ตอนเป็นเด็กเล็กๆ การได้ถ่ายรูปกิจกรรมและสะสมผลงานน่ารักๆ ของลูกๆ ที่เปลี่ยนไปตามพัฒนาการนั้นอาจจะเป็นเรื่องของความสุขที่พ่อแม่ลูกได้ทำด้วยกัน แต่เมื่อโตขึ้นมาหน่อย การสะสมผลงานอาจจะมีหน้าที่เพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือ เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เปรียบเสมือนหน้าต่างบานแรกที่จะทำให้คนรู้จักตัวตนของเจ้าของพอร์ต ทั้งกิจกรรมที่ชอบ ความรู้ความสามารถที่มี ศักยภาพและความสำเร็จที่ผ่านมา ที่สำคัญต้องดึงดูดมากพอที่จะทำให้คณาจารย์ทั้งหลายอยากรู้จักและอยากพูดคุยกับเจ้าของมัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการได้รับการตอบรับเข้ามหาวิทยาลัยในฝันได้
หลายคนอาจคิดว่าการทำพอร์ตมีหลักการไม่ได้มากมายอะไร อาจไล่เรียงตั้งแต่ ปก-คำนำ-ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา-รูปถ่ายกิจกรรมที่เคยทำ-เกียรติบัตรเชิดชูผลงาน-ปกหลัง ก็น่าจะพอแล้ว ถ้าคิดแบบนี้เตรียมเอามือก่ายหน้าผากได้เลย เพราะใครก็รู้สิ่งนี้ ใครก็ทำแบบนั้นได้ แต่สิ่งที่ทำให้พอร์ตของน้องๆ น่าสนใจกว่าคนอื่นมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำแนะนำง่ายๆ มาฝาก
1. รู้จักตนเอง
หากรู้อยู่แล้วว่าตัวเองชอบอะไรข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย แต่ถ้ายังสับสน ยังไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริงลองใช้เวลาไตร่ตรอง ศึกษาเส้นทางชีวิตและประสบกาณณ์ที่ผ่านมา อาจจะทำให้รู้ได้ว่า ตัวเราเองชอบและจดจ่ออยู่กับสิ่งไหนมากที่สุด หรือหากยังไม่ได้อีกแนะนำว่า งาน open house ของมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจจะเป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้พอมองเห็นลู่ทางบ้าง เพราะจะทำให้เห็นบรรยากาศ ลักษณะเจ้าหน้าที่และนักศึกษาของที่นั่น รวมถึงได้คลายข้อสงสัยของตัวเองต่อสถานที่และคณะนั้นๆ แนะนำว่า ควรทำตั้งแต่ม.สี่ ถ้าให้ดี ลองแวะไปเลียบๆ เคียงๆ ตั้งแต่ม.ต้นก่อนก็ได้ ตรงนี้สามารถติดตามข่าวจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้โดยตรง
2. ทำความเข้าใจคณะ และสถาบันที่เข้าจะเข้าเรียน
ต้องรู้ก่อนว่า เราไม่ได้ทำพอร์ตเพื่อที่จะเก็บไว้ดูเอง ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มทำพอร์ต โปรดศึกษาและทำความเข้าใจข้อกำหนดของทางมหาวิทยาลัยอย่างละเอียด แต่ละสถาบันอาจมีแนวปฏิบัติเฉพาะตัวเกี่ยวกับรูปแบบ เนื้อหา และขั้นตอนการส่งผลงาน การรู้รายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้ปรับแต่งพอร์ตโฟลิโอ ได้อย่างเหมาะสม หากสนใจหลายคณะ อย่าส่งพอร์ตชิ้นเดียวกันไป แต่จงพิถีพิถันเลือกทำให้ถูกจริตกับแต่ละที่ เช่น หากคุณกำลังสมัครคณะศิลปกรรมศาสตร์ ให้รวมตัวอย่างงานศิลปะ ภาพถ่าย หรือโครงงานออกแบบด้วย แต่หากน้องๆ สนใจจะสมัครหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ก็ให้รวมรายงานการวิจัยหรือการทดลองต่างๆ เป็นต้น
3. โชว์จุดแข็ง
เลือกโชว์ผลงานที่โดดเด่นที่สุดลงในพอร์ต ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางวิชาการ กิจกรรมนอกหลักสูตร การบริการชุมชน (จิตอาสา) ที่แสดงให้เห็นถึงทักษะและความหลงใหลของตัวเรา พยายามรวมงานที่หลากหลายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของน้องๆ และด้วยเนื้อที่อันจำกัด คุณภาพจึงมีความสำคัญมากกว่าปริมาณ สำหรับกิจกรรม หากใครยังไม่รู้ว่าจะสามารถหากิจกรรมต่างๆ ทำได้ที่ไหน แนะนำให้น้องๆ ค้นหาในกูเกิลด้วยคำว่า “ค่าย..แล้วตามด้วยชื่อคณะที่สนใจ” ก็จะพบ hub ค่ายและโครงการวิจัยต่างๆ มากมาย สามารถเลือกตามที่สนใจได้เลย ทั้งนี้ก็มีทั้งที่ฟรีและเสียเงินให้เลือกตามอัธยาศัย
4. ตกแต่งจัดพอร์ตโฟลิโอให้เป็นระเบียบ แต่ก็ต้องไม่ลืมความคิดสร้างสรรค์
ต้องดึงดูดความสนใจ แต่ก็ต้องอ่านง่ายสบายตาด้วย ใช้รูปภาพที่มีความละเอียดสูงและแบบอักษรที่อ่านง่ายเพื่อสร้างผลงานที่ดึงดูดสายตา แนะนำให้แบ่งส่วนต่างๆ ของพอร์ต มีหัวข้อให้ชัดเจน เพื่อให้คณะกรรมการรับสมัครเข้าใจโครงสร้างพอร์ตโฟลิโอของน้องๆ ได้ง่าย พร้อมเขียนสะท้อนกระบวนการคิด ความท้าทายที่เผชิญ และบทเรียนที่ได้รับจากกิจกรรมหรือโครงงานวิจัย ซึ่งจะช่วยให้คณะกรรมการได้เห็นการเติบโตของน้องๆ รวมถึงทำหน้าปกให้สวยงามมากพอที่คนจะหยิบขึ้นมาอ่าน จำไว้เสมอว่าคำว่า “อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก” ใช้ไม่ได้ในการทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย
5. ขอคำปรึกษาจากอาจารย์และศึกษาพอร์ตของรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ
แม้ว่าน้องๆ จะตั้งใจทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่เมื่อเราอยู่กับมันนานจนชินก็อาจจะทำให้พลาดบางอย่างไปได้ แนะนำให้ลองนำพอร์ตที่ทำเสร็จแล้วไปขอความวิจารณ์จากอาจารย์หรือรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ คำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์สามารถช่วยให้ปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอของเราได้
การสร้างแฟ้มผลงานสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ จัดระเบียบ และความใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนที่กล่าวมา เพราะนั่นจะทำให้พอร์ตโฟลิโอของเราเป็นโอกาสในการบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เหมือนใครและแสดงศักยภาพของของเราให้เปล่งประกายออกมาชัดเจนจนไม่อาจปฏิเสธได้
ขอให้โชคดีในรั้วมหาวิทยาลัย