พิพิธภัณฑ์ของโบราณบ้านสงเปือยเป็นแหล่งรวบรวมของโบราณซึ่งได้มาจากการเก็บหรือขุดพบในเมืองเตยเมืองเก่าในสมัยขอม ภายในมีการจัดแสดงสิ่งของโบราณมากมาย อาทิเช่น เตียงบรรทมเจ้าเมือง ศิลาจารึก ที่บ่งบอกว่าซากเมืองโบราณดงเมืองเตยนั้นอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านสงเปือย ถัดออกไปบริเวณโดยรอบ ๆ จะมีซากวัด กำแพงเมือง ในปัจจุบันได้ชำรุดลงไปมากแล้ว มีปูชนียสถานที่สำคัญดังนี้ พระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสงเปือย เป็นที่สักการะของประชาชนในท้องถิ่น ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน เดิมเป็นเจดีย์เก่า อายุประมาณ 200 ปี และรอยพระพุทธบาทจำลอง จัดสร้างโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ในวันสงกรานต์ของทุกปี มีประชาชนในท้องถิ่นมาสรงน้ำเป็นจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน
พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลับแลเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกไท-ยวนสู่คนรุ่นหลัง เพื่อส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวอำเภอลับแลให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เริ่มต้นมาจาก “ครูโจ” ซึ่งเกิดในครอบครัวไท-ยวนที่ผู้หญิงทุกคนต้องทอผ้าสืบต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น ได้ยึดถือเอาคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจ แม้คนลับแลจะห้ามผู้ชายทอผ้า แต่ด้วยความรักในความงามของผ้าซิ่นตีนจกจึงใช้วิธีครูพักลักจำ เรียนรู้ทุกกระบวนการก่อนรวบรวมกลุ่มทอผ้าบ้านคุ้มและบ้านนาทะเล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล เพื่อบอกเล่าภูมิปัญญาวิถีชีวิตของสาวลับแลผ่านผ้าซิ่นตีนจก ผ้าทอพื้นเมืองที่มีความประณีต สอดแทรกด้วยทัศนคติ ความเชื่อ แต่งเติมจินตนาการผ่านเส้นสายลวดลายโบราณ มีรางวัลโอท็อป 5 ดาว การันตี และนำเข้าไปถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประจำทุกปี ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผ้าเก่าที่มีอายุกว่าร้อยปี และผ้าพื้นเมืองประยุกต์ที่เข้ากับยุคสมัย ใต้ถุนบ้านเป็นที่ตั้งของกี่ทอผ้าโดยไม่ใช้ตะกอ ซึ่งผู้ทอต้องใช้ทั้งฝีมือและความชำนาญในการจดจำลวดลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาวลับแลอย่างแท้จริง รวมถึงช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 100 หลังคาเรือน
พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้
พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2542 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สำหรับเหล่านักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจเรียนรู้ และแวะมาชมบ่อเหล็กน้ำพี้ โดยมีการจัดแสดงเป็นหุ่นจำลองการถลุงเหล็กโดยใช้แร่เหล็กน้ำพี้ในการทำมีดเหล็กน้ำพี้ มีการแสดงกรรมวิธีการขุดหาแร่เหล็กการถลุงเหล็ก การตีเหล็ก และแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเหล็กน้ำพี้บริเวณอาคารจัดแสดงมีการติดตั้งเครื่องเสียงบรรยายประวัติการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ บริเวณในพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้โบราณจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของชาวอุตรดิตถ์ ผ่านการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ และการใช้ภาพบรรยาย
อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน
อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน Maehongson Knowledge Park เป็นเเหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตร, วิทยาศาสตร์, การแพทย์, เทคโนโลยี, ชีวิตและธรรมชาติสำหรับเด็ก นักเรียน เยาวชน ประชาชน และชุมชน
พิพิธภัณฑสถานวัดจองกลาง
พิพิธภัณฑสถานวัดจองกลางเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนวัดจองกลาง จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมวัตถุโบราณที่ได้มาจากประเทศพม่า ภายในห้องพิพิธภัณฑ์ มีการจัดแสดงตุ๊กตาไม้แกะสลักที่เป็นทั้งรูปคน และรูปสัตว์พระเวสสันดรชาดกโดยได้สร้างขึ้นจากฝีมือช่างชาวพม่า ได้นำเข้ามาที่วัดจากประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2400 มีการแกะสลักด้วยฝีมือที่มีความสวยงาม หินอ่อนองค์เล็ก คัมภีร์โบราณ ถ้วยชามและเครื่องใช้โบราณต่าง ๆ แต่ละส่วนการจัดแสดงมีป้ายประกอบการอธิบายวัตถุแต่ละชิ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน
พิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน คือ การใช้เมืองทั้งเมืองเป็นพิพิธัณฑ์ฯ ความหมายอย่างง่ายของพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน “อยู่อย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น” โดย นายกปกรณ์ จีนาคำ คือ ความพยายามที่จะดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ดีไว้ ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน จำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนป๊อกกาดเก่า ชุมชนกลางเวียง ชุมชนตะวันออก ชุมชนหนองจองคำ ชุมชนปางล้อ และชุมชนดอนเจดีย์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ฟื้นฟู และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม การอนุรักษ์ต้องเดินไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีมุ่งสร้างกลไกที่ผลักดันเศรษฐกิจชุมชน โดยอาศัยฐานวัฒนธรรมของเมืองพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน มีศูนย์ประสานงานพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ให้บริการข้อมูลพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเมืองแม่ฮ่องสอน และข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน บนถนนสิงหนาทบำรุง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนานบ้านสันติชล
หมู่บ้านศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน บ้านสันติชล จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในชุมชน โดยการสร้างอาชีพให้กับชุมชน ไม่ให้ชาวบ้านยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และช่วยลดปัญหาการขาดรายได้ของคนในชุมชน
กิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน อาทิ
- ขี่ม้าล่อ
- ขี่ชิงช้า
- เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
- ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- เลือกซื้อของที่ระลึกผลิตภัณฑ์จากชุมชน
หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ
เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานการเก็บรวบรวมวัตถุโบราณของหลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี ซึ่งหลวงพ่อได้พบซากปรักหักพังและประติมากรรมในยุคหินทรายของเมืองพะเยา อันเป็นที่มาทำให้หลวงพ่อได้เริ่มเก็บรักษาสมบัติของชาติเหล่านี้ไว้ ณ วัดศรีอุโมงค์คำ จนย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ในปี พ.ศ.2512 จึงย้ายโบราณวัตถุทั้งหมดมาเก็บรักษาต่อ ณ วัดแห่งนี้
พิพิธภัณฑ์ผ้ายันต์โบราณยักษ์
พิพิธภัณฑ์ผ้ายันต์โบราณยักษ์ ตั้งอยู่ในวัดต๋อมกลาง อ.เมือง จ.พะเยา โดยพระอาจารย์สมศักดิ์ สิริมังคโล อดีตเจ้าอาวาสและอดีตเจ้าคณะตำบลบ้านต๋อม ได้เก็บรวบรวมวัตถุศิลปวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งและผ้ายันต์มาไว้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ต่อมาทางวัดและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาในปี 2553 ภายในมีการจัดแสดงของโบราณซึ่งถูกวางอยู่ในตู้กระจก และผ้ายันต์ขนาดใหญ่ที่ติดไว้ข้างฝาผนังของพิพิธภัณฑ์
ศูนย์เรียนรู้บ่อเกลือสินเธาว์
ศูนย์เรียนรู้บ่อเกลือสินเธาว์เป็นแหล่งเกลือสินเธาว์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและเรียนรู้วิธีขุดบ่อเกลือแบบโบราณของชุมชน บ่อเกลือที่มีความสำคัญของที่นี่มี 2 แห่งด้วยคือ บริเวณต้นน้ำว้า ซึ่งมีบ่อเกลือใหญ่ 2 บ่อ อีกแห่งคือบริเวณต้นน้ำน่าน มีบ่อใหญ่ 5 บ่อ และมีบ่อเล็กบ่อน้อยอีกจำนวนมาก โดยตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพักก่อนนำน้ำเกลือมาต้มในกระทะใบบัวขนาดใหญ่เคี่ยวจนน้ำแห้งขอดก่อนนำไปใช้บริโภคเองหรือบรรจุใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน ซึ่งเกลือจากบ่อเกลือแห่งนี้กลายเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้ง ฐานห้วยโก๋น
พิพิธภัณฑ์ทหารกลางแจ้ง ฐานห้วยโก๋น หรือ อนุสรณ์สถานยุทธภูมิบ้านห้วยโก๋นเก่า เดิมเคยเป็นฐานปฏิบัติการของกองพันทหารราบที่ 3 ในบริเวณฐานปฏิบัติการยังคงรักษาสภาพเดิมไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษา มีสนามเพลาะ แนวกับระเบิด คลังอาวุธ จุดที่ทหารไทยเสียชีวิตในบริเวณเดียวกับยุทธภูมิ ฐานสู้รบเหล่าผู้กล้า ฐานทหารเก่าที่บ้านห้วยโก๋นแต่เดิมที่แห่งนี้เป็นสมรภูมิการสู้รบในอดีต เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2514 กลุ่มคอมมิวนิสต์ประมาณ 200 คนได้วางกำลังหวังจะเข้าตีฐาน โดยทหารไทยมีกำลังประมาณ 64 นายได้ยึดฐานห้วยโก๋น 1 ใน 3 ของพื้นที่เป็นบริเวณที่จอดเฮลิคอปเตอร์ กำลังของหทารไทยเหลือน้อยจึงได้ทำการร้องขอยิงปืนใหญ่ชนวนแตกอากาศเหนือบริเวณฐาน ทหารไทยจึงสามารถรักษาฐานปฏิบัติการแห่งนี้ไว้ได้ ปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ โดยภายใน มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของลัทธิการปกครอง เมื่อเดินเข้ามายังฐานห้วยโก๋นจะพบกับซากรถที่ใช้ในการรบ แนววหลุมที่ใช้ในการต่อสู้ จุดที่เคยเกิดการปะทะกันในการต่อสู้ และ ร้านค้าสวัสดิการ
หอศิลป์ริมน่าน
จัดตั้งโดยคุณวินัย ปราบริปู ศิลปินชาวน่าน ที่สร้างสรรค์งานศิลปะและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ หลังจากสั่งสมประสบการณ์ทำงานด้านศิลปะมาหลายสิบปี คุณวินัยจึงกลับมา สร้างหอศิลป์ขึ้นที่บ้านเกิดของตนเอง เพื่อที่จะถ่ายทอดความงามของศิลปะให้แก่ผู้คนและเยาวชนในจังหวัดน่าน โดยใช้เวลาในการปรับปรุงพื้นที่และออกแบบก่อสร้างกว่า 7 ปี จึงเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2547