รอดไม่รอด สำรวจรอบด้าน “เรียน” ยุคโควิด และการต้อนรับพฤติกรรม “ความปกติรูปแบบใหม่” (New Normal) ของเด็กไทย

ท่ามกลางความกังวลรอบด้านกับภาวะที่ส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก ข่าวดีก็คือสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในไทยทำท่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไปในหลากหลายทัศนะว่า แม้จะดีขึ้นแล้ว แต่คนไทยและทุกคนทั่วโลกอาจจะต้องเผชิญกับสถานะ “ความปกติรูปแบบใหม่” หรือ New Normal อันหมายถึง พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจะเปลี่ยนไปหลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไป ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า คำว่า ‘ผ่านพ้น’ จะมาถึงเมื่อไร และแม้จะมีหลายพฤติกรรมที่เราได้ปรับเปลี่ยนกันมาสักระยะแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากที่สุดน่าจะเป็นการ ‘ทดลองการเรียนออนไลน์’ ของเด็กๆ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก่อนจะมีการเปิดเทอมจริงในอีกเดือนกว่าๆ ข้างหน้า รวมไปถึงอีกหลายมุมที่ส่งผลต่อทุกๆ คนในครอบครัว

คุณครูโนร์มาเดียร์ ยูโซ๊ะ ครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลดวงตะวัน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ทางโรงเรียนเตรียมความพร้อมหลายด้าน เริ่มจากคุณครูมีการทำคลิปแนะนำตัวเอง ส่งผ่านทางสื่อโซเชียลของโรงเรียน ให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ที่เลื่อนระดับชั้นได้รู้จักเบื้องต้น นอกจากนี้ยังเตรียมคลิปกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แม้จะเป็นการเผยแพร่รูปแบบออนไลน์ ก็ต้องพยายามให้เด็กมีส่วนร่วม  เข้าถึง และสนุกมากที่สุด แน่นอนอาจจะมีอุปสรรคของการเรียนออนไลน์คือ ความไม่พร้อมทั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับ และที่สำคัญ “เวลาจากผู้ปกครอง” แต่เราก็ปรับเพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้

ในส่วนของโรงเรียน โดยเฉพาะสถานที่ ห้องเรียน บุคลากร ต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมดเช่นกัน ห้องเรียนมีการปรับการนั่งเรียน เสริมอุปกรณ์ จัดพื้นที่ระหว่างเด็กๆ ในห้องด้วยกัน เมื่อเด็กๆ มาโรงเรียนและต้องอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง คุณครูก็ต้องคิดอีกว่าเราจะจัดกิจกรรมอย่างไร  เด็กเล่นคนเดียวอย่างไรให้สนุกและปลอดภัยด้วย ทั้งยังเข้มงวด จัดระเบียบรถโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ในการรับส่งเด็กนักเรียนใหม่ทั้งหมดก่อนจะมีการเปิดเทอมจริงในเดือนกรกฎาคม  

“ความปลอดภัยจึงถูกวางไว้เป็นจุดสูงสุดของโรงเรียน”

ครูโนร์มาเดียร์ยังเล่าต่อไปว่า ตอนนี้ทางโรงเรียนให้ครูคิดกันไว้เลยว่า นี่คือความปกติรูปแบบใหม่ และจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกแล้วสิ่งที่จะทำได้คือ คิดหาวิธีการรองรับความใหม่นี้อย่างเป็นระบบและปลอดภัยให้ได้มากที่สุด

“เราคิดลบไว้ก่อนเลยว่ามันจะไม่กลับมาเหมือนเดิม ต้องยอมรับ พร้อมเปิดใจและเตรียมรับมือ หากโรงเรียนเปิดเทอมและโรคกลับมาระบาด อาจจะมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนอีกครั้ง และเมื่อไม่เหมือนเดิมเราจะทำอย่างไรให้สอนเด็กได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ  ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นการสอนทางเดียวอาจจะสอนผ่านคลิปวีดีโอเป็นกิจกรรมแต่ละกิจกรรม  แต่ถ้าเป็นชิ้นงานหรือเอกสารคุณครูก็อาจจะต้องรับส่งที่บ้าน แล้วแต่ความเหมาะสม ”

