รอดไม่รอด สำรวจรอบด้าน “เรียน” ยุคโควิด และการต้อนรับพฤติกรรม “ความปกติรูปแบบใหม่” (New Normal) ของเด็กไทย

ท่ามกลางความกังวลรอบด้านกับภาวะที่ส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก ข่าวดีก็คือสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในไทยทำท่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เป็นที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไปในหลากหลายทัศนะว่า แม้จะดีขึ้นแล้ว แต่คนไทยและทุกคนทั่วโลกอาจจะต้องเผชิญกับสถานะ “ความปกติรูปแบบใหม่” หรือ New Normal อันหมายถึง พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจะเปลี่ยนไปหลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไป ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า คำว่า ‘ผ่านพ้น’ จะมาถึงเมื่อไร และแม้จะมีหลายพฤติกรรมที่เราได้ปรับเปลี่ยนกันมาสักระยะแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากที่สุดน่าจะเป็นการ ‘ทดลองการเรียนออนไลน์’ ของเด็กๆ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก่อนจะมีการเปิดเทอมจริงในอีกเดือนกว่าๆ ข้างหน้า รวมไปถึงอีกหลายมุมที่ส่งผลต่อทุกๆ คนในครอบครัว

คุณครูโนร์มาเดียร์ ยูโซ๊ะ ครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลดวงตะวัน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ทางโรงเรียนเตรียมความพร้อมหลายด้าน เริ่มจากคุณครูมีการทำคลิปแนะนำตัวเอง ส่งผ่านทางสื่อโซเชียลของโรงเรียน ให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ที่เลื่อนระดับชั้นได้รู้จักเบื้องต้น นอกจากนี้ยังเตรียมคลิปกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แม้จะเป็นการเผยแพร่รูปแบบออนไลน์ ก็ต้องพยายามให้เด็กมีส่วนร่วม  เข้าถึง และสนุกมากที่สุด แน่นอนอาจจะมีอุปสรรคของการเรียนออนไลน์คือ ความไม่พร้อมทั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับ และที่สำคัญ “เวลาจากผู้ปกครอง” แต่เราก็ปรับเพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้

ในส่วนของโรงเรียน โดยเฉพาะสถานที่ ห้องเรียน บุคลากร ต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมดเช่นกัน ห้องเรียนมีการปรับการนั่งเรียน เสริมอุปกรณ์ จัดพื้นที่ระหว่างเด็กๆ ในห้องด้วยกัน เมื่อเด็กๆ มาโรงเรียนและต้องอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง คุณครูก็ต้องคิดอีกว่าเราจะจัดกิจกรรมอย่างไร  เด็กเล่นคนเดียวอย่างไรให้สนุกและปลอดภัยด้วย ทั้งยังเข้มงวด จัดระเบียบรถโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ในการรับส่งเด็กนักเรียนใหม่ทั้งหมดก่อนจะมีการเปิดเทอมจริงในเดือนกรกฎาคม  

“ความปลอดภัยจึงถูกวางไว้เป็นจุดสูงสุดของโรงเรียน”

ครูโนร์มาเดียร์ยังเล่าต่อไปว่า ตอนนี้ทางโรงเรียนให้ครูคิดกันไว้เลยว่า นี่คือความปกติรูปแบบใหม่ และจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกแล้วสิ่งที่จะทำได้คือ คิดหาวิธีการรองรับความใหม่นี้อย่างเป็นระบบและปลอดภัยให้ได้มากที่สุด

“เราคิดลบไว้ก่อนเลยว่ามันจะไม่กลับมาเหมือนเดิม ต้องยอมรับ พร้อมเปิดใจและเตรียมรับมือ หากโรงเรียนเปิดเทอมและโรคกลับมาระบาด อาจจะมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียนอีกครั้ง และเมื่อไม่เหมือนเดิมเราจะทำอย่างไรให้สอนเด็กได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ  ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นการสอนทางเดียวอาจจะสอนผ่านคลิปวีดีโอเป็นกิจกรรมแต่ละกิจกรรม  แต่ถ้าเป็นชิ้นงานหรือเอกสารคุณครูก็อาจจะต้องรับส่งที่บ้าน แล้วแต่ความเหมาะสม ”

ด้าน นางสิริพันธ์  ภาษีธรรม ครู คศ.2 วิทยฐานะครูชำนาญการ  โรงเรียนบ้านหนองบอน (นัยนานนท์อนุสรณ์) กรุงเทพฯ ผู้รับหน้าที่เป็นคุณแม่ของลูก 2 คนกล่าวว่า นอกจากเรื่องการจัดโรงเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับความปลอดภัยในช่วงโควิด คือให้มีการเว้นระยะห่างในทุกๆ กิจกรรมที่เด็กๆ ทำ พร้อมทั้งจัดสรรจำนวนครูให้เหมาะสมกับจำนวนห้องเรียนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การใช้ชีวิตของเด็กก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

“เรามีการรณรงค์ให้ใส่หน้ากากมาตั้งแต่เทอมก่อน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 และในช่วงปิดเทอมนี้เมื่อต้องออกนอกบ้าน เด็กก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะตอนนี้หากใครออกจากบ้านแล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็เหมือนเป็นคนแปลกแยกอยู่แล้ว เพียงแต่พอเปิดเทอมจะเหมือนกับว่าเด็กได้มาใช้ชีวิตจริงๆ สิ่งที่ครูเป็นกังวลและต้องดูแลก็คือ กังวลว่าเด็กจะเครียด เพราะเด็กอยู่ในวัยที่ต้องเล่น ต้องคุยกัน มีซุกซนบ้าง เราก็ต้องดูแลรักษาความสะอาด คอยเตือนให้ล้างมือบ่อยหน่อย หรือให้แยกออกจากกันบ้าง ครูต้องดูแลให้ดีเหมือนแม่ดูแลลูกเลย ส่วนเรื่องวิชาการนั้นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก เพราะถึงแม้ว่าจะมีการขยับการปิดเทอม แต่เวลาในการสอนยังเท่าเดิม และยังมีข้อสอบแกนกลางมาตรฐานมาวัดระดับเด็กๆ เหมือนเดิม”

สำหรับฐานะคุณแม่ของลูกวัย 14 และ 12 ปี ครูสิริพันธ์กล่าวว่า ความใกล้ชิดคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรให้กับลูกมากในช่วงนี้ และว่าเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเทอร์เน็ต เล่นมากไปอาจจะไม่ดี แต่ถ้าเล่นให้พอดีหรือให้ถูกทางก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กๆ คลายเครียดได้เช่นกัน

“มันเหมือนเหรียญสองด้าน” ครูสิริพันธ์บอก “อย่างการเรียนออนไลน์ ก็ต้องอาศัยวินัยมากๆ ในการเรียน ต้องมีผู้ปกครองคอยเฝ้า คอยให้คำปรึกษา ถ้าเป็นเด็กเล็ก เพราะปกติอยู่ในห้องยังต้องพูดคุยกัน แต่นี่เป็นการสื่อสารทางเดียว ถ้าผู้ปกครองอยู่ช่วยเด็กได้ก็ดี แต่ส่วนใหญ่อยู่ด้วยไม่ได้ เพราะต้องไปทำงาน จริงๆ ก็ไม่ได้หวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์นะ ว่าเด็กจะต้องได้จากการเรียนออนไลน์นี้ แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าเด็กเอาเวลาไปเล่นเกมส์ ไม่ได้เครียดกับผลการเรียน เพราะเปิดเทอมมาก็เรียนตามระบบเหมือนเดิม ก็คือเรียนซ้ำในออนไลน์นั่นแหละ บ้านไหนไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร แต่เราก็มีใบงานไปให้แล้วให้นักเรียนทำกลับมาให้ครูตรวจให้ แล้วก็คุยกันทางไลน์หรือไปเยี่ยมบ้านซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้วก่อนจะเกิดเหตุการโควิดนี้เสียอีก ส่วนอีกด้านการมีอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียก็ทำให้ลูกๆ รู้เท่าทันโควิดพอสมควร รู้ว่าเมื่อไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อกลับมาต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอร์ หรือเมื่อแม่กลับมาจากไปทำงานก็รีบบอกให้แม่ไปอาบน้ำ เหล่านี้เขาก็รู้จากข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่เราไม่ได้ปิดกั้นหากว่าเขาจะเรียนรู้ และยังทำให้เขาไม่เครียดด้วย มันก็มีหลายแอปที่ช่วยให้ผ่อนคลายได้อย่างเช่น tiktok หรือ youtube หรือได้คุยกับเพื่อนๆ ผ่านโซเชียลแพล็ตฟอร์มต่างๆ ทำให้เขาคลายคิดถึง แต่ทั้งนี้แม่ก็ไม่ได้ปล่อยให้เขาอยู่กับอุปกรณ์เมือถืออย่างตามใจ เพราะมีการกำหนดเวลาและแบ่งเวลามาพูดคุยกับลูกๆ ด้วย”

