ในยุคสังคมดิจิตัลเวลาส่วนหนึ่งของเด็กและเยาวชนจำนวนมากมักหมดไปกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์จนส่งผลเสียต่อสุขภาวะในด้านต่างๆ ประกอบกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้านวิชาการ ให้คุณค่ากับการเรียนพิเศษ จนทำให้เด็กต้องเสียโอกาสหนึ่งในชีวิตที่สำคัญไปนั่นก็คือ…การเล่น
“การเล่น” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะดึงเด็กออกจากสื่อสมัยใหม่ ช่วยให้เด็กมีกิจกรรมทางกายอย่างสร้างสรรค์ มีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี มีพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม สร้างให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21
ที่ โรงเรียนวัดทุ่งสว่าง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่6 ทางคณะครูและผู้บริหารต่างเห็นพ้องตรงกันว่า “การเล่น” นั้นสำคัญไม่น้อยกว่า “การเรียน” เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อเด็กได้เล่นก็จะมีความสุข และความสุขจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีในทุกๆ เรื่อง จึงได้เข้าร่วมเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก” ที่ร่วมขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา(มยพ.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
รมิดา จงหมื่นไวย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทุ่งสว่าง กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกในปี 2563 และทำเรื่องการเล่นในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องจากการเล่นจากครูที่ได้รับการอบรมเป็น Play Worker จนครูทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญปัจจุบันได้มีการเปิดพื้นที่ต่างๆ ของโรงเรียนเพื่อสนับสนุนการเล่นอิสระสำหรับเด็กทุกช่วงวัย ทั้งพื้นที่ Playground ลานเล่นของน้องอนุบาล Play land ลานเล่นของเด็กประถมต้น Play room ห้องเล่นของพี่ประถมปลาย และPlay zone ที่ถูกจัดไว้ตามมุมอาคาร เพราะครูทุกคนตระหนักถึงการเล่นว่า “อะไรก็เล่นได้ ที่ไหนก็เล่นได้” แล้วจึงบูรณาการเรื่องเล่นเข้าไปสู่กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ
“การเล่นไม่ใช่แค่เพื่อความสนุก แต่เป็นการพัฒนาสมองและความคิดสร้างสรรค์ การเล่นทำให้เกิดทักษะต่างๆ ที่หลากหลายผ่านการคิดและลงมือทำ และการเล่นคือการสร้างความสุขให้กับเด็ก โดยโรงเรียนได้ส่งเสริมเรื่องเล่นกับนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดกิจกรรมวัน Play Day ให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ สังเกตได้ว่าเด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน แต่เรื่องวิชาการเราก็ไม่ได้ทิ้ง เพราะครูของเราได้เข้าอบรมเป็นผู้อำนวยการเล่นหรือ Play Worker เมื่อครูเข้าใจการเล่น เข้าใจความต้องการของเด็ก ก็จะสามารถบูรณาการเรื่องเล่นไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการได้”
ซึ่งเรื่องการเล่นนั้นผู้ปกครองหลายคนอาจจะมองว่าน่าจะเหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย แต่สำหรับเด็กระดับประถมศึกษานั้นการเล่นคงเป็นแค่ความสนุกไม่มีสำคัญเท่ากับการเรียนหรือการกวดวิชา แต่ในความเป็นจริงแล้วการเล่นนั้นมีความสำคัญสำหรับเด็กทุกช่วงอายุ เพราะการเล่นคือหัวใจของการสร้างทักษะต่างๆ ที่สำคัญสำหรับโลกในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนวัดทุ่งสว่างจึงได้ต่อยอดการ “เล่นอิสระ” ไปสู่การจัดทำ “โครงการทุ่งสว่างเล่นยกกำลังสุข (Play&Learn)” เพื่อขยายผลในเรื่องของการเล่นที่ดำเนินงานมา 3 ปีจากในรั้วของโรงเรียนออกไปในชุมชนและครอบครัว สร้างเครือข่าย Play Worker ครูและผู้ปกครองที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการเล่นให้เกิดความยั่งยืน