ด้าน นางสิริพันธ์  ภาษีธรรม ครู คศ.2 วิทยฐานะครูชำนาญการ  โรงเรียนบ้านหนองบอน (นัยนานนท์อนุสรณ์) กรุงเทพฯ ผู้รับหน้าที่เป็นคุณแม่ของลูก 2 คนกล่าวว่า นอกจากเรื่องการจัดโรงเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับความปลอดภัยในช่วงโควิด คือให้มีการเว้นระยะห่างในทุกๆ กิจกรรมที่เด็กๆ ทำ พร้อมทั้งจัดสรรจำนวนครูให้เหมาะสมกับจำนวนห้องเรียนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การใช้ชีวิตของเด็กก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

“เรามีการรณรงค์ให้ใส่หน้ากากมาตั้งแต่เทอมก่อน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 และในช่วงปิดเทอมนี้เมื่อต้องออกนอกบ้าน เด็กก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะตอนนี้หากใครออกจากบ้านแล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็เหมือนเป็นคนแปลกแยกอยู่แล้ว เพียงแต่พอเปิดเทอมจะเหมือนกับว่าเด็กได้มาใช้ชีวิตจริงๆ สิ่งที่ครูเป็นกังวลและต้องดูแลก็คือ กังวลว่าเด็กจะเครียด เพราะเด็กอยู่ในวัยที่ต้องเล่น ต้องคุยกัน มีซุกซนบ้าง เราก็ต้องดูแลรักษาความสะอาด คอยเตือนให้ล้างมือบ่อยหน่อย หรือให้แยกออกจากกันบ้าง ครูต้องดูแลให้ดีเหมือนแม่ดูแลลูกเลย ส่วนเรื่องวิชาการนั้นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก เพราะถึงแม้ว่าจะมีการขยับการปิดเทอม แต่เวลาในการสอนยังเท่าเดิม และยังมีข้อสอบแกนกลางมาตรฐานมาวัดระดับเด็กๆ เหมือนเดิม”

สำหรับฐานะคุณแม่ของลูกวัย 14 และ 12 ปี ครูสิริพันธ์กล่าวว่า ความใกล้ชิดคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรให้กับลูกมากในช่วงนี้ และว่าเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเทอร์เน็ต เล่นมากไปอาจจะไม่ดี แต่ถ้าเล่นให้พอดีหรือให้ถูกทางก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กๆ คลายเครียดได้เช่นกัน

“มันเหมือนเหรียญสองด้าน” ครูสิริพันธ์บอก “อย่างการเรียนออนไลน์ ก็ต้องอาศัยวินัยมากๆ ในการเรียน ต้องมีผู้ปกครองคอยเฝ้า คอยให้คำปรึกษา ถ้าเป็นเด็กเล็ก เพราะปกติอยู่ในห้องยังต้องพูดคุยกัน แต่นี่เป็นการสื่อสารทางเดียว ถ้าผู้ปกครองอยู่ช่วยเด็กได้ก็ดี แต่ส่วนใหญ่อยู่ด้วยไม่ได้ เพราะต้องไปทำงาน จริงๆ ก็ไม่ได้หวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ว่าเด็กจะต้องได้จากการเรียนออนไลน์นี้ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าเด็กเอาเวลาไปเล่นเกมส์ ไม่ได้เครียดกับผลการเรียน เพราะเปิดเทอมมาก็เรียนตามระบบเหมือนเดิม ก็คือเรียนซ้ำในออนไลน์นั่นแหละ บ้านไหนไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร แต่เราก็มีใบงานไปให้แล้วให้นักเรียนทำกลับมาให้ครูตรวจให้ แล้วก็คุยกันทางไลน์หรือไปเยี่ยมบ้านซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้วก่อนจะเกิดเหตุการโควิดนี้เสียอีก ส่วนอีกด้านการมีอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียก็ทำให้ลูกๆ รู้เท่าทันโควิดพอสมควร รู้ว่าเมื่อไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อกลับมาต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอร์ หรือเมื่อแม่กลับมาจากไปทำงานก็รีบบอกให้แม่ไปอาบน้ำ เหล่านี้เขาก็รู้จากข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่เราไม่ได้ปิดกั้นหากว่าเขาจะเรียนรู้ และยังทำให้เขาไม่เครียดด้วย มันก็มีหลายแอปที่ช่วยให้ผ่อนคลายได้อย่างเช่น tiktok หรือ youtube หรือได้คุยกับเพื่อนๆ ผ่านโซเชียลแพล็ตฟอร์มต่างๆ ทำให้เขาคลายคิดถึง แต่ทั้งนี้แม่ก็ไม่ได้ปล่อยให้เขาอยู่กับอุปกรณ์เมือถืออย่างตามใจ เพราะมีการกำหนดเวลาและแบ่งเวลามาพูดคุยกับลูกๆ ด้วย”

