หลักสูตร ต้นกล้าดีของแผ่นดิน สมาคมไทบ้าน

บ้านปลาบู่ ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

เป้าหมาย          

ปลูกคนดี ให้มีปัญญา ทำมาหากินเป็น…สู่การเป็นต้นกล้าดีของแผ่นดิน

วัตถุประสงค์     

  1. เพื่อสร้างคนต้นกล้าดีของแผ่นดิน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ “ขุมทรัพย์ในตน” ผ่านกระบวนการเรียนรู้คุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  2. เพื่อการพัฒนากระบวนทัศน์การพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจ
  3. เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการเป็นผู้นำแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่สู่ผู้ประกอบการสากล บนฐานของการเห็นคุณค่าและบูรณาการกับนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  4. เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเครือข่ายผู้ประกอบการสากล

รายละเอียดของหลักสูตร

โมดูลที่ 1

กระบวนการเรียนรู้ “ขุมทรัพย์ในตน ผ่านกระบวนการเรียนรู้คุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ระยะเวลา 3 วัน

ช่วงอายุกลุ่มเป้าหมาย

ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ต่อครั้ง)

จำนวน  30 – 35 คน       

มีค่าใช้จ่าย

  • จำนวน 700 – 1,000 บาทต่อวัน    (นักเรียน นักศึกษา)
  • จำนวน 1,200 – 1,500 บาทต่อวัน (ครูและผู้สนใจทั่วไป)
    (ค่าใช้จ่ายอาหาร 3 มื้อ, อาหารว่าง 2 มื้อ, ที่พัก 1 คืน, วิทยากรหลัก และผู้ช่วย)

ขั้นตอนหลัก (กรณีทำกระบวนการกับนักเรียนมัธยมปลาย)

  1. ประสานงานกับครูผู้รับผิดชอบ
  2. ประชุมวางแผนกับทีมศูนย์เรียนรู้ (พ่อครู แม่ครู และ ทีมงาน)
  3. ประชุมเตรียมกระบวนการกับทีมครูผู้รับผิดชอบ
  4. จัดกิจกรรม (2 – 3 วัน)
  5. ประเมินกิจกรรมกับทีมครู
  6. ประเมินกิจกรรมกับทีมศูนย์เรียนรู้
  7. ติดตามไปที่โรงเรียน ขยายงานอื่น ๆ ร่วมกัน

อุปกรณ์

  1. ฐานเรียนรู้ (ฐานดิน, ฐานสีเปลือกไม้, ฐานผ้าฝ้าย, ฐานอาหาร, ฐานสมุนไพร)
  2. ฐานดิน ได้แก่ กองดิน, มูลสัตว์,  แกลบดิบ, แกลบเผา, แปลงผักสำเร็จรูป, พื้นที่การทำงาน (จอบ พั่ว ฯลฯ )
  3. ฐานสีเปลือกไม้ ได้แก่ มีด, ตะกร้า, หมวก, ต้นไม้, ป่าไม้, พาหนะ, กาละมัง, เตาไฟ, ผ้า ฯลฯ
  4. ฐานผ้าฝ้าย ได้แก่ ต้นฝ้าย, ตะกร้า, อิ้ว, ไน, อุปกรณ์เข็นฝ้าย ฯลฯ
  5. ฐานอาหาร ได้แก่ เมนูอาหาร, วัตถุดิบการทำอาหาร, อุปกรณ์ในการทำอาหาร เป็นต้น
  6. ฐานสมุนไพร ได้แก่ สวนสมุนไพร, ชื่อสมุนไพร, สรรพคุณของสมุนไพร, การเก็บสมุนไพร, การเตรียมลูกประคบ, อุปกรณ์การทำลูกประคบ เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้ “ขุมทรัพย์ในตน ผ่านกระบวนการเรียนรู้คุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่น”   ระยะเวลา 3 วัน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คุณค่าของแผ่นดิน ภูมิปัญญาท้องถิ่น
  2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คุณค่าของตนเอง ผ่านกิจกรรมด้านภูมิปัญญา
  3. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจต่อการทำความดี และ มีเป้าหมายในการดำรงชีวิต

กิจกรรมหาอยู่หากิน เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน กินข้าวฮ่วมกัน ตามวิถีไทบ้าน จังหวัดอุบลราชธานี

วัตถุประสงค์หลัก

  1. เพื่อให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
  2. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง 3 ช่วงวัย
  3. เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในชุมชน

ระยะเวลาในการทำกิจกรรม 

ปีละ 1 ครั้ง

ช่วงอายุผู้เข้าร่วมกิจกรรม

เด็ก 10 – 18 ปี, ผู้ปกครอง

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ต่อครั้ง)  

50 คน

ขั้นตอนหลัก (ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานก่อนเกิดงานจนเสร็จสิ้นกิจกรรม)   

  1. ประชุมชี้แจง คณะทำงาน
  2. ประชาสัมพันธ์โครงการและรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ
  3. จัดทำกิจกรรมตามโครงการ
  4. สรุปผลการดำเนินโครงการ

อุปกรณ์

  1. เครื่องมือในการหาอาหาร เช่น จอบ, เสียม, มีด, ข้อง, ตะกร้า, แห เป็นต้น
  2. เครื่องครัว เช่น หม้อ, ถ้วย, จาน, เครื่องปรุงรสต่างๆ เป็นต้น
  3. สถานที่ในการจัดกิจกรรม/โครงการ เช่น ป่าชุมชน, นา, แหล่งน้ำ เป็นต้น
  4. อุปกรณ์สำนักงาน เช่น กระดาษ, ปากกา เป็นต้น

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เด็กและเยาวชนในชุมชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
  2. เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กและผู้ปกครองในชุมชน 3 ช่วงวัย
  3. เกิดการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (ในพื้นที่นั้นๆ)
  4. เพื่อขยายโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ออกสู่พื้นที่อื่นๆ

กิจกรรมสืบสานประเพณีตานตอดสู่ลูกหลานจังหวัดพะเยา

วัตถุประสงค์หลัก

  1. เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีตานตอดจากผู้สูงอายุสู่ลูกหลาน
  2. เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ทุกกลุ่มวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ระยะเวลาในการทำกิจกรรม

5 วัน

ช่วงอายุผู้เข้าร่วมกิจกรรม

5 – 60 ปี

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ต่อครั้ง)  

50 – 80 คน

ขั้นตอนหลัก (ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานก่อนเกิดงานจนเสร็จสิ้นกิจกรรม)   

  1. ประชุมคณะทำงานทุกภาคส่วน กลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้นำชุมชน โรงเรียน ฯลฯ
  2. กิจกรรมสืบค้นหาภูมิปัญญาและวิทยากรถ่ายทอดความรู้ประเพณีสู่ชุมชน
  3. กิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการและการรับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหาร
  4. ดำเนินการตานตอด (กิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญาให้เด็กและเยาวชน ประชาชน ฯลฯ ได้เรียนรู้ประเพณี)

อุปกรณ์

  1. ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อออกรับบริจาค
  2. เครื่องขยายเสียง
  3. รถจักรยาน, รถยนต์ เพื่อออกประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ขอรับบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหาร

