ปิดเทอมสร้างสรรค์ด้วย “นิทานสร้างสุข” ในโรงเรียนตาดีกา

เด็กๆ ออกมาอ่านนิทานที่สนใจ

เรียนรู้และเข้าใจในความต่าง เสริมจินตนาการ-สร้างสันติภาพ

            เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตและสภาพเศรษฐกิจของผู้คนในพื้นที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของสภาพจิตใจ การขาดโอกาสในการเรียนรู้ รวมไปถึงการขาดพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กๆ ในพื้นที่อีกด้วย

“กลุ่มลูกเหรียง” หรือ “สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ที่ทำงานด้านการปกป้อง คุ้มครองช่วยเหลือเยียวยาพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มานานกว่า 15 ปี จึงใช้โอกาสในช่วงปิดเทอมเข้าไปเปิดพื้นที่การเรียนรู้ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างจิตนาการผ่านกิจกรรม “นิทานยุติความรุนแรงสัญจรในโรงเรียนตาดีกา” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมดีๆ ที่ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ที่ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น

เด็กๆที่โรงเรียนตาดีกาบ้านบานา

ภาพของเด็กๆ เกือบ 100 คนแต่งกายด้วยเสื้อภาษสีสันสดใสที่มายืนรอพี่ๆ อาสาสมัครจากกลุ่มลูกเหรียงอย่างใจจดใจจ่ออยู่ที่ โรงเรียนตาดีกาบ้านบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึง “โอกาส” ที่พวกเขาไม่ค่อยได้รับ แม้ว่าภาษามลายูท้องถิ่นที่ถูกสื่อสารออกมาอาจจะฟังไม่เข้าใจสำหรับคนนอกพื้นที่ แต่สีหน้าและแววตา รวมถึงอากัปกิริยาของเด็กๆ ที่แสดงออกมานั้น สื่อให้เห็นได้ถึงความตื่นเต้นและดีใจที่เขาจะได้สัมผัสกับกิจกรรมสนุกๆ และเรื่องราวดีๆ จากนิทานต่างๆ ในไม่อีกอึดใจข้างหน้า

หลังจากพี่ๆ อาสาสมัครช่วยกันเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นเวทีการแสดงขนาดย่อม การแสดงละครประกอบการเล่านิทานก็เริ่มต้นขึ้นโดยการใช้ภาษาไทยสลับกับภาษามลายูเพื่อสร้างความน่าสนใจควบคู่ไปกับการอธิบายความหมายให้เด็กๆ เกิดความเข้าใจมากขึ้น  “มดน้อยกับช้างใหญ่” เป็นนิทานเรื่องแรกที่ถูกนำมาเล่าเป็นเรื่องราวของช้างเกเรเจ้าป่าที่ต้องยอมสยบกับการรวมพลังของเหล่ามดจนเกิดเป็นข้อตกลงของการอยู่รวมกันอย่างสันติสุขโดยไม่ใช้ความรุนแรง ต่อด้วยนิทานเรื่อง “เจ้าเป็ดกับเจ้าไก่สุขได้บนความหลากหลาย” ที่สอดแทรกให้เห็นคุณค่าและเคารพในความแตกต่างอย่างคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและ “นิทานเศรษฐกิจพอเพียง” ที่สอนให้เด็กๆ รู้จักกับความพอเพียงและความประหยัด เป็นต้น