พ.ท.หญิง สุอารี ล้ำตระกูล อาจารย์ภาควิชาพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่องพัฒนาการเด็กและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยให้กับโรงเรียนและบริษัทเอกชน กล่าวว่า ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal นั้น เกิดขึ้นกับทุกส่วนในสังคม และทุกคนบนโลกใบนี้ต่างก็เชื่อมโยงกันหมด จะสังเกตได้ว่า ตอนนี้ระบบการรักษาของโรงพยาบาลต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เช่นอาจมีการพิจารณาการนัดคนไข้มาโรงพยาบาลน้อยลง มีการรักษาแบบคอนเฟอเรนซ์มากขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้กลัวว่ามาโรงพยาบาลแล้วติดเชื้อ แต่กลัวช่วงการเดินทางมากกว่า เพราะบางคนอยู่ต่างจังหวัดไกลมากแต่ต้องมารักษาที่ในกรุงเทพฯ ตรงนั้นก็จะมีความเสี่ยง แต่ในที่สุดแล้วเชื่อว่าคนไทยจะปรับตัวได้

“การดูแลสุขภาพเด็กเล็กในช่วงนิวนอร์มอล มี 2 ส่วนคือ การดูแลเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่นฉีดวัคซีน กินอาหารให้เหมาะกับอายุ ต่อไปอาจจะมีวัคซีนตัวใหม่เพิ่มหากมีความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนา2019 และต้องสอนลูกว่าทำอย่างไรไม่ให้เอาตัวไปเสี่ยง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเด็กต้องอาศัยพ่อแม่ ตอนนี้ถ้าไม่ใช่โรคฉุกเฉินทั้งคุณหมอและผู้ปกครองก็ไม่อยากให้เด็กไปโรงพยาบาล ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความรู้ผู้ปกครองต่อไปก็คือ ต้องรู้จักวิธีการประเมินสุขภาพเบื้องต้น เช่น ถ้าตรวจพบว่าลูกมีไข้ ผู้ปกครองอาจจะต้องมีความรู้ต่อว่า มีไข้แล้วต้องประเมินอะไรต่อ เช่นเด็กมีอาการอื่นร่วมมั้ย ถ้ามีเราจะให้การดูแลเบื้องต้นอย่างไรบ้าง หรือดูแลอะไรเพิ่มเติมบ้าง ก็จะเป็นข้อมูลมาบอกคุณหมอเมื่อเด็กมาโรงพยาบาลไม่ได้

การดูแลสุขภาพกับเด็กที่เจ็บป่วยอยู่แล้ว เช่นเด็กที่ป่วยเป็นโรคอยู่ อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคหัวใจ มีผ่าตัด ก็ยังต้องมาโรงพยาบาล แต่มีการปรับรูปแบบการรักษา วงการแพทย์ตื่นตัวเยอะมาก ในการรักษาแต่ละโรคมีไกด์ไลน์ของเขา ตอนนี้ก็จะมีการนำไกด์ไลน์นั้นมารีวิวใหม่ มาดูซิว่าอันไหนที่สามารถลดขั้นตอนการมาโรงพยาบาลได้ อันไหนใช้คอนเฟอเรนซ์ หรือส่งต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ หลังการระบาดของโควิดน่าจะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลง เช่นนัดคนไข้มาน้อยลง มีการส่งยาไปที่บ้าน หรือถ้าต้องเจาะเลือดก็เจาะที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านแล้วส่งผลมาให้ที่โรงพยาบาลที่ทำการรักษา

พ.ท.หญิง สุอารี ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้มีความพยายามจะเปลี่ยน New Normal ให้กลายเป็น New Norm หรือ ให้เป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับทั่วโลก เพราะผลกระทบที่เกิดจากโคโรนาไวรัส2019 ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยประเทศเดียวเท่านั้น และเชื่อว่าผลกระทบของมันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนไม่มากก็น้อย ซึ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าเด็กที่โดยธรรมชาติแล้วจะมีการปรับตัวง่ายกว่าก็คือ ผู้ปกครองนั่นเอง

“ภาวะตอนนี้คนที่น่าห่วงที่สุดคือผู้ปกครองเพราะเขาต้องเป็นทุกอย่างให้ลูก ต้องเป็นพ่อแม่ เป็นหมอ เป็นครู แล้วยังต้องทำงานอีก ซึ่งบางคนก็ยัง work from home อยู่ แต่บางคนไม่มีอาชีพแล้ว

สำหรับในเด็กอยู่ในภาวะพึ่งพิงสูง คืออายุตั้งแต่แรกเกิดถึง ประมาณ 3 ขวบ นิวนอร์มอลคือวิถีปกติของเขา พ่อแม่ยังต้องทำอะไรให้เขาทุกอย่าง จะมีผลกระทบค่อนข้างน้อย แต่เด็กพวกนี้ต้องมีการพัฒนาเรื่องปฏิสัมพันธ์การเข้าสังคม แต่จะกลายเป็นว่าเด็กเล็กๆ กลุ่มนี้  โตมาภายใต้การปฏิสัมพันธ์ผ่านจอ หรือแบบห่างๆ พวกเขาจะถูกหล่อหลอมมาอีกแบบ แต่เด็กที่มีปัญหาจริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นเด็กกลุ่มวัยเรียน อันนี้ได้รับผลกระทบเพราะเขาเรียนรู้แล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เด็กกลุ่มนี้จะอยากให้โรงเรียนเปิดเพราะเขาเครียด มั่นใจว่าต่อไปนี้จิตแพทย์เด็กน่าจะทำงานหนักขึ้น ตอนนี้ถ้าโรงเรียนเปิดก็ต้องส่งภาระไปที่คุณครู พ่อแม่ ที่จะต้องคอยซัปพอร์ตเด็ก

เด็กโตขึ้นมาหน่อย วัยประถม กลุ่มนี้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ ต้องเข้าใจว่าการเรียนบางอย่างมันออนไลน์ไม่ได้จริงๆ เช่นกิจกรรมดนตรี หรือการออกค่าย สิ่งเหล่านี้เป็นสุนทรียศาสตร์มันหายไปไม่ได้บางวิชาหรือบางบทเรียนเรียนออนไลน์ได้ แต่ก็ต้องมอนิเตอร์ใกล้ชิด หรือหากในช่วงที่มีมาตรการผ่อนปรนแล้วดังนั้นถ้าจะเรียนแบบไปรเวทก็เรียนได้ พอเปิดเทอมเต็มรูปแบบอาจต้องเน้นย้ำเรื่องการมีระยะห่าง ถ้าเราคุมโรคได้ดีมากแล้ว อาจจะใช้ชีวิตแบบเดิมได้บางอย่าง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์”

พ.ท.หญิง สุอารี เสริมว่า

ตอนนี้ต้องดูแลเด็กทุกคนให้เสมือนว่าทุกคนคือผู้ที่ต้องการการดูแลทางจิตใจ

“ตอนนี้เรามองว่าเด็กที่ต้องอยู่ที่บ้านคือผู้ที่ต้องการการดูแลสุขภาพจิต คือเราอาจต้องมีกิจกรรมบำบัด หากิจกรรมให้ทำ เป็นของดีไอวาย หรือทำนู่นทำนี่ พ่อแม่เหนื่อย เพราะยังไปโรงเรียนไม่ได้ ถ้ามีทางออกเป็นการดูยูทูปหรือคอร์สออนไลน์ที่ไม่ใช่เรื่องเครียด ก็น่าจะทำให้เด็กมีตารางชีวิตประจำวันของตัวเอง แบ่งเบาความเครียดของตัวเด็กและพ่อแม่ได้ อาจจะไปเครียดเรื่องอื่นแทน เช่น การเตรียมตัวสำหรับการใช้ชีวิตต่อไป หรือต้องใส่ใจภาวะสุขภาพจิตเด็ก ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเดี๋ยวมันจะดีขึ้น เดี๋ยวจะกลับมาใกล้เคียงวิถีชีวิตเดิม

