การใช้ ICT มีผลต่อการศึกษาของเด็ก

เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่เยาวชนไทยจะต้องมีความคุ้นเคยในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Familiarity) ได้อย่างเหมาะสม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานในโลกอนาคตนั้นล้วนจำเป็นต้องทำประกอบไปกับการใช้ ICT แทบทั้งสิ้น

หรือจะกล่าวได้ว่า ความคุ้นเคยในการใช้ ICT จึงมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน (Innovative and Digital Driven-Economy) ทั้งนี้ ความสำคัญเบื้องต้นของการยกระดับความคุ้นเคยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ โดยวัดได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

หนึ่งข้อค้นพบจาก “โครงการการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุคประเทศไทย 4.0” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยร่วมทำวิจัยกับอาจารย์อัครนัย ขวัญ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และคุณกิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี (นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ซึ่งโครงการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อค้นพบคร่าวๆ ว่า “ความคุ้นเคยในการใช้ ICT สามารถส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กได้ ซึ่งจะส่งผลทางบวกหรือลบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กเยาวชนไทยได้ใช้ ICT กับเรื่องใด/ที่ไหน/และใช้นานแค่ไหน

การศึกษานี้ได้วิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจของนักเรียนไทยอายุ 15 ปีจากทั่วประเทศภายใต้จาก Programme for International Student Assessment ที่สำรวจในปี ค.ศ. 2015 (หรือ PISA-2015) จำนวนทั้งสิ้น 8,249 กลุ่มตัวอย่าง โดยการสำรวจในปีนี้ได้เพิ่มหัวข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคยในการใช้สื่อ ICT ของเด็กเยาวชนไทยอยู่หลายคำถาม ซึ่งงานศึกษาได้จำแนกความคุ้นเคยในการใช้ ICT เป็น 4 ประเด็นได้แก่

  1. การเข้าถึงอุปกรณ์ที่บ้านหรือที่โรงเรียน
  2. ประสบการณ์ในการใช้
  3. จำนวนนาที/ชั่วโมงในการใช้ต่อวัน
  4. ประเภทของการใช้ซึ่งแบ่งออกได้เป็น การใช้เพื่อเล่นเกมและเพื่อความบันเทิง การใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยงานศึกษานี้ได้พยายามประเมินปัจจัยทางด้านความคุ้นเคยในการใช้ ICT ดังกล่าวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากคะแนนสอบ PISA โดยจำเป็น 3 วิชาได้แก่
    1. วิชาวิทยาศาสตร์
    2. วิชาคณิตศาสตร์
    3. วิชาการอ่าน

ในด้านการเข้าถึงอุปกรณ์การใช้ (เช่นการมีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน/โรงเรียน) พบผลการศึกษาโดยภาพรวมว่า การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ ที่บ้าน (หรือมีแต่ไม่ค่อยได้ใช้) ไม่ได้ส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับส่งผลลบ โดยนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.9) และน้อยที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่านักเรียนที่มีโน๊ตบุ๊คที่บ้านแต่ไม่ใช้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลง ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.4) และน้อยที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีโน๊ตบุ๊คที่บ้าน แต่ตรงกันข้าม นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนกลับมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.5) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.8) และในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่โรงเรียน

ในด้านของประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพบว่า ถ้านักเรียนมีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ นักเรียนจะมีความถนัดในการใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษา มากกว่านักเรียนที่เพิ่งเริ่มใช้หรือไม่เคยใช้เลย โดยผลการจากประมาณการพบว่า นักเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุ 6 ปี หรือต่ำกว่า 6 ปีจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.9) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 4.0) และมากที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 4.6) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลครั้งแรก ตอนอายุ 13 ปีหรือมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 6 ปี (หรือต่ำกว่า) จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.2) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.0) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี (หรือมากกว่า)

ในด้านของระยะเวลาในการใช้พบว่า นักเรียนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 1-30 นาทีต่อวัน มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.2) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.4) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย และยังพบว่านักเรียนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 2-4 ชั่วโมงต่อวัน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.7) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.0) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย

ในด้านของลักษณะประเภทของกิจกรรมที่ใช้งาน พบว่าการใช้สื่อ ICT กับการเล่นเกมออนไลน์แบบเครือข่ายสังคมทุกวัน (หรือบ่อยครั้ง) จะส่งผลทางลบต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในวิชาการอ่าน (ลดลงร้อยละ 2.1) และวิชาวิทยาศาสตร์ (ลดลลงร้อยละ 1.6) เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้เล่นเกมออนไลน์แบบเครือข่ายสังคมเลย แต่ทั้งนี้กลับพบว่านักเรียนที่เล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง เช่น ดู YouTube 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์(ร้อยละ 2.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.8) และมากที่สุดในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยดู YouTube เลย เนื่องจากความบันเทิงช่วยให้นักเรียนคลายความเครียดอีกทั้งก็เป็นการช่วยให้มีสมาธิในการเรียนรู้และคิดอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในด้านการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนพบว่า นักเรียนที่ใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อติดตามบทเรียน เช่น ใช้สำหรับการติดตามบทเรียน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.1) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยติดตามบทเรียน และนักเรียนที่ตรวจสอบเว็บไซต์ของโรงเรียนสำหรับประกาศต่างๆเกือบทุกวันจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.6) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยตรวจสอบเว็บไซต์ของโรงเรียนสำหรับประกาศต่างๆ

นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนที่ทำการบ้านบนคอมพิวเตอร์ 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยทำการบ้านบนคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงอย่างเช่น การใช้อีเมล การคุยออนไลน์ การรับข้อมูลที่สำคัญจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นเองเพื่อการแบ่งปันจะได้ผลลัพธ์ที่ผสมผสานกลับพบว่าจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.2) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.2) และน้อยที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 3.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยอัปโหลดเลย ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมที่เด็กนักเรียนอัปโหลดนั้นอาจจะหมายถึงการเต้น การร้องเพลง หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษา หรือเป็น YouTuber จึงนำไปสู่ทำให้เด็กนักเรียนละเลยหรือให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาน้อยลงก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังพบต่ออีกว่าเด็กนักเรียนที่แชทออนไลน์เกือบทุกวันยังส่งผลให้ได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ น้อยกว่าร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยแชทออนไลน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้การอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ต การรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต การดาวน์โหลดเพลงภาพยนตร์เกมหรือซอฟต์แวร์จากอินเทอร์เน็ต และการดาวน์โหลดแอปใหม่บนอุปกรณ์มือถือ ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร โดยสรุป ถึงแม้ว่าความคุ้นเคยในการใช้สื่อ ICT จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศก็ตาม แต่การศึกษานี้ให้ข้อค้นพบว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินั้น จำเป็นที่การใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเป็นหลัก ในขณะที่การใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือการค้นหาข้อมูล (รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลและอัปโหลดข้อมูลต่างๆ) นั้นกลับไม่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร ตรงกันข้ามผลการศึกษากลับพบผลกระทบทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ เช่น การใช้อีเมล การคุยออนไลน์ การรับข้อมูลที่สำคัญจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นเองเพื่อการแบ่งปัน

ดังนั้น ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของประเทศ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงครอบครัว) จึงควรกำหนดให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่จะต้องใช้เพื่อการศึกษาเป็นสำคัญ และควรควบคุมการใช้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้เกิดการใช้อย่างเหมาะสม

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ
โดย…กิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี นักวิจัย ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์?

ทำไมลูกของเราถึงชอบระบายความรู้สึกในโลกโซเชียล แทนที่จะพูดกับใครสักคน ? แล้วจริงหรือไม่ที่พวกเขากำลังจะหนีจาก Facebook ไปรวมกันใน Twitter เพราะพ่อแม่ยังตามไปไม่ถึง? ทำอย่างไรเด็กถึงจะเข้าใจว่า  โลกเสมือนแห่งนี้มีความเสี่ยง?

ขณะที่คนรุ่นหนึ่งกำลังเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ หากคนอีกวัยหนึ่งกลับมองเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ว่าจะถูกตั้งคำถามอย่างไรแต่ที่เหมือนกันคือความกังวลที่ผู้ใหญ่กำลังมีต่อการใช้ สื่อโซเชียลมีเดียของเด็ก

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดทำโครงการ ขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัวจัดงานเสวนาสาธารณะ และworkshop “WHY WE POST : เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุค วุ่นเน็ต” เพื่อเข้าใจเครื่องมือและชุดทักษะในการทำงานกับวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต จาก  กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด และYoutube Thailand

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์? thaihealth

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวตอนหนึ่งว่า การสนับสนุนสุขภาพเด็ก สังคม และระบบสื่อคือ สิ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญมานาน และเมื่อสื่อออนไลน์ คืออีกพื้นที่ซึ่งเด็กและเยาวชนให้ความสำคัญ สสส.จึงต้อง ขับเคลื่อนองค์ความรู้ใหม่ๆ ติดอาวุธ ทางปัญญา เพื่อให้เด็กมีสุขภาวะและ รู้เท่าทันโลกเหล่านั้น

ทุกวันนี้สังคมที่เป็นกายภาพกับสังคมในโลกออนไลน์ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และรายงานสุขภาพคนไทยปี 2562 ระบุว่า ทุกวันนี้คนไทยใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ซึ่งสอดคล้องไปกับ ผลสำรวจของ We Are Social ซึ่งรายงานว่าประเทศไทยติดอันดับการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน เฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์

พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักการศึกษา  ผู้กำหนดนโยบาย นักกิจกรรมด้านเด็ก และเยาวชน จึงต้องรู้เท่าทัน ช่วยป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันต่ออันตรายและ ความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ที่มาพร้อมกับ การใช้สื่อ เช่น การรังแกบนโลกไซเบอร์ (cyberbullying)การเสพติดโลกออนไลน์ จนกระทบกับคุณภาพ ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ เพื่อทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์? thaihealth

ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่4 สสส. กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ความท้าทายใหม่เรื่องโซเชียลมีเดียกับเด็กเยาวชน” ตอนหนึ่งว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรทำความเข้าใจคือ พฤติกรรมการใช้ สื่อโซเชียลของวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติที่เราเองก็เคยเป็น เช่นเดียวกับการเข้าสังคม  การได้รับการยอมรับ ต้องการมีเพื่อนเพราะมนุษย์มีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม  ต้องสื่อสารระหว่างกันตามธรรมชาติ

“เพียงแต่ยุคนี้มีเครื่องมือใหม่คือ โซเชียลเน็ตเวิร์คในการเข้าสังคมเท่านั้นเอง แพลตฟอร์มนี้จึงไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความเข้าใจแบบนี้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ลดความตึงเครียดระหว่าง คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนได้ เพราะการเข้าสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประเด็นสำคัญคือผู้ใหญ่เราจะใช้สื่อโซเชียล ร่วมกับเด็กอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร  ซึ่งความเข้าอกเข้าใจและความเมตตา  จะช่วยให้เรากับเด็กปรับตัวอยู่ร่วมกับ โลกยุคใหม่ได้ดี”

พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในอดีตมักมองโลกกายภาพว่าเป็นสิ่งจับต้องได้ ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดในโลกออนไลน์จับต้องไม่ได้ แต่ปัจจุบันไม่มีความแตกต่างระหว่างโลกสองใบนี้ โดยโลกออนไลน์ก็เป็นจริงพอๆ กับโลกออฟไลน์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การศึกษาโซเชียลมีเดียจึงเป็นเรื่องทางสังคม พอๆกับที่เป็นเรื่องของการสื่อสาร ดังนั้นการศึกษาเรื่องสื่อในฐานะนักมานุษยวิทยาจึงไม่ได้เน้นเรื่องสื่อหรือสภาวะความเป็นสังคมเท่านั้น แต่ยังพูดถึงโซเชียลมีเดียในฐานะสถานที่อีกแห่งที่ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิต

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์? thaihealth

(แฟ้มภาพ)

สำหรับคนทุกวันนี้ในความเป็นจริงเรายังใช้การสื่อสารแบบดั้งเดิมอยู่ ไม่ได้หมายความว่ามีแพลตฟอร์มใหม่ๆแล้วการสื่อสารแบบดั้งเดิมจะหายไป และสำหรับเด็กโลกโซเชียลคืออีกเครื่องเครื่องมือเพื่อแสดงความเป็นตัวตน พวกเขาเลือกแพลตฟอร์มและจัดความสำคัญในการสื่อสารแต่ละแบบ ในแต่ละสื่อ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มเดียวกันก็เลือกสื่อสารกันในแต่ละบริบท ขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์กับใคร

“วัยรุ่นยังมีการสร้างแอคเคาท์ในความสัมพันธ์หลายรูปแบบ เช่น การใช้แอคเคาท์ เป็นบอท และสร้างโปรไฟล์เป็นแฟนคลับ และรู้ว่าเขาจะพูดอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์อย่างไร ใครที่บอกว่าการเล่นสื่อเป็นเรื่องฉาบฉวยจึงไม่จริงนัก บางทีอาจเป็นทักษะ ที่ซับซ้อนของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจ”

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์? thaihealth

ทั้งนี้โครงการวิจัย “How the World Changed Social Media” นำโดย เดวิด มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London และคณะ ซึ่งเป็นต้นทางของหนังสือ Why We Post : ส่องวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียผ่านมานุษยวิทยาดิจิทัล ซึ่งเป็นฐานของการเสวนาในครั้งนี้ ไม่ได้เน้นไปที่การศึกษาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการศึกษา สิ่งที่คนโพสต์และสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์ม เหล่านั้น รวมถึงศึกษาว่าทำไมเราจึงโพสต์และผลพวงของการโพสต์เป็นอย่างไร

วิจัยอ้างอิงจากพื้นที่ศึกษา 9 แห่ง ได้แก่ บราซิล ชิลี จีนเขตชนบท จีนเขตอุตสาหกรรม อินเดีย อิตาลี ตรินิแดด  ตุรกี และอังกฤษ และเปรียบเทียบสิ่งที่พบในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในพื้นที่แต่ละแห่ง ในแต่ละหัวข้อ 10 ประเด็น อาทิ การศึกษาและคนหนุ่มสาวการงานและการค้า  ความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์และออฟไลน์, เพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำ, การเมือง,  ซึ่งได้รับผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์? thaihealth

(แฟ้มภาพ)