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. สืบสานประเพณีตานตอดให้ยังคงอยู่ในชุมชน
  2. คนทุกกลุ่มวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ได้รับการดูแลจากคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
  3. เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ประเพณีตานตอด และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกกิจกรรม
  4. เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือ แบ่งปันให้กับผู้ยากไร้

กิจกรรม Summer Camp จังหวัดขอนแก่น

วัตถุประสงค์หลัก

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในช่วงปิดเทอม
  2. เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รู้สิ่งที่ตนเองชอบ
  3. เพื่อเด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ระยะเวลาในการทำกิจกรรม

2 รุ่น / รุ่นที่ 1 จำนวน 5 วัน และรุ่นที่ 2 จำนวน 3 วัน

ช่วงอายุผู้เข้าร่วมกิจกรรม

7 – 20 ปี

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ต่อครั้ง)  

รุ่นที่ 1 จำนวน 120 คน / รุ่นที่ 2 จำนวน 30 คน

ขั้นตอนหลัก (ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานก่อนเกิดงานจนเสร็จสิ้นกิจกรรม)   

  1. ประชาสัมพันธ์โครงการ
  2. ประชุมคณะทำงาน
  3. เขียนโครงการเสนองบประมาณ
  4. ดำเนินโครงการ
  5. ติดตามและประเมินผล
  6. สรุปผลการดำเนินงาน

อุปกรณ์

  1. วิทยากร
  2. เครื่องดินตรี เช่น กีต้าร์ กลอง
  3. อุปกรณ์โสต เช่น Notebook จอ ลำโพง ไมค์
  4. อุปกรณ์สื่อสารและบันทึกภาพ เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้กิจกรรมที่สร้างสรรค์ทางด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ
  2. ผู้ปกครองได้สนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่บุตรหลาน
  3. ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของศูนย์เพื่อนใจ To be number 1 เทศบาลนครขอนแก่น

กิจกรรมหลุมพอเพียง จังหวัดกาฬสินธุ์

วัตถุประสงค์หลัก

  1. เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสำหรับเด็กปิดเทอมสร้างสรรค์
  2. เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้การทำหลุมพอเพียงอาหารปลอดภัยสำหรับเด็ก
  3. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เด็กและเยาวชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ระยะเวลาในการทำกิจกรรม 

ตุลาคม – พฤศจิกายน และ เมษายน – พฤษภาคม

ช่วงอายุผู้เข้าร่วมกิจกรรม

10 – 18 ปี

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม (ต่อครั้ง)  

30 – 50 คน

ขั้นตอนหลัก (ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานก่อนเกิดงานจนเสร็จสิ้นกิจกรรม)   

  1. เตรียมคณะทำงาน
  2. อบรมพัฒนาทักษะผู้นำเด็กพอเพียง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  3. ออกแบบการจัดทำแผน รูปแบบการจัดทำหลุมพอเพียง
  4. ฝึกปฏิบัติการทำหลุมพอเพียง การทำปุ๋ยหมักและการเพาะพันธุ์ไม้ พันธุ์ผัก และขยายผลแหล่งเรียนรู้สู่ครอบครัวและชุมชน
  5. ติดตามประเมินผล

อุปกรณ์

  1. อุปกรณ์การเกษตร เช่น จอบ เสียม
  2. พันธุ์ไม้ พันธุ์ผัก
  3. ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก
  4. ฟางข้าว

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เด็กและเยาวชนมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทำหลุมพอเพียง
  2. มีแหล่งเรียนรู้การทำหลุมพอเพียงในชุมชน
  3. เด็ก เยาวชนและครอบครัวมีแหล่งอาหารปลอดภัยไร้สารพิษ
  4. เด็กและครอบครัวมีรายได้เพิ่มจากการทำหลุมพอเพียง
  5. เด็กและครอบครัวมีสวัสดิการและมีมรดกตกทอดเป็นไม้ยืนต้น

DIY – พับถุงกระดาษด้วยวิธีง่าย ๆ กัน

มาทำถุงกระดาษน่ารัก ๆ ใบเล็ก ๆ ใส่ของฝากกันดีกว่า วิธีทำก็ไม่ยากเลย เพื่อนๆ ลองไปทำกันดูนะคะ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  1. กระดาษ A4 (ทำปกรายงาน)
  2. กาว กรรไกร
  3. ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด
  4. ที่เจาะกระดาษ
  5. ริบบิ้น/เชือก

วิธีทำ

  1. เตรียมกระดาษ A4 วางแนวนอน พับเข้ากันแล้วทากาวปิดขอบ
  2. พับขอบด้านล่างขึ้นไปขนาดประมาณ 3/4 เพื่อทำเป็นก้นถุง
  3. พับก้นถุงขึ้นมาดังภาพ แล้วทากาวที่ก้นถุง และพับขอบทั้ง 2 ฝั่ง (รีดด้วยไม้บรรทัดให้เรียบ)
  4. รอกาวแห้ง กางถุงออก แล้วพับขอบเข้าตามรอยด้านข้างที่รีดไว้จะได้เป็นรูปทรงถุง
  5. เจาะรูด้านบนที่พับไว้ เพื่อใส่ริบบิ้นปิดถุง
  6. สอดริบบิ้นในรูที่เจาะไว้ ผูกโบว์ ตกแต่งให้สวยงาม

ปล่อยพลัง! เลี้ยงด้วยกิจกรรม เสริมสร้างร่างกาย จิตใจและสมองให้ลูกพร้อมกับความสุขของทุกคนในครอบครัว

เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันนี้ กิจกรรมต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงลูกมากขึ้นทุกขณะ ด้วยมีงานวิจัยหลายอย่างจากนักจิตวิทยาทั้งจากไทยและต่างประเทศยืนยันว่า การเล่นหรือการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่รอบด้าน ทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยกิจกรรมนั้นก็อาจจะเป็นการบูรณาการมาจากต้นทางที่โรงเรียนจัดสรรให้อยู่แล้ว หรือทางผู้ปกครองนำเสนอให้ลูกตัวน้อยได้ลองเล่นด้วยตนเอง

“เหมือนให้เขาได้ปล่อยพลังค่ะ”

วารุณี ฤโณปการ คุณแม่ของน้องออสติน ด.ช.ติณห์ อาภรณ์ทรัพย์ อายุ 5 ขวบ เจ้าของสายเหลืองจากกีฬาเทควันโดหมาดๆ และน้องไตตั้น ด.ช.ตรัยคุณ อาภรณ์ทรัพย์ อายุ 2 ขวบ 4 เดือนเล่าให้เราฟังก่อนเสริม “เป็นวัยของเขาเลยค่ะ เด็กช่วงวัยนี้เราควรเน้นกิจกรรมให้เขาได้สนุกเป็นหลักก่อน ยังไม่ควรเน้นเรื่องเรียนหรือวิชาการให้เขามากนัก คืออยากได้เขาสนุกกับการเรียนปกติมากกว่า ถ้าเขาสนุกกับการเรียนเขาก็จะอยากไปโรงเรียน อยากเรียนรู้ของเขาเอง”

กิจกรรมที่วารุณีเลือกคือ เทควันโดซึ่งเป็นกีฬาที่โรงเรียนเปิดสอนให้เป็นกิจกรรมเสริมอยู่แล้ว โดยเลือกอยู่บนพื้นฐานที่ลูกชอบด้วย

