การเรียนรู้ด้วยตัวเอง: อิสระ ไม่ต้องสอบ ให้ผลลัพธ์ชี้วัดตัวเอง โรงเรียนไม่ใช่เงื่อนไข

ถ้าพูดถึง ‘การเรียนรู้ด้วยตัวเอง’ (self-directed learning) ขึ้นมาแบบลอยๆ เราคงจินตนาการไม่ออกว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นแบบไหน แต่ถ้ายกตัวอย่าง การฝึกฝนของนักกีฬาหรือนักดนตรี น่าจะทำให้เห็นภาพการเรียนรู้ด้วยตัวเองชัดมากขึ้น

การเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต่างจากการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักกีฬา พวกเขาต้องฝึกซ้อมอย่างหนักก่อนการแข่งขัน ยิ่งซ้อมมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองมากเท่านั้น

การฝึกซ้อมจึงไม่ใช่การพัฒนาฝีมือไปต่อสู้กับผู้อื่นอย่างที่เห็นจากภายนอก แต่เป็นการฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น สร้างจุดแข็งให้แข็งแรงและซ่อมเสริมจุดอ่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วเมื่อตัวเองมีความพร้อม การลงสนามแข่งจึงไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัว แต่กลับเป็นความท้าทาย

การซ้อมไม่เคยจบเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะ ไม่ว่าจะมีโค้ชหรือไม่มี ผลลัพธ์ในสนามแต่ละครั้งเป็นตัวชี้วัดให้นักกีฬาแต่ละคนรู้ว่าพวกเขาควรพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไรอีก

นักดนตรี นักร้องเองก็ไม่ต่างกัน สำหรับนักดนตรี พวกเขาอาจมีบางท่อนที่เล่นไม่ได้ นักร้องหลายคนมีโน้ตที่ร้องไปไม่ถึง พวกเขาอาจได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ แต่สุดท้ายการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง จากความพยายามของตัวเองเท่านั้นที่จะช่วยพัฒนาทักษะฝีมือของพวกเขาก่อนเผยแพร่ผลงานสู่สายตาผู้ชมและผู้ฟัง

ตัวอย่างที่ว่ามา ตอกย้ำประโยคคุ้นหูที่ว่า “การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่หยุดพัฒนาตัวเอง”

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง (self-directed learning) มีประโยชน์อย่างไร?

บิล เกตส์ (Bill Gates) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) และ เอลเลน ดีเจนเนอรีส (Ellen DeGeneres) เมื่อเอ่ยถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ชื่อพวกเขาปรากฏขึ้นมาเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ เราจะไม่โฟกัสตรงการตัดสินใจลาออกจากการเรียนในมหาวิทยาลัยของพวกเขา แต่ปัจจัยความสำเร็จสำคัญที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ ‘การเรียนรู้ด้วยตัวเอง’

การเรียนรู้ด้วยตัวเองช่วยให้เราเพิ่มพูนทักษะความรู้ใหม่ๆ ตามความชอบและความสนใจได้อย่างอิสระ ไม่ต้องถามเรื่องความสำเร็จ เพราะความสำเร็จเกิดขึ้นได้แน่นอนหากผู้เรียนเรียนรู้ที่จะกำกับตัวเอง

ในเมื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ทำไมต้องไปโรงเรียน?

แม้มีการศึกษายืนยันอย่างชัดเจนว่า ทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แต่นักการศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยทางสมอง ก็มีความเห็นตรงกันว่า

“มันไม่ใช่เรื่องง่าย”

การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะเป็นเรื่องน่ายินดีมากหากเด็กและเยาวชนหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ที่เป็นอิสระ และสร้างความสุขสนุกสนานได้มากกว่าการรอให้พ่อแม่หรือครูป้อนข้อมูลเข้าสมอง การไปหรือไม่ไปโรงเรียนจึงไม่ใช่เงื่อนไข

การศึกษาโดย มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา (University of Waterloo, Canada) ได้ค้นพบกุญแจ 4 ดอกสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ยั่งยืนเฉพาะตัวบุคคล

  • กุญแจดอกที่หนึ่ง ความพร้อมที่จะเรียนรู้ (Being Ready to Learn/ Assess Readiness to Learn)

แต่ละคนมีทักษะและทัศนคติต่อการเรียนรู้ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การประเมินความพร้อมในการเรียนรู้ของตัวเอง ส่วนจะถูกต้องแม่นยำแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า เรายอมรับความจริงและซื่อสัตย์กับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ลองถามตัวเองด้วยชุดคำถามต่อไปนี้…

รู้สึกอย่างไรกับการเรียน?

ผลการเรียนตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

รู้สึกอย่างไรกับการบ้าน? ทำการบ้านส่งทุกครั้งหรือเปล่า?

ถ้าไม่ใช่การเรียนในห้องเรียน ชอบทำอะไร?

ที่บ้านมีคนช่วยสอนการบ้านไหม? พ่อแม่มีส่วนช่วยเรื่องการเรียนอย่างไรบ้าง?

ชอบไปโรงเรียนไหม เพราะอะไร? ถ้าไม่ชอบ เพราะอะไร? ฯลฯ

คำตอบที่ได้จากคำถามข้างต้นทั้งหมด จะชี้ให้เห็นทัศนคติส่วนตัวที่มีต่อการเรียน ความมีวินัยในตัวเอง ความสามารถในการจัดการตัวเอง เช่น การแบ่งเวลาเรียนแบ่งเวลาเล่น ทักษะด้านการสื่อสาร ความสามารถในการรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการประเมินและสะท้อนตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

  • กุญแจดอกที่สอง มีเป้าหมายในการเรียนรู้ (Setting Learning Goals)

เป้าหมายที่ว่าไม่ใช่แค่เป้าหมายเฉพาะตัวบุคคล สำหรับการเรียนในห้องเรียน ครูและนักเรียนจะต้องสื่อสารและทำความเข้าใจร่วมกัน

ครูจะต้องบอกนักเรียนได้ว่าการเรียนการสอนแต่ละบทเรียนนั้น มีไปเพื่ออะไร นักเรียนจะได้ทำอะไรบ้าง แล้วผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมอย่างไร เช่น มาช่วยเป็นวิทยากร หรือช่วยเตรียมอุปกรณ์ให้ลูก

เกณฑ์การประเมินผลวัดจากอะไร ใครเป็นผู้ประเมินบ้าง เช่น ครูเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ หรือให้โอกาสผู้ปกครองมีส่วนร่วมประเมินผลนักเรียนด้วย เป็นต้น

ส่วนเมื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ผู้ปกครองช่วยวางแผนการเรียนรู้ได้จากการพาลูกๆ ทำกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

  • กุญแจดอกที่สาม มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ (Engaging in the Learning Process)

นอกจากเช็คพื้นฐานความพร้อมแล้ว การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนเข้าใจความต้องการของตัวเอง เด็กๆ ต้องรู้ใจตัวเองว่า อยากเรียนรู้เรื่องอะไร ถ้าไม่ชอบเรียนในห้องเรียน แล้วชอบเรียนแบบไหน การรู้จักตัวเองนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโรงเรียนและผู้ปกครอง เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ลองคิดลองทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลายนอกเหนือจากการท่องจำในตำรา

ผู้ปกครองสามารถช่วยลูกค้นหาคำตอบด้วยคำถามต่อไปนี้…

ลูกชอบครูคนไหนมากที่สุด? เพราะอะไร?

ทำไมลูกถึงชอบครูคนนี้ วิธีที่ครูสอนต่างจากครูคนอื่นอย่างไร? ฯลฯ

ในเชิงวิชาการวิธีการเรียนรู้มีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ การเรียนรู้แบบลุ่มลึก (deep approach) การเรียนรู้แบบผิวเผิน (surface approach) และการเรียนรู้แบบกลยุทธ์ (strategic approach)

การเรียนรู้แบบกลยุทธ์ การเรียนรู้แบบนี้เป็นลักษณะเดียวกับการติวเพื่อให้ทำข้อสอบได้ เพื่อให้ได้คะแนนสูงที่สุด เป็นการเรียนรู้จากการทำข้อสอบ และการท่องจำชุดความรู้เพื่อนำไปใช้ตอบคำถาม แต่ไม่ได้ฝึกกระบวนการคิด