สุไลมาน เจะอุบง

นายสุไลมาน เจะอุบง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเด็กและเยาวชนกลุ่มลูกเหรียงเล่าว่า ลูกเหรียงเติบโตมาพร้อมกับการใช้นิทานเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กๆ ในพื้นที่ โดยมีนิทานเรื่องมดน้อยกับช้างใหญ่ ที่เด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงสร้างขึ้นมาจากความรู้สึกจริงๆ ของพวกเขา และผลลัพธ์ที่เขาอยากจะได้รับในชีวิตจริง ซึ่งคำตอบอยู่ในนิทานเรื่องนี้แล้ว คืออยากให้ทุกอย่างจบลง ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง ดังนั้นนิทานเรื่องนี้นั้นเป็นนิทานง่ายๆ สำหรับเด็กที่สามารถใช้ได้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เพราะเด็กแต่ละคนมีปัญหาชีวิตที่ต้องเจอในแต่ละวันที่แตกต่างกัน ดังนั้นนิทานก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเยียวยา อย่างน้อยก็ทำให้เขารู้สึกสนุก พอรู้สนุกและหัวเราะแล้วมันก็เป็นเหมือนยารักษาอย่างหนึ่งให้เขารู้สึกผ่อนคลาย มีพลัง และมีความสุข

            “นิทานเป็นเหมือนการปลูกฝังจิตสำนึก ซึ่งเด็กๆ บางคนก็อาจจะอยากเป็นช้าง บางคนก็อยากเป็นมด ซึ่งเขาก็สามารถเป็นได้ทังสองอย่าง แต่หน้าที่ของเราก็คือทำอย่างไรให้ความคิดเหล่านั้นมันคลี่คลายลง ว่าถ้าเป็นช้างตัวใหญ่มีพลังมากก็จริงแต่สิ่งที่เราไม่ควรทำคืออะไร และสิ่งที่เราควรทำคืออะไร นิทานเรื่องตอบโจทย์ได้ว่า ช้างเคยรังแกคนอื่น เราไม่ผิดที่ครั้งหนึ่งเราเคยแกล้งเพื่อน แต่วันหนึ่งเราก็คิดได้ว่าการแกล้งเพื่อนเป็นสิ่งไม่ดีไม่ถูกต้อง ซึ่งหลังจากฟังนิทานเรื่องนี้เค้าจะรู้ว่าการเป็นช้างมันดียังไง แล้วส่งผลเสียกับคนอื่นๆ อย่างไร ได้เรียนรู้ว่าการเป็นช้างและเป็นช้างที่ดีนั้นเป็นยังไง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากสื่อสารให้กับเด็กๆ ผ่านกิจกรรมนี้”

นางสาวนษมา เสกหวัง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาสาสมัครกลุ่มลูกเหรียงผู้เล่านิทานเรื่องเจ้าเป็ดกับเจ้าไก่สุขได้บนความหลากหลายกล่าวว่า นิทานเรื่องนี้จะสอนให้รู้จักที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างกันเหมือนเป็ดที่ว่ายน้ำเก่งกับไก่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ทั้งสองก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกันและมีความสุขด้วยกันได้

“ในระหว่างการเล่านิทานและชวนน้องๆ หาบทสรุปในท้ายเรื่อง เราก็จะเปรียบเทียบให้เด็กๆ เห็นถึงความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา การศึกษา วัฒนธรรม สีผิว เพศ แต่ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วยการหาจุดร่วมและการปรับตัวเข้าหากัน เป็นการเปิดมุมมองของน้องๆ ให้เห็นและเข้าใจในความต่างว่าไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธหรือคนไทยมุสลิมเราก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

นายฟุรกอน หิมมะ

นายฟุรกอน หิมมะ เยาวชนจิตอาสาเล่านิทานกลุ่มลูกเหรียง ผู้เล่านิทานเศรษฐกิจพอเพียง เล่าให้ฟังว่า นิทานเรื่องนี้จะสอนให้น้องๆ รู้จักกับความพอเพียงโดยการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักกินเองที่นอกจากประหยัดและยังปลอดภัยด้วย โดยให้เด็กๆ มาแสดงเป็นตัวละครสมมุติในเรื่อง เพื่อสร้างความสนใจจากเพื่อนๆ ที่คอยชมอยู่ในห้อง