ยกตัวอย่าง ในหัวข้อโซเชียลมีเดีย ต่อการศึกษา ซึ่งผลสำรวจที่ได้มีทั้งสองแบบคือ โรงเรียนในอินเดียใต้ที่นักเรียนมาจากครอบครัวรายได้ต่ำ ส่งเสริมการใช้ โซเชียลมีเดียในฐานะเครื่องมือเพื่อการศึกษา อย่างมาก ในขณะที่โรงเรียนสำหรับคนชั้นสูงพิจารณาการสั่งห้ามใช้โซเชียลมีเดีย เพราะถือว่าทำให้นักเรียนเสียสมาธิ         

ขณะที่พื้นที่ศึกษาสองแห่งในจีนกลับให้ผลแตกต่างกันชัดเจน ในเขตอุตสาหกรรมจีน พบว่าหนุ่มสาวโรงงานจากชนบทมักไม่ค่อยใส่ใจผลการเรียนในระบบและการศึกษาระดับสูงของลูกๆ นัก ส่วนในชนบทจีนกลับตรงกันข้าม เพราะผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกมาก โดยพวกเขาเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ จะช่วยให้ลูกๆ มีชีวิตที่มั่นคงและสุขสบาย ในบริบทนี้ ทั้งผู้ปกครองและตัวนักเรียนเอง มองว่าโซเชียลมีเดียส่งผลเสียต่อความก้าวหน้าทางการศึกษาและการเรียนรู้

วัยรุ่นวุ่นเน็ตอยากรู้ไหม ทำไมเขาถึงโพสต์? thaihealth

(แฟ้มภาพ)

ในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน มีตัวอย่างหลายกรณีที่ทำให้เห็นว่าการใช้ โซเชียลมีเดียในหมู่นักเรียนช่วยสร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โซเชียลมีเดียมักเป็นพื้นที่ปลอดสายตาผู้ปกครองที่คอย สอดส่อง เด็กๆ จึงมองว่ามันเป็นพื้นที่ ที่ใช้พูดคุยกับเพื่อนได้ง่ายกว่า หากในเวลาเดียวกันการสื่อสารแต่ในโซเชียลก็ทำให้เกิดความขัดแย้งได้มากกว่าการสื่อสารต่อหน้าเกิดการอัพสเตตัสแบบอ้อมๆ ที่ทำให้คนที่เป็นเป้าหรือผู้รับสารไม่แน่ใจว่าสเตตัสนั้นสื่อถึงใคร ทำให้เกิดเหตุขัดแย้งและโต้เถียง นำไปสู่ความตึงเครียดมหาศาล โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหญิง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ได้บอกว่าอินเตอร์เน็ตหรือโลกโซเชียลส่งผลดีหรือผลร้ายกับเด็กมากกว่ากัน หากแต่ช่วยนำเสนอให้เห็นถึงการใช้ส่งผลอย่างไรในบริบทแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ที่กำลังเฝ้ามองเด็กรอบข้างใช้โซเชียลมีเดียด้วยความเป็นห่วง แต่ที่จริงแล้วพวกเขาเข้าใจโลกโซเชียล กับความเป็นไปของเด็กมากขนาดไหน?

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส. 

เด็กมีล้อ ชมรมสุดเท่ แก้ปัญหาติดจอ

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

“ไม่ได้ให้เล่นบ่อย ๆ ไม่ติดหรอก” คำที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักแก้ตัว และไม่อาจทันคิด ไม่ทันสังเกตพฤติกรรมว่าแท้จริงแล้วเรากำลังหล่อหลอมลูกมากับหน้าจอ ซึ่งการให้ลูกอยู่หน้าจอนาน ๆ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก และจะไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย เช่น การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่จากการเล่นเคลื่อนไหวร่างกาย พัฒนาการทางด้านสังคม การใช้ภาษา การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

เช่นเดียวกับครอบครัวของ โค้ชเหน่ง นายสุรศักดิ์ ศิลปมี ผู้ริเริ่มจัดตั้งชมรมเด็กมีล้อ โดยชมรมเด็กมีล้อได้จัดอยู่หนึ่งในหมวดวิชานวัตกรรมของ มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้ทำการเปิดมหาวิชชาลัยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เด็กมีล้อ ชมรมสุดเท่ แก้ปัญหาติดจอ thaihealth

ข้อมูลรายงานสุขภาพคนไทยปี 2562 ระบุว่า คนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ติดอันดับการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ต สูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คนไทยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยชมสื่อบันเทิงต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตประมาณ 4 ชั่วโมง 3 นาที และมีอัตราการเข้าอินเทอร์เน็ตทุกวันถึงร้อยละ 90

โค้ชเหน่ง บอกว่า “พฤติกรรมของพ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น” ก่อนหน้านี้ตนเคยให้ลูกเล่นโทรศัพท์โดยขาดการควบคุมและดูแล ทำให้ลูกติดจอ เลิกเรียนก็รีบเล่นเกมกับเพื่อน ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการชวนลูกมาเล่นโรลเลอร์เบลดเพื่อเป็นการดึงทั้งตนเองและลูกออกจากหน้าจอ โดยเริ่มชวนลูกเล่นบริเวณบ้าน แต่พอเล่นแค่ 2 คน ลูกก็เริ่มเบื่อ ทำให้หันกลับไปติดมือถืออีกครั้ง จึงเริ่มชวนลูกไปเล่นที่ลานกิจกรรมของ เทศบาลบ้านแฮด เพราะเป็นลานกว้างอยู่ติดกับตลาด มีเด็กอยู่บริเวณนั้นจำนวนมาก

