ปัญหาของเด็กไทยตอนนี้มันไม่ใช่แค่การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะก่อนที่จะบอกได้ว่าคุณเก่งด้านไหน มันต้องบอกให้ได้ก่อนว่า คุณเป็นใคร และเรียนสิ่งนั้นไปทำไม
วิน – นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘a-chieve’ (อาชีฟ) องค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้น้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมรู้เป้าหมายในชีวิตเพื่อจะเดินไปอย่างถูกทิศถูกทาง บอกกับเรา
ดูเหมือนคำถามข้างต้นจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังจนน่าตกใจ นรินทร์จึงรวมตัวกันกับเพื่อน ๆ ได้แก่ เอิร์ธ – ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย และ ต่าย-ภนิธา โตปฐมวงศ์ หาวิธีพร้อมด้วยเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ‘เด็กไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอาชีพอะไรกันแน่’ จนเกิดเป็น ‘a-chieve’ ซึ่งแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อย่างครบวงจร
“พอเรียนจบเราอยากทำอะไรเพื่อสร้างคุณค่าให้ตัวเอง พร้อม ๆ กับสร้างคุณค่าให้สังคมไปด้วย ก็เลยรวมทีมแล้วก็คิดว่าเราจะทำอะไรกัน ก่อนหน้านี้เราทำมาหลายอย่าง เช่น เรื่องคนไร้บ้าน จนมาเจอเข้ากับปัญหาของคนใกล้ตัว คือน้องของต่ายมาปรึกษาพี่เขาว่า จะขึ้นม.ปลายแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ดี ซึ่งต่ายก็คิดได้และเห็นปัญหาว่า ถ้าเลือกสายการเรียนผิดจะเลือกบางคณะไมได้ และถ้าเลือกคณะผิด จะทำอาชีพผิดแล้วมันส่งผลตลอดชีวิตเลยนะ เขาเห็นปัญหานี้ก็เลยเอามาคุยกับทีม แล้วพอผมฟัง ภาพก็ย้อนมาเลยว่า ปัญหาตรงนี้มันมีมานานแล้ว เพราะตอนนั้นผมก็เป็น แนะแนวก็ไม่ได้ช่วยอะไร ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์โดยที่ไม่รู้ว่าจบแล้วทำอะไรได้บ้าง พี่ชายกับพี่สาวก็เจอปัญหานี้หมด ก็เลยคิดว่านี่แหละปัญหาที่เราอยากแก้ ลองคิดว่า ถ้าเด็กหนึ่งคนรู้ว่าตัวเองจะเรียนอะไร แล้วเลือกคณะที่มันตรงกับความสนใจ เขาก็จะมีแรงในการพัฒนาเรื่องที่เรียน และก็น่าจะจบมาทำงานได้อย่างมีความสุข นี่คือภาพที่เราเห็นในตอนนั้น ซึ่งพอเราคุยเรื่องนี้กับใคร ทุกคนก็เก็ตหมด เพราะเขาเองก็ผ่านปัญหาตรงนี้มาเหมือนกัน นี่มันเป็นปัญหาเรื้อรังที่มามากกว่า 20 ปีแล้ว”
เครื่องมือของ ‘a-chieve’ มีหลายอย่าง โดยทำผ่านกิจกรรม ต่าง ๆ อาทิ ‘โตแล้วไปไหน’ , ‘Open World’ หรือ ‘ฟัก ฝัน เฟส’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ได้วิเคราะห์ตัวเองว่า แท้จริงแล้วตัวเองชอบอะไร หรืออยากเป็นอะไรกันแน่ แล้วจากนั้นก็ให้ลงไปทดลองทำงานในสถานที่จริงเพื่อรับรู้บรรยากาศการทำงาน และรายละเอียดในอาชีพนั้น ๆ ว่ามีอะไรบ้าง และยังได้พบกับ พี่ ๆ ‘ต้นแบบอาชีพ’ ที่จะคอยมาพูดให้ข้อมูล ความรู้ แชร์ประสบการณ์ ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ รู้ว่า ตัวเองชอบหรือไม่ชอบอาชีพนั้น ๆ