แต่จริงๆ แล้วผู้ใหญ่โดนเอฟเฟกต์เยอะกว่า เพราะต้องดูแลลูกและดูแลตัวเอง บางบ้านอาชีพก็ไม่มีแล้ว ประสบปัญหารอบด้านหนักมาก ถ้ามาหาเรา เราก็จะพยายามส่งต่อจิตแพทย์ ให้เขาข้ามปัญหาตรงนี้ไปให้ได้ พวกฮอตไลน์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 อาจจะต้องใช้งานกันมากขึ้น อาจจะมีการดูแลเร่งผลิตจิตแพทย์ เพื่อตอบโจทย์คนที่มีมากขึ้น ตอนนี้มีสายด่วนของเอกชนก็ช่วยแบ่งเบาไปได้เยอะ”

โลกมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว และนี่จะเป็นเพียงอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น และแม้จะมีบางคนที่ต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากกว่าคนอื่นๆ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตต่อไปให้ได้ ก็ได้แต่หวังว่า เราทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะช่วยจับมือกันและก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้

DIY เขาวงกต จากกล่องพัสดุ

ไม่ว่าบ้านไหน ก็ต้องเป็นสาย Shopping Online กันใช่มั้ยคะ ไม่ว่าจะเป็นกล่องพัสดุเล็ก กล่องพัสดุใหญ่มากมายหลายขนาด บ้างก็เอากล่องพัสดุไปใส่ของ เก็บของใช้เล็กๆน้อยๆ แต่กล่องมันมากมายจริงๆ ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน หรือทำอะไรดี

วันนี้เรามาประดิษฐ์กันง่ายๆ จากกล่องพัสดุเหลือใช้กันนะคะ ทั้งสนุก เล่นกันได้ทั้งบ้าน ฝึกสมาธิ และความพยายามกันด้วยค่ะ นั้นก็คือ “เขาวงกต” ใช้เพียงกล่องพัสดุ ก็สามารถทำได้แล้วค่ะ มาดูวิธีทำกันเลย

อุปกรณ์

  1. กล่องพัสดุขนาดใหญ่ / หรือขนาดตามต้องการ
  2. กาวปืน
  3. กรรไกร / คัตเตอร์
  4. ดินสอ / ไม้บรรทัด
  5. ลูกแก้ว สำหรับใช้กลิ้งในเขาวงกต

วิธีทำ

  1. ตัดกล่องพัสดุขนาดสี่เหลี่ยม 2 แผ่น (ประมาณ 22×19 ซม. หรือขนาดตามต้องการ) และตัดสำหรับทำขอบเป็นกล่องทั้ง 4 ด้าน (สูง 3 ซม.)
  2. นำแผ่นที่ 1 มาประกอบเป็นกล่อง (สำหรับทำฐาน) ทากาวทั้ง 4 ด้าน จะได้ กล่องใบที่ 1
  3. นำแผ่นที่ 2 มาตัดให้เล็กลงด้านละ 0.5 ซม. (เพื่อจะวางซ้อนในกล่องใบที่ 1 ได้) และทำการวาดเส้นเขาวงกต และหลุมวงกลม (ขนาดใหญ่กว่าลูกแก้วเล็กน้อย) แล้วเจาะรูวงกลมด้วยคัตเตอร์
  4. ตัดกล่องพัสดุเป็นเส้น ๆ ให้สูงประมาณ 2 ซม. แล้วค่อยมาตัดเป็นเส้นเล็ก ๆ เพื่อมาแปะบนแผ่นที่ 2 ตามรอยที่วาดไว้ แล้วทากาวติดตามรอย (เขียนหรือทำสัญลักษณ์จุดเริ่มต้น และ จุดสิ้นสุดบนแผ่นที่ 2)
  5. ติดขอบทั้ง 4 ด้านของกล่องที่ 2 ทำเหมือนกล่องที่ 1 (ในส่วนกล่องที่ 1 เอาเศษชิ้นเล็กๆ มาแปะไว้ทั้ง 4 มุม เพิ่มระยะห่างของ 2 กล่องไม่ให้ชนกัน ทำให้เวลาเล่นลูกแก้วจะตกในหลุมนั้นพอดี)
  6. นำกล่องใบที่ 2 มาซ้อนบนกล่องใบที่ 1 แล้วก็เล่นให้สนุกกันได้เลย

INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุนแห่งแรกของประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (Investment Discovery Museum) จัดสร้างขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน สำหรับเยาวชนไทย และประชาชนที่สนใจเริ่มต้นวางแผนการเงินและการลงทุน ประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ในรูปแบบ Interactive Self-Discovery โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ทดลองปฏิบัติจริง ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย 

INVESTORY นำเสนอความรู้ทางการเงินที่ใกล้ตัวโดยใช้การเล่าเรื่อง (Storyline) ผ่านตัวละคร Money Monsters ศัตรูร้ายทางการเงิน และ SET Heroes ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะใช้ลงทุนเพื่อต่อยอดการออมเงิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าชมเข้าใจง่าย โดยได้เรียนรู้การเงินแบบเฉพาะตัวอย่างเป็นขั้นตอน และได้ทดลองลงทุนซื้อขายหุ้นเสมือนจริง เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจสู่การวางแผนการเงิน การออม และการลงทุน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้

สำหรับท่านที่สนใจเยี่ยมชมติดต่อได้ตามรายละเอียดด้านล่าง หรือเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงที่ http://investory.set.or.th/exhibition

การเดินทาง

  • รถไฟฟ้าใต้ดิน : สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทางออก 3
  • รถโดยสารประจำทาง : สาย 73, 73ก, 98, 136, 137, 157, 163, 172, 179, 185, 206, 514, 517, 528, 529
  • รถยนต์ส่วนตัว
    • 1.3 กม. จากทางขึ้น – ลงทางด่วนรัชดาภิเษก
    • 2.0 กม. จากทางขึ้น – ลงทางด่วนพระราม 9

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลขที่ 93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-009 9999
โทรสาร : 02-009 9991
เว็บไซต์ : http://www.set.or.th/INVESTORY
อีเมล : INVESTORY@set.or.th

ปิดเทอมช่วงโควิด ความยาวนานที่พ่อ-แม่-ลูก ต้องผ่านไปให้ได้

โคโรนาไวรัส (COVID-19) การแพร่ระบาดทำให้มนุษย์ทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะต้องปรับตัวกันแบบพลิกฝ่ามือ บางคนไม่พร้อมในการตั้งรับอาจจะถึงกับล้มคว่ำคะมำหงาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตครอบครัว ที่หลายครอบครัวต้องหยุดนิ่งมองหน้ากันไปมานานนับเดือนแล้ว วันนี้เรามีวิธีการง่ายๆ ที่จะให้ผู้ปกครองใช้ชีวิตอันยาวนานกับลูกๆ อย่างเป็นปกติในช่วงชีวิตที่ยังไม่เป็นปกติสักที (เว้นแต่ว่า ในอีกไม่ช้ามันจะเป็น ‘ปกติใหม่’) ดังนี้

1. จัดเวลาให้ได้อยู่ตามลำพังกับเด็กแต่ละคน

ข้อดีอย่างหนึ่งของการกักตัวอยู่ในในบ้านก็คือ ได้อยู่กับลูกอย่างใกล้ชิด และได้สื่อสาร ส่งความรัก ความห่วงใยได้มากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกถึงความรัก ความมั่นใจ และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขามีความสำคัญ โดยในเด็กแต่ละคนอาจจะใช้เวลาเพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น โดยจัดให้อยู่ในเวลาเดียวกันทุกวันก็ได้ สาระสำคัญของกิจกรรมนี้คือ ได้ให้ความสนใจกับตัวเขาโดยตรงเพื่อที่จะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร โดยมีกิจกรรมสำหรับเด็กวัยต่างๆ ดังนี้