การเรียนรู้แบบผิวเผิน เป็นการเรียนในกรอบเพื่อตอบโจทย์ผลสัมฤทธิ์ แตกต่างกับแบบแรกอยู่เล็กน้อยตรงที่องค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จะมีสเกลกว้างกว่าตามบทเรียนหรือหัวข้อหลักของแต่ละหน่วยการสอน แต่ก็ยังหนีการท่องจำไม่พ้น

การเรียนรู้แบบลุ่มลึก ต่อยอดการเรียนรู้แบบผิวเผิน เป็นการปรับใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตจริง มีความสนใจหรือตั้งคำถามต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่เดิม

การเรียนรู้อย่างอิสระด้วยตัวเองจะต้องใช้การเรียนรู้แบบลุ่มลึก เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อมต่อตัวเองกับการเรียนรู้และเป็นแรงจูงใจในการศึกษาค้นคว้าต่อจากสิ่งที่สนใจ

หลายครั้งนำมาสู่การทดลอง ลงมือทำ ซึ่งอาจได้ผลลัพธ์ตามที่คาดไว้หรืออาจล้มเหลว กำลังใจจากครอบครัว และครูผู้สอน จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เป็นการเสริมแรงไม่ให้พวกเขาย่อท้อหรือล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน ด้วยเหตุนี้ ‘ความอดทนและพยายาม’ จึงเป็นคุณลักษณะที่ผู้เรียนต้องมี

  • กุญแจดอกที่สี่ ประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ (Evaluating Learning)

อย่างที่ยกตัวอย่างนักกีฬา นักดนตรี และนักร้อง ไปแล้วในตอนต้น การประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา แล้วยอมรับข้อผิดพลาด ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างตรงจุด

ลองทบทวนตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้

รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองได้เรียนรู้แล้ว วัดจากอะไร?

สถานการณ์ไหนบ้างที่คิดว่าตัวเองได้นำความรู้ที่มีไปปรับใช้?

มีความมั่นใจขนาดไหนก่อน ระหว่าง และหลังลงมือทำ?

คิดว่าความรู้ที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือยังสำหรับเรื่องที่ตัวเองสนใจ?

ถ้ายังไม่พอ คิดว่าต้องหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องไหนอีก? ฯลฯ

คำถามที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ผู้เรียนจะต้องประเมินตัวเองให้ได้ คือ เราเรียนรู้แบบไหน?

ยกตัวอย่างเช่น เรียนรู้จากการอ่านได้ดี อ่านครั้งเดียวก็จำได้, เรียนรู้จากการฟังได้ดีกว่า อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าหัว, เรียนรู้จากการจด เช่น อ่านแล้วสรุปบันทึก หรือฟังแล้วสรุปสาระสำคัญ หรือเรียนรู้จากการถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้คนอื่นฟัง (การพูด) เพราะบางคนตกผลึกความรู้ได้ดีขึ้นเมื่อได้บอกเล่าสิ่งที่รู้หรือได้เรียนรู้แก่ผู้อื่น

กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้จากการผนวกการเรียนรู้แบบต่างๆ เข้าด้วยกันไม่จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

กุญแจทั้ง 4 ดอกแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยการทำซ้ำจนกลายเป็นนิสัย ซึ่งจะติดตัวผู้เรียนไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ บทบาทของผู้ปกครองที่ลืมไม่ได้เลย คือ การทำให้ลูกอุ่นใจว่าผู้ปกครองพร้อมรับฟัง ให้คำปรึกษาและเป็นทีมเดียวกันกับพวกเขาเสมอ รวมทั้งช่วยกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ เช่น การพาลูกออกไปทำกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ในวันหยุด เพื่อทำความรู้จักกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ด้านการเข้าสังคมและการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ

ติดอาวุธสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เมื่อรู้จักตัวเองดีพอแล้วว่าสนใจศึกษาเรื่องอะไร ชอบสิ่งไหนเป็นพิเศษ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองจะเกิดขึ้นได้โดยไม่สะดุด หากมีทักษะการเรียนรู้ (learning skills) ต่อไปนี้


ทักษะชีวิต (life skills) ยกตัวเช่น การจัดการเวลา ผู้เรียนควรเรียนรู้วิธีแบ่งเวลาส่วนตัว เวลาในการเข้าสังคม และเวลาทำงานร่วมกับผู้อื่น ให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของตัวเอง

ความเป็นอิสระ (independence) การสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง มีความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ การกล้าตัดสินใจและพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ตนเองได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์

ทักษะพื้นฐาน (basic skills) พัฒนาความสามารถทั่วไปที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้และการทำงานด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองสนใจ เช่น การอ่าน การคิดเลข การใช้คอมพิวเตอร์ การทำงานกราฟิก หรือการทำเอกสาร เป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ

ทักษะการเรียนรู้ (study skills) การเตรียมวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การบันทึก และสรุปใจความสำคัญในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านั้น

การเรียนรู้เพื่อจะเรียนรู้ (learning to learn) ผู้เรียนต้องมีใจเปิดรับการเรียนรู้ ไม่มีอคติต่อการเปิดรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลใหม่ๆ และหมั่นค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ

ทักษะการวางแผน (planning skills) ความสามารถในการออกแบบและวางแผนการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ทักษะการวิเคราะห์ (analytical skills) ความสามารถในการเลือกและใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญและความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้

ทักษะการสื่อสาร (communication skills) ความสามารถในการเขียนและเรียบเรียงข้อมูลรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ของตัวเอง

ทักษะการประเมิน (evaluation skills) ความสามารถในการประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง และยอมรับคำแนะนำจากผู้อื่นได้

ความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ (completion skills) ความมุ่งมั่นพยายาม ความอดทน รวมทั้งความมีวินัย ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ และการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้อย่างเต็มความสามารถ ความสำเร็จไม่ได้วัดจากคะแนนหรือคำชื่นชม แต่เกิดจากบทเรียน ประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างลงมือทำงาน

หลีกให้ไกลจากคำว่า ‘ไม่’

จากการศึกษาพบว่า มีชุดความคิด 3 รูปแบบที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้เด็กหลายคนไม่สนุกกับการเรียนรู้ บางคนถึงขนาดไม่อยากเรียนไม่อยากรู้ แล้วเมินหน้าหนีไปเลยก็มี ได้แก่

หนึ่ง แรงจูงใจ (motivation) : ฉัน ‘ไม่’ มีแรงจูงใจในตัวเองมากพอ

สอง ความสามารถ (ability) : ฉัน ‘ไม่’ มีความสามารถ หรือ ‘ไม่’ เก่งพอ

สาม การเลือกนิยามตัวเอง (type) : ฉัน ‘ไม่’ ใช่คนประเภทที่จะทำอะไรได้

คำว่า ‘ไม่’ ทั้ง 3 รูปแบบนี้ ทำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นไปได้ยาก เพราะจะทำให้ผู้เรียนขาดความกล้าและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความพยายามและความมุ่งมั่น ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีแก้ไม่ยาก ลองพูดกับตัวเองด้วยประโยคที่ปราศจากคำว่า ‘ไม่’ หน้ากระจก วิธีการนี้เป็นวิธีคิดแบบ Growth Mindset(กรอบความคิดแบบเติบโต ที่มีความเชื่อว่าทุกคนพัฒนาความสามารถของสมองในการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก)

อย่างไรก็ตาม หากชุดความคิดนี้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน บุคคลที่ควรพิจารณาตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก คือ ผู้ปกครองและครู

พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดความคิดและรู้สึกแบบนี้หรือเปล่า?

การเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้เด็กมองตัวเองแบบนี้ไหม?

ถ้าใช่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้อย่างมีอิสระ เพื่อพัฒนาความกล้าและความมั่นใจ เพื่อเติมเต็มความมุ่งมั่นและความพยายาม แล้วสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้

ขอบคุณที่มา : thepotential

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า