“โครงการโตแล้วไปไหน มีให้เด็กมาเวิร์กช้อป ทดลองทำงานจริง 2 อาทิตย์ กลับมาสรุปถอดบทเรียน จากตรงนี้เราจะได้รับผลลัพธ์จากเด็ก ๆ 3 ด้าน คือ ชัดเจนว่าชอบอาชีพที่ไปเวิร์กช้อป เราให้แค่วิธีคิดในการเลือกอะไรบางอย่าง ถ้าไปแล้วใช่เลย ก็จะเป็นโบนัส กลุ่มที่ 2 คือ ยังลังเล เด็กกลุ่มนี้ หลังจากเวิร์กช้อปกับเราแล้ว เขาจะไปหาคำตอบจากที่อื่น ไปเข้าสัมมนาต่าง ๆ หรือ ไปตามมหาวิทยาลัยที่จัด Open House เพื่อให้รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเองชอบอะไรกันแน่ กลุ่มสุดท้าย คือ รู้ว่าอาชีพที่ลองมาเวิร์กช้อปไม่ใช่แน่ ๆ ก็จะสามารถตัดตัวเลือกนั้นทิ้งได้ทันที” นรินทร์กล่าว
นรินทร์ยังกล่าวอีกด้วยว่า จากผลลัพธ์ที่ได้จะเห็นว่า การรู้ตัวเองแต่เนิ่น ๆ นั้นมีความจำเป็นต่อชีวิตในอนาคตของเด็ก ๆ มาก ดังนั้นนอกจากสิ่งที่ ‘a-chieve’ เตรียมไว้ให้แล้ว เด็ก ๆ ยังต้องเตรียมตัวเพิ่มเติมด้วย เพราะคำถามที่ว่า “หนูควรเรียนอะไรดี?” ไม่ใช่คำถามที่มีประโยชน์มากพออีกแล้ว
“เด็ก ๆ ควรต้องเริ่มคิดถึงเป้าหมายที่ไกลกว่าการเรียน เวลาที่เราเจอน้อง ๆ เขาจะคิดว่า หนูไม่รู้ว่าหนูจะเรียนอะไร แต่จริง ๆ แล้วคำถามของน้องควรเป็นว่า
“หนูไม่รู้ว่าหนูจะทำ (อาชีพ) อะไรในอนาคต?”
เพราะถ้าเรารู้แล้วว่าในอนาคตเราจะเป็นอะไร เรื่องเรียนมันจะตามมาเอง เช่น ถ้าเราบอกว่า อยากเป็นหมอ เราจะรู้ว่ารูทของการเป็นหมอต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้เราไม่รู้เลยว่า ทำไมต้องเป็นหมอ รู้ไหมว่าหมอต้องทำอะไรบ้าง รู้ไหมว่าหมอมีกี่หมอ แล้วแต่ละหมอมันแตกต่างกันมากเลยนะ ทักษะที่ใช้ คาแรกเตอร์ของคนในอาชีพนั้นไม่เหมือนกันเลย
ดังนั้นช่วงเวลาว่าง อย่างเช่น เสาร์-อาทิตย์ ปิดเทอม ควรจะหาตัวเองให้เจอก่อนที่จะเรียนพิเศษ เพราะเรากำลังเรียนพิเศษเพื่อให้ได้เกรด แล้วเราเอาเกรดนั้นไปทำอะไรล่ะ ? เราควรที่จะหาตัวเองให้เจอก่อนไหม? ลองออกไปเจอ ไปทำสิ่งที่เราคิดว่าเราอยากเป็นเยอะ ๆ แล้วกลับมาทบทวนตัวเองดูว่ามันใช่สำหรับเราหรือยัง ตรงนี้ ‘a-chieve’ จะเป็นผู้ช่วย และคิดว่า สังคมก็ต้องมีโอกาสที่จะให้เด็กออกไปทำอะไรแบบนี้เยอะขึ้น อย่างตอนนี้จะเห็นว่ามันน้อยมาก ตอนนี้มีค่ายเยอะขึ้นมากก็จริง แต่อีเวนท์ต่าง ๆ มันยังเน้นในเรื่องของการเรียน เช่น ทำยังไงให้สอบคณะนี้ติด ทำอย่างไรให้เกรดได้ถึงคณะที่เราอยากเข้า แต่ไม่ค่อยมีพูดถึงว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าตัวเองควรจะเรียนอะไร”
นอกจากนี้เพื่อให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ‘a-chieve’ ยังทำงานกับครูแนะแนว โดยจัดเวิร์กช้อปครูแนะแนว ถอดความรู้ที่ได้จากการอบรมเด็ก ๆ เพื่อให้ครูนำความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ไปใช้กับเด็กนักเรียนของตนได้