พ.ท.หญิง สุอารี ล้ำตระกูล อาจารย์ภาควิชาพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่องพัฒนาการเด็กและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยให้กับโรงเรียนและบริษัทเอกชน กล่าวว่า ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal นั้น เกิดขึ้นกับทุกส่วนในสังคม และทุกคนบนโลกใบนี้ต่างก็เชื่อมโยงกันหมด จะสังเกตได้ว่า ตอนนี้ระบบการรักษาของโรงพยาบาลต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เช่นอาจมีการพิจารณาการนัดคนไข้มาโรงพยาบาลน้อยลง มีการรักษาแบบคอนเฟอเรนซ์มากขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้กลัวว่ามาโรงพยาบาลแล้วติดเชื้อ แต่กลัวช่วงการเดินทางมากกว่า เพราะบางคนอยู่ต่างจังหวัดไกลมากแต่ต้องมารักษาที่ในกรุงเทพฯ ตรงนั้นก็จะมีความเสี่ยง แต่ในที่สุดแล้วเชื่อว่าคนไทยจะปรับตัวได้

“การดูแลสุขภาพเด็กเล็กในช่วงนิวนอร์มอล มี 2 ส่วนคือ การดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่นฉีดวัคซีน กินอาหารให้เหมาะกับอายุ ต่อไปอาจจะมีวัคซีนตัวใหม่เพิ่มหากมีความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนา2019 และต้องสอนลูกว่าทำอย่างไรไม่ให้เอาตัวไปเสี่ยง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเด็กต้องอาศัยพ่อแม่ ตอนนี้ถ้าไม่ใช่โรคฉุกเฉินทั้งคุณหมอและผู้ปกครองก็ไม่อยากให้เด็กไปโรงพยาบาล ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความรู้ผู้ปกครองต่อไปก็คือ ต้องรู้จักวิธีการประเมินสุขภาพเบื้องต้น เช่น ถ้าตรวจพบว่าลูกมีไข้ ผู้ปกครองอาจจะต้องมีความรู้ต่อว่า มีไข้แล้วต้องประเมินอะไรต่อ เช่นเด็กมีอาการอื่นร่วมมั้ย ถ้ามีเราจะให้การดูแลเบื้องต้นอย่างไรบ้าง หรือดูแลอะไรเพิ่มเติมบ้าง ก็จะเป็นข้อมูลมาบอกคุณหมอเมื่อเด็กมาโรงพยาบาลไม่ได้

การดูแลสุขภาพกับเด็กที่เจ็บป่วยอยู่แล้ว เช่นเด็กที่ป่วยเป็นโรคอยู่ อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคหัวใจ มีผ่าตัด ก็ยังต้องมาโรงพยาบาล แต่มีการปรับรูปแบบการรักษา วงการแพทย์ตื่นตัวเยอะมาก ในการรักษาแต่ละโรคมีไกด์ไลน์ของเขา ตอนนี้ก็จะมีการนำไกด์ไลน์นั้นมารีวิวใหม่ มาดูซิว่าอันไหนที่สามารถลดขั้นตอนการมาโรงพยาบาลได้ อันไหนใช้คอนเฟอเรนซ์ หรือส่งต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ หลังการระบาดของโควิดน่าจะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลง เช่นนัดคนไข้มาน้อยลง มีการส่งยาไปที่บ้าน หรือถ้าต้องเจาะเลือดก็เจาะที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านแล้วส่งผลมาให้ที่โรงพยาบาลที่ทำการรักษา

พ.ท.หญิง สุอารี ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้มีความพยายามจะเปลี่ยน New Normal ให้กลายเป็น New Norm หรือ ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับทั่วโลก เพราะผลกระทบที่เกิดจากโคโรนาไวรัส2019 ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยประเทศเดียวเท่านั้น และเชื่อว่าผลกระทบของมันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนไม่มากก็น้อย ซึ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าเด็กที่โดยธรรมชาติแล้วจะมีการปรับตัวง่ายกว่าก็คือ ผู้ปกครองนั่นเอง

“ภาวะตอนนี้คนที่น่าห่วงที่สุดคือผู้ปกครองเพราะเขาต้องเป็นทุกอย่างให้ลูก ต้องเป็นพ่อแม่ เป็นหมอ เป็นครู แล้วยังต้องทำงานอีก ซึ่งบางคนก็ยัง work from home อยู่ แต่บางคนไม่มีอาชีพแล้ว

