1 ใน 5 ของวัยรุ่นไทย มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ด้วยปัจจัยจากสิ่งใกล้ตัว

การฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของวัยรุ่น แพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่นชี้ ทุกฝ่าย ควรเร่งเยียวยา

คุณหมอโอ๋ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ เล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นไทย ซึ่งค่อนข้างน่าตกใจว่า ตอนนี้มีรายงานว่าเด็กไทยประมาณ 1 ล้านคนมีความเสี่ยงปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ก็คือประมาณ 1 ใน 7 ของวัยรุ่น ส่วนตัวเลขซึมเศร้าในวัยรุ่นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12-17 % คือประมาณ 1 ใน 5 ของวัยรุ่นจะมีอาการโรคซึมเศร้าอยู่ในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิต และอย่างไม่น่าเชื่อ มีรายงานพบว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้วัยรุ่นมีอาการโรคซึมเศร้ามาจากสิ่งใกล้ตัวเด็ก อาทิ ครอบครัว โรงเรียน และโซเชียลมีเดียชื่อดัง

“ในวัยรุ่นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ร่างกาย สมอง การเข้าสังคม เพื่อน ความรัก ต้องคิดถึงเรื่องอนาคต ตัดสินใจเรื่องอาชีพ การเข้ามหาวิทยลัย ความเครียดต่าง ๆ เหล่านี้มันค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ อาทิ โซเชียลมีเดียส์ แพล็ตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งมีงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า เฟซบุ๊กมีผลสอดรับกับเรื่องซึมเศร้า หรือมีตัวเลขที่งานวิจัยบอกว่า 30-40 % ของวัยรุ่นที่ตามอินสตาแกรม ได้รับผลกระทบจิตใจทางลบ เพราะมันได้เห็นชีวิตดี ๆ ของไอดอล ดารา แล้วก็จะมานั่งมอง เอ๊ะ เราไม่เห็นมีอะไรดีเลย ก็เหมือนกับสิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวกระตุ้นขึ้นมา ทำให้วัยรุ่นก็จะซึมเศร้าได้ง่าย มันทำให้มาตรฐานความสุขของคนมันสูงเกินไป ทั้งที่จริง ๆ แค่ไม่เจ็บป่วยก็มีความสุขได้แล้ว แต่กลายเป็นว่าต้องมีนั่นมีนี่ เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกเศร้าก็พยายามหลีกเลี่ยงโซเชียลไปก็ดี เราต้องสนใจชีวิตนอกตัวให้น้อยลง และสนใจชีวิตภายในให้มากขึ้น เรากำลังรู้สึกอะไร คิดอะไร หวังอะไร การทำงานกับตัวเองเยอะ ๆ รู้จักตัวเองเยอะ ๆ ก็ทำให้เราเข้าใจตัวเองดี การที่เรา รู้ทันอารมณ์ตัวเอง รู้ทันความคิดตัวเองก็จะช่วยตัวเองได้มากชึ้น

และโซเชียลก็เป็นสื่อที่ทำให้เกิดความรุนแรงอย่าง cyber bully โดนประนาม โดนเอามาว่ากล่าวในสังคม โดนเพื่อนเอามาประจาน สิ่งเหล่านี้เอฟเฟ็กต์กับสภาพจิตใจของตัวเด็กมาก

ร่วมกับปัจจุบันครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวเยอะ แต่ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่มีเวลา เด็กก็จะเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว เพราะฉะนั้นฐานครอบครัวก็จะค่อนข้างเปราะบาง เวลามีให้ไม่เยอะ เวลาคุณภาพไม่ค่อยมี เด็กจะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่า และการเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรงก็เยอะ ทั้งคำพูดและการลงไม้ลงมือ ใช้คำที่สร้างความเจ็บปวด ก็จะบั่นทอนเรื่องความเป็นตัวตนของเด็ก ซึ่งมันก็เป็นปัจจัยหนึ่งของเรื่องซึมเศร้า โรคซึมเศร้าถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ เหมือนเบาหวาน ความดัน หัวใจ คือถ้ามีคนในครอบครัวเป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเยอะกว่าคนทั่วไป

ปัจจัยหลักที่สำคัญที่เรามองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ โรงเรียน โรงเรียนก็เป็นปัจจัยเชิงลบต่อโรคซึมเศร้า มันเป็นที่ที่เด็กต้องแข่งขันกับคนอื่น ต้องถูกเปรียบเทียบ โดยเฉพาะการเรียนในระบบแพ้คัดออก ถ้าคุณเก่ง แต่เก่งไม่พอหรือไม่ใช่เก่งแบบดีกว่าคนอื่น คุณก็ไม่ใช่คนเก่ง เด็กบางคนก็อยู่กับความแพ้ไม่ได้ หรือเด็กบางคนต้องอยู่กับความไม่มีตัวตน ต้องรู้สึกว่าฉันไม่เห็นเคยถูกยอมรับในเรื่องใดเลย เหมือนเป็นไม้ประดับในโรงเรียน หรือในส่วนการศึกษาที่เคร่งเครียด การบ้านเยอะ ทำให้นอนน้อย ซึ่งการนอนนั้นมีผลต่อสุขภาพทั้งหมด นอกเหนือจากสุขภาพกาย โรคอ้วน  โรคเบาหวาน ที่สำคัญคือการนอนน้อยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตอย่างมากด้วยปัจจัยหลักๆ ก็คือประมาณนี้”

พญ.จิราภรณ์ยังบอกด้วยว่า หากว่าเด็กในปกครองมีอาการซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ขั้นตอนแรกในการเยียวยาก็คือ ต้องยอมรับให้ได้เสียก่อน ว่าโรคซึมเศร้ามีอยู่จริง เหมือนโรคทางกายทั่วไป และสามารถรักษาได้

