เมืองเก่าตะกั่วป่า สร้างขึ้นมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 500 เดิมชื่อว่า เมืองตกโกล แปลว่า กระวาน เมืองตะกั่วป่าเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 7 เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก จึงทำให้มีคนจีนข้ามาทำงานในเหมืองเป็นจำนวนมาก เมืองเก่าตะกั่วป่าถือเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่รวบรวมเอาเรื่องราวของชาวพังงาในสมัยก่อนไว้ ณ ที่แห่งนี้ มีการรักษาสภาพของอาคารสถาปัตยกรรมจีนและโปรตุเกสไว้ สามารถเดินชมวิถีชีวิตของชาวเมืองเก่าตะกั่วป่าได้ อีกทั้งยังมีการจัดถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตมุสลิม
พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตมุสลิมก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม รวมถึงประเพณีอันดีงามให้เยาวชนตระหนักและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมในท้องถิ่น และร่วมกันอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง พร้อมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่และพิธีกรรมตั้งแต่การเกิดจนถึงเสียชีวิต เช่น การโกนผมไฟ การสุหนัต วัฒนธรรมประเพณีการแต่งงาน ชุดแต่งงานของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และอาหารที่ใช้ในพิธีแต่งงาน การละหมาด การถือศีลอด ประเพณีการจัดงานศพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลสู่ชุมชน เช่น การส่งเสริมและจัดอบรมอาชีพให้กับชุมชน การจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ การจัดทำศูนย์จำหน่ายของที่ระลึก เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2
พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ของจังหวัดระนองนั้น ตั้งอยู่ที่ บ้านเขาฝาชี หรือ กม.30 หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น จ.ระนอง ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกว่าในอดีตที่แห่งนี้เป็นจุดสถานีปลายทางที่ทหารญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อมาจากจังหวัดชุมพร มี 7 สถานีย่อย ได้แก่ สถานีวังไผ่ สถานีท่าสาร สถานีปากจั่น สถานีทับหลี สถานีกระบุรี สถานีคลองลำเลียง และ สถานีเขาฝาชี ระยะทางรวม 90 กิโลเมตร อาคารพิพิธภัณฑ์เปิดโล่งภายในจัดแสดงรางรถไฟและหัวรถจักรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ตรงกลางอาคารสามารถขึ้นไปนั่งบนหัวรถจักรได้
บ้านร้อยปีเทียนสือ
บ้านร้อยปีเทียนสือ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นจ้าวบ้านคือ “ท่านเทียนสือ” ซึ่งเป็นหลานเขยของ คอซู้เจียง เจ้าเมืองระนอง โดยนายเทียนสือได้แต่งงานกับ “ฉ่ายหล่วน” ซึ่งเป็นหลานสาวของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซินบี้ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง จึงได้สร้างบ้านหลังนี้ ในสมัยประมาณปี พ.ศ.2433 ตั้งอยู่ไม่ไกลจากค่าย ณ ระนอง
พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุสวี
พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุสวี เป็นสถานที่จัดแสดงพระบรมธาตุสวีมีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมเลียนแบบพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2539 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบโอคว่ำ เหนือขึ้นไปเป็นเสาหารก้านฉัตรบัวเถาปล้องไฉน 7 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นปลียอด และเม็ดน้ำค้าง เจดีย์หรือสถูป มีความหมายถึงสถาปัตยกรรมสำหรับบรรจุอัฐิหรือพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มีต้นกำเนิดมาจากเนินดินฝังศพในประเทศอินเดีย ก่อนจะพัฒนากลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนถึงพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา แต่ละภูมิภาคที่นับถือพุทธศาสนาล้วนมีศิลปกรรมของสร้างสรรค์เจดีย์ที่แตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย มีอาคารพิพิธภัณฑ์โดยมีการจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณพระธาตุถูกนำมาเก็บไว้ยังอาคารแห่งนี้ ภายในจะเป็นห้องอาคารชั้นเดียว
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดเทพเจริญ (วัดถ้ำรับร่อ)
