“สาคู” เป็นขนมที่ใครๆก็รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ตะโก้สาคู, ขนมสาคูไส้หมู , สาคูเปียกน้ำกะทิ ฯลฯ ซึ่งขนมเม็ดสาคูนี้ ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังที่วางขายตามตลาดทั่วไป จนทำให้เราคิดว่ามันคือเม็ดสาคูแท้ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วสาคูแท้นั้นไม่ใช่ที่เราทานกันทั่วไป….
สาคูแท้ หรือที่เรียกว่า “แป้งสาคูต้น” ซึ่งหายาก มีเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น เป็นการสกัดแป้งจากต้นปาล์มสาคู ซึ่งจะเริ่มตัดมาทำแป้งสาคูได้ เมื่อต้นเริ่มออกดอกหรืออยู่ในช่วงติดผลอ่อน ซึ่งจะเริ่มออกดอกที่อายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป และหลังจากออกดอกจนถึงผลแก่เริ่มร่วง จะใช้เวลาประมาณอีก 4 ปี รวมอายุขัยประมาณ 12-15 ปี
ขั้นตอนกว่าจะได้มาถึง “แป้งสาคูต้น”
- โค่นต้นสาคูทั้งต้น โดยตัดบริเวณโคนต้น จากนั้นตัดก้านใบ และยอดทิ้ง
- ตัดลำต้นออกเป็นท่อนๆ ขนาดพออุ้มหรือยกได้ง่าย
- ถากเปลือกลำต้นออกให้หมด ให้เหลือแก่นลำต้นที่มีสีขาว จากนั้นนำแก่นสาคูเข้าเครื่องบดหรือเครื่องสับให้เป็นผง แต่การทำมือสมัยก่อนจะใช้แผ่นไม้ตอกตะปูเป็นแผงถี่ แล้วใช้ขูดแยกแป้งออก
- นำผงสาคูขูดมาผสมน้ำ และคั้นน้ำหลายรอบ จนได้น้ำแป้งขาวข้น ปล่อยน้ำแป้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 10-12 ชั่วโมง
- แยกก้อนแป้งออกจากน้ำก่อน นำไปตากแห้ง นาน 1-2 วัน หรืออบในตู้อบที่ 60องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง ก่อนบรรจุใส่ถุง และมัดปิดให้สนิท
วิธีทำขนม “สาคูต้นกะทิสด”
วัตถุดิบ
- เม็ดสาคู 250 กรัม
- น้ำเปล่า,น้ำมะพร้าวน้ำหอม 1 ลิตร
- น้ำตาลทรายแดง 200 กรัม
- กะทิ 150 กรัม
- เกลือป่น ครึ่งช้อนชา
- เครื่องเคียงตามชอบ(มะพร้าวอ่อน,ข้าวโพดต้ม)
ขั้นตอนการทำ
- ต้มน้ำ+น้ำมะพร้าวน้ำหอมให้เดือดจัด แล้วค่อยๆ โรยสาคูทีละน้อย พร้อมกวนสาคูไปเรื่อยๆ ค่อยๆใส่จนหมด (ต้องกวนสาคูตลอดเวลา เพราะอาจจะติดก้นหม้อได้)
- เมื่อเม็ดสาคูเริ่มสุก สังเกตว่าเม็ดใสขึ้นกวนจนได้ที่แล้ว ให้ใส่น้ำตาลทรายแดง เกลือลงไป กวนให้เข้ากันสักพัก แล้วใส่เครื่องเคียงมะพร้าวอ่อน และข้าวโพด
- กวนต่อให้เข้ากันดี แล้วพักไว้
- นำกะทิตั้งไฟอ่อน ใส่เกลือปลายช้อนชา คนไปเรื่อยๆจนเริ่มเดือดแล้วปิดไฟ
- ตักสาคูใส่ถ้วย แล้วราดด้วยน้ำกะทิ พร้อมทานได้เลย