“บางคนจะบอกว่า เด็กคิดมาก คิดไปเอง ไม่ใช่นะ โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้วิธีคิดของคนที่เป็นเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่อ่อนแอ แต่คนที่ซึมเศร้าจะคิดลบ มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีพลัง ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ กินไม่ได้ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่อยากทำอะไร อาการเหล่านี้มาจากสมอง เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรจะต้องเชื่อก่อนว่า โรคซึมเศร้าคือสิ่งที่เป็นจริง ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจของเด็ก และต้องรู้ว่ามันร้ายแรงขนาดทำให้ตายได้ แต่รักษาได้ เมื่อรู้สึกว่าลูกมีอาการของโรคซึมเศร้าจงพาเขาไปรับการรักษา โรคซึมเศร้าสมัยนี้รักษาได้ เป็นโรคเรื้อรังแต่หายได้ ประมาณ 50% ก็อาจจะเป็นแค่ครั้งเดียว แต่บางคนอาจจะเจอตัวกระตุ้น ก็เป็นไปได้ที่ซึมเศร้าจะกลับมาอีก”

คุณหมอโอ๋ยังบอกถึงวิธีที่จะช่วยเยียวยาลูก หรือคนใกล้ตัวที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าด้วยว่า “การฟังอย่างเข้าใจ” คือเคล็ดลับที่ดีที่สุด

“โรคซึมเศร้ามันเป็นโรคที่อยู่ในหัวและเรามองไม่เห็น บางคนก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมลูกไม่ไปทำอะไรล่ะ จะได้ไม่ต้องเศร้า ไปเจอเพื่อนสิ ไปทำงาน เล่นดนตรี จะได้หายเศร้า แต่จริง ๆ มันสภาพเหมือนคนที่ถูกรถชน ลุกไม่ไหว เจ็บปวดไปหมด อยากนอน อยากพักตัวเอง แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ เนื่องจากมันมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือรับฟังเขา ฟังให้เข้าใจความรู้สึก ให้เข้าใจความต้องการของเขา ให้เขาระบายออกมา เขาอยากได้รับความช่วยเหลืออะไรไหม อย่าตัดสินว่าลูกอ่อนแอ ว่าลูกคิดมากเอง ลูกไม่เข้มแข็ง คือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเขา แต่การฟังให้เขาได้พูด ได้ระบาย แล้วมีคนฟังจริง ๆ มันจะช่วยเขามาก”

นอกจากพ่อแม่แล้วคุณหมอยังฝากไปถึงภาครัฐว่าควรจะต้องมาดูแลตรงส่วนนี้อย่างจริงจัง เพราะนี่คือปัญหาที่สำคัญมากของประเทศ และว่าตอนนี้กว่าที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงตัวจิตแพทย์คิวก็ยาวกว่าครึ่งปีแล้ว จึงอยากแนะนำให้หามาตรการวิธีการป้องกันก่อนที่วัยรุ่นจะเข้าสู่ภาวะโรคซึมเศร้า เช่น โครงการสายด่วยสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ หรือ โครงการโรงเรียนพ่อแม่ เป็นต้น

“การสร้างมันง่ายกว่าซ่อม ตอนนี้การฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุการตายอันดับสองของวัยรุ่นรองจากอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรจะต้องลงมาดูแล อย่างเช่น เรื่อง ‘สายด่วนสุขภาพจิต’ ที่เกิดประสิทธิภาพจริง ๆ เพราะคนอยากฆ่าตัวตายแล้วมีคนให้คำปรึกษาก็จะช่วยได้ทัน หรืออาจจะเป็น ‘คลินิกออนไลน์’ หรือเรื่อง ‘โรงเรียนพ่อแม่’ เพราะการทำให้เกิดปัญหาซึมเศร้าในวัยรุ่นส่วนหนึ่งมาจากเลี้ยงดู คือปัจจุบันเราเลี้ยงลูกแบบไม่มีความรู้ เลี้ยงแบบตามมีตามเกิด ใครรู้อะไร อ่านอะไร ถูกเลี้ยงมาอย่างไร ก็เลี้ยงกันไปตามนั้น หมอคิดว่าอันนั้นก็เป็นพาร์ตหนึ่งที่รัฐบาลควรลงทุน

แต่อีกอันหนึ่งหมอคิดว่า การศึกษา ก็สำคัญ โรงเรียนเป็นแหล่งบ่มเพาะโรคซึมเศร้า จะเข้าโรงเรียนนี้แล้วเข้าไม่ได้ก็เศร้า นั่งสอบกันตั้งแต่อนุบาล นี่คือการสร้างสุขภาพจิตที่ไม่ดีสำหรับมนุษย์ คือโตมาเป็นผู้แพ้ตั้งแต่วัย 3 ขวบ มันสร้างสม mindset ที่แย่ต่อเด็ก ๆ แล้วโรงเรียนก็สั่งการบ้านกันถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน มันไม่มีเวลาพัฒนาตัวเองทางด้านอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกาย ศิลปะ หรืออื่น ๆ ที่เป็นการพัฒนาทางด้านอารมณ์ มันใช้ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ ตรงนี้ก็คิดว่า รัฐบาลควรซัปพอร์ตโรงเรียนที่พัฒนาศักยภาพของเด็ก ให้เด็กได้ค้นเจอตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง”

หากพบว่าคนใกล้ตัวมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า อย่านิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์ใกล้บ้านทันที เพราะหากได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ที่เหมาะสมทั้งคนป่วยและคนใกล้ตัวก็จะหลีกเลี่ยงอาการป่วยและมีความสุขได้มากขึ้น ก่อนที่โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า