  • เด็กทารกหรือวัยหัดเดิน ทำสีหน้าและน้ำเสียงเลียนแบบลูก ร้องเพลง เล่านิทานหรือดูรูปด้วยกัน
  • เด็กเล็ก อ่านหนังสือ ดูรูป เต้นรำ ร้องเพลง เล่นเกมทำความสะอาดบ้าน หรือเกมทำครัว ช่วยกันทำการบ้าน
  • เด็กวัยรุ่น พูดคุยเรื่องที่ลูกชอบ เช่น กีฬา ดนตรี รายการทีวี ดารา หรือว่า เพื่อน หรือออกกำลังกายด้วยกัน ลองพูดคุยกันว่าลูกอยากทำอะไร เพราะการที่ลูกได้เลือกทำกิจกรรมด้วยตนเองจะทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น

2. คิดบวกในทุกสถานการณ์

ทำให้คำว่า “หยุดนะ!” กลายเป็นคำต้องห้าม ถึงแม้ว่าการอยู่ด้วยการวันละหลายชั่วโมงทุกวันจะเป็นเรื่องที่ทำให้เครียดจนอยากกรีดร้อง แต่สิ่งที่คุณต้องทำคือกลืนเสียงกรีดร้องลงไป ดึงรอยยิ้มขึ้นมา แล้วบอกสิ่งที่คุณอยากให้เขาทำแทนการห้าม การตะโกนใส่กันมีแต่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ในขณะที่การชมเด็กๆ เมื่อเขาทำดี แม้ว่าเขาจะทำเหมือนไม่สนใจคำชมนั้น แต่ว่าเขาจะทำสิ่งนั้นบ่อยขึ้น และเขาจะได้รับรู้ว่าคุณมองและใส่ใจเขาตลอด ทั้งนี้คุณยังต้องนึกถึงความเป็นจริงด้วยว่า มันเป็นเรื่องยากมากที่จะให้เด็กคนหนึ่งเงียบตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และทางที่ดีหากลูกของคุณอยู่ในช่วงวัยรุ่น จงอย่าปิดกั้นเขาจากการพบปะกับเพื่อน แม้จะเป็นในรูปแบบโซเชียลมีเดียก็ตาม

3. ได้เวลากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะต้องพาครอบครัวทุกคนผ่านระยะเวลานี้ไปให้ได้ แต่รู้หรือไม่ว่าบางครั้งการจัดการกับความเครียดที่มีประสิทธิภาพนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย หากคุณกำลังเครียดกับการชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อแม่ เป็นพนักงานที่ตอนนี้ต้องทำงานอยู่บ้าน ลองนั่งขัดสมาธิกับพื้น ทำเสียงสองเสียงสาม หรือเสียงสัตว์ประหลาดๆ กระโดดโล่นเต้นกับเด็กเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขา การได้เล่นหรือทำกิจกรรมดีๆ ทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อแม่หรือคนที่เขารัก จะช่วยให้เด็ก ๆ จัดการอารมณ์และพฤติกรรมของพวกเขา รวมถึงสร้างทักษะการเรียนรู้และสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีของครอบครัวด้วย

อย่าลืมดูแลสภาพจิตใจและร่างกายของคุณ หลบหลีกจากสถานการณ์ที่จะทำให้เรื่องวุ่น พักเบรกจากความขุ่นมัวที่กำลังก่อตัวขึ้น หายใจลึกๆ วักน้ำลูบหน้า แล้วบอกตัวเองว่าคุณรักเด็กตรงหน้าคุณมากแค่ไหน ก็จะสามารถทำให้คุณจัดการกับทุกปัญหาได้

4. พูดคุยกับเด็กๆ เรื่อง โควิด-19

แท้จริงแล้วโควิดอาจจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่จะน่ากลัวน้อยกว่าความเครียดและการมีความรู้ไม่เพียงพอต่อไวรัสตัวนี้ ลองศึกษาหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ด้วยตัวเองก่อน จากนั้นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก เปิดใจพูดคุยกันด้วยความเป็นจริง แก้ไขหากเกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งถือโอกาสสอนให้มีเมตตาต่อทุกคนในสังคมด้วย

จนถึงบรรทัดนี้ คำแนะนำที่ดีที่สุดจากเราก็คือ จงมีความสุขไปกับมัน แม้มันจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่น่าเบื่อและแทบจะทำให้ความอดทนของเราหมดลง แต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป จัดเวลาทำงานที่บ้าน (Work from Home) ให้ลงตัวกับ การเลี้ยงลูกที่บ้านให้ได้ แล้วปิดเทอมยาวๆ อย่างนี้ จะเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นโอกาสให้คุณกับลูกได้ใกล้ชิดและรู้จักกันมากขึ้น


ข้อมูลจาก
https://www.unicef.org/coronavirus/covid-19-parenting-tips

https://theconversation.com/try-these-8-tips-to-reduce-parenting-stress-during-the-coronavirus-pandemic-136381

ติดโควิด ไม่ปิดการเรียนรู้ ‘เข้าค่ายที่บ้าน’ สร้างสรรค์กิจกรรมสนุกในวันปิดเทอมที่ต้องอยู่ติดบ้าน

สืบเนื่องมากจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ปีนี้ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ออกจะเป็นการปิดเทอมที่ยาวไกลอยู่สักหน่อยสำหรับปีนี้ ซึ่งหากมองให้หลากแง่หลายมุมแล้ว เราไม่อาจจะตัดสินแทนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหรือแม้แต่ตัวเด็กๆ เองได้เลยว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ แต่เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป ก็ป่วยการที่จะมาตั้งคำถาม สู้ทำให้ชีวิตช่วงนี้มันสว่างไสวให้ขัดใจโควิดไปเลยจะดีกว่า ดังนั้นเราจึงนำวิธี ‘อยู่บ้านอย่างไรให้สนุก’ มาฝากกัน

เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนที่ต้องแหง่วอยู่ที่บ้านกับลูกๆ พิเศษสุดสำหรับปิดเทอมนี้ต้องอยู่กับแบบ 24/7 หรือเต็มที่ 7วัน วันละ 24 ชั่วโมงน่าจะสรรหากิจกรรมมาทำกับลูกจนหลายบ้านแทบจะหมดมุกแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าหากว่าเราทำกิจกรรมเหล่านั้นให้แอดวานซ์มากขึ้น พัฒนาสมองมากขึ้น พัฒนาร่างกายมากขึ้น สนุกสนานมากขึ้น ที่สำคัญสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่และลูกเพิ่มมากขึ้นด้วย…เรามา ‘เข้าค่ายที่บ้าน’ กันเถอะ  

การเข้าค่ายที่บ้านไม่ใช่เพียงแค่เผาเวลาปิดเทอมให้ ‘หมดๆ ไป’ เท่านั้น แต่มันมีวิธีการที่จะสามารถสร้างประโยชน์ เป็นความทรงจำที่ดีอันยาวนานของเด็กๆ ที่มีต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง แบบง่ายๆ และไม่ได้ใช้งบประมาณมากด้วย

เริ่มจากการเตรียมสถานที่ หากคุณมีสวนหลังบ้าน บางทีคุณอาจจะต้องการเตนท์น่ารักๆ สักหลัง แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะคุณสามารถใช้ทุกส่วนของบ้านเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของลูกได้ ไม่ว่าจะเป็น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน หรือแม้แต่ระเบียงบ้าน โดยเริ่มเป็นสเต็ปง่ายๆ นั่นก็คือ วางแผน ดูกันว่าปิดเทอมนี้คุณอยากให้ค่ายของคุณเป็นค่ายเพื่ออะไร อาจจะเป็น ค่ายสำรวจธรรมชาติ ค่ายคณิตศาสตร์ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายศิลปะเจ้าตัวน้อย ฯลฯ แล้วลงรายละเอียดในแต่ละค่ายลงไป