ครูเหน่งบอกต่อว่า

“พอเริ่มเล่นที่ลานกิจกรรม เด็กบริเวณนั้นก็ให้ความสนใจ ผู้ปกครองหลายคนเข้ามาสอบถามและพูดคุยถึงเรื่องการให้ลูกเล่นโรลเลอร์เบลด ขณะที่บางเสียงถามว่า “ไม่กลัวลูกเจ็บเหรอ?” จึงให้คำตอบไปว่า “การให้ลูกได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จะช่วยหล่อหลอมให้เกิดพัฒนาการที่ดี”

เด็กมีล้อ ชมรมสุดเท่ แก้ปัญหาติดจอ thaihealth

ประโยชน์ของการเล่นโรลเลอร์เบลด

  1. ทำให้มีเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการเล่นซึ่งกันและกัน เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม
  2. ทำให้จิตใจแจ่มใส ร่าเริง ผ่อนคลายความเครียด
  3. ช่วยเผาผลาญพลังงานได้ดี ช่วยควบคุมน้ำหนักตัวของลูกที่อยู่ในสภาวะน้ำหนักเกินได้
  4. ทำให้เป็นคนคล่องแคล่ว ว่องไว กระตุ้นประสาทการรับรู้
  5. เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเช่นเดียวกับการวิ่งหรือขี่จักรยาน ซึ่งจะช่วยระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้ปอด และหัวใจของลูกทำงานแข็งแรงขึ้น
  6. เป็นการบริหารให้กล้ามเนื้อใหญ่ ได้แก่ แขน ขาและลำตัวแข็งแรง ลูกจะเคลื่อนไหวและทรงตัวได้ดีขึ้น
  7. สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย มีภูมิต้านทานต่อโรค

ครูเหน่ง ย้ำว่า เด็กที่จะมาร่วมฝึกเล่นจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง ซึ่งทุกเย็นเด็กบ้านแฮดจะมารวมตัวกันลงเล่นที่ลานกิจกรรม ได้ออกกำลังกายสนุกสนานกับเพื่อน ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนบอกว่า คลายความกังวลเรื่องลูกติดจอได้ค่อนข้างมาก พอลูกได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนก็ลืมเรื่องการเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ไปเลย

ในส่วนของทางเทศบาลบ้านแฮดได้เห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นชมรมเด็กมีล้อ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเข้าร่วมชมรมกว่า 60 คน มีการเข้าร่วมแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอีกด้วย

การชวนลูกทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทไหน ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น จุดสำคัญคือ การเริ่มต้นเล่นไปกับลูก ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่สามารถทำรวมกับลูกได้ ลองค้นหากิจกรรมที่สมวัยกันนะคะ

‘ปิดเทอมสร้างสรรค์’ ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี?

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพโดย สสส.

จากผลสำรวจกลุ่มประชากรตัวอย่าง 1,760 ตัวอย่าง “ปิดเทอมนี้เด็ก- เยาวชน อยากทำอะไร” กิจกรรมที่ตั้งใจจะทำเป็น 3 สิ่งแรก คือ

  1. เล่นมือถือ อินเตอร์เน็ต ร้อยละ 71
  2. รองลงมาไปเที่ยวต่างจังหวัด ร้อยละ 53 
  3. และหางานพิเศษทำ ร้อยละ 46

สะท้อนถึงทางเลือกที่มีมากนักในการทำกิจกรรมช่วงปิดเทอม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมากกว่า 20 เครือข่าย เปิดตัว “กิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์” เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมในการพัฒนาทักษะชีวิตทางสังคม ปลดปล่อยศักยภาพ ค้นหาตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ทำโครงการกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์มาต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ผนึกกำลังหน่วยงานระดับประเทศ ทำให้ในปี 2562 มีกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์กระจายทุกภูมิภาคกว่า 500 กิจกรรม และสนับสนุนทุนจัดโครงการตลอดทั้งปี