“เราทำมาแล้ว 2 ครั้ง และกำลังจะทำครั้งที่ 3 โดยถอดบทเรียนจากที่ทำกับเด็กมาหลายปี ทำให้ทราบปัญหาและความต้องการของเด็ก ๆ จากนั้นก็นำมาทำเป็นเวิร์กช้อปกับคุณครูแนะแนวเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งได้ผลดีมาก ครูที่เข้าร่วมจะเกิดการเปลี่ยนแปลง mindset ในเรื่องของการแนะแนวว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของครูที่จะไปตัดสินใจแทนเด็ก และไม่ได้มีอำนาจมากกว่าเด็ก แต่เราเท่ากับเด็ก มันถึงจะเกิดพื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่เด็กรู้สึกว่าทุกคนรับฟังกัน ครูฟังเด็ก เด็กฟังครู หรือเวลาเด็กเล่าความฝัน จะไม่มีใครหัวเราะแล้วเห็นเป็นเรื่องตลก พอมีพื้นที่ปลอดภัย เครื่องมือของเรา อย่างการวิเคราะห์ตัวเอง การวิเคราะห์อาชีพนั้น ที่จะนำมาใช้กับตัวเด็กมันง่ายมาก และจากการติดตามผลก็ทราบว่า เด็ก ๆ ชอบ และคาบนี้เป็นคาบที่เด็กอยากเรียนที่สุด เด็กบอกว่ารู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนที่คุณครูรับฟังเขา”
และตามที่มีหลายหน่วยงานพยากรณ์กันว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสมองกลอัจฉริยะ หรือ เอไอ จะเข้ามาแทรกแซงในตลาดแรงงานหลายอาชีพ นรินทร์มองว่าบริบทของเมืองไทยอาจจะยังไปถึงตรงนั้นได้ไม่เร็วนัก แต่ก็เป็นการดีที่เด็กไทยจะเตรียมตัวเอาไว้ และว่าแท้จริงแล้วการมาของเอไอก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป
“การมาของเอไอก็มีข้อดี มันอาจจะทำให้หลายอาชีพหายไป แต่มันก็สร้างหลายอาชีพที่เราไม่อาจจะจินตนาการได้เหมือนกัน เช่น ถ้าไม่มียูทูปก็ไม่มีอาชีพเกมแคสเตอร์ ตอนที่ไม่มียูทูป เฟซบุ๊ก เราก็ไม่รู้ว่ามีอาชีพเหล่านี้ อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทประเทศ เพราะตอนนี้ตามต่างจังหวัดก็ยังเป็นอาชีพแบบเดิมๆ อยู่
ถ้าในมุมของการศึกษา เรื่องการเรียนออนไลน์มันเข้ามาเยอะมาก อีกมุมคือ เรามองว่า กูเกิล ยูทูป เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าเราใช้เป็น แต่ก็ต้องรู้ว่าการศึกษาของเรามันทำให้เด็กรู้ไหมว่า เราจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร แต่สุดท้ายมนุษย์จะปรับตัวได้ เพื่อการเอาตัวรอด
อาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ก็คืออาชีพที่เกี่ยวกับนวัตกรรม หรืออาชีพที่จะไปเสิร์ฟนวัตกรรม เช่นในปัจจุบันมีการพูดถึงเอไอที่ช่วยรักษาคน การวิเคราะห์ของเอไอมันวิเคราะห์ได้ดีกว่าหมอ เพราะมีบิ๊กดาต้าเยอะ แต่ก่อนที่เอไอจะทำได้ก็ต้องเป็นหมอที่ใช้เจ้าตัวเอไอนี้ก่อน ดังนั้นเด็ก ๆ จะยังมีเวลาเตรียมตัวเยอะ” นรินทร์กล่าว
‘a-chieve’ ยังมีโปรเจกต์อีกมากมายที่จะทำต่อไปเพื่อให้เข้าถึงเด็ก ๆ ครู โรงเรียน มากขึ้น ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพียงเพื่อหวังจะเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับเด็ก ๆ ใช้เพื่อปูทางไปสู่ที่อนาคตที่ ‘ใช่’ อย่างแท้จริง
เหลือแต่เพียงตัวเด็กเองที่ตอนนี้ได้เปลี่ยนคำถามจาก ‘ไม่รู้จะเรียนอะไร’ เป็น ‘อนาคตจะทำอาชีพอะไร’ แล้วหรือยัง?