“กิจกรรมเสริมหลังเลิกเรียนจะมีสอนทบทวน, ภาษาอังกฤษ, หุ่นยนต์ขั้นพื้นฐาน, เทควันโด เราก็จะถามเขาว่าออสตินอยากเรียนอะไรบ้าง เขาก็บอกว่า อยากเรียนเทควันโด เพราะชอบ สนุกดี ได้ออกกำลัง เราก็สนับสนุนเพราะว่าเห็นว่าเป็นกีฬาที่น่าสนใจ นอกจากได้เรียนรู้ยังทำให้เขาแข็งแรงด้วย ถ้ามีแวว เขาชอบจริงจังก็คิดว่าจะสนับสนุนเขาเต็มที่ค่ะ ตอนนี้อาจจะปูพื้นฐานให้เขาไปก่อนจากที่โรงเรียน อนาคตจากจะส่งเขาเรียนจริงจังตามโรงเรียนที่สอนเฉพาะทางไปเลยค่ะ”

ไม่ใช่เพราะโรงเรียนมีให้เลือกอย่างเดียว หากแต่ต้องบอกว่าครอบครัวนี้ปลูกฝังความเป็นนักกีฬาไว้ในตัวลูกด้วย

“อีกอย่างที่ออสตินเขาชอบ คือตีกอล์ฟค่ะ เพราะพ่อเขาเล่นกอล์ฟ เขาเห็นพ่อเขาตีกอล์ฟเขาก็อยากเล่น บางครั้งก็จะตามพ่อไปไดร์ฟบ้าง แต่ยังไม่เคยออกรอบ โตอีกสักหน่อยคงได้ไปออกรอบกับพ่อเขา” คุณแม่ลูกสองบอก

แต่ทั้งนี้การเลี้ยงลูกก็ใช่ว่าจะต้องทำกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อแต่เพียงอย่างเดียว

“ปกติคนโตไปเรียนจันทร์ถึงศุกร์ ชั้นอนุบาล 3 กลับจากเลิกเรียน เป็นข้อตกลงกับว่าเขาต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน หลังจากนั้นก็จะให้เราเล่นหรือดูการ์ตูนได้ พอช่วงเย็นๆ หน่อย ก็จะชวนกันไปเล่นที่สนามในหมู่บ้าน ปั่นจักรยานบ้าง วิ่งเล่นกับเด็กๆ ในหมู่บ้านบ้าง หรือเตะบอลเล่นกันบ้างค่ะ เราอนุญาตให้เขาได้ดูทีวีการ์ตูน หรือยูทูป แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขต จำกัดเวลา เพื่อไม่ให้เขาติดจนเกินไป เด็กยุคใหม่ส่วนใหญ่จะถูกเลี้ยงด้วยมือถือ ทีวีบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็มีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าเราให้เขาดูเยอะเกินไป เขาจะเป็นเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจ ออสตินเคยเป็นอยู่ช่วงหนึ่งค่ะ ก็ต้องคอยๆ ฝึกและสอนเขาใหม่”

“การเลี้ยงลูกวัยนี้ ต้องใจเย็นมากๆค่ะ เพราะเขาเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บ้างครั้งก็จะดื้อไม่เชื่อฟัง เราก็ต้องพยายามพูดคุยกับเขามากๆ คุยกันด้วยเหตุและผล”

น้องผิงผิง ดญ. พรชนก อัมพรลักษณ์ วัย 6 ขวบ ก็เพิ่งได้สายเขียวจากการเล่นเทควันโดเช่นเดียวกัน โดย คุณแม่ผึ้ง พิมพ์ชนก อัมพรลักษณ์ เล่าให้ฟังว่า ลูกสาวเป็นทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ครูเห็นว่าทำได้ เช่น เต้น รำ กีฬาสี งานดนตรีต่างๆ และเมื่อได้คุยกับผู้ปกครองเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงส่งเสริมให้ทำ

“ตอนนี้เขายังไม่มีอะไรที่ตั้งธงว่าชอบอันนี้ แต่เราจะเป็นคนป้อนให้เขาเอง ว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี ดีอย่างไรไม่ดีอย่างไร แล้วเขาจะตามที่เราพูด อย่างที่บอกว่า เด็กเป็นผ้าขาว คือเขายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราบอกอะไรเขาก็เชื่อ เราจึงจำเป็นต้องป้อนแต่เรื่องดีๆ ให้เขา

อย่างเทควันโดเราเลือกให้เพราะได้ออกกำลังกาย ได้เล่นสนุก แล้วยิมเทควันโดก็ใกล้บ้าน ราคาไม่แพงมาก ทุกอย่างมันรวมกันแล้วได้หมด ตอนที่โน้มน้าวให้ไปเรียนตอนแรก เราใช้กุศโลบายโดยการเปิดละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ให้ดู ตอนที่นางเอกสู้กับผู้ร้าย แล้วก็บอกกับเขาว่า ถ้าเขาเรียนเทควันโด ก็จะไม่มีใครมารังแกผิงผิงได้ เหมือนนางเอกเรื่องนี้ เขาก็โอเคยอมเรียน เราไม่รู้ว่าเขาชอบไหม เพราะต่อให้อิดออดไม่อยากไปในบางครั้งแต่เขาก็ทำได้ อย่างสายเขียวเทควันโดที่เพิ่งได้มาก็ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ในที่สุดเขาก็ได้มาจนได้”

แต่ถึงอย่างไร หลังจากนี้ คุณแม่ก็จะปล่อยให้การเลือกกิจกรรมเป็นเรื่องที่ลูกสามารถเลือกได้ตามความชอบ

“พอโตกว่านี้เราจะปล่อยเขาเลย แต่ถ้าเขาเลือกไม่ดีเราจะต้องคอยบอก”

คุณแม่ผึ้งบอกว่า คำว่า “กิจกรรม” อาจจะไม่ได้หมายถึงกีฬาหรือการเล่นเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วกิจกรรมที่ทำให้ลูกมีความสุขอาจจะแค่ได้ทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกับคนที่เขารักเท่านั้น

“อย่างตอนปิดเทอมโควิดเขาอยู่กับตาและอาม่า สองคนนั้นแก่แล้วก็ไม่ได้รู้จักไอแพดหรือยูทูปอะไร แต่ลูกเราอยู่กับเขาแล้วมีความสุขมากโดยที่ไม่ได้แตะอุปกรณ์การสื่อสารเลยเพราะเขาชวนกันเล่น เช่น โดมิโน สมุดภาพระบายสี ปลูกต้นไม้ เก็บใบกระเพรา ช่วยล้างจาน เก็บขวด ช่วยกันทำกับข้าว แล้วก็สอนว่าอันนี้เรียกว่าอะไร อันนั้นใช้ทำอะไร กลายเป็นทุกคนในครอบครัวมีความสุขไปพร้อมๆ กับเขา”

“กิจกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะทั้งที่โรงเรียนให้ทำ หรือเราเป็นคนเลือกให้ลูก มันก็จะมีประโยชน์หมด เช่น ได้แสดงความสามารถ กล้าแสดงออก ได้เล่นสนุกกับเพื่อน ได้รู้จักคิด แก้ปัญหา แต่ทั้งหมดนี้คือเราต้องเลือกนะ ดูว่ามันประโยชน์จริง ดูว่าลูกเรามีความสุขจริงๆ” คุณแม่พิมพ์ชนกย้ำ

และเมื่อพูดเรื่องความสุขกับประโยชน์ที่ลูกๆ จะได้รับ คุณแม่วารุณีก็ให้เหตุผลไม่ต่างกัน

“เคยคุยกับแฟนว่าสมัยเราเรียนโรงเรียนวัด ไม่เคยได้เรียนพิเศษเรียนเสริมอะไร เราก็มีงานทำที่ดีได้ เข้าใจนะคะว่าสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยนี้การแข่งขันมีสูงมาก แต่ก็มองว่ามันอยู่ที่ตัวเด็ก ถ้าเขารักเรียนเขาก็จะมีความพยายามของเขาเอง ในใจเราเขาไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 หรือท็อป 5 ขอแค่เขาเอาตัวรอดได้ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมตามยุคที่เปลี่ยนไปได้ก็พอค่ะ ส่วนตัวเราถ้ากิจกรรมใดที่เด็กๆ ชอบมากจนอยากเรียนจริงจัง หรืออยากทำเป็นอาชีพ เราก็พร้อมส่งเสริมสนับสนุน”

สิ่งที่เขาได้จากกิจกรรมที่พ่อแม่เลือกให้ในวันนี้ อาจจะเป็นรอยยิ้ม เป็นความสนุกสนาน แต่ระหว่างมันก่อเกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เกิดความสามารถในการแก้ไขปัญหาจนก่อให้เกิดความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว และว่ากันว่า ถ้าอยากให้ลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เราต้องทำให้เขารู้จักความสุขตั้งแต่ยังเด็ก

แล้วความสุขของลูกๆ คุณ ปล่อยพลังออกมาเป็นแบบไหน

“เครียดโควิด” ช่วยลูกอย่างไร เมื่อที่ผ่านมาใจไม่ค่อยดี

โควิด19 ตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ทุกเพศทุกวัยทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันแบบกะทันหัน เจอกับวิกฤติรูปแบบต่างๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวกันไว้ก่อน ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภายนอกเท่านั้น แต่สุขภาพจิตอาทิ ความวิตกกังวล และความเครียดของทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ทุกคนในครอบครัวก็รับบทหนักจากวิกฤติการณ์นี้เช่นกัน  แล้วอะไรคือคำแนะนำที่ดีที่จะทำให้ทุกคนค่อยๆ ผ่านมันไปด้วยกันได้

ถึงแม้ว่าความวิตกกังวลในเด็ก จะมีส่วนช่วยให้เด็กเจริญเติบโตและเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับมันอันจะเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพที่สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต แต่หากมันยาวนานมากเกินไปเช่นในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ มันก็เริ่มจะก่อปัญหา

สถาบันไชด์ ไมด์ (Child Mind Institute)

กล่าวถึง ความวิตกกังวลของเด็กๆ เอาไว้ว่า

ความวิตกกังวลของเด็กจะแสดงออกมาหลายอย่าง ทั้งขี้อายมากเกินไปจนไม่สามารถมีความสุขกับสิ่งที่เด็กๆ คนอื่นชื่นชอบได้ มีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด แสวงหาความมั่นใจจากพ่อแม่ อาการทางกายภาพเช่น ปวดหัว หรือ ปวดท้อง และปัญหาการนอนหลับเป็นต้น ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้แล้วรักษาทางกายภาพไม่หาย อาจจะต้องคิดถึงการเยียวยาทางจิตใจ หรือการเข้าพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพราะหากไม่รีบดูแลอาการทั้งหลายนี้อาจจะแย่ลงกว่าเดิมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต อย่างเช่น การต้องไปโรงเรียนหลังจากปิดเทอมมายาวนาน

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)

กล่าวถึงวิธีการดูแลเด็กๆ ในระหว่างการระบาดของไวรัสโคโรนา2019 ไว้ว่า

เด็กๆ จะมีการแสดงออกเมื่อมีความเครียดและเป็นกังวลที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ใหญ่ก็ควรจะตอบสนองต่ออาการนั้นๆ ต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบประคับประคองและให้กำลังใจ ฟังเรื่องราวความกังวลของพวกเขา แสดงความรักและเอาใจใส่มากขึ้นกว่าปกติ เพราะเด็กต้องการความรักจากผู้ใหญ่มากขึ้นในช่วงเวลาน่าวิตกเช่นนี้ รวมไปถึงต้องจัดตารางเวลาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนที่บ้าน อ่านหนังสือ เล่มเกม เล่นดนตรี ดูหนัง รวมทั้งการไปโรงเรียนและการเล่นที่ปลอดภัยลงในตารางนั้นด้วย และต้องคุยกันเรื่องข้อมูลต่างๆ ของโควิด19 และสถานการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม ให้เด็กๆ เข้าใจได้มากที่สุดเท่าที่วัยของเขาจะเอื้ออำนวย เพื่อลดความวิตกกังวลด้วย

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บางครั้งการได้แชร์ประสบการณ์ของผู้ใหญ่ให้เด็กได้รับรู้ก็ทำให้ความเครียดของทั้งคู่ลดลงได้พร้อมๆ กันอีกด้วย จึงเป็นการดีทีเดียวที่พ่อแม่ ผู้ปกครองจะแบ่งปันกับเด็กๆ ว่าคุณจัดการกับความเครียดของคุณเองอย่างไรเพื่อที่พวกเขาจะได้เรียนรู้วิธีรับมือไปด้วย และสำคัญมากว่า คุณต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาและดูแลตัวเองทั้งดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ การอนุญาตให้เขาได้ติดต่อกับเพื่อนๆ หรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ซึ่งนั่นจะทำให้เขาผ่อนคลายได้มากทีเดียว

และหากว่าเด็กๆ ของคุณเป็นเด็กวัยรุ่น ถึงวันนี้ก็หมดเวลาที่ผู้ใหญ่จะปิดกั้นพวกเขาจากโซเชียลมีเดียแล้ว เพราะในตอนนี้โซเชียลมีเดียจะเป็นตัวกลางในการที่ทำให้เขาได้พูดคุยสื่อสารและมีกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อน ซึ่งเป็นอีกทางที่สร้างความสุขให้กับพวกเขาภายใต้เงื่อนไขการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เราจะยังคงต้องรักษามาตรการนี้ไว้เพื่อความปลอดภัยที่ยั่งยืน

และเมื่อเปิดเทอมแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าหมดภาระของพ่อแม่แต่อย่างใด เพราะผู้ปกครองยังคงต้องจับตามองเด็กๆ ของท่านทั้งสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงสัญญาณของความเครียดและความวิตกกังวล หากมีพฤติกรรมบ่งชี้ที่น่าสงสัยจะได้สามารถรับรู้และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

บทความจาก Weill Cornell Medicine

กล่าวว่า เด็กมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ดีกว่าที่คิด จากหลักฐานเกี่ยวกับการได้รับความเจ็บปวดทางในวัยเด็กทำให้พบว่าเด็ก ๆ จะประสบกับปัญหาความวิตกกังวลในระยะสั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเสียหายทางจิตใจที่ถาวร ผู้ใหญ่จะสามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจสุขภาพจิตของตนเองได้ดีขึ้น รวมถึงวิธีจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลในอนาคตด้วย

เพราะในภาวการณ์เช่นนี้ การดูแลสุขภาพทางใจนั้น สำคัญมากไม่ต่างจากสุขภาพทางกาย


ข้อมูลจาก

5 กิจกรรมอาสาสมัครช่วยสังคม แบบ new normal 2020

เบื่ออยู่บ้าน เบื่อเป็นเชฟ เบื่อดูทีวี เบื่อตัวเท่าบ้าน!!!