ค่ายวิทยาศาสตร์

เพื่อให้เด็ก ๆ ที่รักวิทยาศาสตร์ได้เพลิดเพลินไปกับโอกาสที่จะทำการทดลองและเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของโลก เราสามารถสร้างกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ได้ เช่น คุณสามารถสอนลูกเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากการทำน้ำมะนาวระหว่างที่ให้เด็กๆ ได้ลองปรุงน้ำมะนาวเองด้วย หรือ สร้างสวนวิทยาศาสตร์ โดยให้เด็กเพาะเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตง่าย เช่น ถั่วงอก ดอกทานตะวัน บล็อกโคลี่ โดยปลูกไว้ในจาน หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่มีอยู่ในบ้านแล้วใช้ผ้าเปียกปิดไว้ ระหว่างนี้ให้เด็กๆ จดรายละเอียด และตั้งข้อสมมติฐานว่าคิดว่าจะใช้เวลานานเท่าไร แล้วให้ติดตามผลทุกวัน ดูแลผ้าเปียกไม่ให้แห้ง แล้วให้พวกเขาแต่งรอบบริเวณจานนี้ให้เป็นป่าตามจินตนาการ เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่วัน พันธุ์พืชเหล่านี้ก็จะผลิดอก ก็ให้เด็กๆ จดบันทึกอีกครั้ง นี่เป็นการทดลองที่ให้เด็กๆ ได้ฝึกการสังเกต จดรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมล็ดพันธุ์เล็กๆ และเมื่อเรานำสิ่งที่ได้จากเพาะนั้นมาทำประโยชน์เช่น ทำอาหาร เด็กๆ ก็จะเกิดความภาคภูมิใจอีกด้วย

ค่ายคณิตศาสตร์

ไม่ว่าลูกๆ ของคุณจะอายุเท่าไร เป้าหมายในการสร้างค่ายคณิตศาสตร์ก็คือ สนุก และทำให้คณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับเด็กบางคนอีกต่อไป ดังนั้นนอกจากจะคิดเรื่องเสริมทักษะแล้วคุณยังต้องมองหาความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้เด็กๆ ของคุณสนุกขึ้นด้วย  อาทิเช่น ทอยลูกเต๋า เกมที่แสนง่ายแต่จะสนุกขึ้นได้ด้วยการสร้างกฎที่สร้างสรรค์ เตรียมลูกเต๋า 2 ลูก กระดาษ ปากกา จากนั้นเรียกเด็กๆ มานั่งล้อมวง โดยให้ผู้เล่นทอยลูกเต๋า เมื่อเลขออกมา 2 เลข จับมันคูณกัน (หรือจะทำอะไรมากกว่านี้ก็ได้) ถ้าตอบถูก ได้คะแนน ให้จดคะแนนไว้ในกระดาษที่เตรียมไว้ แล้วผู้เล่นคนอื่นก็เล่นต่อไปเรื่อยๆ ใครตอบถูกได้จำนวนข้อตามที่กำหนดไว้เป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ระหว่างการเล่น อาจจะมีการหักคะแนนผู้ที่ตอบผิด หรือผู้ที่จับได้ว่าคำตอบที่ผู้เล่นอื่นตอบนั้นผิดก็ได้คะแนนพิเศษไป ซึ่งจะยิ่งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้เด็กๆ มากยิ่งขึ้น

ค่ายศิลปะ

กิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะมีเยอะมาก คาดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคงจะได้ยินเกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านศิลปะมากมาย แค่ไม่กลัวที่เด็กๆ จะต้องมือเลอะ แล้วเลือกสักกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น ‘ปั้นแป้งโดว์’ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก และเรียนรู้เรื่องสีและการประสมสี หรือจะเป็นกิจกรรม ‘วาดอะไรก็ได้ใน 1 นาที’ ซึ่งจะฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การจัดการเวลา และเมื่อนาทีแรกจบ ลองเริ่มนาทีที่ 2 และต่อๆ ไป จะทำให้เด็กๆ ได้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ หรือจะเป็นเรื่องง่ายๆ แค่ปล่อยเด็กๆ ไว้กับสีน้ำและกระดาษ ปล่อยให้เขาได้ทำตามใจตนเองในวลาที่เหมาะสม แล้วดูว่ากระดาษแผ่นนั้นจะเปลี่ยนเป็นงานศิลปะชนิดใด

ค่ายสำรวจธรรมชาติ

มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายที่กล่าวถึงประโยชน์ของธรรมชาติที่มีต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ลดความเครียด เพิ่มความจำระยะสั้น เพิ่มการมองเห็นที่ดีขึ้น เพิ่มสมาธิสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสนามเด็กเล่นตามธรรมชาตินี้เอื้อต่อการพัฒนาในเชิงบวกของเด็กได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นลองเดินเล่นเป็นเพื่อนเด็กๆ สำรวจธรรมชาติรอบบ้าน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาพูดคุยกัน เช่น เมื่อเห็นผีเสื้อ อาจจะคุยกันเรื่องวงจรชีวิตตั้งแต่เป็นหนอนน้อยจนกลายเป็นผีเสื้อสีสวย หรือหยิบหินรูปร่างแปลกตามาเล่นเกมทิคแทคโท หรือลองชวนเขาเลี้ยงนกแล้วดูวิธีการใช้ชีวิตของมัน จากนั้นพอตอนกลางคืนก็ลองนอนที่เตนท์ในสวน หรือหากไม่มีก็อาจจะลากหมอนผ้าห่มมาที่ระเบียงแล้วนอนดูดาวด้วยกัน เพื่อทำความรู้จักกับกลุ่มดาวต่างๆ ให้มากขึ้น เป็นต้น

เมื่อวางแผนสำหรับกิจกรรมที่อยากลูกๆ ได้ทำกันแล้ว ก็ลองมาแบ่งเวลาโดยอาจจะแบ่งวันว่า วันนี้เป็นค่ายคณิตศาสตร์ก็อาจจะเป็น

เช้า : เรียนรู้คณิตศาสตร์ในบ้าน
สาย : เวลาอาหารว่าง จากนั้น เรียนรู้ต่ออีกหน่อย
เที่ยง : อาหารกลางวัน
บ่าย : กิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น แล้วเปลี่ยนเป็นค่ายอื่นๆ ในวันถัดไป

หรือจะนำหลายๆ ค่ายมารวมกันในวันเดียวเป็นค่ายที่มีกิจกรรมมากมายไม่น่าเบื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในแต่ละวัน จนถึงวันเปิดเทอมเลยก็ได้

ประโยชน์ของการเข้าค่ายที่บ้านนั้นมีมากมายหลายอย่างมาก ที่สำคัญเหมาะมากสำหรับสถานการณ์โควิดที่มีเรื่องให้ต้องระมัดระวังหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระยะห่างทางสังคม การเงินที่พ่อแม่อาจจะรายได้ไม่เท่าเดิม และการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเด็กๆ เมื่อเปิดเทอมต่อไป เพราะการเข้าค่ายในบ้านไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมตัวนาน ไม่ต้องเดินทางออกไปไหน ไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม ปลอดภัยเพราะอยู่ในบ้านที่คุ้นเคย ดูแลสุขอนามัยของเด็กได้อย่างเต็มที่ และหากนี่เป็นการเข้าค่ายครั้งแรกของเด็กๆ ก็ยิ่งเป็นการดีที่เขาจะได้เตรียมตัวสำหรับการเข้าค่ายที่โรงเรียนอาจจะจัดขึ้นเมื่อเปิดเทอมแล้ว ที่สำคัญมันดีต่อพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยที่จะได้ใช้เวลาคุณภาพกับลูกได้ยาวๆ แบบพลิกวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสได้โคกิจกรรมกับลูกรัก

ทุกอย่างอยู่ที่บ้านหมดแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่ทำให้มันเป็นเรื่องสนุกขึ้นมา แล้วเด็กๆ จะได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยความรู้สึกที่ดีที่จะติดอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต

