จิตแพทย์แนะ ให้ลูกลงมือทำงานจิตอาสา ช่วยสร้างทักษะชีวิต

แพทย์หญิงถิรพร ตั้งจิตติพร

วันนี้เราได้มีโอกาสได้คุยกับแพทย์หญิงถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ว่าทำไมเด็กยุคนี้ต้องทำงานจิตอาสา คุณหมอบอกว่า การทำงานจิตอาสาเป็นสิ่งที่ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีทักษะชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ การเสียสละ การมีน้ำใจ ความขยัน อดทน ความรับผิดชอบ การเข้าสังคม อ่อนน้อมถ่อมตน ลดความเห็นแก่ตัว มีเมตตาต่อกันทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือการเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กยุคนี้ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย การติดต่อสื่อสารกันหรือการเรียนรู้ส่วนใหญ่มักผ่านทางหน้าจอ ทำให้ขาดทักษะที่สำคัญในชีวิตหลายอย่าง แต่ข้อควรระวังคือการทำงานจิตอาสาแล้วถ่ายรูปโพสใน facebook หรือ instagram เพื่อจุดประสงค์ในการให้คนเข้ามาชมหรือคอมเม้นท์ เด็กๆก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากงานจิตอาสาที่แท้จริง

งานอาสาที่เหมาะแต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้างคะ

คุณหมอ ตอบว่า: สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรก คือเรื่องความปลอดภัย พัฒนาการ ทักษะของเด็กและความพร้อมให้เหมาะสมกับกิจกรรม

  • วัยอนุบาล: กิจกรรมส่วนใหญ่มักเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้ใหญ่ เป็นกิจกรรมที่ทำง่ายๆไม่ต้องใช้ทักษะมาก เช่น ช่วยเก็บของหรือจัดเรียงของ ทำความสะอาดง่ายๆ ช่วยทำงานบ้านก็เป็นจิตอาสารูปแบบหนึ่ง แบ่งของเล่นหรือเสื้อผ้าให้ผู้อื่น
  • วัยประถม: เริ่มทำกิจกรรมด้วยตนเองได้มากขึ้น เช่น ทำขนมทำอาหาร เก็บขยะ จัดหรือตกแต่งสถานที่ อ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตา บริจาคสิ่งของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ให้แก่ผู้ที่จำเป็น
  • วัยมัธยม: กิจกรรมที่ทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น เช่น ออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชน สอนหนังสือให้เด็กๆ ดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมช่วยบำบัดผู้ป่วย งานแสดงดนตรีการกุศล

การเตรียมพร้อมลูกก่อนไปทำงานอาสา

คุณหมอได้ให้หลักการไว้ดังนี้ พ่อแม่อาจจะคุยถึงจุดประสงค์ของงานจิตอาสานั้นๆว่าคืออะไร เพราะอะไรเราหรือลูกถึงเลือกทำงานนี้ มีการตระเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม และวางแผนการทำงาน ขั้นตอน หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในงาน ลองคิดถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และวางแผนแก้ไขปัญหาไว้ก่อนเล็กน้อย

พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวเมื่อลูกไปทำงานจิตอาสาอย่างไร

คุณหมอ แนะนำว่า งานจิตอาสาที่จะให้เด็กทำควรมีทั้งงานที่พ่อแม่ร่วมทำกับลูกด้วย และเด็กทำร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ข้อดีของการทำงานจิตอาสาร่วมกับพ่อแม่คือ การที่เด็กได้เห็นต้นแบบที่ดี เพราะการเรียนรู้ที่ดีไม่ได้เกิดจากการได้ยิน หรือการบอกให้ทำ แต่เกิดจากการได้เห็น และ ได้ลงมือปฏิบัติ รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธภาพร่วมกันในครอบครัว จะทำให้เด็กๆรู้สึกมีความสุขในการทำงานจิตอาสา นอกจากได้ความสุขจากกิจกรรมยังได้รับความสุขจากพ่อแม่ ( ขณะทำไม่ควรดุ ว่า เด็ก แต่เน้นการรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน, ไม่ควรช่วยเด็กมากเกินไปเพื่อให้เด็กแสดงศักยภาพของตนเองออกมา เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น)

เมื่อกลับบ้านแล้วควรทบทวนอะไร

คุณหมอบอกว่า พ่อแม่สามารถพูดคุยถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมเป็นอย่างไร

  • ความประทับใจในกิจกรรมที่ได้ทำ
  • บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ทำหรือไม่
  • อุปสรรคที่เกิดขึ้น
  • และการแก้ไขปัญหา เมื่อลูกทำงานไม่สำเร็จ ไม่เป็นไร
  • ให้กำลังใจ และทบทวนปัญหา
  • วางแผนในการไปทำงานจิตอาสาครั้งหน้า

การทบทวนถึงสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาตนเอง เพิ่มความรู้สึกมีความสุขกับกิจกรรมที่ทำและทักษะการจัดการกับปัญหา โดยเด็กๆอาจมีการบันทึกภาพเก็บไว้ในความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเราได้ทำกิจกรรมดีๆเหล่านี้