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

นายสุปรีดา กล่าวว่า สสส.ยังได้รวบรวมข้อมูลของรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัยพบกิจกรรม 3 อันดับแรกที่เด็กสนใจ ได้แก่ อันดับ 1 เข้าค่าย ร้อยละ 45 อันดับ 2 ท่องเที่ยวและทัศนศึกษา ร้อยละ 22.4 อันดับ 3 กิจกรรมกีฬา ร้อยละ 21.9 จากผลวิเคราะห์เมื่อแบ่งออกเป็นช่วงวัยพบ เด็ก ป.4-6 ควรมุ่งเน้นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ ความสนุกและน่าสนใจ ช่วยเปิดโลกเรียนรู้ เช่น การไปเที่ยว หรือทัศนศึกษา เยาวชนระดับ ม.ต้น ต้องจัดกิจกรรมไม่มุ่งเน้นเฉพาะความสนุกสนาน โดยต้องกระตุ้นความสนใจหรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ส่วนเยาวชนระดับ ม.ปลาย ต้องเน้นวิชาการสอดแทรกประเด็นทางสังคมเข้าไปด้วย และเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย ต้องเป็นกิจกรรมที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือพัฒนาตัวเองได้ โดยกลุ่มเยาวชนสายอาชีวะ ควรทำกิจกรรมแบบอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กช็อป ไม่เน้นความสัมพันธ์แต่เน้นทักษะนำไปใช้ได้ในสายอาชีพได้

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจเด็กอยากเล่นมือถือ อินเตอร์เน็ต ในช่วงปิดเทอมเป็นอันดับแรก เพราะเด็กสมัยใหม่เติบโตมาท่ามกลางโลกดิจิทัล ขณะที่มีเด็กจำนวนไม่น้อยอยากทำกิจกรรมอื่น เช่น การท่องเที่ยว ทัศนศึกษา ทำกิจกรรมสนุกสนาน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ากิจกรรมนั้นมักอยู่ไกลบ้าน ส่วนเด็กอยู่ครอบครัวรายได้ปานกลาง-ดี บอกว่ากิจกรรมไม่น่าสนใจ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย มักไม่มีเวลาและเงินเพียงพอ เพราะต้องทำงานช่วยครอบครัวช่วงปิดเทอม โดยการค้นหาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเยาวชน เพราะสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ไม่ได้มาจากการอ่านและจำ แต่มาจากการลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำนั้นจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่การจินตนาการเพียงอย่างเดียว โดยโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์หากสามารถขยายการเรียนรู้ไปยังเด็กทั่วทุกภูมิภาคจะช่วยสร้างให้เด็กเติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพ

“อีกสิ่งสำคัญ คือ การแบ่งปันและการมีส่วนร่วมในสังคม จะช่วยให้เด็กค้นพบความสุขและคุณภาพของตนเอง โดยเด็กได้เรียนรู้ว่าตนไม่ได้ไร้พลัง รู้ว่าตนเองสามารถแบ่งปันสังคมและช่วยเหลือผู้อื่นได้ หลายกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ จึงมีรูปแบบการแบ่งปันและการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้ร่วมกับเด็กพิการช่วยให้เด็กเรียนรู้และยอมรับผู้อื่น” น.ส.ณัฐยากล่าว

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

นางเทพวัณ ภรณวลัย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. กล่าวว่า ภารกิจหลักของกรมกิจการเด็กและเยาวชน คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิและการส่งเสริมสวัสดิการเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ในอนาคตหากเด็กเก่งไม่พอ กล้าไม่พอ เด็กอาจต้องแบกรับภาระและใช้ชีวิตในสังคมอย่างยากลำบาก โดยกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์จะช่วยสนับสนุนเด็กให้เติบโตในทุกมิติ ขณะเดียวกัน กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ผลักดันกฎหมาย ช่วยให้เด็กและเยาวชนช่วยขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ เช่น สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 7,880 แห่ง ทั้งในระดับหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชนและระดับประเทศ

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

นายวิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายบริหารลูกค้า ปณท กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย (ปณท) อยู่คู่กับไทยมา 130 ปี เอกลักษณ์ที่ไม่เคยเสื่อมคลายคือ แสตมป์ แม้โลกเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล ทว่าแสตมป์ยังคงมีคุณค่า อย่างน้อยทุกประเทศทั่วโลกยังคงไว้ซึ่งแสตมป์ โดยปีนี้ ปณทได้จัดกิจกรรมวันเดย์แคมป์ ชวนเด็กเปิดหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่เรียนรู้เรื่องราวของแสตมป์ทั้งของไทยและทั่วโลกในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน รวมทั้งยังมีแหล่งเรียนรู้กระจายอยู่ในภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ช่วยสร้างการเรียนรู้ต่อเด็กอย่างไม่รู้จบและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้ค้นหาตนเอง

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

ด้าน นายชัยวัฒน์ เทพทวี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดนิทรรศการเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำการเกษตร อีกทั้งเปิดกิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเกษตรในเด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริงในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ช่วยสร้างจิตสำนึกเด็กในเมือง เปิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น ลงมือทำนาเพื่อเรียนรู้ถึงความยากลำบากของการทำนากว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด เป็นต้น

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

น.ส.ศรินยา ปาทา รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระจายอยู่ทั่วประเทศ 42 แห่ง โดยช่วงปิดเทอมได้เปิดกิจกรรมให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ และน้อมรับนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมความสัมพันธ์ของครอบครัว โดยเปิดให้เด็กและผู้ปกครองเข้าชมฟรีทุกวันอาทิตย์ ตลอดจนเปิดโอกาสแก่เด็กด้อยโอกาส พิการให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

