หลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประกาศว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า Facebook จะเปลี่ยนจากบริษัทโซเชียลมีเดียไปเป็นบริษัท ‘Metaverse’ อันเเป็นสภาพแวดล้อม 3 มิติหรือ VR ที่สมจริง
แม้คำว่า Metaverse จะไม่ใช่คำใหม่ซะทีเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาร์ค ทำให้ผู้คนตื่นตัวกับคำๆ นี้มากขึ้น มีการขยับตัว เงี่ยหูฟัง และเตรียมตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้กันมาก ไม่ว่าจะเป็นหลากหลายอุตสาหกรรม เว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการศึกษาที่หลายหน่วยงาน หลายมหาวิทยาลัยและองค์กรการศึกษาทั่วโลกเริ่มที่จะปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการในอนาคต เช่น คณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ (MSME Business School) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ได้เปิดหลักสูตรใหม่ DDI (Design & Digital Innovation) สาขาวิชาการออกแบบและนวัตกรรมดิจิทัล ถือเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจแห่งอนาคต ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทักษะในรูปแบบใหม่จาก 5 คณะ ได้แก่ 1) ทักษะทางด้านธุรกิจจากคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ 2) ทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3) ทักษะทางด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ 4) ทักษะทางด้านการสื่อสารและการนำเสนอแผนงาน จากคณะนิเทศศาสตร์ และ 5) ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ จากคณะดนตรี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความครบเครื่องแห่งอนาคต
หรือ เมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดตัวโครงการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือน หรือ Metaverse experience ดำเนินการโดยสำนักหอสมุด ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดหาอุปกรณ์ VR headset ใช้งานง่าย และ สามารถ upload educational apps ต่าง ๆ เสริมประสบการณ์การเรียนรู้แก่นักศึกษา เช่น app ที่ช่วยให้นักศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรียนรู้และเข้าใจกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ จากประสบการณ์ในโลกเสมือน ให้เห็นโครงสร้างมนุษย์ในแบบ 3 มิติ เป็นต้น โครงการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่าน metaverse experience ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของนักศึกษา และบุคลากร ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ สนับสนุน เทคโนโลยี โลกเสมือน (Metaverse) มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเปิดประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ให้แก่นักศึกษา รวมถึงยกระดับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน
ข้างต้นทำให้เห็นว่า การปรับตัวเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มันจริงจัง และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนไม่อาจจะวางเฉยได้ ในวันนี้เราจึงขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะนำเสนอคณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่จะรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะรับประกันได้ว่า เมื่อจบแล้วจะเป็นที่ต้องการอย่างแน่นอน
1. คณะที่เรียนเกี่ยวกับ Programmer, Software Developer และ Game Developer
ต้องยอมรับว่า เกมต่างๆ ในเมตาเวิร์สนั้นพัฒนาไปมาก รวมถึงความก้าวหน้าของ E sport ก็ทำให้ผู้ที่มีความสามารถการเป็นนักพัฒนาเกมและซอฟแวร์ต่างๆ นั้นเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อความสนุกเหมือนเมื่อหลายปีแล้ว แต่ยังสามารถทำเป็นอาชีพได้อย่างภาคภูมิด้วย โดยสามารถต่อยอดการเป็นนักพัฒนาซอฟแวร์หรือเกมต่างได้ที่
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ แขนงวิชาการพัฒนาสื่อประสมและเกม สถานบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์เกมและอีสปอร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ สาขาวิชาการจัดการอีสปอร์ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- สาขาวิศวกรรมดิจิทัลมีเดียและระบบเกม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ฯลฯ
2. สถิติธุรกิจและการวิเคราะห์
ด้วยทักษะที่ผสมผสานการวิเคราะห์ข้อมูลกับทักษะธุรกิจและการจัดการจะทำให้ได้เปรียบในตลาดแรงงานในปัจจุบันที่นักธุรกิจหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ พยายามหยิบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์ตั้งแต่นโยบาย แผน และการปฏิบัติเพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมต่อลูกค้าเสมอ โดยคณะที่เปิดสอนในเรื่องนี้ได้แก่