“การทำงานจิตอาสาเป็นเรื่องที่ดี กายและใจต้องพร้อม หากเด็กใจไม่พร้อม ไม่ควรเป็นการบังคับเด็กถ้าเด็กยังไม่อยากทำกิจกรรมนั้นๆ เพราะการสอนทักษะเด็กจากกิจกรรมจิตอาสา สามารถสอนจากกิจกรรมอื่นๆได้เช่นกัน เราอาจรอให้เด็กพร้อม หรือเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับลูก ลูกจะทำด้วยใจที่มีความสุขและสนุกไปกับกิจกรรม การเป็นผู้ให้เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นผู้รับ ได้ลดความเป็นตัวเอง เพิ่มการเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

ด้าน สุธิตา หมายเจริญ “สุกี้” ฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นองค์กรที่รับอาสาสมัครที่อาจพูดได้ว่า รับอาสามากที่สุดในประเทศไทย เล่าว่า

ฟันเฟื่องที่สำคัญของกระจกเงาในการทำงาน คือ อาสาสมัครที่เฉลี่ยต่อวันเข้ามาทำงานถึง 30 คนหรือแต่ละปีเราบริหารอาสามากกว่า 10,000 คน โดยหากเราพูดตามทั่วไปจาก 100 % นั้น 70 %เป็นอาสาสมัครที่ต้องมาทำงานอาสาสมัครตามที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาระบุให้ทำเพื่อผ่านเกณฑ์ต่างๆ ส่วนอีก 30% เป็นอาสาสมัครที่มีความตั้งใจมาทำงานโดยเฉพาะ ดังนั้นเราจะทำการแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านอาสาดูแลเขาโดยเฉพาะ และนำกระบวนการมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้

“ก่อนที่อาสาสมัครจะทำงานในแต่ละวัน เราจะทำการปฐมนิเทศน์เพื่อให้เข้าเห็นคุณค่าของงานที่ทำงาน เช่นกระจกเงา จะเล่ากระบวนการทำงานว่า เรามีงานตามหาคนหาย อาสามาเยี่ยมที่ดูแลคนป่วยติดเตียงที่ยากจน โรงพยาบาลมีสุข ซึ่งงานเหล่านี้ต้องใช้เงินในการทำงาน เงินการซื้อผ้าอ้อม และงานอาสาสมัครที่เด็กมาขนของ เจอฝุ่น เจอสิ่งสกปรก คัดแยกของขาย นี่แหล่ะคือส่วนหนึ่งทำให้งานเดินหน้าได้น้องหลายคนที่เราเอาเข้ากระบวนการ หลายคนเห็นคุณค่าของตัวเองถึงกับร้องไห้ออกมา ว่าเขาสามารถสร้างประโยชน์ได้”

ต่อข้อถามที่ว่า “งานอาสาแท้จริงควรเริ่มที่ไหน”

สุกี้ให้คำแนะนำว่า “บ้าน” พ่อแม่คือด้านแรกค่ะที่ควรปลูกฝังลูก เขาจะเป็นผู้ใหญ่อย่างไร ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ และเราคิดว่างานอาสาของที่บ้าน เราสามารถเริ่มจากสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่น ครอบครัวที่ชอบวิ่ง อาจจะพกถุงขยะไประหว่างการวิ่ง พ่อแม่ลูกสามารถวิ่งไป เก็บขยะไปได้ หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เข่นการแบ่งปัน การเอาของไปบริจาคหรือให้คนอื่น ให้เด็กได้เป็นคนเลือกว่าอยากให้อะไรบ้าง

คำว่าให้อะไรบ้าง สุกี้อยากแนะนำอย่างจริงจังว่า

การให้ควรฝึกให้เป็นแบบมีคุณภาพด้วย เช่น ให้เสื้อผ้าควรให้แบบเอาไปใช้ต่อได้จริง อาจจะตั้งคำถามว่า เสื้อตัวนี้สามารถใส่ต่อได้ไหม การให้เฟอร์นิเจอร์ คือสามารถนำไปใช้จริงใช่หรือไม่ เราไม่อยากให้คำว่าการให้ คือการเคลียร์ของในบ้านทั้งหมด ต้องแยกส่วนให้ได้

มีคำแนะนำพ่อแม่ว่าควรวางตัวอย่างไร

พ่อแม่คือส่วนสำคัญ เราอยากให้พ่อแม่รับฟังแนวทางของคนจัดกิจกรรมนั้นๆ เช่น กิจกรรมนี้ต้องการให้พ่อแม่ดูแลลูก อันนี้พ่อแม่ควรดูแลลูกตามที่ผู้จัดร้องขอ แต่บางกิจกรรมที่ระบุให้ลูกทำแบบนี้ เราอยากให้พ่อแม่ปล่อยให้ลูกเป็นอิสระ หลายครั้งเราเจอพ่อแม่มาออกคำสั่งแก่ลูก ซึ่งแบบนี้เราคิดว่าพ่อแม่จะเป็นอุปสรรคต่อลูกด้านการวิเคราะห์ การตัดสินใจและการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งหากพ่อแม่ถอยหลังมาทำหน้าที่สนับสนุนจะดีกับลูกมากกว่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า