” วัย 4 ขวบ เล่าว่าน้องบุญมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เกิดทำให้มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน พอผ่านการอบรมเลยรู้ว่าการเล่นนั้นมีประโยชน์ส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ทุกด้านก็เลยสนับสนุนให้น้องบุญได้เล่นอิสระเต็มที่ จึงชวนน้องบุญทำกิจกรรมทุกอย่างภายในบ้าน ทำกับข้าวก็จะให้ช่วยหั่นผัก ล้างผัก เท่าที่พอจะทำได้

“ถ้าลูกอยากเล่นอะไรก็จะคอยช่วยจัดหาอุปกรณ์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเล่นให้ และจัดมุมเล่นอิสระในบ้าน ทำให้น้องบุญกล้าคิด กล้าคุย กล้าแสดงออก ช่างสังเกต ช่างถาม มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อและแม่ดีขึ้น มีน้ำใจ มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น พูดคุยโต้ตอบภาษาไทยได้ แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ดีใจมากเมื่อพบว่าน้องบุญมีพัฒนาการดีสมวัย” แม่น้องบุญ ระบุถึงข้อดีของการเล่น

ผ่องพรรณ รักสัตย์สัญญา คุณแม่ของน้องฟองเบียร์

ผ่องพรรณ รักสัตย์สัญญา คุณแม่ของ “น้องฟองเบียร์”  วัย 4 ขวบ กล่าวว่า เมื่อก่อนครอบครัวเธอรักความสะอาดมาก ไม่ยอมให้น้องฟองเบียร์เล่นดินเล่นทรายเพราะกลัวเชื้อโรค แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจยอมให้ลุยได้เต็มที่ เพราะเห็นน้องฟองเบียร์เล่นแล้วมีความสุข พร้อมกับชักชวนสามีช่วยกันประดิษฐ์ชิงช้าจากเศษไม้ให้ลูกได้เล่นในบ้านด้วย ซึ่งผลจากการเล่นกับลูกที่บ้านทำให้น้องฟองเบียร์ ร่าเริง แจ่มใส กล้าคิด กล้าแสดงออก และเวลาที่เล่นกับเพื่อนๆ ที่มาบ้าน ก็สังเกตเห็นว่าน้องใช้ภาษาไทยสื่อสารกับเพื่อนๆ ที่มาเล่นด้วยกัน

นอกจากการขยายพื้นที่สนับสนุนการเล่นให้เกิดขึ้นในครอบครัวแล้ว “ครูเล็ก” ยังขยายผลออกไปถึงชุมชน โดยชักชวนคณะกรรมการ ศพด.และผู้ปกครองของเด็ก รวบรวมสื่อการเล่นตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการคิดค้นหาของเล่นพื้นบ้านจากประสบการณ์ในอดีตของสมาชิกในชุมชน “เมื่อตอนวัยเยาว์ได้เล่นอะไรบ้าง?” แล้วนำกลับมาทำให้เด็กๆ ได้ทดลองเล่นอีกครั้ง ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทั้งผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน ในการทำของเล่นต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างมีความสุข แถมยังเป็นการสร้างเครือข่าย Play Worker ในชุมชนไปพร้อมๆ กัน

เดินไปเล่นในชุมชน

ของเล่นพื้นบ้านที่เด็กๆ ชอบมากก็คือ ตียอ เป็นเครื่องดีดคล้ายพิณ ที่ผู้ปกครองมักจะทำมาให้เล่นทุกปี เวลาดีดแล้วมีเสียงดัง ดีดช้าดีดไวให้เสียงต่างกัน เป็นเครื่องดนตรีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยพัฒนาทักษะการฟัง ประสาทสัมผัสตากับมือ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ได้ออกเสียงร้อง เด็กๆจะสนุกสนานกันมาก แล้วก็มีกลองของชาปะโอ ทำจากกระบอกไม้ไผ่ มีลูกข่างของชาวลาหู่ และสะบ้าของไทใหญ่ ที่ให้เด็กได้ฝึกเล่นกันเป็นทีม บางคนก็เอาไปนับหรือระบายสี เด็กๆ ก็จะได้ฝึก การนับจำนวน จำแนกสี ขนาด มิติรูปทรง ครูเล็กกล่าว  

ผลสำเร็จของการเรียนรู้ผ่านการเล่นโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ และการขยายพื้นที่การเล่นอิสระลงไปยังครอบครัวและชุมชน จนเกิดเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกตำบลปางมะผ้า” ที่มีครูและผู้ปกครองจำนวน 80 คนเข้าร่วมเป็นผู้อำนวยการเล่น  ทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวได้รับการต่อยอดพัฒนาไปสู่“หลักสูตรการเล่น” ที่ได้หลอมรวมนโยบายของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมาผนวกเข้ากับการเล่นอิสระ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนตามบริบทของพื้นที่ที่มีชั่วโมงการเล่นมากถึง 76 ชั่วโมงและมีวันเล่นมากถึง 17 วัน โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า ได้ขยายผลนำหลักสูตรการเล่นไปใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 6 แห่งในพื้นที่ มีการอบรมพัฒนาครู ควบคู่ไปกับดึงผู้ปกครองในแต่ละชุมชนเข้ามาเป็นเครือข่าย Play Worker ในระดับตำบลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ครูแคท พัชราภา ศุภธาดากุล

 “ครูแคท” พัชราภา ศุภธาดากุล ครูผู้ดูแลเด็ก “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านไม้ลัน” หนึ่งในพื้นที่ขยายผลหลักสูตรการเล่นกล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัยให้ความสำคัญกับการเล่นภายนอกห้องเรียน มากกว่าในห้องเรียน โดยเน้นให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้วิถีชุมชนของตัวเอง เช่น พาไปเก็บใบชา ปลูกผักสวนครัว ดูต้นไม้ในชุมชน และเล่นผ่านสื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผู้ปกครองช่วยกันทำมาให้เล่นอยู่เสมอ ทำให้ได้ผลลัพธ์จากกิจกรรมการเล่นต่างๆ ออกมาชัดเจน

เด็กๆ มีพัฒนาการตามวัย สามารถตอบคำถามง่ายๆ ตามช่วงวัยของเขาได้ มีพฤติกรรมและการแสดงออกต่างๆ เป็นที่น่าพึงพอใจ ยิ่งถ้าเราให้เขาเล่นมากเท่าไหร่ เขาก็เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น และสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ดีขึ้น

ครูแคท ระบุ
ความสุขของเด็กจากการเล่น

“การเล่น” ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีความสุขสนุกสนานและผ่อนคลาย  แต่การเล่นนั้นมีพลังสร้างสรรค์อย่างมากมาย สามารถเชื่อมร้อยไปกับการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย จึงอาจกล่าวได้ว่า เด็กสร้างการเล่น แล้วการเล่นก็กลับมาช่วยสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาครบสมบูรณ์ในทุกด้าน และเป็นพลังแห่งเล่นอิสระที่ทุกคนมีส่วนสนับสนุนได้.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า