ถนอมอาหารง่าย ๆ ด้วยวัตถุดิบใกล้ตัว

ช่วงนี้ต้องเก็บตัวอยู่บ้านป้องกันการติดเชื้อ Covid-19 เรามาเตรียมเสบียงที่ทำง่าย ๆ เก็บได้นาน ๆ กันค่ะ นั้นก็คือ ขนมปังกรอบ และ ไข่เค็ม อยากรู้แล้วใช่ไหมคะว่าทำอย่างไรกัน ง่ายมาก ๆ ตามมาดูวิธีทำกันได้เลยจ้า

ไข่เค็ม

อุปกรณ์

  • ไข่เป็ด 10 ฟอง
  • น้ำเปล่า 1 ลิตร
  • เกลือ 100 กรัม
  • ขวดโหลแก้ว มีฝาปิด

วิธีทำ

  1. ต้มน้ำเปล่ากับเกลือที่เตรียมไว้ให้น้ำเดือด ทิ้งไว้ให้เย็น
  2. ล้างไข่เป็ดให้สะอาด เช็ดให้แห้ง
  3. นำไข่เป็ดค่อย ๆ ใส่ลงในขวดโหล แล้วใส่น้ำเกลือที่เตรียมไว้ลงไปให้น้ำท่วมไข่ ถ้าไข่ลอยต้องเอาถุงพลาสติกปิดไว้ไม่ให้ไข่ลอย (หากไข่ลอยจะทำให้ไข่เค็มไม่ทั่วฟอง)
  4. รออีก 7 วันทอดไข่เค็มดาวได้เลยจ้า หรือ 14 วันไว้ทำไข่เค็มต้มได้เลย ​J

หมายเหตุ * ถ้าหากทิ้งไว้นาน ไข่จะเค็มขึ้น แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนเลยค่ะ

ปังกรอบ

วัตถุดิบ

  • ขนมปังที่กำลังจะหมดอายุ
  • เนยสด
  • น้ำตาลทราย

วิธีทำ

  1. นำขนมปังไปตากแดด หรือผึ่งลมให้แห้ง ไล่ความชื้นในขนมปังออก
  2. ทาเนยสดลงบนขนมปังบาง ๆ ให้ทั่ว แล้วโรยน้ำตาลทราย 
  3. วางเรียงกันในถาดเอาเข้าเตาอบ อุณหภูมิ 160 องศาฟาเรนไฮต์ ประมาณ 15-20 นาที พักไว้ให้เย็น
  4. เก็บใส่กล่อง ขวดโหลไว้ทานได้อีกยาว ๆ เลยจ้า

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

พิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย ภายในจัดแสดงนิทรรศการ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชั้นเยี่ยมจากทุกสมัยที่พบในประเทศไทยมาจัดแสดง โดยเรียงลำดับเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เน้นให้เห็นถึงความงามของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

นอกจากจะชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครได้ที่นี่แล้ว ในเว็บไซต์นี้ยังจัดแสดงโบราณวัตถุหลายชิ้นให้ชมแบบ 360 องศาอีกด้วยดูได้ที่นี่

มิวเซียมสยาม

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่มีหลักในการจัดงานแบบ “Play+Learn =เพลิน” เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชม เน้นเกี่ยวกับเรื่องราวการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย จัดแสดงพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงผ่าน https://www.museumsiam.org/ve.php?MID=5 ซึ่งขณะนี้มีนิทรรศการให้รับชมมากมาย ทั้งนิทรรศการถาวรเรื่อง “ถอดรหัสไทย”  นิทรรศการหมุนเวียนอีกหลายเรื่อง เช่น นิทรรศการว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ นิทรรศการ “ไทยทำ…ทำทำไม” นิทรรศการเคลื่อนที่ นิทรรศการพิเศษ เช่น เรื่องภาพถ่ายหนองคาย-เวียงจันทร์ ร้อยสัมพันธ์

หยุดอยู่บ้านไม่หยุดเรียนรู้ ในแบบ Home School ที่ทุกบ้านทำได้

ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอมเด็กส่วนใหญ่ก็จะอยู่บ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ยิ่งตอนนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ก็กำลังระบาดอยู่ ก็เลยยิ่งไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมที่ไหนเข้าไปอีกดังนั้นเรามาเปลี่ยนเวลาว่าง สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่บ้านกันดีกว่าค่ะ

ปิดเทอมสร้างสรรค์ จึงได้พูดคุยกับ คุณแม่บ้านเรียนลูกสองที่ทำบ้านเรียนให้ลูก อย่างแม่อี๋สุรวดี รักดี ที่ให้ลูกชาย 2 คน อายุโตอายุ  15 ปีและคนเล็ก 7 ปีเป็นมาเล่าให้ฟังว่า หยุดอยู่บ้านไม่หยุดเรียนรู้ ในแบบ Home School ที่ทุกบ้านทำได้  ทุกคนสามารถทำได้

แม่อี๋เล่าว่า บ้านเราทำบ้านเรียน หรือที่เรียกว่า Homeschool เด็กของเราไม่ได้โรงเรียนเป็นปกติอยู่แล้ว เราเลยไม่มีหลักสูตรตายตัว ไม่มีตารางสอนจำกัดเวลา หรือสถานที่ แต่ที่บ้านเราฝึกกัน คือ “นิสัยการเรียนรู้” ที่ทำให้ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร (แม้แต่เล่นเกมออนไลน์) เด็กก็สามารถเรียนรู้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วดีต่อเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบไหน และผู้ปกครองทุกบ้านก็ทำได้ ด้วยแนวทาง 3 ข้อดังนี้ค่ะ

อย่างแรก..รู้ธรรมชาติของเด็ก และ ตัวเอง

ด้วยความที่บ้านเรียนเราจะกำหนดหัวข้อรูปแบบกิจกรรมการเรียนกันเอง ซึ่งต้องคุยกันทั้งเด็กและผู้ปกครอง เพราะเราไม่ปล่อยเด็กทำไปคนเดียว หลายบ้านอาจจะมองว่าเด็ก คือศูนย์กลางของการเรียนรู้ ซึ่งถูกต้องในส่วนหนึ่ง  แต่พ่อแม่เองก็มีหน้าที่ต้องสังเกตและเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยและธรรมชาติของลูกแต่ละคนเช่นกัน  ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์ที่เด็กจะต้องทำอะไรได้เมื่อถึงวัย รวมถึงธรรมชาติความถนัด และความชอบ ที่ตอนเล็ก ๆ อาจชอบอย่างหนึ่งโตขึ้นมาก็เปลี่ยนไปชอบอีกอย่าง และพี่น้องโตมาในบ้านเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย

แต่อย่าลืมว่า “เรา” นี่แหล่ะที่ต้องเป็นทั้งผู้ปกครอง ทั้งครู ทั้งเพื่อน ดังนั้นเราเป็นส่วนสำคัญมากในการเรียนรู้ของเด็ก  เคล็ดลับอีกอย่างคือ กิจกรรมที่ทำต้องไม่ขัดกับธรรมชาติพ่อแม่จนเกินไปนักด้วย เช่น  แม่ชอบทำอาหาร ก็ลองชวนลูกทำของโปรดเขา เป็นต้น ถ้าสิ่งที่เด็กอยากทำเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดเลย แต่ถ้ามีเวลาและความอยากเพิ่มขึ้น เราเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมกับลูกด้วยเช่นกัน

สอง..สร้างวินัยและบรรยากาศในการเรียนรู้ร่วมกัน 

การที่พ่อ-แม่อยู่กับลูกทั้งวันในช่วงนี้ ที่สำคัญต้องให้เรียนรู้ “วินัย” ทั้งต่อตัวเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นค่ะ สามารถฝึกโดยการให้ทำกิจวัตรประจำวัน ให้รู้ว่าต้องทำอะไร เมื่อไหร่ และที่สำคัญเพื่ออะไร  เช่น การที่ไม่ไปโรงเรียนก็ไม่ต้องนอนดึกหรือตื่นสาย  ตื่นมาต้องทำอะไรบ้าง มา “ตกลงร่วมกัน” แบ่งหน้าที่ช่วยกันจัดการงานบ้าน แบ่งเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และเวลาส่วนตัว เด็กจะมีเป้าหมาย มีความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง  เข้าใจการมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เองจะได้มีเวลาทำงาน ดูแลงานบ้าน และดูแลตัวเองด้วยค่ะ