- หลักสูตรสถิติศาสตรบัณฑิต (สต.บ.) สาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูล / การประกันภัย / เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- การบริหารและการจัดการสมัยใหม่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- สาขาการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3. คณะเกี่ยวกับศิลปะ
สำหรับน้องๆ ที่หลงรักงานศิลปะและอยากมีอาชีพจากสิ่งที่ตนเองรัก อาทิ กราฟิกดีไซน์ ผู้กำกับศิลป์ นักออกแบบแอนิเมชั่น ดิจิทัล มีเดีย โมชั่นกราฟิก นักออกแบบภาพประกอบ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักวิจัยและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ นักออกแบบลายผ้า นักออกแบบเครื่องประดับ นักวิจัยศิลปะ UX/UI Design สามารถเลือกเรียน สาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ภาควิชานฤมิตรศิลป์ สาขาเรขศิลป์ (กราฟิก) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาควิชาออกแบบทัศนศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์/สาขาออกแบบแฟชั่น/สาขาศิลปะเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สาขาวิชานิเทศศิลป์/สาขาวิชาภาพพิมพ์และอิลัสเตรชั่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและแอนิเมชั่น วิทยาลัยสันตพล อุดรธานี และมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
- สถาบันกันตนา หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแอนิเมชั่น เป็นต้น
4. สาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ
เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงที่ผ่านมา โควิดทำให้หลายสิ่งหยุดชะงักและผู้คนมากมายย้ายตัวเองไปอยู่บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ทำให้หลายๆ ทักษะในรูปแบบดิจิทัลเป็นที่ยอมรับกันอย่างเปิดกว้างมากขึ้น การตลาดดิจิทัลก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยจะมีการปรับการตลาดแบบเดิมให้ทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีต่างๆ เป็นนักวางแผนกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล นักพัฒนาธุรกิจดิจิทัล นักการตลาดออนไลน์ และนักสื่อสารการตลาดออนไลน์ โดยคณะที่สนับสนุนสายอาชีพนี้ได้แก่
- สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล และนวัตกรรมค้าปลีก มหาวิทยาลัยรังสติ
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาดดิจิทัลและการสร้างแบรนด์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. จิตวิทยา
ในปัจจุบันด้วยข้อมูลข่าวสาร ภาวะโรคระบาด ความเครียดในการดำรงชีวิตและอื่นๆ ทำให้ผู้คนมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสภาพจิตใจภายในมากขึ้น ที่สำคัญคือ การไปหานักจิตวิทยาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น จนหลายครั้งเกิดปัญหาต้องรอนัดนาน หรือนักจิตวิทยามีไม่เพียงพอ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า หากเรียนจบคณะที่เกี่ยวกับจิตวิทยา ความเสี่ยงในการว่างงานจะลดน้อยลง
โดยจิตวิทยาแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ ดังนี้ จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial Psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) จิตวิทยาชุมชน จิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) จิตวิทยาการแนะแนว
สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้แก่
- สาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะจิตวิทยา สาขาจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาจิตวิทยาคลินิก/สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สาขาจิตวิทยาคลีนิค/สาขาจิตวิทยาการการปรึกษา/สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
- สาขาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- สาขาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- สาขาวิชาจิตวิทยา วิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษา/วิชาเอกจิตวิทยาคลินิกและชุมชน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ฯลฯ
ยุคสมัยที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้เราต้องเตรียมพร้อมและรวดเร็วในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องเข้าใจถึงนวัตกรรมที่ทันสมัย มีความคิดสร้างสรรค์ให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลง ต้องเข้าใจผู้คนมากขึ้นเพื่อสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกมาให้น่าสนใจ พร้อมทั้งมีทักษะในการใช้ชีวิตให้ดีเพื่อตัวเองและสังคมที่ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่แท้จริง หรือสังคมเสมือนที่กำลังจะมาถึงอย่างปฏิเสธไม่ได้อย่างมีความสุข
//////////