สำหรับในเด็กอยู่ในภาวะพึ่งพิงสูง คืออายุตั้งแต่แรกเกิดถึง ประมาณ 3 ขวบ นิวนอร์มอลคือวิถีปกติของเขา พ่อแม่ยังต้องทำอะไรให้เขาทุกอย่าง จะมีผลกระทบค่อนข้างน้อย แต่เด็กพวกนี้ต้องมีการพัฒนาเรื่องปฏิสัมพันธ์การเข้าสังคม แต่จะกลายเป็นว่าเด็กเล็กๆ กลุ่มนี้  โตมาภายใต้การปฏิสัมพันธ์ผ่านจอ หรือแบบห่างๆ พวกเขาจะถูกหล่อหลอมมาอีกแบบ แต่เด็กที่มีปัญหาจริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นเด็กกลุ่มวัยเรียน อันนี้ได้รับผลกระทบเพราะเขาเรียนรู้แล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เด็กกลุ่มนี้จะอยากให้โรงเรียนเปิดเพราะเขาเครียด มั่นใจว่าต่อไปนี้จิตแพทย์เด็กน่าจะทำงานหนักขึ้น ตอนนี้ถ้าโรงเรียนเปิดก็ต้องส่งภาระไปที่คุณครู พ่อแม่ ที่จะต้องคอยซัปพอร์ตเด็ก

เด็กโตขึ้นมาหน่อย วัยประถม กลุ่มนี้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ ต้องเข้าใจว่าการเรียนบางอย่างมันออนไลน์ไม่ได้จริงๆ เช่นกิจกรรมดนตรี หรือการออกค่าย สิ่งเหล่านี้เป็นสุนทรียศาสตร์มันหายไปไม่ได้บางวิชาหรือบางบทเรียนเรียนออนไลน์ได้ แต่ก็ต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิด หรือหากในช่วงที่มีมาตรการผ่อนปรนแล้วดังนั้นถ้าจะเรียนแบบไปรเวทก็เรียนได้ พอเปิดเทอมเต็มรูปแบบอาจต้องเน้นย้ำเรื่องการมีระยะห่าง ถ้าเราคุมโรคได้ดีมากแล้ว อาจจะใช้ชีวิตแบบเดิมได้บางอย่าง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์”

พ.ท.หญิง สุอารี เสริมว่า

ตอนนี้ต้องดูแลเด็กทุกคนให้เสมือนว่าทุกคนคือผู้ที่ต้องการการดูแลทางจิตใจ

“ตอนนี้เรามองว่าเด็กที่ต้องอยู่ที่บ้านคือผู้ที่ต้องการการดูแลสุขภาพจิต คือเราอาจต้องมีกิจกรรมบำบัด หากิจกรรมให้ทำ เป็นของดีไอวาย หรือทำนู่นทำนี่ พ่อแม่เหนื่อย เพราะยังไปโรงเรียนไม่ได้ ถ้ามีทางออกเป็นการดูยูทูปหรือคอร์สออนไลน์ที่ไม่ใช่เรื่องเครียด ก็น่าจะทำให้เด็กมีตารางชีวิตประจำวันของตัวเอง แบ่งเบาความเครียดของตัวเด็กและพ่อแม่ได้ อาจจะไปเครียดเรื่องอื่นแทน เช่น การเตรียมตัวสำหรับการใช้ชีวิตต่อไป หรือต้องใส่ใจภาวะสุขภาพจิตเด็ก ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเดี๋ยวมันจะดีขึ้น เดี๋ยวจะกลับมาใกล้เคียงวิถีชีวิตเดิม

แต่จริงๆ แล้วผู้ใหญ่โดนเอฟเฟกต์เยอะกว่า เพราะต้องดูแลลูกและดูแลตัวเอง บางบ้านอาชีพก็ไม่มีแล้ว ประสบปัญหารอบด้านหนักมาก ถ้ามาหาเรา เราก็จะพยายามส่งต่อจิตแพทย์ ให้เขาข้ามปัญหาตรงนี้ไปให้ได้ พวกฮอตไลน์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 อาจจะต้องใช้งานกันมากขึ้น อาจจะมีการดูแลเร่งผลิตจิตแพทย์ เพื่อตอบโจทย์คนที่มีมากขึ้น ตอนนี้มีสายด่วนของเอกชนก็ช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะ”

โลกมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว และนี่จะเป็นเพียงอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น และแม้จะมีบางคนที่ต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากกว่าคนอื่นๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตต่อไปให้ได้ ก็ได้แต่หวังว่า เราทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะช่วยจับมือกันและก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า