“ในการเล่านิทานก็จะใช้ภาษามลายูเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆ แล้วก็ทำให้เด็กๆ เข้าใจในรายละเอียดและเนื้อหาที่จะสื่อสารออกไปได้ง่ายและมากขึ้น ซึ่งคำตอบที่ได้รับจากเด็กๆ เป็นเสียงเดียวกันภายหลังจบนิทานก็คือทุกคนพูดว่า เราสามารถที่จะปลูกผักกินเองได้โดยไม่ต้องไปซื้อที่ตลาดซึ่งปลอดภัยและปลอดสารพิษ”

            นายซาหดัม แวยูโซ๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดอบรมกลุ่มลูกเหรียง ผู้รับผิดชอบกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ กล่าวถึง“นิทานยุติความรุนแรงสัญจรในโรงเรียนตาดีกา” ว่ามีเป้าหมายที่จะไปเล่านิทานให้น้องๆ ในโรงเรียนสอนศาสนาจำนวน 20 แห่งในช่วงปิดเทอมนี้ โดยให้เหตุผลว่าในช่วงปิดเทอมพ่อแม่ผู้ปกครองก็จะพาบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนตาดีกา จึงนำกิจกรรมนี้มาส่งเสริมให้เด็กๆ เข้าถึงภาษาไทยให้มากขึ้น ให้เขารักและรู้จักการอ่านเพราะเจริญเติบโตของเด็กๆ ควรได้รับคุณภาพทั้งในเรื่องของคุณภาพชีวิตและภาษาด้วย โดยจะมีการนำหนังสือนิทาน อุปกรณ์กีฬาไปแจก เพราะโรงเรียนตาดีกาหลายแห่งไม่ได้ค่อยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลภายนอก อีกทั้งหนังสือที่เรียนก็ไม่มีตัวอักษรภาษาไทย เราจึงอยากให้เขาได้อ่านหนังสือภาษาไทย ได้ทบทวนภาษาไทยบ้าง

นายซาหดัม แวยูโซ๊ะ

“เด็กๆ ในพื้นที่มีปัญหาเรื่องภาษาไทยมาก บางทีอ่านไม่ออก สะกดคำไม่ได้ ตรงนี้คิดว่าเป็นเพราะครอบครัวไม่ได้ใส่โดยเฉพาะในชนบท เพราะพ่อแม่มีภาระที่ต้องหาเช้ากินค่ำ มีหน้าที่ส่งลูกไปเรียน ผลการเรียนแย่ก็แค่ส่งไปเรียนโรงเรียนศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของการศึกษาของเด็กๆ ใน 3 จังหวัด ที่ส่งผลต่อการเรียนต่อและการทำงาน ซึ่งการที่เราเอาเรื่องของนิทานเข้ามาก็เพราะว่าจริงๆ แล้วเราอยากให้เด็กได้เกิดจินตนาการในโลกของเด็กๆ เอง เพราะเชื่อว่าที่บ้านของเขาพ่อแม่เขาคงแทบจะไม่ได้อ่านนิทานให้เขาฟัง เราจึงอยากเป็นตัวเชื่อมโยงตรงนี้เพื่อให้เขาได้มีโลกของเขา มีจินตนาการของเขา สร้างเสียงหัวเราะ สร้างให้เขาจินตนาการว่าฉากต่อไปเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร ทำให้เขาสนุกและมีความสุข อย่างน้อยวันนี้เมื่อกลับไปเขามีความสุข มาเติมเต็มในสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครองที่ไม่มีโอกาสทำให้พวกเขา” อดัมกล่าวสรุป

กิจกรรมนิทานยุติความรุนแรงสัญจรในโรงเรียนตาดีกาของกลุ่มลูกเหรียงจึงเป็นมากกว่าความสนุก แต่เป็นความสุขจากการเรียนรู้ในเรื่องราวใหม่ๆ ด้วยการเติมเต็มโลกของจินตนาการที่ขาดหายไป พร้อมกับสอดแทรกเป้าหมายยิ่งใหญ่ก็คือ การปลูกต้นสันติภาพให้เข้าไปหยั่งรากลึกในหัวใจของเด็กๆ ทุกคน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า