ทั้งเป็นคนป่วย ทั้งเคยได้มีโอกาสร่วมกับโครงการต่างๆ เดินทางไปพบกับผู้ป่วยเด็กหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ ณภัทร ศักดิ์พรทรัพย์ หรือ เอแคลร์ สาวน้อยวัย 18 ปีที่เกิดมาพร้อมกับอาการภูมิแพ้อาหาร ภูมิแพ้ทางผิวหนัง และโรคกระดูกสันหลังคด ต้องใช้ชีวิตวนเวียนกับการเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการของตัวเองมาตลอด จนกระทั่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เข้าร่วมกับหลายโครงการเพื่อเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยหลายต่อหลายที่ได้เห็นปัญหาและคิดว่ามันต้องการการแก้ไข
“พอได้ไปเยี่ยมหลายๆ ชุมชนทั่วประเทศไทยแล้ว ทำให้รู้ว่าหนูเป็นคนโชคดีมาก ที่เข้าถึงการรักษามาตลอด ขณะที่หลายคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้ หนูจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับปัญหานี้และได้พบกับคำว่า Health Equality หรือความเสมอภาคทางด้านสุขภาพค่ะ”
และนั่นเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เอแคลร์อยากเข้ามาช่วยตรงนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
“องค์กรอนามัยโลกบอกว่า การเข้าถึงการรักษาในระบบสาธารณสุขนั้นเป็นสิทธิของมนุษย์อย่างหนึ่งซึ่งทุกคนในโลกนี้ควรจะได้รับ”
“ตอนช่วง ม.3 หนูเป็นรองประธานของชมรมที่โรงเรียน ชื่อว่า ‘เดอะ กิฟวิ่ง คลับ’ ค่ะ เราบริจาคอุปกรณ์ทางการเรียนให้โรงเรียนต่าง ๆ ของ ประเทศไทย ซึ่งก็ทำให้เราเห็นและเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในสังคม เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งหนูเอาของไปบริจาค มีน้องคนหนึ่งมาขอบคุณหนูที่มาแจกถุงเท้า คือเขาใส่ถุงเท้าคู่เดิมมาตลอดจนมันแทบจะไม่เป็นถุงเท้าแล้วด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่า ถ้าถุงเท้ายังเป็นขนาดนี้ แล้วการเข้าถึงการรักษาพยาบาลล่ะจะเป็นอย่างไร หนูเลยเริ่มจริงจังกับตรงนี้มากขึ้น”
เอแคลร์เริ่มฝึกงานกับหน่วยงานและบริษัทที่ทำงานเพื่อสังคมต่างๆ หลายที่ รวมทั้งมีโครงการส่วนตัวของตัวเองด้วย
“ที่แรกคือ ‘เทใจ’ ค่ะ ที่ตัดสินใจที่จะมาเรียนรู้ด้วยการฝึกงานที่นี่ก็เพราะว่า ตอนที่เริ่มคิดว่า เอ๊ะ จะช่วยสังคมได้ยังไง ก็คิดว่าเวลาที่เราคิดถึงงานสังคม มันก็จะมีโครงการที่สร้างโดยองค์กรต่างๆ เช่น พวกเอ็นจีโอองค์กรไม่แสวงกำไร หรือพวกโซเชียลเอ็นเทอร์ไพรส์ แล้วเห็นได้ชัดเลยว่า เทใจ เป็นศูนย์รวมของโครงการ เหล่านี้ เป็นพื้นที่สำหรับคนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นแพลตฟอร์มที่เราทำให้โครงการพวกนี้เป็นจริงได้ เลยอยากเข้ามาช่วย โดยรับผิดชอบในการสร้างคอนเทนต์ให้หลายๆ โครงการ”
“นอกจาก เทใจ ก็ยังได้ไปฝึกงานที่บริษัทเมติคูลี่ จำกัด เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์ เน้นที่ศัลยแพทย์ อย่างเช่นนวัตกรรมการทำเกราะพยุงหลังซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีใหม่แต่ราคาที่ทำออกมาจะย่อมเยามาก ก็เป็นการทำเพื่อสังคมในประเทศไทย และเข้าไปช่วยดูแลคอนเทนต์และเป็นคิวเรเตอร์ใน TedEx ดูแลคอนเทนต์ สปีคเกอร์ และบทพูดต่างๆ ด้วย”
ทั้งนี้นอกจากจะดูว่าบริษัทหรือองค์กรที่เราไปฝึกงานนั้นมีการทำงานเพื่อสังคมแล้ว ทุกองค์กรที่ได้เข้าร่วมงานในองค์กรนั้นจะมีคนที่ไฟแรง และสร้างแรงบันดาลใจที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม