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดเทพเจริญ(วัดถ้ำรับร่อ) จัดเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวชุมพรเนื่องจากเคยเป็นสถานที่ตั้งของเมืองโบราณอุทุมพรมาก่อน ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านตรงบริเวณคอคอดมลายู ต่อมาได้มีการประกาศให้เป็นโบราณสถานของชาติขึ้นในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 เพื่ออนุรักษ์ของเก่าที่ทรงคุณค่าให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมโบราณวัตถุที่พบในบริเวณวัด โดยได้รับโบราณวัตถุเหล่านี้มาจากชาวบ้านที่นำมาบริจาค อาทิเช่น ดาบจำลองที่เป็นของใช้เก่าของเจ้าเมือง โถโบราณ ไห ถ้วยแก้ว เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ภาพวาด 3 มิติ หาดใหญ่ เมจิค อาย
พิพิธภัณฑ์ภาพวาด 3 มิติ หาดใหญ่ แมจิคอายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ของนครหาดใหญ่ โดยมีการจัดแสดงภาพวาดลงบนฝาผนังและการใช้เทคนิคการวาดภาพสมัยใหม่ ทำให้ภาพที่วาดออกมาเสมือนจริงภาพมีมิติลวงตา แบ่งเป็นห้องแสดงภาพ เช่น ห้องภาพลวงตา ห้องใต้สมุทร ห้องสัตว์ ห้องศิลปินเก่า ห้องโลกน้ำแข็ง ห้องศิลปะแนวเหนือจริง (โลกจินตนาการ) ห้องภาพที่ให้ความสนุกสนาน และห้องภาพที่ให้ความตื่นเต้น หวาดเสียว เป็นต้น ด้วยการวาดบนผนังและพื้นกว่า 100 ภาพจากจิตรกรมืออาชีพจากประเทศเกาหลีที่สร้างสรรค์งานศิลปะภาพวาด 3 มิติ
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์นครหาดใหญ่
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์นครหาดใหญ่ถือได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ทางด้านดาราศาสตร์และระบบสุริยะจักรวาล สำหรับให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ และเป็นแหล่งการศึกษาตลอดชีวิตที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย มีการจัดแสดงแบ่งเป็นห้องดังนี้ 1. ห้องนิทรรศการดาราศาสตร์ สำหรับศึกษาเรื่องระบบสุริยะจักรวาลและจักรวาลวิทยา 2. โรงฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์ ฉายภาพการจำลองระบบสุริยะจักรวาลและสารคดีดาราศาสตร์ ซึ่งสามารถจุคนได้ประมาณ 100 คน 3. โดมดูดาว พร้อมกล้องโทรทรรศน์แบบรวมแสง Newtonion สำหรับส่องดูในเวลากลางคืน ขนาดหน้าตัด 30 มิลลิเมตร จำนวน 30 ตัว เพื่อเรียนรู้ ศึกษา และบันทึกภาพดาวเคราะห์และปรากฏการณ์บนท้องฟ้า และ กล้องโทรทรรศน์แบบหักเหแสง ขนาดหน้ากล้อง 120 มิลลิเมตร สำหรับส่องดูในเวลากลางวัน จำนวน 5 ตัว 4. ห้องการเรียนรู้ บริการ E-book สำหรับสืบค้นข้อมูลด้านดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนมีหลังคาเป็นรูปแบบโดมสามารถเปิด – ปิดได้ นอกจากนี้ด้านนอกยังมีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์มายากล
พิพิธภัณฑ์มายากล(Magic Museum) เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวมายากล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงอุปกรณ์การแสดงมายากลที่หาชมได้ยาก ของสะสม และของแปลกที่ต้องพิศวง ปิดท้ายด้วยความตื่นเต้นกับการแสดงมายากลขนาดใหญ่ ในโรงละครมายากลแห่งแรกของหาดใหญ่
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมท้องถิ่น ศิลปหัตถกรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณคดี อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ
บ้านนครใน
บ้านนครใน เป็นบ้านเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี บนถนนนครใน ถนนสายวัฒนธรรมประจำจังหลังสงขลา เป็นอาคารชุด 2 หลัง หลังที่ 1 เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน และบ้านตึกสีขาวเป็นแบบชิโนยูโรเปี้ยน
บ้านนครใน ก่อตั้งโดยคุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ ที่ต้องการปลุกกระแสเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิตชีวา ภายในจัดแสดงของเก่าเก็บสะสมที่ทรงคุณค่า อาทิ เตียงโบราณแบบจีน ตู้โบราณ โต๊ะและม้านั่งแบบจีน ถ้วยชามจีน เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ไทยพวน วัดมาบปลาเค้า
พิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดมาบปลาก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่ออนุรักษ์วัตถุโบราณข้าวของเครื่องใช้ของชาวไทยพวน เพื่อเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมต่อไป ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไทยพวนที่ในปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว มีป้ายเขียนบอกชื่อสิ่งของให้กับผู้เข้าชม ของที่นำมาจัดแสดง อาทิเช่น ตะเกียง คนโท ไห เตาปูน เชี่ยนหมาก เครื่องทอผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีของเก่าจากวัดที่ได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ เช่น แผ่นศิลาจารึกจากโบสถ์ เป็นต้น