พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ

พิพิธภัณฑ์ม้ง บ้านห้วยน้ำไซ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ เพื่อบอกเล่าประวัติของชาวม้งให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ โดยมีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องประกอบพิธีกรรม และเครื่องดนตรี เช่น อานใส่หลังม้าสำหรับบรรทุกของ  เขาควายสำหรับใส่ดินปืน หน้าไม้ หลัวจั๊วเก๋า(เชือกดักจับสัตว์) เค้งหรือแคนม้ง โม่งแข่(เครื่องมือที่ใช้ทำสัญลักษณ์ตัดสินคคีความ) หวู(เคียวเกี่ยวข้าว) ช้อนตักแกงที่ทำจากไม้ไผ่ ตาชั่ง จอบ เป็นต้น ผนังอาคารมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติการก่อต้้งหมู่บ้าน ภาพถ่ายเก่า เช่น ภาพครอบครัว ภาพขบวนม้า ภาพกีฬาและการละเล่นต่าง ๆ ของคนในหมู่บ้าน เป็นต้น

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก  สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จัดตั้งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2556 สถานที่ตั้งอยู่ ณ บึงแก่งใหญ่ (บริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2557 – 2560

มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม  ดาราศาสตร์และอวกาศ  ธรรมชาติวิทยา และวิทยาศาสตร์การเกษตร สำหรับนักเรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป

อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน

อนุสาวรีย์วีรชนและอุทยานค่ายบางระจัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่วีรชนบ้านบางระจันผู้ประกอบวีรกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โดยพม่าได้ยกทัพมาตีไทยและมีกองทัพส่วนหนึ่งเข้าตีหมู่บ้านบางระจัน  แม้ว่าชาวบ้านบางระจันจะขาดแคลนอาวุธและมีกำลังน้อยกว่า แต่ก็ได้แสดงความกล้าหาญและความสามัคคียอมพลีชีวิตเพื่อประเทศชาติ จนได้รับการจารึกเพื่อเป็นเกียรติสืบมา

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อแพองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารทรงสูง ด้านหนึ่งของวัดมีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค รอบ ๆ พระวิหารใหญ่มีวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่าง ๆ และพระสังกัจจายองค์ใหญ่ และบริเวณวัดยังมีสวนธรรมะ และสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ แวดล้อมด้วยบรรยากาศสงบร่มรื่น

พิพิธภัณฑ์ฮก แซ่ตึ๊ง

“ฮกแซตึ๊ง” ร้านขายยาเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองอุทัยธานี ซึ่งแต่เดิมแถบนี้เป็นที่ตั้งของโรงเจ “เล่งเน่ยยี่” ซึ่งเข้ามาตั้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนา เมื่อมีประชาชนเข้ามาสักการะเจ้าแม่กวนอิมและไหว้พระที่ตั้งประดิษฐานภายในโรงเจ จึงจำเป็นที่จะต้องมีร้านขายยาเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกและผู้ที่มาโรงเจ ฮกแซตึ๊ง จึงถือกำเนิดขึ้นมา( “ฮก” แปลว่าผู้มีบุญ “แซ”หมายถึงการเกิด “ตึ๊ง”แปลว่าสถานที่หรือชุมชน เมื่อรวมกันจึงหมายถึงการเกิดที่มีบุญ) พร้อมทำหน้าที่เสมือนโรงทาน เพราะเวลาที่ผู้ยากไร้มาตรวจรักษาก็จะบริการให้ฟรี ส่วนผู้ที่พอมีฐานะร่ำรวยกว่าหน่อยจึงจะเก็บเงินตามสภาพ ในช่วงที่มีชาวจีนหนีภัยแล้งมาจากเมืองจีน จะมาขึ้นเรือที่บางรักจากบางรักก็มาขึ้นเรือเทียบท่าอีกครั้งที่อุทัยธานี ซึ่งท่าเทียบเรือที่ว่านี้ก็จะอยู่ใกล้ๆกับโรงเจเล่งเน่ยยี่ เมื่อขึ้นจากท่ามาแน่นอนว่ายังไม่มีงานทำ ยังไม่มีที่นอน ก็จะมาอาศัยอยู่ที่ฮกแซตึ๊งแห่งนี้เพราะที่นี่จะมีอาหารเลี้ยงครบ 3 มื้อ ช่วยกันทำงานทั้งภายในโรงเจและฮกแซตึ๊ง เมื่อได้งานก็ค่อยออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว ในประเพณีงานบุญ งานกินเจต่างๆ ที่แห่งนี้จะใช้เป็นแหล่งชุมนุมของชาวจีนในจังหวัด ย่านนี้จึงถูกขนานนามว่า”ชุมชนชาวจีนแห่งลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง” ในยามปกตินอกจากใช้เป็นร้านขายยาและรักษาผู้ป่วยแล้ว ก็ยังใช้เป็นที่นั่งสังสรรค์จิบน้ำชากัน ณ ฮกแซตึ๊ง แห่งนี้สันนิษฐานว่าถูก สร้างโดยผู้ก่อตั้งวัดและโรงเจเล่งเน่ยยี่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (ปัจจุบันมีผู้ถือกรรมสิทธิ์คือร้านวัฒนไพศาล)

