พิพิธภัณฑ์เมืองพิจิตร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสำเนียงภาษาพูด วรรณกรรม ตำนานและนิทานต่างๆ จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่งจนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดพิจิตร โดยสะท้อนวิถีชีวิตจากอดีตกาลกว่าจะมาเป็นปัจจุบันสมัย เพื่อมิให้ลืมรากเหง้า และตัวตนของชาวเมืองพิจิตร ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองพิจิตร
หอชมเมืองนครสวรรค์
หอชมเมืองนครสวรรค์ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับชมวิวทิวทัศน์รอบ ๆ เมืองนครสวรรค์ สามารถมองเห็นเมืองทั้งเมืองจากมุมนี้ได้ โดยภายในจะมีทั้งหมด 10 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัด มีร้านค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 แบ่งเป็นสองส่วน โดยมีร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน Internet Cafe สำหรับชั้นที่ 4 – 9 เป็นบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 10 ซึ่งเป็นบริเวณดาดฟ้า สำหรับชมวิวตัวเมืองนครสวรรค์และอำเภอใกล้เคียงแบบ 360 องศา และสามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองนครสวรรค์ไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร โดยทิศตะวันออกจะเห็นทิวทัศน์เขากบและบึงบอระเพ็ด ทางทิศใต้จะเห็นอุทยานสวรรค์ ต้นน้ำเจ้าพระยา สะพานเดชาติวงศ์ วัดเขาจอมคีรีนาคพรต ส่วนด้านทิศตะวันตกจะพบความสวยงามของทิวเขาเป็นฉากธรรมชาติที่งดงาม อีกทั้งยังมีการจัดเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อน กล้องส่องทางไกล และยังมีกิจกรรมกลางคืนที่ทางเทศบาลฯ ได้จัดขึ้น โดยมีการติดตั้งกล้องดูดาวสำหรับผู้สนใจเรื่องดาราศาสตร์ และเมื่อชมวิวกันเต็มอิ่มแล้ว ยังสามารถเดินทางไปวัดคีรีวงศ์ สักการะพระเจดีย์จุฬามณีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครสวรรค์อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอชมเมือง ลักษณะของหอมีความสูงทั้งสิ้น 32 เมตร
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ได้จัดสร้างจากการที่ชาวบ้านในชุมชนได้มีความศรัทธาต่อหลวงพ่อเดิมหลังจากที่ท่านได้มรณภาพไปแล้วแต่คุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ จึงได้ริเริ่มแนวคิดสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้เป็นสถานที่สำหรับเผยแพร่คุณงามความดีของหลวงพ่อเดิม อีกทั้งยังมีการรวบรวมศิลปวัฒนธรรมของวัดหนองโพไว้อีกด้วย ภายในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมแบ่งการจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 4 ห้องด้วยกัน ประกอบด้วย ห้องที่ 1 มาตุภูมิบ้านหนองโพ จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณบ้านหนองโพ และการตั้งถิ่นฐานของชาวหนองโพ ห้องที่ 2 ห้องพุทฺธสโร หลวงพ่อเดิม จัดแสดงชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ บารมีหลวงพ่อเดิมในด้านต่าง ๆ ห้องที่ 3 ห้องเพิ่มพูนศรัทธา นำเสนอความศรัทธาของชาวบ้านหนองโพและศิษยานุศิษย์ วัตถุมงคลที่ได้รับการถวายจากศิษยานุศิษย์ ห้องที่ 4 ห้องกถาคัมภีร์ แสดงให้เห็นคัมภีร์ในวัดหนองโพจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการจารึกไว้ในสมุดไทยดำ สมุดฝรั่งทั้งที่เป็นคัมภีร์วรรณคดี ตำราเรียน การปกครอง พระพุทธศาสนา กฎหมายฉบับราษฎร์ เป็นต้น
ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาเผาสังคโลก (เตาทุเรียง)
ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาเผาสังคโลก (เตาทุเรียง) เป็นนิคมอุตสาหกรรมโบราณของเมืองศรีสัชนาลัยที่มีการขุดพบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกกว่า 500 เตาในระยะทางยาวถึง 1 กิโลเมตร โดยเครื่องสังคโลกที่ค้นพบนั้นมีทั้งในสภาพสมบูรณ์และแตกหักจำนวนมาก ลักษณะเตาเผาเป็นรูปยาวรีคล้ายประทุนเรือจ้าง มีความยาวประมาณ 7 – 8 เมตร ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกประกอบด้วยอาคารสองหลังซึ่งสร้างครอบเตาเอาไว้ อาคารแรกคือเตาที่ 42 เป็นเตาบนดิน อาคารที่สอง คือ เตาที่ 61 เป็นเตาใต้ดิน ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุ เอกสารทางวิชาการ ตลอดจนวิวัฒนาการของเครื่องถ้วยสมัยโบราณ
พิพิธภัณฑ์อนันต์ชัยไทยโบท
ในอดีต คนไทยมีความผูกพันกับสายน้ำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำในการอุปโภค หรือบริโภค ด้วยเหตุนี้เองคนไทยจึงต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขันตักน้ำ กระบุงที่ใช้หาบน้ำ โอ่งน้ำ เป็นต้น ซึ่งนอกจากเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำอีกเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ เรือ
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายในศูนย์มีการจัดกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ระบบนิเวศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อการศึกษาและวิจัยเท่านั้น ส่วนที่ 2 การบริหารจัดการเพื่อธรรมชาติศึกษาและให้บริการ
ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยปิยะชนก
ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยปิยะชนกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เพื่ออนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม ถ่ายทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไททรงดำ เมื่อมาที่นี่จะได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม ความหมายของปรัชญาชีวิต เครื่องแต่งกายของชาวไททรงดำ ส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญา ภายในศูนย์เรียนรู้มีกิจกรรมทดลองทำเครื่องหอมแบบไททรงดำ บริเวณโดยรอบจะมีชาวบ้านไททรงดำมาตั้งร้านค้าขายของและถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่ผู้เยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพักผ่อนเรียนรู้และทดลองทำ อาทิเช่น การทำแป้งพวงแป้งหยอดที่นิยมอย่างมากในอดีต ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การทำอาหารจากพืชผักสวนครัวพื้นบ้าน การทำเทียนหอม การทำเทียนอบ การทำขี้ผึ้งกะทิ เป็นต้น
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล
ฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เดิมชื่อ ฝ่ายจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะดูแลรักษาเอกสารของกองกลาง และเอกสารส่วนบุคคล ของอดีตอธิการบดี ศ.นพ.ดร. ณัฐ ภมรประวัติ ซึ่งขณะนั้นมีคุณวิภา โกยสุโข เป็นผู้อำนวยการหอสมุด และมีคุณชัยยุทธ บุญญานิตย์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ซึ่งดูแลกองกลาง (กองบริหารงานทั่วไป) ได้ปรึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุ เพื่อดูแลรักษาเอกสาร ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ดังกล่าว กอรปกับได้ผู้มีความรู้ด้านจดหมายเหตุเข้ามาร่วมงานใหม่ คือ คุณสวนีย์ วิเศษสินธุ์ จึงมีแนวคิดที่จะริเริ่มบุกเบิกงานจดหมายเหตุให้แก่ม.มหิดลขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2534
หนุมานนคร(หมู่บ้านโขน)
ศูนย์การค้า The Salaya Mall ได้เนรมิตพื้นที่ให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ที่เดียวเที่ยวครบด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งรวมงานด้านศิลปวัฒนธรรมภายในหมู่บ้านโขน (Khon-Village) ประกอบด้วยโซนต่างๆ อาทิโซนการแสดงโขน ณ โรงละครเพลินฮอลล์, โซนการทำหัวโขนและฝึกหัดโขน จากบ้านโขน, ชมหัตถกรรมเครื่องสังฆภัณฑ์ชั้นสูง จากบ้านสิปปะ,บ้านเครื่องหวานในวัง และ ครัวพลับพลา สอนทำขนมไทยและสอนทำอาหารไทย โดยวิทยากรในวัง 2 โซนนี้จะจำลองการกินอยู่ที่มีเอกลักษณ์ด้านการประดิษฐ์ประดอยศิลปะแห่งการทำอาหารและขนมหวานบ้านร่มหนุมาน สอนหลักสูตรการเพ้นท์ร่ม เพ้นท์ภาพ เพ้นท์เสื้อ สอนท่าโขน ฯลฯ
อุทยานสามก๊ก
อุทยานสามก๊ก เป็นแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างไทย-จีน ได้รับการออกแบบให้ถูกหลักฮวงจุ้ย ตั้งอยู่ในเนื้อที่ 36 ไร่ ของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง โดยผู้ริเริ่ม คือ คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง นักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างให้เป็นสถานที่ให้คนไทย คนไทยเชื้อสายจีน และชาวต่างชาติ ได้เข้ามาเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและจีน
รับเบอร์แลนด์ (RUBBERLAND)
อุทยาการเรียนรู้เกี่ยวกับ “ยางพารา” ของไทย นำเสนอผ่านสื่อผสมเชิงสร้างสรรค์แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียถ้าโลกนี้ไม่มียางจะเป็นไงนะ? ยางเป็นที่รู้จักและใช้ประโยชน์ที่ใหนเป็นที่แรก? ยางเอามาทำอะไรได้บ้าง? รู้ได้ไง ยาง…ลบดินสอได้? แล้วทำไมประเทศไทยถึงเป็นผู้นำด้านการจัดการยางพารา?ทุกคำถามมีคำตอบ ที่ RUBBERLAND พิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในไทยที่รวบรวมความมหัศจรรย์ของ “ยางพารา” พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก อีกทั้งสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนไทยได้เป็นอย่างดี
พิพิธภัณฑ์โบราณสถานธาตุก่องข้าวน้อย
จากนิทานเรื่องเล่าในวัยเด็ก เริ่มมาจากหนุ่มชาวนาคนหนึ่งที่ออกไปไถ่นาจนเหน็ดเหนื่อย ผู้เป็นแม่มาส่งข้าวช้าและกระติ๊บที่ใส่ข้าวในวันนั้นน้อยกว่าทุกวันที่ผ่านมา หนุ่มชาวนาด้วยความโมโหหิว จึงบันดาลโทสะใส่ผู้เป็นแม่ถึงแก่ความตาย เมื่อหนุ่มชาวนากินข้าวอิ่มแล้วจึงเห็นว่าข้าวที่ผู้เป็นแม่ห่อมาให้นั้นยังเหลืออยู่อีกเยอะ แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อแม่ของเขาได้ตายจากไป ต่อมาชายหนุ่มจึงได้ก่อสร้างธาตุแห่งนี้ขึ้นโดยใช้ชื่อว่าธาตุก่องข้าวน้อย เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลทั้งหลายให้แก่แม่ของเขา ลักษณะของธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23 – 25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อย ๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบ