ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย

ตั้งแต่หลังตื่นนอน แต่งตัว เรียนหนังสือ หรือกระทั่งกินข้าว เรามักจะได้ยินเสียงบ่นจากพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่บ่อยครั้งถึงพฤติกรรมการเล่นสมาร์ทโฟนตลอดเวลาของเด็กๆ และวัยรุ่น ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับหลายครอบครัวที่เกรงว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผลการเรียน ปัญหาด้านสุขภาพ หรือหนักเข้าการคุยแชตผ่านแอปพลิเคชั่นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงกับลูกๆ ของพวกเขาด้วยหรือไม่

ความกังวลทั้งหมดที่ว่านำมาสู่งานเสวนาที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักพิมพ์ Bookscape ภายใต้หัวข้อ “WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต”

โดยวิทยากร 4 ท่าน 4 อาชีพ ได้แก่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), อ.พรรณราย โอสถาภิรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone, Brand Inside, ผู้บริหาร Wongnai และเกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับ ซีรีส์วัยรุ่นชื่อดังอย่างฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ที่มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียงถึงปรากฏการณ์ที่เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่องในยุคนี้

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

ความต้องการเดิม แต่ย้ายพื้นที่ เปลี่ยนแพลตฟอร์ม วงสนทนาเปิดด้วยประเด็นที่ว่า สิ่งสำคัญที่วัยรุ่นโหยหาและต้องการมากที่สุด คือ คนที่เข้าใจและพร้อมจะพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเปิดรับซึ่งกันและกัน พื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างสะดวกสบายในยุคนี้ ไม่ใช่ตามห้างสรรพสินค้าเหมือนอดีต แต่เป็นการพูดคุยรวมกลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดียหลากแอปพลิเคชั่น

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ​ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone, Brand Inside, ผู้บริหาร Wongnai อธิบายให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ในยุค 20-30 ปีที่แล้ว วัยรุ่นมักจะไปรวมตัวกันที่ “มอลล์” หรือห้างสรรพสินค้า จะไม่ได้มีกิจกรรมที่ชัดเจนว่านัดเจอครั้งนี้จะไปกินข้าว ดูหนัง หรือฟังเพลง เป็นเพียงการรวมกลุ่มคุยไปเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้หายไปด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้มงวดกวดขัน วัยรุ่นจึงต้องการระบายผ่านพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งนั่นก็คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั่นเอง

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

คล้ายกันกับที่ เกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับ ซีรีส์วัยรุ่นชื่อดังอย่างฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ยกภาพตัวเองตอนเด็กเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมนักแคสต์เกมในปัจจุบันว่า สิ่งเหล่านี้คือวิวัฒนาการของแพลตฟอร์มที่เราต้องทำความเข้าใจ เมื่อ 20 ปีที่แล้วนักแคสต์เกมเหล่านี้ก็คือ คนที่เล่นเกม เก่ง ๆ ตามโซนเกมบนห้างสรรพสินค้าหรือที่คลองถม เด็ก ๆ อาจจะไม่ได้อยากเล่นเอง หรือยังไม่มีความสามารถพอที่จะเล่นในด่านนั้น ๆ เพียงแค่เขาได้นั่งดู คนที่เก่งกว่าเล่นให้ดูอีกทอดหนึ่งก็ทำให้มีความสุขได้

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

ทั้งหมดที่ว่ามานำไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์ในเชิงมานุษยวิทยาโดย อ.พรรณราย โอสถาภิรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ยุคสมัยที่แตกต่างประกอบกับแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไป ทำให้คนยุคใหม่ต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือกับเครื่องมือที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยนั่นเอง

“หากเราลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่สมัยกรีกโรมันที่เพิ่งมีการเขียนเกิดขึ้น คนยุคนั้นก็คิดกันว่าการเขียนจะทำให้เราสูญเสียความทรงจำหรือเปล่า พอมายุคนี้ที่มีสื่อโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมาย มันก็เกิดการตั้งคำถามถึงผลกระทบที่จะตามมาอีกเช่นกัน

ในแง่นี้การสื่อสารมันจึงมี range ของการใช้เครื่องมือต่าง ๆ อีกมาก มันไม่ใช่การแตกหักจากสิ่งเดิม แต่เป็นการเลือกว่าจะใช้อะไรมากกว่า อย่างเรื่องการชอบถ่ายเซลฟีของเด็ก ๆ หนังสือพิมพ์ต่างประเทศเขียนวิจารณ์ว่า เด็กสมัยนี้หลงตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราก็ชอบ เห็นตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรแล้วตั้งแต่ยุคกรีกด้วยซ้ำ จะมาบอกว่าเพิ่งมีมันไม่ใช่ เพียงแต่คุณสมบัติของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้เรามองเห็นตัวเองในสื่ออื่น ๆ มากขึ้น”

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

“ชัวร์ก่อนแชร์” วัยรุ่นคัดกรองสื่อมากกว่าผู้ใหญ่

ปรากฏการณ์หนึ่งในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ คือ การส่งต่อข่าวสารผ่านแอปพลิเคชั่น LINE ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มักจะเข้าอีหรอบกลายเป็น “fake news” ซะส่วนใหญ่ การส่งต่อโดยไม่ได้ผ่านการกรองเช่นนี้กลายเป็นเรื่องติดตลกที่เด็ก ๆ มักจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังอย่างขบขัน และนำมาซึ่งการตั้งคำถามของวัยรุ่นจนทำให้พวกเขาเรียนรู้และค่อนข้างเข้มงวดกับการแชร์มากขึ้น

เกรียงไกร เล่าว่า แพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ (Twitter) ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมาก ด้วยวิธีการใช้งานที่เอื้อให้ “พูดลอยๆ” ได้ หมายความว่า ทวิตเตอร์ไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนชัดเจนเท่ากับแอ็กเคานต์เฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรม รวมถึงการกดฟอลโลว์แอ็กเคานต์อื่น ๆ วัยรุ่นก็ไม่ได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของอีกฝ่าย แต่พวกเขาตัดสินและทำความเข้าใจกันด้วยทัศนคติมากกว่า ทำให้ช่วงหลังเรามักจะเห็นแฮชแท็กที่คล้ายกับการส่งเสียงถึงสังคม หรือบรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วยจำนวนที่ถี่มากขึ้น และข้อมูลที่เด็ก ๆ เหล่านี้ใช้ในการแลกเปลี่ยนก็เป็นข้อมูลที่ผ่านการสืบค้นข้อเท็จจริงมาแล้วทั้งสิ้น นอกจากพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างในการแชร์ข้อมูลแบบผิดๆ แล้ว สื่อใหญ่ระดับประเทศเองก็ผลักให้วัยรุ่นเหล่านี้ยิ่งต้องพยายามหาข้อมูลด้วยตัวเองมากขึ้นอีกแรงด้วย

“คนยุคเราจะรู้สึกว่าข่าวทางทีวีเป็นเรื่องจริง สิ่งที่นักข่าวหรือผู้ประกาศข่าวพูดจริง แต่เด็ก ๆ ทุกวันนี้เห็นความน่าจะเป็นที่หลากหลายขึ้น เห็นข่าวเลือกข้าง เห็นช่องทีวีเลือกข้าง สัญชาตญาณเขาจึงยิ่งต้องหาข้อมูลมากขึ้น ถ้าใครหาข้อมูลเยอะ ก็จะได้ชุดความจริงที่ใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น เราต้องเข้าใจว่าเด็กเขาก็หาทางรอดของตัวเองเหมือนกัน ผมเจอเด็กคนหนึ่งบอกว่า ไม่อยากเป็นเหมือนพ่อแม่ของเขา พอพ่อแม่เขาฟอร์เวิร์ดข่าวในไลน์มาให้กลายเป็นเด็กๆ รู้สึกว่ามันไม่จริง เขาไม่อยากเป็นแบบนั้น ส่วนหนึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นคนค่านิยมเหมือนกันว่าคนที่แชร์แบบไม่อ่านคือไม่คูล เขาคัดกรองมากขึ้น”

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

แฟ้มภาพ

ความไม่ถาวรของข้อมูลและการแสดงตัวตน : ไอเดียใหม่ในโลกโซเชียล

นอกจากทวิตเตอร์ที่มีรูปแบบการใช้งานตอบโจทย์กับวัยรุ่นแล้ว อีกฟีเจอร์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ ไอจีสตอรี่ ซึ่งมีวิธีการใช้งานใกล้เคียงกับแอปพลิเคชั่น ยอดนิยมในสหรัฐอเมริกาอย่างสแนปแชต (snapchat) คือเป็นการถ่ายรูป หรืออัดคลิปวิดีโอสั้น ๆ และข้อมูลเหล่านั้น จะทำลายตัวเองภายใน 24 ชั่วโมง อิสริยะ อธิบายถึงเหตุผลที่ฟีเจอร์เหล่านี้ ได้รับความนิยมว่าเป็นเพราะเราใช้สื่อโซเชียลมีเดียหนาแน่นจนเกินไป ในช่วง 5 ปีแรกอาจจะยังไม่ได้ตระหนักกันมากนัก แต่หากนับมาจนถึงตอนนี้อายุการใช้งานของเฟซบุ๊กในประเทศไทยได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 15 เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นห้วงเวลาที่ยาวนานมาก ไอเดียความถาวรของข้อมูลจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ

“เรานึกถึงวัฒนธรรมหนึ่งที่เวลาเรียนจะชอบเขียนหรือวาดรูปอะไรก็ไม่รู้ใส่กระดาษ จากนั้นก็ขยำกระดาษปาส่งต่อกับเพื่อนไปเรื่อย ๆ ถามว่าเราเก็บกระดาษแผ่นนั้นไว้มั้ย ก็ไม่ สแนปแชตหรือไอจีสตอรี่ก็คงจะมีไอเดียคล้าย ๆ กัน มันสะท้อนวิธีคิดแบบนี้ เราเอาไว้สื่ออารมณ์หรือตัวตนโดยที่เป็นการลดความถาวรของข้อมูลลงไปเท่านั้นเอง”

ส่วนแอปพลิเคชั่นมาแรงในหมู่เด็กประถมจนถึงวัยมัธยมอย่างติ๊กต่อก (TikTok) ที่เป็นการร้องเพลงเต้นประกอบไม่เกิน 44 วินาทีต่อหนึ่งคลิปวิดีโอ ผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็ก ๆ ต้องร้องเพลง แสดงท่าทางประกอบแล้วอัพโหลดให้คนเข้ามาดูด้วย อิสริยะ บอกว่า สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะวกกลับไปเป็นคำอธิบายว่า วัยรุ่นต้องการพื้นที่และการยอมรับ         

“วิธีคิดของติ๊กต่อกมันคล้ายๆ กับสมัยเด็กๆ ที่เราชอบไปแอบยืนดูรุ่นพี่ดีดกีตาร์ มันเท่จังเลย ติ๊กต่อกก็คล้ายๆ กัน เพื่อนห้องข้างๆ เราก็ไม่ได้สวยนิ แต่ไปเต้นในติ๊กต่อกคนดู 10 ล้านคนแน่ะ” อิสริยะ อธิบายให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

ชวนทำความเข้าใจวัยว้าวุ่นผ่านปรากฏการณ์เด็กไทยกับโซเชียลมีเดีย thaihealth

วัยรุ่นกับการท้าทายชุดคุณค่าเดิม

“รัฐจะมองโซเชียลมีเดียแบบใดขึ้นอยู่กับว่ารัฐยึดอะไรอยู่ ถ้ายึดระบบเดิมก็อันตราย แต่ถ้ายึดการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ก็เป็นเครื่องมือ” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อธิบายถึงกระแสที่มีผู้ใหญ่ ในรัฐบาลออกมาแสดงความเป็นห่วงทำนองว่า วัยรุ่นไทยเสพติดสื่อโซเชียล มีเดียมากเกินไป คุณหมอบอกว่า หลักๆ เป็นเพราะสิ่งที่วัยรุ่นทำอยู่ ตอนนี้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นการท้าทายชุดความจริงเดิมที่ผู้ใหญ่ยึดถือ มาตลอด คนที่ยึดติดหรือมีผลประโยชน์กับชุดคุณค่าเดิมจึงไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

“มีช่วงหนึ่งที่แบงก์ชาติพยายามจัดการกับบิตคอยน์ แบงก์ชาติไม่ยอมรับเพราะบอกว่ามันเป็นสิ่งสมมุติ แต่ในความเป็นจริงเงินทองอะไรที่เขาดูแลอยู่มันก็คือสิ่งสมมุติเหมือนกัน แปลว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่รัฐพยายามกำกับ คือการพยายามรักษาสมมุติเดิมไม่ให้ถูกก่อกวน สิ่งนั้นต้องถูกจัดการ”         

นพ.ประวิทย์ ยังเสริมต่อด้วยว่า วัยรุ่นสมัยนี้มีวิธีการเล่นกับสื่อที่ฉลาดมาก ทุกครั้งที่มีการติดแฮชแท็กหรือพูดถึง “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” เขาจะไม่ใช้ชื่อเรียกแบบตรงๆ แต่จะใช้ฉายาบางอย่างที่เมื่ออ่านแล้วทุกคนจะเข้าใจตรงกัน การเลี่ยงด้วยวิธีการแบบนี้ทำให้แม้แต่กฎหมาย พ.ร.บ.ไซเบอร์ก็ไม่สามารถเอาผิด หรือหากผู้ใหญ่เหล่านั้นเอาเรื่องเอาราวก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ตัวเอง ดังที่คุณหมอกล่าวว่า “พวกคุณน่าขยะแขยงขนาดที่ไม่ได้ระบุชื่อคุณยังกระโดดมารับคำด่าเหล่านี้เลย”         

การอธิบายปรากฏการณ์การใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นในเวทีเสวนานี้ คงจะพอทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจวัยรุ่น บุตรหลาน รวมถึงพนักงาน ลูกน้องที่อายุยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือเด็กจบใหม่ได้มากขึ้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ภาพโดย สสส. และแฟ้มภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า