“บรรยากาศในการเรียนรู้ร่วมกัน”

ก็คือทุกคนต้องช่วยกันในกิจกรรมการเรียนรู้นั้น ๆ ค่ะ อาจไม่ต้องมาทำด้วยกันทั้งบ้านทุกกิจกรรมนะคะ แต่อย่างน้อยต้องไม่รบกวนหรือมาขัดจังหวะ เวลาที่ทำกิจกรรมก็กำหนดบทบาทให้ชัด ใครนำ ใครตาม  เช่น จะทำกิจกรรมอ่านหนังสือนิทาน  ก็ควรมีพื้นที่หรือสมาธิ จะมีสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งเล่นโทรศัพท์ก็ไม่ใช่ เป็นต้น

ในขณะที่ทำกิจกรรมทุกคนก็ต้องมุ่งไปสู่เป้าร่วมกัน แต่ไม่ต้องเคร่งเครียด ที่สำคัญต้องมีการชื่นชมให้กำลังใจ ถ้าเด็กทำสำเร็จ ชมไปที่คุณสมบัติที่เราต้องการให้ชัด เช่น ตั้งใจดีมาก, ดีที่วันนี้เราได้รู้อะไรเพิ่มอีกแล้ว แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร แต่บอกให้เขาเข้าใจด้วยนะคะว่าไม่สำเร็จเพราะอะไร และไม่โทษใคร หากลูกทำผิด วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การดุด่าหรือตะคอก แต่คือการสอนและคุยกันด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์กับลูก หากไม่อยากให้ผลเสียต่าง ๆ ติดตัวลูกไปจนโต

สำหรับบ้านเรา เราคิดไว้เสมอว่า “ทุกสิ่งคือการเรียนรู้ แต่เราไม่ต้องเรียนทุกสิ่ง” คนเราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างที่เห็นว่าดี โดยเฉพาะคนอื่นเป็นคนเห็น เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะดีไปหมด อยากทำไปหมดทุกอย่างนั่น และไม่ต้องเครียด ว่าลูกจะต้องได้รับการเรียนรู้ทุกกิจกรรมที่ทำ ไม่ต้องเยอะ ที่จริงแม้แต่การผิดพลาดก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน  เพราะอาจเป็นการค้นพบว่าไม่ชอบอะไร หรือแม้กระทั่งว่าเราสามารถเล่นสนุกโดยไม่ต้องหวังผลที่เป็นสาระก็ได้นะคะ เช่น เล่นจักจี้ เล่าเรื่องตลก เป็นต้น เพราะการเรียนรู้อารมณ์ โดยเฉพาะความสุขก็เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมากของชีวิตคนเรา

และสุดท้าย..ร่วมแบ่งปันทรัพยากรกับคนอื่น 

การทำบ้านเรียน  เราไม่ได้ทำเองคนเดียวเหงาๆ เราสามารถแบ่งปันกันเป็นกลุ่มได้  แต่ละบ้านไม่มีใครเหมือนกันเลย ดังนั้นนอกจากรูปแบบการเรียนรู้ การแชร์ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ กิจกรรมอะไรที่บ้านนึงทำแล้วดี อีกบ้านอาจได้ผลต่างออกไป การได้ปรึกษาแลกเปลี่ยนก็จะเป็นการช่วยกันพัฒนาสังคมการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ของเราได้

สำหรับเด็ก  การได้คิดสร้างสรรค์ ลงมือ ทำแล้วการได้แชร์ หรือ สอนคนอื่นสำคัญมากเป็นสุดยอดกระบวนการประเมินที่ง่ายที่สุด ลองให้เด็กแบ่งปันความรู้ของตัวเอง เริ่มจากให้สอนคนในบ้าน เพราะจะได้ทบทวน ประเมินผล เรียบเรียง ความรู้นั้น ๆ แถมได้ feedback จากมุมมองและประสบการณ์คนอื่นเพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุง พัฒนาตัวเองต่อ ๆ ไปด้วยค่ะ

ซึ่งในภาวะอยู่บ้านดีกว่าอย่างตอนนี้การใช้ Social Network  ให้เกิดประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนกัน ทั้งตัวผู้ปกครอง และลูกหลานที่ต้องการทักษะทางสังคมที่มากกว่าในครอบครัว รวมทั้งการต่อยอดจากการบันทึกเรื่องราวการเรียนรู้ไปเป็น blog ไปจนถึงช่อง YouTube ก็เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เข้ากับยุคสมัยและความสนใจของเด็ก ๆ มาก

สิ่งที่สำคัญที่สุด  ลูกต้องการแบบอย่าง ต้องการกำลังใจ หากผู้ปกครองเห็นความสำคัญการเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ฝึกลูกสร้างนิสัยรักการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็กจะทำให้ลูกติดเป็นนิสัย และจะทำให้ลูกเป็นคนมีวินัยต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อหน้าที่การงานที่ตนเองรับผิดชอบ  ลูกเราสามารถไปเรียนในระบบการศึกษาแบบไหนก็ได้แน่นอนค่ะ

………………………………………………………………………………………

แม่อี๋ – สุรวดี รักดี ทำบ้านเรียนมา 5 ปี มีลูกชาย 2 คน อายุ  15 ปีและ 7 ปี

แต่ถ้าสนใจอยากทำ homeschool จริงจังลองเข้าศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม https://www.homeschoolnetwork.org/

DIY ปกผ้าห่อหนังสือแบบไม่ต้องเย็บ

จะห่อปกพลาสติกก็เพิ่มขยะ จะไม่ห่อปกก็ไม่สวยเดี๋ยวสมุดพังซะก่อน งั้นเรามาหาเศษผ้าสวย ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว มาทำปกสมุดหรือหนังสือกันดีกว่า ได้ปกสวยๆ และถนอมสมุดเราด้วย ไปดูวิธีทำกันเลย

อุปกรณ์

  1. ผ้าสำหรับทำปก / เศษผ้าที่ไม่ใช้แล้ว
  2. สมุด หรือหนังสือ
  3. กาวสำหรับติดผ้า 
  4. ตัวหนีบกระดาษ , กรรไกร

วิธีทำ

  1. เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำปกหนังสือ
  2. ตัดผ้าให้พอเหมาะกับสมุด โดยเว้นรอบ ๆ ด้านบนและล่าง ให้พอพับริมเข้ามาได้ และส่วนด้านข้างจะเป็นส่วนที่พับเข้าสำหรับล็อคปกหนังสือ
  3. พับริมของผ้าเข้ามาเล็กน้อย ประมาณ 1 ซม. และทำการติดกาว เพื่อไม่ให้ชายผ้าหลุดออกมา
  4. พับผ้าฝั่งซ้ายและขวาเข้ามาทับส่วนปก โดยไม่ให้ตึงเกินไป และติดกาวบริเวณขอบให้แน่น แล้วใช้ตัวหนีบยึดทั้ง 4 มุม
  5. รอให้กาวแห้ง จัดมุมให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จ สมุดที่มีลายเล่มเดียวในโลก ❤

อยู่บ้านช่วงโควิด เที่ยวพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ด้วยปลายนิ้ว

หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เด็กๆ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บ้าน รวมทั้ง สถานที่ที่น่าจะได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมก็ต้องปิดตัวกันไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย คงจะดีไม่น้อย หากจะมีพิพิธภัณฑ์ให้เด็กๆ ได้เข้าไปดูผ่านทางออนไลน์เพียงปลายนิ้วสัมผัส

แน่นอนอยู่แล้ว ในยุค 5G อย่างทุกวันนี้ จึงมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจัดทำระบบพิพิธภัณฑ์ออนไลน์และแบบเสมือนจริงไว้ให้ผู้คนได้เข้าชมจากทุกมุมโลก โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์