ส่วน น.ส.หทัยการณ์ หาญกล้า “น้องผัดไท” ผู้เข้าประกวดเดอะวอยซ์ไทยแลนด์ 7 ตัวอย่างเยาวชนผู้ใช้วันว่างอย่างสร้างสรรค์ เล่าว่า เริ่มร้องเพลงมาตั้งแต่ 3 ขวบ ก่อนเข้าประกวดตามโรงเรียน เวทีใหญ่ ตามจังหวัดและรู้ว่าตนเองเริ่มชอบร้องเพลง จึงใช้เวลาว่างฝึกร้องเพลงและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ แม้อาชีพนักร้องอาชีพไม่ใช่ความฝัน แท้จริงฝันอยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่อยากนำความชอบของตนเองช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันอาจไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราได้ทำ เชื่อว่ากิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์จะช่วยเปิดโลกเรียนรู้ใหม่ให้แก่เด็กและเยาวชน

'ปิดเทอมสร้างสรรค์' ตอบโจทย์ปิดเทอมนี้ทำอะไรดี? thaihealth

ด.ญ.สาวิตรี จันทร์หอม “น้องนุ่น” นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนศรีรัตน์วิทยา กทม. กล่าวว่า

“ช่วงปิดเทอมอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด อยากไปสถานที่ที่ยังไม่เคยไป ส่วนตัวหนูชอบภูเขา อยากเดินทางไปตั้งแคมป์บนภูเขา แต่ส่วนใหญ่ทุกช่วงปิดเทอมหนูจะเรียนพิเศษ จึงทำให้ไม่มีเวลา แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะใช้เวลาเล่นดนตรี ปิดเทอมนี้อยากให้เด็กคนอื่นใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แทนการใช้เวลาเล่นเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม”

เด็กอายุ 1-12 ปีรับวัคซีนป้องกันโรคหัดฟรี

ที่มา :  กระทรวงสาธารณสุข , Thaihealth

กระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ติดตามเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ รับวัคซีนป้องกันโรคหัด เชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึงมีนาคม 2563

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิด “โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงมีนาคม 2563 ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย” เพื่อรณรงค์ให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย ยกระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคหัด ป้องกันการป่วยและการระบาดของโรคหัด ตามพันธสัญญานานาชาติ ในการสนับสนุนโครงการกำจัดโรคหัด ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 63 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อปี 2553 เป้าหมายเกิดโรคหัดไม่เกิน 1 ต่อล้านคน และไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ

นายแพทย์สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า   สถานการณ์โรคหัดในปีนี้พบการระบาดในทุกภูมิภาคของโลก มีผู้ป่วยสูงถึง 423,963 ราย เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นานาประเทศจึงได้ตั้งมั่นร่วมมือกันที่จะกำจัดโรคหัดให้หมดไปโดยเร็ว สำหรับประเทศไทยได้เร่งรัดการติดตามให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กกลุ่มเป้าหมายอายุ 1–12 ปีให้ครบทุกคน  เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต  โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด  เร่งค้นหาและรณรงค์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานอายุ 1-7 ปีมารับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) และเด็กอายุ 7-12 ปีฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) ทั้งเด็กไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ซึ่งคาดประมาณว่ามีจำนวน 522,181 คน ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง คนละ 1 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค

“ขอให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญนำบุตรหลานมารับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะโรคหัดจะต้องได้รับ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9 เดือน และ 2 ปีครึ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน การกำจัดโรคหัดได้สำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่จะช่วยสื่อสารถึงผู้ปกครอง ให้พาบุตรหลานมารับการฉีดวัคซีน ทั้งในระบบปกติและในช่วงการรณรงค์ ฯ” นายแพทย์สุขุมกล่าว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัสหัด (Measles) พบได้ในลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมากทางการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย จะมีอาการป่วย หลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน โรคนี้พบได้ตลอดปี ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ทั้งนี้ ในปี 2562 มีผู้ป่วยโรคหัดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 2,861 ราย เสียชีวิต 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา ในสังกัดสำนักงาน กศน. ภายในศูนย์มีนิทรรศการและกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ นิทรรศการภายในอาคาร พบกับ ระบบนิเวศวิทยา วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์และอวกาศ พระราชประวัติ ร. 4เรียนรู้กับนิทรรศการนอกอาคารไปกับ สวนวิทยาศาสตร์ บ้านเรือนไทย ภูเขาไฟ เกษตรธรรมชาติ เรือนประหยยัดพลังงาน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาศูนย์รังสิต

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ในสังกัดสำนักงาน กศน. เพื่อขยายและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างกว้างขวางและทั่วถึง แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้บริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในรูปแบบหลากหลาย มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ตามความสนใจ สนุก ง่าย สัมผัสได้ และท้าทาย เช่น กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านนิทรรศการ ค่ายวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ กิจกรรมเสริมทักษะ วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ การบริการวิชาการ การประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ และท้องฟ้าจำลอง