“จากการฝึกงานตรงนี้ทำให้ได้พบและพูดคุยกับพี่ๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการต่างๆ ทั้งของเทใจ และสปีกเกอร์ต่างๆ ของ TedEx ซึ่งเป็นผู้คนที่ทำประโยชน์ทางสังคมมามากมาย รวมถึงพี่ๆ ในบริษัทเมติคูลี่ ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันของพวกเขาคือ มีไฟในตัวเอง มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือสังคม และพวกเขาทำสิ่งเหล่านี้มานานมากแล้ว ทำให้หนูได้ทั้งแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือสังคมและได้ความรู้อีกเยอะมาก จนสามารถสร้างโครงการของตัวเองได้”
“เนื่องจากเอแคลร์สนใจ ด้าน health equality โดยเฉพาะ เลยได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกงานมาสร้างโครงการ ‘เอาชนะภูมิแพ้ แด่น้องในชุมชน’ ของตัวเองค่ะ จากสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 38 เราจะแก้ปัญหานี้ได้ เราต้องป้องกันตั้งแต่แรกไม่ใช่รอให้เกิดแล้วถึงค่อยเข้ารับการรักษา เอแคลร์จึงพัฒนาครีมบำรุงผิว ‘Claire’s Choice’ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น เพื่อนำไปแจกเด็กๆ ตอนนี้แจกไปแล้วประมาณ 1,500 หลอด ที่โรงพยาบาลศิริราช คริสต์จักรที่สมุทรปราการและราชบุรี รวมถึงโรงเรียนที่จังหวัดกระบี่ด้วยค่ะ
แต่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการที่ไม่ใช่แค่บริจาคครีมพอหมดก็จบโครงการไป จึงจัดกิจกรรมสอนเด็กๆ เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้และสุขภาพโดยรวมด้วย ที่คริสตจักร ICCIW (In Christ Church International Worldwide) เพราะหลายคนไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงปล่อยไว้จนเกือบเสียชีวิต เพราะไม่สามารถสังเกตอาการของโรคได้ จึงจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาค่ะ”
ถึงแม้จะเกิดมาพร้อมร่างกายที่เจ็บป่วย แต่เอแคลร์บอกว่า ตัวเองเป็นคนโชคดีที่ได้เข้าถึงการรักษาตั้งแต่ต้น และการทำโครงการต่างๆ ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกคนในครอบครัว รวมถึงการได้พบปะกับผู้คนมากมายที่เธอได้ร่วมกิจกรรมในช่วงฝึกงาน จึงอยากแบ่งปันความโชคดีนี้ให้คนอื่นๆ บ้าง
“Jim Rohn บอกว่า You’re The Average Of The Five People You Spend The Most Time With เรามีนิสัยเหมือนคน 5 คนที่เราได้ใช้เวลาด้วยมากที่สุด แต่เอแคลร์ รู้สึกว่า มันไม่ใช่แค่ห้าคน แต่เราได้ความรู้ นิสัย พฤติกรรมจากทุกคนที่เราได้ทำงาน ได้คุย ได้สัมผัสด้วย และคิดไม่ถึงเลยว่า พอเราเริ่มทำโครงการก็มีคนทั่วไป และเพื่อนๆ ให้ความสนใจเยอะมาก เขาทำให้เราเห็นว่า มีคนอยากทำให้สังคมดีขึ้นเยอะ และเขาก็รู้จากเราว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ใช่เรื่องสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็สามารถทำได้เช่นกัน”
“ตอนนี้เอแคลร์กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยมาช่วยสังคมไทยมากขึ้น โดยอาจจะขยายโครงการที่มีอยู่แล้วตอนนี้ให้เข้าถึงชุมชนได้มากขึ้น ช่วยเขาในรูปแบบที่ยั่งยืนมากกว่านี้ และสำหรับน้องๆ ที่มีเป้าหมายที่อยากจะช่วยสังคมก็สามารถลงมือทำได้เลย สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ การเริ่ม แต่ถ้ามีเป้าหมายแล้ว ก็สามารถมาคุยกับพี่ๆ ที่เทใจได้ค่ะ เพราะที่นี่ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เราสร้างโครงการของตัวเองได้ และได้ช่วยสังคมอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ”
สามารถร่วมสนับสนุนโครงการเอาชนะภูมิแพ้ แด่น้องในชุมชน ได้ที่ https://taejai.com/th/d/clair_ch/
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาพที่ดีได้อย่างเท่าเทียม
—–