เรามานำเสนอกิจกรรมอาสาสมัครช่วยสังคม แบบ new normal 2020 มาแนะนำคลายความเบื่อกันค่ะ 

1. กิจกรรม อ่านหนังสือให้คนตาบอด Read for the Blind

กิจกรรมที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสร่วมกันสร้างหนังสือเสียงให้คนตาบอด ด้วยการอ่านหนังสือหรือบทความสั้นๆ จาก เวบไซต์ แมกาซีน หนังสือพิมพ์ หรือคอลัมน์ที่น่าสนใจ โดยรองรับการอ่านหนังสือจากหลายๆคนรวมกันเป็นหนึ่งเล่ม หนึ่งคนอาจจะอ่านเพียงแค่บทเดียว และจากหลายๆบทจะรวมเป็นหนึ่งเล่ม หนังสือเสียงหรือบทความที่สมบูรณ์แล้วเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นไฟล์เสียงที่เหมาะสมสำหรับคนตาบอดและส่งไปยัง สายด่วนข่าวสารความรู้ ที่เบอร์ 1414 ซึ่งเป็นการให้การบริการฟรีเพื่อฟังหนังสือเสียงผ่านทางโทรศัพท์

วิธีการเป็นอาสา : หยิบมือถือของคุณขึ้นมา ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Read for the Blind

สำหรับมือใหม่ ทางห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติมีการอบรมอาสาสมัครในการอ่านหนังสือบันทึกเสียงให้คนตาบอดด้วยโปรแกรม obi บันทึกลงคอมพิวเตอร์ ผ่านทางออนไลน์ (zoom) ทุกเดือน

อาทิ วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00 น. สนใจเข้าร่วมอบรมสามารถลงชื่อได้แล้ววันนี้ผ่านทางกล่องข้อความของ Facebook page daisy thailand project ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ


2. อาสาส่งพลาสติกกลับบ้าน

สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่ทำให้เราต้องกักตัวนั่นส่งให้ปริมาณขยะในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตามรายงานกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมล่าสุด พบว่า 

ขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จาก 5,500 ตันต่อวันเป็น 6,300 ตันต่อวัน จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครยังระบุถึงขยะอาหารและขยะติดเชื้อจากการใช้หน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัม 

เราจึงอยากชวนกัน “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” กับโครงการ อาสาส่งพลาสติกกลับบ้าน ที่จะให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง เพื่อความปลอดภัยของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ ลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ recycle/upcycle ของบริษัทเอกชน รวมทั้งการบันทึกข้อมูลและประเมินผลบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ประชาชนนำมาส่งในช่วงนำร่องนี้จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการจัดการขยะ recycle ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เกิดขึ้นได้จริง

เก็บไว้ที่บ้าน ว่างแล้วค่อยไปหย่อนได้ตามนี้


 3. อาสาปันกันเล่น

“ตู้ปันสุข ปันกันเล่น” โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ศูนย์ดวงแขจะนำของเล่นไปไว้ในตู้ให้เด็กมาหยิบเพื่อนำกลับไปเล่นที่บ้าน แบ่งปันของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยส่งต่อให้เยาวชนได้เล่นและเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ระหว่างรอวันเปิดเทอม ดังนั้นหากใครมีของเล่นสามารถส่งต่อมาได้ที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก 

 Tip : การเลือกของเล่นเพื่อไปบริจาค 

  1. ดูสภาพความเรียบร้อยของของเล่น ไม่ควรแตกหัก หรือใกล้หลุด เพราะจะทำให้เด็กได้รับอันตราย
  2. ทำความสะอาด ด้วยการซักหรือล้าง
  3. แยกของเล่นตามช่วงวัย และเขียนกำกับก่อนส่งบริจาค
  4. ส่งของเล่นสภาพดีได้ที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก 179 หมู่ 6 ซอยแบริ่ง 2 ถนนสุขุมวิท 107 ตำบลเทศบาลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ 10170

4. Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง 

กลับมาเปิดรับจิตอาสาแบบปฏิบัติตามมาตรการการรักษาระยะห่าง Social Distancing   โดยสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการได้ดังนี้

1. ร่วมบริจาคกระดาษ

รับเป็นกระดาษเอสี่ที่ผ่านการใช้งานมาหนึ่งหน้าและยังมีอีกหน้าที่ว่างอยู่ (ได้ทุกแบบ ทุกสี ผ่านการเข้าเล่มเจาะรูแล้วก็ได้เช่นกัน)

++ จัดส่งมาที่ บ้านจิตอาสา (โครงการ Paper Ranger)
2044/21 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. 10310

2. จิตอาสาทำสมุด ทำได้ทุกเพศ ทุกวัย 

ช่วงเว้นระยะห่างจัดการแบบเฉพาะกลุ่มบุคคลที่รวมตัวนัดเข้ามาด้วยกัน (จะเป็นกลุ่มเพื่อนๆที่รู้จักกันเองจากที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน หรือจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เป็นต้น) และติดต่อนัดเข้ามาล่วงหน้าเท่านั้น 

3. ช่วยกัน กดไลค์ กดแชร์

เพื่อส่งต่อเรื่องราวของโครงการของเราไปยังเพื่อนๆของทุกๆคน เพื่อที่ว่าทุกคนจะได้รับรู้และมาช่วยกันคนละไม้คนละมือในรูปแบบที่ทุกคนสามารถช่วยได้

ติดต่อ


5. StartYoung 2020 ชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่รวมทีมทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการปรับตัวในยุคโควิด

โควิดระบาดเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครเคยเจอ ไม่มีใครมีคำตอบ ว่าเราจะผ่านมันไปอย่างไร เป็นสถานการณ์ที่ต้องการวิธีใหม่ๆ มาจัดการทั้งในเรื่องใหญ่และเล็ก ทั้งในระดับโลก ระดับชาติ และในทุกชุมชน 

เราอยากชวนคุณตั้งคำถาม และค่อยๆ คิดหาคำตอบ หรือจะชวนคนรอบข้างมาคิดมาหาคำตอบที่คุณสนใจได้อย่างไร ไม่ว่าคำถามของคุณจะเป็นเรื่องการปรับตัว คุณจะอยู่ จะเรียน จะเล่น จะจีบกันอย่างไรเมื่อเรายังต้องรักษาระยะห่าง และเมื่อเราเห็นพ่อแม่พี่น้อง และคนรอบตัวเราลำบากจากสถานการณ์ เราจะทำอะไรเพื่อทำให้เราผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันได้

>> รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: www.StartYoung.club <<

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดต่อเราได้ที่

“ครูฝ้าย” ส่งต่อความรู้ฟรี ฝ่าวิกฤติโควิด เมื่อรู้สึกว่า “จำเป็นต้องมีประโยชน์”

 “ตอนที่เห็นภาพนั้น ความคิดหนึ่งมันผุดขึ้นมาในหัวว่า ‘จำเป็นไหม ที่เราต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ ต่อคนอื่นบ้าง?’”