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ได้จัดตั้งขึ้นเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2525 โดยใช้ตัวอาคารเดิมของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ซึ่งเป็นอาคารไม้สองชั้น มีอายุกว่า 80 ปี เป็นที่จัดแสดงสิ่งต่างๆ ระหว่างวิชาการสิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุทัยธานีในอดีตและปัจจุบัน

ศูนย์ทอผ้าลายโบราณบ้านผาทั่ง

ศูนย์ทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณผาทั่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่วิถีและวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านผืนผ้าของชาวลาวครั่งและลาวเวียง ที่มีความสวยงามของลวดลายบนผืนผ้าจากภูมิปัญญาที่ผ่านการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีการจัดแสดงผ้าทอแบบต่าง ๆ เช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ย่าม ผ้าโพกหัวนาค เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์ที่ได้รับรางวัลระดับโลกจากองค์การยูเนสโก  โดยก่อนเข้าพิธีวิวาห์นั้นเจ้าสาวจะต้องทอผ้าด้วยมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปั่นฝ้าย ทอเป็นผืนผ้า แล้วนำมารวมเป็นชุดเครื่องนอน ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดกันมายาวนาน

บ้านจงรัก (พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตาหลวงเพชรสงคราม)

บ้านจงรัก เป็นบ้านไม้ตกแต่งแบบโบราณ โดยนำของสะสมตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน มาใช้ตกแต่งทำให้มีเอกลักษณ์ แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ

ชั้น 2  พิพิธภัณฑ์บ้านคุณตาหลวงเพชรสงคราม  จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของอาจารย์ศิลป์ชัย เทศนา ศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานอุทัยธานี และภรรยาคุณจงรัก โดยได้รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ที่มีค่าของคุณตาทวด หลวงเพชรสงคราม(เผือก รัตนวราหะ)  ตำแหน่งยกกระบัตรในสมัยรัชกาลที่ 5 มาจัดแสดงในรูปแบบห้องต่างๆ อาทิ ห้องนั่งเล่น  ห้องครัว และห้องนอน เป็นต้น   

ชั้น 1 ร้านกาแฟจำลองบรรยากาศแบบโรงเตี๊ยม ที่ตกแต่งด้วยของเล่นและตุ๊กตาโบราณ และมีส่วนขายของที่ระลึกของจังหวัดอุทัยธานี

โบราณสถานเมืองคูบัว

เมืองโบราณบ้านคูบัวตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนวัดคูบัว เป็นโบราณสถานหมายเลข 18 ที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี บ่งบอกว่าเมืองราชบุรีเคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัวได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมามากกว่า 1,000 ปี ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่าง ๆ ที่ค้นพบโดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองโบราณบ้านคูบัวมีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 20.80 เมตร ความสูง 5.40 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอปูน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมโดยรอบ ด้านบนเป็นลานประทักษิณ ชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ มีฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานซึ่งมีซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กรององค์เจดีย์ มีร่องรอยของปูนฉาบ ที่ฐานบัวโค้งแต่ไม่ปรากฏร่องรอยการประดับประติมากรรมปูนปั้น

พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง

พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารศาลปกครอง มีพื้นที่จัดแสดง 187.20 ตารางเมตร และเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจเข้าชมตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2554 โดยจัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศาลปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครองของไทย สำหรับนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ข้าราชการและประชาชน ตลอดจนชาวต่างประเทศที่สนใจ

เจษฎาเทคนิคมิวเซียม

เจษฎาเทคนิคมิวเซียมก่อเกิดจากความรักรถและยานหาหนะทุกชนิดของคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ ที่มีมาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป สิ่งหนึ่งที่ไม่พลาดก็คือการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ยานยนต์ของแต่ละเมืองที่ไปเยือน จนวันหนึ่งเกิดความคิดที่ว่าเมืองไทยน่าจะมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้บ้าง จึงเริ่มสะสมรถโบราณเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน โดยช่วงแรก ๆ ได้เสาะหาจากภายในประเทศเป็นหลัก

พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองอำเภอบ้านไร่ (กลุ่มทอผ้าบ้านนาตาโพ)

ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมืองอำเภอบ้านไร่ ตั้งอยู่หลังวัดบ้านไร่ ติดกับโรงเรียนบ้านหน้าฝายบึงตาโพ ก่อตั้งขึ้นเพื่อการสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของชนชาติลาวครั่งเดิม ส่งเสริมอาชีพให้แก่คนในชุมชน ภายในศูนย์แสดงและสาธิตผ้าทอลาวครั่งบ้านนาตาโพมีการสาธิตวิธีการผลิตผ้าทอแบบโบราณที่ใช้วัตถุดิบจากฝ้าย ด้ายยืน ด้ายพุ่งและด้ายจกใช้การเย็บมือทุกชิ้นลายที่ทอเป็นลายโบราณ เช่น ลายขอหลวง ลายขอคำเดือน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผ้าซิ่น ผ้าคลุมเตียง ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าตัดชุด หมอนขิด ด้านนอกมีพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณมีอายุกว่าร้อยปี ภายในจัดแสดงผ้าทอโบราณที่ชาวบ้านนำมาบริจาคเป็นอาคารขนาดเล็ก

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า