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสระแก้ว

แหล่งบริการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

 

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครพนม

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครพนม  แหล่งบริการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

การให้บริการกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย

นิทรรศการ ( Exhibition )

1.นิทรรศการภายในอาคาร (indoor)อาคารพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจืด  เป็นแหล่งรวมปลาน้ำจืดของแม่น้ำโขง  แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำก่ำกว่า 96 ชนิด ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์  มีจุดเด่น คือ “อุโมงค์ปลา”  สามารถชมความเคลื่อนไหวของปลาได้ นอกจากนี้ ภายในอาคารยังประกอบด้วย  นิทรรศการเกี่ยวกับปลาแม่น้ำโขง อาคารเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี แบ่งเป็น

ชั้นที่ 1 ห้องโถงด้านหน้าพระบรมฉายาสาทิลักษณ์ภาพวาดสีน้ำมันของ ๙ รัชกาล พร้อมพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจแต่ละรัชกาล ห้องโถงด้านหน้า (ฝั่งขวา) แสดงลำดับราชสกุลวงศ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวห้องโถงด้านหน้า (ฝั่งซ้าย) ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทยในพระราชพิธี ,บรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ ,ราชวงศ์จักรีกับพระราชนิพนธ์ในแต่ละรัชกาล

ชั้นที่ จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดนครพนม  สถานที่ท่องเที่ยว ห้องพระธาตุประจำวันเกิด นิทรรศการวิถีชีวิต 7 ชนเผ่า และ 2 เชื้อชาติ ของจังหวัดนครพนม ห้องฉายวีดีทัศน์ ฉายเกี่ยวกับภาพยนต์ประวัติศาสตร์ส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2505 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับแรม ณ ริมอ่างเก็บน้ำหนองญาติ (ซึ่งเป็นที่มาของการก่อสร้าง หอเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี) 2.นิทรรศการนอกอาคาร (Outdoor) ฐานท้าปั่นนาวาล่าขุมทรัพย์วิทย์  ฐานเศรษฐกิจพอเพียง 1 ไร่ 1 แสน ฐานตามรอยพระยุคลบาท (ฝนหลวง)ฐานภาวะโลกร้อน โลกสวยด้วยมือเรา นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากาญจนบุรี

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี  อาคาร 2 ชั้น บน พื้นที่ 8 ไร่ ภายในมีฐานการเรียนรู้ จำนวน 11 ฐาน ได้แก่

1.       ฐานการเรียนรู้ โลกของสิ่งมีชีวิต

2.       ฐานการเรียนรู้ ระบบนิเวศ

3.       ฐานการเรียนรู้ เปิดโลกแห่งสสาร

4.       ฐานการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์แสนสนุก

5.       ฐานการเรียนรู้ บ้านพลังงาน

6.       ฐานการเรียนรู้ พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย

7.       ฐานการเรียนรู้ ภาวะโลกร้อน

8.       ฐานการเรียนรู้ ดาราศาสตร์และอวกาศ

9.       ฐานการเรียนรู้ เทคโนโลยีอวกาศในชีวิตประจำวัน

10.   ฐานการเรียนรู้การแสดงทางววิทยาศาสตร์

11.   ฐานการเรียนรู้เปิดโลกไดโนเสาร์

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต

“อุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต” พัฒนาสองแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมการอ่าน-มุ่งเน้นไอที รองรับสมาร์ท ซิตี้ (PK Park) 

เทศบาลนครภูเก็ตให้ความสำคัญกับการศึกษาและการมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย จึงร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK Park หน่วยงานในสังกัดสำนักบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นครภูเก็ต หรือ PK Park ขึ้น ที่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการอ่านและพัฒนาทักษะและความรู้ด้านนวัตกรรม รวมทั้งการจัดกิจกรรมหลากหลายสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อให้เริ่มต้นสร้างรากฐานจากการรู้จักตัวเอง ผ่านการเรียน ค้นคว้า ทดลอง และการเล่นเชิงสร้างสรรค์

“เป้าหมายสำคัญของการพัฒนา PK Park คือการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้น เพื่อการสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเป็นสมาร์ท ซิตี้ ของภูเก็ต

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ สังกัด กศน. เพื่อเป็นพื้นที่ให้บริการ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยมีกิจกรรมที่ให้บริการ อาทิ นิทรรศดาราศาสตร์และอวกาศ เปิดโลกดิจิตอล วิทยาศาสตร์ทั่วไป การเกษตรวิถีไทย พลังงาน สวนหินและฟอสซิล วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนสำหรับเด็ก รวมถึงนิทรรศการเครลื่อนที่ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายการแสดงทางวิทยาศาสตร์ ค่ายดาราศาสตร์ ค่ายพลังงาน ค่ายต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง STEM Camp และ Summer Camp นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค พื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะที่มีชีวิตผ่านนิทรรศการ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะ และสื่อการเรียนรู้สุขภาวะเพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า