1. มิวเซียมสยาม

หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่มีหลักในการจัดงานแบบ “Play+Learn =เพลิน” เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชม เน้นเกี่ยวกับเรื่องราวการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย จัดแสดงพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงผ่าน https://www.museumsiam.org/ve.php?MID=5 ซึ่งขณะนี้มีนิทรรศการให้รับชมมากมาย ทั้งนิทรรศการถาวรเรื่อง “ถอดรหัสไทย”  นิทรรศการหมุนเวียนอีกหลายเรื่อง เช่น นิทรรศการว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ นิทรรศการ “ไทยทำ…ทำทำไม” นิทรรศการเคลื่อนที่ นิทรรศการพิเศษ เช่น เรื่องภาพถ่ายหนองคาย-เวียงจันทร์ ร้อยสัมพันธ์


2.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

พิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย ภายในจัดแสดงนิทรรศการ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชั้นเยี่ยมจากทุกสมัยที่พบในประเทศไทยมาจัดแสดง โดยเรียงลำดับเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เน้นให้เห็นถึงความงามของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

นอกจากจะชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครได้ที่นี่แล้ว ในเว็บไซต์นี้ยังจัดแสดงโบราณวัตถุหลายชิ้นให้ชมแบบ 360 องศาอีกด้วยดูได้ที่นี่


3. Google Art & Culture

เว็บไซต์รวบรวมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมสวยๆ แปลกใหม่จากทุกมุมโลก จัดทำโดยเจ้าแห่งการค้นหา Google ดูกันได้ทั้งวันไม่มีเบื่อที่นี่


4. British Museum พิพิธภัณฑ์กลาง กรุงลอนดอน

ซึ่งมีโบราณวัตถุที่ได้มาจากทุกมุมโลกในสมัยยุคล่าอาณานิคม โดยพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ British Museum มีการจัดหมวดหมู่ของวัตถุโบราณชัดเจน ที่วัตถุโบราณแต่ละชิ้นจะมีรายละเอียดให้ได้อ่านเพิ่มเติมได้อีกด้วย รวมทั้งเมื่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับโบราณวัตถุอื่นก็จะมีเส้นเชื่อมไปยังวัตถุโบราณชิ้นนั้นๆ ตามลำดับเวลาอีกด้วย ลองไปดูกันได้ที่นี่


5.พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี) ชาวอิตาเลียน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยจนได้รับการยกย่องว่า “บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย” บรรยากาศภายในเหมือนห้องทำงานที่ศาสตราจารย์ศิลป์ใช้งานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดูได้ที่นี่


6.พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โลกทางธรรมชาติ Natural History Museum

ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ในระบบออนไลน์เช่นกันมีการจัดหมวดหมู่ไว้ทำให้สะดวกต่อการศึกษาหาข้อมูล


7.พิพิธภัณฑ์ Louve Museum กรุงปารีส

เก็บรักษาผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก เช่นภาพ Mona Lisa, Madonna of the Rocks ผลงานของศิลปินระดับโลก เลโอนาร์โด ดาวินชี รวมผลงานจัดแสดงกว่า 35,000 ชิ้น ในพื้นที่ราว 60,600 ตารางเมตร และมีผู้เข้าเยี่ยมชมมากถึง 9.7 ล้านคนต่อปี มีบางคนบอกว่า หากจะชมผลงานทั้งหมดใน Louve คงใข้เวลาหลายปี เราใช้เวลาช่วงนี้ชมแบบออนไลน์ไปก่อนที่นี่


8.เว็บไซต์นาซ่า

แหล่งรวมภาพมากมายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอวกาศ ระบบจักรวาล รวมไปถึงรูปภาพและรายละเอียดโครงการต่างๆ ของนาซ่า อาทิ ภารกิจ Moon to Mars หรือโครงการสถานีอวกาศ เข้าดูได้ที่นี่


9. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา

ไม่ว่าจะเป็น วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต แผ่นดินไหว ภาวะโลกร้อน ดวงดาวและอวกาศ คลื่นยักษ์สึนามิ มีการนำเสนอที่ง่ายต่อการเข้าใจและครบถ้วน คลิกเลยที่นี่


10.ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต

แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมใหม่ 7 นวัตกรรม พร้อมแนะแนวอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 20 อาชีพ ชมแบบออนไลน์ได้ที่นี่


11.เว็บไซต์รวมสุดยอด 19 นิทรรศการแห่งปี

เช่น สูงวัยใกล้ตัว(Aging Society) ธรรมชาติบันดาลใจ วิทยาศาสตร์ติดถ้ำ นาทีนี้ต้องดิจิทัล (Digital Now) ที่นี่

แค่นี้ตลอดช่วงที่เราต้องอยู่บ้านเพื่อช่วยหมอผ่านช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป แต่เมื่อพ้นช่วงนี้ไปแล้ว หากใครมีโอกาสก็น่าจะแวะไปชมสถานที่จริงของพิพิธภัณฑ์เหล่านี้บ้าง เพื่อจะได้รับประสบการณ์ตรง

จัดตารางเมื่อลูกอยู่บ้านปิดเทอมใน พ.ศ. 2563

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศสั่งปิดโรงเรียนของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2563

แถมสถานที่ปล่อยพลังของเด็ก ก็ไม่น่าไปสักเท่าไหร่ในช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ระบาดขณะนี้

หลายบริษัท พ่อแม่หลายคนก็ต้องทำงานที่บ้านกัน ลูกก็ต้องดู​ งานก็ทำ จะบริหารเวลาอย่างไรกันดี

ปิดเทอมสร้างสรรค์ เลยขอนำเสนอไอเดียให้แต่ละครอบครัวมาลองจัดตารางการอยู่ร่วมกันกับลูกช่วงนี้กันดีกว่า

‘ตารางเวลา’ ตัวช่วยในการสร้างวินัยของคนทั้งบ้าน เพราะตารางเวลาจะช่วยให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ต้องทำเมื่อไหร่ และมีใครที่จะทำกับเราบ้าง ที่สำคัญ ‘เวลาคุณภาพ’ แม้วันละน้อยนิด แต่มีคุณภาพ มีให้ทุกวัน และมีให้สม่ำเสมอ ความสัมพันธ์สามารถก่อตัวขึ้นได้จริง

คำแนะนำของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา

ดังนั้นเราอาจจะต้องเอาตารางนี้มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์นี้ ขั้นตอนที่เราอาจจะเริ่มทำได้

  1. ชวนลูกทำตารางแต่ละวัน เช่น แต่ละวันเราต้องทำอะไรบ้างตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน โดยการทำตารางเปิดโอกาสให้ลูกเสนอความคิดเห็นและช่วยกันแนะนำ  โดยไม่พยายามกำหนดเวลาที่เป๊ะมาก เพราะหากไม่สำเร็จลูกก็อาจจะเครียดได้
    คำแนะนำ : เมื่อลูกทำเสร็จในแต่ละข้ออาจจะให้ลูกติดสติกเกอร์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ
  2. เราจะทำงานอย่างไรเมื่อลูกอยู่กับเรา 24 ชั่วโมง เราอาจทำได้โดยกำหนดเวลากิจกรรมให้ลูกทบทวนบทเรียนหรือกิจกรรมเพลินๆให้ลูกทำ  เช่น วาดรูป เล่นโก๊ะ งานศิลปะ ให้ลูกทำไปด้วย  ขณะที่พ่อแม่นั่งทำงานข้างๆด้วย 
  3. อย่าลืมเด็กยังต้องการปล่อยพลังและความบันเทิงอยู่ การทำตารางเวลาอาจจะคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เช่น กิจกรรมรดน้ำไม้ ปลูกผัก  ทำงานบ้าน เล่นน้ำ หรือแม้กระทั่งดูการ์ตูน เต้นตามจังหวะดนตรี หรือจะเต้นโคเว่อร์เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันตก ถือว่าเรียกเหงื่อได้อย่างดี

นอกจากนี้ ปิดเทอมสร้างสรรค์แนะนำเว็บไซต์ ดี เพลินให้ความรู้กัน

  • เทคโนโลยีทางภาพถ่ายเพื่อสื่อสารการศึกษา : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี http://mooc.thaicyberu.go.th/psu003/#.XnRcfJMzZE4

แนะนำให้เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ : thaimooc.org เพราะการเรียนหลากหลายสาขามาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า