“ครูฝ้าย” หรือ “วันวิสาข์ ไชยมาส” นักวาดภาพประกอบ แบรนด์แอมบาสเดอร์สีไม้ในไทย และวิทยากรพิเศษสอนศิลปะทั่วประเทศ เจ้าของเพจ FAI และ Colored pencils with fai อันเป็นเพจที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการวาดภาพด้วยสีไม้บอกความรู้สึกนี้กับเราเมื่อวันหนึ่งในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ได้ไปพบเห็นภาพของผู้คนที่ต่อแถวยาวเพื่อรับกล่องอาหารฟรีขณะที่กำลังนั่งรถกลับบ้าน

วิกฤติโควิดทำให้ชีวิตของใครหลายคนเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบไปในวงกว้างนับตั้งแต่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังมีบางคนที่ถือโอกาสนี้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ชีวิต เช่น การท่องเที่ยวผ่านออนไลน์ การเรียนผ่านคอร์สออนไลน์ต่างๆ ที่มีมากมายนับไม่ถ้วน นอกจากจะเป็นผู้รับแล้ว บางองค์กร บางคนก็เลือกที่จะเป็นผู้ให้ อย่าง สถานที่บางแห่งที่ถูกปิดก็เปิดให้ชมผ่านออนไลน์ได้ หรือคอร์สต่างๆ ที่เคยต้องเจอหน้า ก็กลายเป็นว่านัดกับศิษย์แล้วสอนกันผ่านโซเชียลได้…ครูฝ้ายก็เช่นกัน

เมื่อตัดสินใจได้ว่าความรู้ความสามารถของตัวเองยังมีความจำเป็นต่อโลกในช่วงวิกฤติแบบนี้ เจ้าของเพจสีไม้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้สีไม้แบรนด์ไทยให้กลายเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงและรู้ถึงคุณประโยชน์ของสีไม้ซึ่งมีแฟนเพจรวมกันแล้วกว่า 5 หมื่นคน จึงนัดแนะกับแฟนเพจว่าจะเปิดคลาสสอนสีไม้ เป็นคลาสออนไลน์ และที่สำคัญ ฟรี!

“ตอนที่ล็อกดาวน์ใหม่ๆ เราไม่ได้ทำงานเลย ปกติถ้าไม่ได้ทำงานก็วาดรูปอยู่ดี แต่ว่าตอนนั้นมันว่างงานจนการวาดรูปของเรามันไม่มีเป้าหมาย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร มันก็จะมีอารมณ์เคว้งๆ เหมือนปรับตัวไม่ได้ เย็นวันหนึ่งเราไปหาอะไรกิน ระหว่างทางผ่านราชดำเนิน เห็นคนไร้บ้าน คนที่เขาขาดแคลนกำลังต่อแถวยาวมาก รออาหารกล่อง เราเห็นแล้วปวดหัวใจมาก คือเราคิดว่าเราลำบากแล้ว แต่ว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าเรา แล้วเราก็มาคิดว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เราไม่ได้กำลังที่จะซัปพอร์ตเขาได้มากขนาดนั้น อะไรที่เราจะทำให้คนที่ติดตามเราอยู่คลายเครียดลงได้บ้าง เราอาจจะช่วยให้เขาอิ่มท้องไม่ได้ แต่เราจะช่วยให้เขาอิ่มใจขึ้นมาได้บ้าง”

คำถามประโยคหนึ่งจึงผุดขึ้นมาในหัว

 “เรามีความจำเป็นไหมที่จะต้องทำตัวเองให้เป็นประโยชน์? ฝ้ายถามคำถามนี้กับตัวเอง และในเมื่อมีคนตามเราอยู่บ้าง ก็อยากให้เขาได้มีกิจกรรมทำ มาวาดรูปกับฝ้ายสักวันละหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้เกิดไอเดียไปทำวันอื่นๆ ให้มีคุณค่ามากขึ้น หรือว่าเขาอาจจะคิดว่าทุกวันศุกร์ เวลาทุ่มครึ่งมาเจอกับฝ้าย แล้วจะได้มีอะไรทำ มาวาดรูปด้วยกันอาจจะสนุกร่วมกัน มีความสุขร่วมกัน”

ถ้าความสุข และความสนุกจะดูเป็นเรื่องนามธรรมจนเกินไป ครูฝ้ายบอกว่า เป้าหมายของเธอสำหรับการออกมาเปิดคลาสออนไลน์สอนการใช้สีไม้ทุกวันศุกร์โดยไม่คิดมูลค่านี้ก็มีในแบบรูปธรรมที่จับต้องได้เช่นกัน

“ตอนที่ตัดสินใจไลฟ์แรกนั้น เราแค่หวังว่ามีหนึ่งคนมาดูแล้วรับความปรารถนาดีที่เราส่งไปให้ ให้เขาได้เกิดไอเดียในการใช้ชีวิตของเขา หรืออาจจะเป็นไอเดียให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เราอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์บ้างเท่ากับกำลังที่เราจะมีได้ ในภาวะแบบนี้ แต่พอมาไลฟ์แล้วมีคนดูหลายสิบคนจนถึงร้อยคน ฝ้ายรู้สึกว่านี่คือจำนวนเยอะมาก ถ้าเขาจะไปต่อยอดอะไรได้ แล้วไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ หรือคนอื่นได้ มันจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ” ครูฝ้ายบอกกับเราอย่างมีความสุข

เป้าหมายในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 นี้ แท้จริงแล้วต่อยอดมาจากเป้าประสงค์ดั้งเดิมของเพจ FAI ซึ่งต้องการให้เป็นแกลลอรีงานของตนเอง และเพจ Colored pencils with fai ซึ่งเป็นเพจที่มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของเทคนิคการใช้สีไม้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ครูสอนศิลปะ และบุคคลทั่วไปได้ไปหยิบจับและศึกษาหาความรู้ เพียงแต่โควิดทำให้ทุกอย่างมาบรรจบกันได้แนบสนิทและรวดเร็วมากขึ้น

“เพราะโควิดทำให้แพลนในชีวิตเราก็เปลี่ยนหลายอย่าง จากที่เราทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาก็ได้แต่ลงผลงานเข้าไว้ในเพจ FAI แล้วจากการที่เราไปสอนตามที่ต่างๆ ทั้งองค์กรเอกชนและให้เทคนิคกับครูสอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ ที่บริษัทสีไม้ซึ่งเราเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์จะไปจัดกิจกรรมโดยฝ้ายรับผิดชอบในส่วนของภาคกลาง ก็จะมีการถามถึงเรื่องเทคนิคต่างๆ เยอะมาก เราจึงสร้างเพจ Colored pencils with fai ขึ้นมาอีกเพจเพื่อมอบเทคนิคการใช้สีไม้โดยเฉพาะ แต่ไม่มีเวลาทำคลิปเลย จนกระทั่งเราคิดถึงเรื่องการไลฟ์เมื่อช่วงโควิดนี้เอง

เป้าหมายของเราตอนที่มาจับสีไม้ คืออยากให้คำแนะนำกับคนที่สนใจในศิลปะสีไม้ทุกคนผ่านประสบการณ์ของเราเอง เราไม่ได้มีความรู้มากกว่าคนอื่นแต่เราเทสต์มาเยอะ เราจะได้รู้เองว่ามันดีหรือไม่ดีกว่าอย่างไร เวลาที่เราแนะนำคนอื่น เขาจะได้รู้ว่ามันต้องเลือกอย่างไร ให้ตรงกับงบประมาณ ให้คุ้มค่ามากขึ้น เรามองว่าการแนะนำคุณสมบัติของอุปกรณ์การใช้งานก็มีผลกับการทำงานของเขาด้วย ประกอบกับเมื่อเดินเข้าร้านหนังสือ มันไม่มีหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสีไม้เลย เราจึงอยากจะนำประสบการณ์กว่า 8 ปีของเรามาสร้างเป็นหนังสือสักเล่มซึ่งจะมีประโยชน์ในการพัฒนาศิลปะในรูปแบบของสีไม้

“ไม่ได้คิดจะทำให้ตัวเราเองเป็นต้นแบบ แต่อยากให้ทุกคนเห็นว่าสีไม้มันใช้งานได้ บริษัทสีจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาซึ่งตอนนี้เขาก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แล้วเพราะผู้คนสนใจมากขึ้น จะได้ไม่ต้องมีคนบ่นว่าใช้สีไม้แล้วเมื่อย หัก เปราะ หวังว่าอีก10-30ปีข้างหน้า เด็กจะได้ใช้สีแบรนด์ไทยของเราเองที่มีคุณภาพดีขึ้นเพราะมีความต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะคนไทยมีกำลังซื้อ เราก็จะมีเครื่องมือดีๆ ที่เป็นแบรนด์ไทยใช้ แล้วเงินก็จะหมุนอยู่ตรงนี้ ความรู้ก็จะหมุนเวียนตรงนี้ เด็กกก็จะมีไอเดีย อยากให้เขาได้ใช้ของดีจะได้ตั้งใจสร้างผลงานไปเรื่อยๆ”

คลาสออนไลน์ฟรีของครูฝ้ายจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์เวลา 19.30 น. ที่เพจ โดยยังสามารถลงเรียนคลาสอื่นๆ ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจเช่นกัน ในส่วนของหนังสือสาระความรู้เกี่ยวกับสีไม้ที่ครูฝ้ายจะกลั่นประสบการณ์กว่าแปดปีเพื่อจัดทำมันขึ้นมานั้น ความคืบหน้าคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด แต่คาดว่าจะไม่นานเกินรอ

ท้ายที่สุดนี้ครูฝ้ายยังบอกว่า

“อยากทำประโยชน์อะไรให้กับโลกมนุษย์ หรือประเทศไทยสักนิดหนึ่งก็ยังดี เพื่อที่ว่าหากไม่มีเราแล้วก็จะส่งต่อความรู้ต่อไปได้”

กว่าจะมาเป็น “สาคูต้นกะทิสด”

“สาคู” เป็นขนมที่ใครๆก็รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ตะโก้สาคู, ขนมสาคูไส้หมู , สาคูเปียกน้ำกะทิ ฯลฯ ซึ่งขนมเม็ดสาคูนี้ ผลิตจากแป้งมันสำปะหลังที่วางขายตามตลาดทั่วไป จนทำให้เราคิดว่ามันคือเม็ดสาคูแท้ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วสาคูแท้นั้นไม่ใช่ที่เราทานกันทั่วไป….

สาคูแท้ หรือที่เรียกว่า “แป้งสาคูต้น” ซึ่งหายาก มีเฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น เป็นการสกัดแป้งจากต้นปาล์มสาคู ซึ่งจะเริ่มตัดมาทำแป้งสาคูได้ เมื่อต้นเริ่มออกดอกหรืออยู่ในช่วงติดผลอ่อน ซึ่งจะเริ่มออกดอกที่อายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป และหลังจากออกดอกจนถึงผลแก่เริ่มร่วง จะใช้เวลาประมาณอีก 4 ปี รวมอายุขัยประมาณ 12-15 ปี

ขั้นตอนกว่าจะได้มาถึง “แป้งสาคูต้น”

  1. โค่นต้นสาคูทั้งต้น โดยตัดบริเวณโคนต้น จากนั้นตัดก้านใบ และยอดทิ้ง
  2. ตัดลำต้นออกเป็นท่อนๆ ขนาดพออุ้มหรือยกได้ง่าย
  3. ถากเปลือกลำต้นออกให้หมด ให้เหลือแก่นลำต้นที่มีสีขาว จากนั้นนำแก่นสาคูเข้าเครื่องบดหรือเครื่องสับให้เป็นผง แต่การทำมือสมัยก่อนจะใช้แผ่นไม้ตอกตะปูเป็นแผงถี่ แล้วใช้ขูดแยกแป้งออก
  4. นำผงสาคูขูดมาผสมน้ำ และคั้นน้ำหลายรอบ จนได้น้ำแป้งขาวข้น ปล่อยน้ำแป้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 10-12 ชั่วโมง
  5. แยกก้อนแป้งออกจากน้ำก่อน นำไปตากแห้ง นาน 1-2 วัน หรืออบในตู้อบที่ 60องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง ก่อนบรรจุใส่ถุง และมัดปิดให้สนิท

วิธีทำขนม “สาคูต้นกะทิสด”

วัตถุดิบ

  • เม็ดสาคู 250 กรัม
  • น้ำเปล่า,น้ำมะพร้าวน้ำหอม 1 ลิตร
  • น้ำตาลทรายแดง 200 กรัม
  • กะทิ 150 กรัม
  • เกลือป่น ครึ่งช้อนชา
  • เครื่องเคียงตามชอบ(มะพร้าวอ่อน,ข้าวโพดต้ม)

ขั้นตอนการทำ

  1. ต้มน้ำ+น้ำมะพร้าวน้ำหอมให้เดือดจัด แล้วค่อยๆ โรยสาคูทีละน้อย พร้อมกวนสาคูไปเรื่อยๆ ค่อยๆใส่จนหมด (ต้องกวนสาคูตลอดเวลา เพราะอาจจะติดก้นหม้อได้)
  2. เมื่อเม็ดสาคูเริ่มสุก สังเกตว่าเม็ดใสขึ้นกวนจนได้ที่แล้ว ให้ใส่น้ำตาลทรายแดง เกลือลงไป กวนให้เข้ากันสักพัก แล้วใส่เครื่องเคียงมะพร้าวอ่อน และข้าวโพด
  3. กวนต่อให้เข้ากันดี แล้วพักไว้
  4. นำกะทิตั้งไฟอ่อน ใส่เกลือปลายช้อนชา คนไปเรื่อยๆจนเริ่มเดือดแล้วปิดไฟ
  5. ตักสาคูใส่ถ้วย แล้วราดด้วยน้ำกะทิ พร้อมทานได้เลย

แหวกซอกมุม โควิด19 ที่มีความงดงามซุกซ่อน โอกาสดีที่สุดที่จะสอนให้ลูกหลานรู้จักแบ่งปัน

ท่ามกลางสภาวะโควิด19 ที่แม้จะมีการปลดล็อกกันไปหลายชั้น แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่ามันหมดไปแล้วจริงหรือไม่

หลากหลายเหตุการณ์ หลากหลายความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้น รวมถึงที่กำลังจะตามมาในอนาคต ล้วนสร้างความเครียดและตื่นตระหนกให้กับผู้คนเป็นจำนวนมากไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่มัน…ทั่วโลก หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ไร้อาชีพ และประสบปัญหาชีวิตทันที

แต่ในอีกทางเรากลับเห็นดอกไม้งามที่ชื่อว่าความช่วยเหลือและการแบ่งปัน ผลิดอกของมันอยู่เต็มประเทศ มองในอีกมุมนี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสอนเด็กๆ ของเราให้เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน เราจึงได้เห็นว่าหลายบ้านชวนเด็กๆ ออกมาทำอาหารแล้วนำไปมอบให้กับผู้ที่ต้องการ หรือนำของที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง ของเล่น หนังสือ หรืออุปกรณ์การเรียนไปใส่ไว้ใน ‘ตู้ปันสุข’ รวมไปถึงงานอาสาสมัครอื่นๆ

การสอนให้เด็กๆ มีใจรักการให้นี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้พวกเขาเป็นคนมีน้ำใจ แต่ยังสอนให้พวกเขาเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญ เช่นวิธีชื่นชมสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขามีอยู่ เช่นมีพ่อแม่และครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า มีที่พักอาศัย มีปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ พร้อม ในขณะที่บางคนกลับขาด และยังเป็นการกระตุ้นให้พวกเขามีความเอาใจใส่ต่อผู้อื่นมากขึ้นด้วย ซึ่งทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ที่มาพร้อมกับการแบ่งปันและการเป็นอาสาสมัครนี้ นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนา และความสำเร็จของพวกเขาตลอดชีวิต

ที่น่ายินดีก็คือ เมื่อเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมแห่งความเป็นปกติใหม่ (New Normal) การเป็นจิตอาสาก็ไม่ใช้ข้อยกเว้น เพราะมีกิจกรรมจำนวนมากที่เปิดรับ ‘อาสาสมัครออนไลน์’ ในคอนเซ็ปต์ ‘อยู่บ้านก็ทำงานจิตอาสาได้’ ซึ่งในไทยเองก็มีมากมายหลากหลายโครงการอาทิ

โครงการ “เพ้นท์ถุงยา อาสาอยู่บ้าน” ซึ่งจะเป็นโครงการที่ ‘มนตร์อาสา’ ส่งbox set อาสาไปที่บ้าน โดยในกล่องจะมีอุปกรณ์ในการเพนท์ถุงยาแบบถุงผ้า ได้แก่ ถุงผ้า, สีเพนท์ผ้า, พู่กัน, ถาดสี, แผ่นรอง, คลิปหนีบ, ดินสอ, และ วิธีการทำ ซึ่งถุงยานี้จะนำส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อมอบให้ผู้ป่วยได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ใครอยากร่วมด้วยช่วยกันเพนท์ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก มนตร์อาสา

โครงการ “หมอนอิงตัวอักษรสร้างสื่อชั้นอนุบาล” โครงการที่ ‘กฤษณ์อาสา’ สร้างขึ้นเพื่อชวนน้องๆ มาสร้างสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้สำหรับน้องๆ หนูๆ ชั้นอนุบาล ให้เด็กมีพัฒนาการที่รวดเร็วขึ้น จากการได้สัมผัส ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงเมื่อโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารจะไม่ค่อยมีสื่อการเรียนการสอนแบบนี้ ดังนั้นเมื่อทำเสร็จ ทางกฤษณ์อาสาจะได้นำหมอนอิงนี้ไปมอบให้โรงเรียนบนดอย และโรงเรียนในชนบทต่อไป สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก กฤษณ์อาสา

โครงการ อ่านหนังสือให้คนตาบอด ซึ่งปัจจุบันนี้ทำได้ง่ายขึ้นมาก โดยแอปพลิเคชันสำหรับอ่านหรือพิมพ์หนังสือให้คนตาบอดปัจจุบันก็มีหลายแอป อาทิ Read for the Blind, Be My Eyes – Helping the blind, Uncommon Unique และ Guidelight สามารถดูรายละเอียดได้ตามชื่อแอปพลิเคชันได้เลย ซึ่งจะมีวิธีใช้งานแตกต่างกันไปในแต่ละแอป แต่เชื่อเถอะว่า เมื่อทำเสร็จแล้วความอิ่มอกอิ่มใจจะเกิดขึ้นกับทั้งผู้ให้และผู้รับ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นสำหรับให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองชวนจิตอาสาตัวน้อยมาร่วมกันทำงานอาสาสมัครออนไลน์ได้ง่ายๆ ที่บ้าน และนอกเหนือจากตัวอย่างที่ให้ไว้ ยังสามารถหางานอาสาออนไลน์ได้ที่ เครือข่ายจิตอาสา http://www.volunteerspirit.org/ และธนาคารจิตอาสา หรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่ามัวเพ่งมองไปที่ความเครียด เพราะในความน่าปวดหัวในช่วงที่การล็อกดาวน์ยังคงถูกปลดออกไม่เต็มที่นั้น มีโอกาสที่จะปั้นเด็กๆ ของเราให้มีอนาคตที่ดีและสดใสรออยู่ ซึ่งการทำกิจกรรมอาสาสมัครออนไลน์นั้นก็ยังเป็นกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวร่วมกันทำได้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวนอกเหนือไปจากกิจกรรมแบ่งปันอย่างอื่นที่สามารถทำได้ง่ายๆ จากรอบๆ บ้าน อย่าง ร่วมกันทำอาหารบริจาค, ร่วมทำกล่องของขวัญ ที่ในนั้นบรรจุด้วยของยังชีพต่าง ๆ โดยอาจจะให้เด็กๆ ร่วมออกแบบการ์ดอวยพรให้สำหรับผู้รับด้วย หรือ ช่วยกันทำอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรักษาหรือดูแลคนป่วย เช่นหน้ากากเฟซชิลด์ หรือ ผ้าห่มแล้วส่งต่อให้เด็กๆ ที่ต้องการในโรงพยาบาลก็ได้

คุณจะเลือกจากตัวอย่างที่มีให้ หรือสร้างสรรค์งานอาสาหรือกิจกรรมการแบ่งปันเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครสำหรับครอบครัวของคุณเองขึ้นมาก็ได้ จุดสำคัญอยู่ที่ได้ชวนให้เด็กๆ ได้รู้จักการมีส่วนร่วมในการแบ่งปัน

และรู้ว่าทุกคนมีหน้าที่สร้างและทำนุบำรุงโลกใบนี้ให้งดงามยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า