DIY: ว่าวจิ๋ว สำหรับเจ้าตัวจิ๋ว

การเล่นว่าวในไทยตามประวัติศาสตร์นั้นมีมาอย่างเนิ่นนาน ไล่กลับไปได้ถึงสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีกันเลยทีเดียว ความสนุกสนานในการเล่นว่าวนั้นเกิดขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความหลากหลายของชนิดของว่าว การแข่งขัน และลวดลายสีสันของว่าว เป็นต้น

การเล่นว่าวนั้น มักเล่นในบริเวณที่มีลานกว้างและมีลมแรงพอประมาณและเป็นลมที่สม่ำเสมอ โดยทั่วไปแล้วในประเทศไทยนิยมเล่นกันในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ซึ่งมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า ‘ลมว่าว’ ว่าวบางชนิดก็พบเจอเฉพาะในแต่ละภาคของประเทศเท่านั้น แต่ว่าวที่โด่งดังและเป็นที่นิยมทั่วไปได้แก่ ว่าวจุฬา ว่าวงู และว่าวปักเป้า

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ว่าวก็มีสีสันมากขึ้น มีการประดิษฐ์พร้อมใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนเกิดเป็นว่าวรูปลักษณ์ใหม่ๆ ทั้งสวยงาม และตลกขบขัน และนั่นจึงเป็นโอกาสพิเศษที่เราจะได้ชวนคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมาชวนน้องๆ หนูๆ สนุกไปกับการสร้างสรรค์ว่าวรูปแบบใหม่ๆ พร้อมเล่นว่าวไปพร้อมๆ กับพวกเขาด้วย

วันนี้เรานำเสนอการทำ ‘ว่าวจิ๋ว’ เป็นว่าวน่ารักๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยคุณลูกๆ ทำได้แม้ว่าเขาจะเพิ่งจะตัวเล็กนิดเดียวก็ตาม

เรามาเริ่มกันที่วัสดุอุปกรณ์กันเลย

  1. กระดาษตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดตามต้องการ (ในภาพใช้ขนาด 15×15 เซนติเมตร) 5 แผ่น แนะนำให้ใช้หลายสีเพื่อความสวยงามและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
  2. กรรไกร กาว (หรือสก๊อตเทป)
  3. เชือกขนาด 120 เซนติเมตร 2 เส้น และขนาด 150 เซนติเมตร 1 เส้น

วิธีทำ

1. นำกระดาษที่ตัดไว้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้ว มาพับตามแนวทแยง จนเกิดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า แล้วพับครึ่งของสามเหลี่ยมอีกครั้งจนเกิดสามเหลี่ยมที่เล็กลงอีก เมื่อได้สามเหลี่ยมเล็กๆ แล้ว ให้วางด้านแหลมของสามเหลี่ยมเข้าหาตัว โดยให้ด้านสันอยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วพับครึ่งขึ้นไปจนเกิดไปรอย (ตรงนี้จะออกมารูปร่างคล้ายเรือกระดาษ) แล้วคลี่ออกและใช้กรรไกรตัดตามรอยพับรอยสุดท้าย เมื่อคลี่กระดาษทั้งหมดออกมาแล้วจะได้กระดาษสี่เหลี่ยมจุตรัสที่มีช่องว่างรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่ตรงกลาง (ดังรูป)

2. นำกระดาษอีก 2 แผ่น มาพับ (ทีละแผ่น) โดยพับตามแนวทแยงเหมือนชิ้นแรก แต่ไม่ต้องถึงมุมแล้วกรีดให้เรียบ จากนั้นพลิกกลับให้อีกด้านขึ้นมาอยู่ด้านบน แล้วพับขึ้นมาให้มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรทีละชั้นจนหมดกระดาษ แล้วจึงใช้กาวหรือสก๊อตเทปติดให้กระดาษอยู่ทรง จะได้เป็นแท่งกระดาษแบนๆ สีสันสดใส หมายเหตุ: กระดาษทั้ง 2 แผ่นนี้คือโครงว่าว หากครอบครัวไหนมีแท่งไม้ไผ่ไม่หนามากก็สามารถใช้แทนได้

3. กระดาษที่เหลืออีก 2 แผ่น นำมาพับครึ่งตามแนวขวาง (ทีละแผ่น) จากนั้นพับครึ่งอีกครั้งไปเรื่อยๆ เมื่อคลี่ออกมาแล้วจะได้รอยพับที่สามารถแบ่งประกาษได้เป็น 8 เส้น ให้ตัดตามรอยพับนั้น แล้วนำมาต่อกันให้ยาวขึ้น (ความยาวตามชอบ) ตรงนี้จะเป็นส่วนหูและหางว่าว

เข้าสู่ขั้นตอนการประกอบว่าวจิ๋ว

ขั้นตอนแรก: ให้นำกระดาษที่ได้จากข้อ 1 มาวางโดยให้มุมแหลมอยู่ตรงหน้าเราตามภาพ

ขั้นตอนที่ 2: นำเชือกความยาว 120 เซนติเมตร มาวางบนกระดาษตัวว่าว โดยให้ปลายอยู่ที่มุมฝั่งตรงกันข้ามกันทั้ง 2 เส้น แล้วติดกันด้วยกาวหรือสก๊อตเทป

ขั้นตอนที่ 3: นำกระดาษที่ได้จากข้อ 2 หรือไม้ไผ่วางตามยาวจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่งตามแนวทแยง ให้ปลายกระดาษทับลงบนปลายเชือกที่วางลงไปก่อนหน้านี้แล้วยึดติดด้วยกาวและสก๊อตเทป

ขั้นตอนที่ 4: นำกระดาษที่ได้จากข้อ 3 ไปติดที่ตัวว่าว 3 จุดโดยยกไว้ส่วนที่เป็นหัวว่าวไว้

ขั้นตอนที่ 5: ยกเชือกที่ติดกับตัวว่าวขึ้นมา โดยกะประมาณให้บาลานซ์พอดีแล้วนำเชือกอีกเส้นที่มีความยาวที่สุดมามัดเชือกทั้งสองเส้นที่ติดกับว่าวไว้ เชือกเส้นยาวนี้จะให้เด็กๆ ถือว่าววิ่งเวลาขึ้นว่าว และเวลาที่ว่าวติดลมลอยในอากาศแล้ว ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มความยาวได้ตามใจชอบ

เพียงเท่านี้ก็ได้ ‘ว่าวจิ๋ว’ ที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคุณพ่อกับคุณแม่ก็ช่วยน้องๆ หนูๆ นำว่าวขึ้นสู่ฟ้ากันได้เลย

การเล่นว่าวนั้น ด้วยตัวว่าวแล้ว ก็ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งทำด้วยกันก็ยิ่งเพิ่มความสุขสบายใจมากยิ่งขึ้น ความรักความอบอุ่นก็คงจะอบอวลไปทั่วทั้งครอบครัว ส่วนด้วยวิธีการเล่นว่าวนั้นก็ยังฝึกให้เด็กๆ ได้คิดวิคราะห์ถึงวิธีการนำว่าวขึ้นสู่อากาศ ฝึกความแข็งแรง อดทน ไหวพริบ และความสามัคคีด้วย เพราะจะขึ้นว่าวแต่ละที คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องช่วยน้องๆ หนูๆ นำว่าวขึ้นสู่อากาศด้วยกัน

ขอให้ว่าวจิ๋ว นำความเบิกบานมาสู่ครอบครัวในปริมาณที่ไม่จิ๋วนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า