“การเล่นมีความสำคัญสำหรับเด็กทุกคน เด็กทุกวัยยังมีความชอบและความสนุกกับการได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองสนใจ ยังต้องการของเล่น การเล่นไม่มีการแบ่งเพศ เด็กผู้ชายอยากใส่ชุดเด็กผู้หญิง หรือแต่งหน้าทาปาก ตรงนี้เราไม่ควรจำแนกเพศกับของเล่นและการเล่น ไม่จำเป็นต้องเล่นในสิ่งที่เราถูกออกแบบมาตั้งแต่วัยเด็กว่าผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ หรือเด็กผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา การเล่นอิสระหรือ Free Play นั้นคือการเปิดกว้างทางความคิด เด็กอยากเล่นอะไร อยากทำอะไร ทำได้หมด ครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยการเล่น เตรียมพื้นที่ อำนวยความสะดวก คอยดูความปลอดภัย ที่เหลือก็ให้เด็กๆ ได้เล่นไปตามความต้องการของเขา อย่างการเล่นแล้วเก็บคือวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งที่ได้จากการเล่น” “ครูโอ” ศิศิวิมล ปานะบุตร ผู้รับผิดชอบโครงการเล่นยกกำลังสุข ระบุ
“ครูโอ” ศิศิวิมล ปานะบุตร
โดยในวันนี้ที่โรงเรียนวัดทุ่งสว่างได้จัดกิจกรรม “Play Day วัดทุ่งสว่าง” งดการเรียนการสอน เปลี่ยนทุกพื้นที่ของโรงเรียนให้เป็นพื้นที่เล่นอิสระ โดยประสานความร่วมมือกับ เครือข่าย Korat Free Play, กลุ่มโคราชยิ้ม, มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และเครือข่ายผู้ปกครอง เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความสุขสนุกเรียนรู้ผ่านการเล่นและลงมือทำตามความสนใจ
ดร.บุญญ์กัญญ์ จิระเพิ่มพูน จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ที่ได้นำ “กล่องเล่น” หรือ “Box of Toys” มาร่วมกิจกรรมในวันนี้กล่าวว่า กล่องเล่นเป็นนวัตกรรมสนับสนุนการเล่นที่ถูกคิดค้นออกแบบและพัฒนาขึ้นจากลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาเอกปฐมวัยเพื่อเปิดโลกของการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ซึ่งการออกแบบกล่องเล่นทำให้นักศึกษาที่จะจบไปเป็นครูได้มีโอกาสเรียนรู้ความต้องการของเด็กๆ และสามารถออกแบบของเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยได้
“การเล่นนั้นเป็นจุดกำเนิดของการเรียนรู้ในวัยเด็กทุกช่วงวัย ดังนั้นถ้าเขาสามารถออกแบบของเล่นให้มีความน่าสนใจเหมาะกับเด็กแต่ละคนแต่ละวัยได้ ในอนาคตเขาก็จะสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนได้เช่นเดียวกัน การมาช่วยทำกิจกรรมในวันนี้ตัวนักศึกษาเองก็จะได้เรียนรู้วิธีการที่จะทำงานกับครูผู้สอน เรียนรู้วิธีการดูแลจัดการเด็ก และเป็นการปลูกฝังสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครูผ่านการลงมือทำกิจกรรมกับเด็กๆ ไปพร้อมกัน”
ด้าน สุทธิศักดิ์ กลึงสัตย์ ผู้ประสานงาน Korat Free Play กล่าวว่า เด็กๆ ในปัจจุบันครอบครัวมักจะเน้นในเรื่องของการเรียนและวิชาการค่อนข้างมาก ทั้งๆ ที่การเล่นก็สามารถสร้างเสริมและพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของเด็กได้เช่นเดียวกัน การเล่นไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการโดยเฉพาะเรื่องของทักษะ EF หรือ Executive Functions ซึ่งเป็นทักษะที่มีผลต่อความสำเร็จในด้านต่างๆ ของมนุษย์ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับโรงเรียนโรงเรียนวัดทุ่งสว่างนำเรื่องของการเล่นอิสระเข้ามาใช้ในสถานศึกษาเป็นแห่งแรกๆ ของจังหวัด
“ในปีนี้ได้ร่วมกับทางโรงเรียนวัดทุ่งสว่างขยายผลการดำเนินงานออกไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีก 3 แห่ง และร่วมกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ออกแบบของเล่น Box of Toys และใช้รถ Toy Truck เพื่อนำของเล่นออกไปหาเด็กๆ ถึงที่บ้านในชุมชนที่ห่างไกล พร้อมกันนี้ทางกลุ่มโคราชยิ้มก็จะช่วยทำหน้าที่เติมเต็มแนวคิดในเรื่องของการเล่นอิสระและอบรม Play Worker ให้กับครูและครอบครัว โดยมีเป้าหมายในการผลักดันเรื่องของการเล่น Free Play ให้เข้าถึงเด็กให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในโรงเรียน โดยจะนำต้นแบบจากโรงเรียนวัดทุ่งสว่างไปเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจด้วย”
ปัจจุบันความสำเร็จของการขับเคลื่อนเรื่อง “การเล่นอิสระ” อย่างต่อเนื่องนอกจากจะสามารถเติมเต็มและสรรค์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้โรงเรียนวัดทุ่งสว่างได้รับรางวัล “โรงเรียนต้นแบบด้านการเล่น” จากกระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าคณะครูและผู้บริหารของโรงเรียนแห่งนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ใช้ “การเล่นอิสระ” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ให้กลายเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุขสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน.