พิพิธภัณฑ์ค่ายพระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน)

ประวัติความเป็นมาของ วังบ้านปืน หรืออีกชื่อพระรามราชนิเวศน์ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ที่บ้านปืน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือ กับ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้างพระตำหนัก ถนน และสถานที่ต่างๆ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทรฤาไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีเป็นผู้จ่ายเงินสั่งของและเป็นผู้ตรวจการ ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์คาล ดอห์ริง นายช่างเยอรมัน เป็นผู้คิดเขียนแบบรูปพระตำหนักตามกระแสพระราชดำริ โดยมี ดอกเตอร์ควดไบเยอร์ ชาวเยอรมัน เป็นนายช่างก่อสร้าง นายคลูเซอร์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 1,821,687.84 ไร่ หรือ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำหริ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตั้งอยู่ที่  ตำบลสามพระยา  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน  ตามประกาศพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อปีพุทธศักราช  2467  ครอบคลุมพื้นที่  2,2627 ไร่

เมื่อวันที่  5  เมษายน  2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทราย  ซึ่งเดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์  มีสัตว์นานาชนิด  โดยเฉพาะตัวเนื้อทรายซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นลงมากินน้ำในลำห้วยเป็นจำนวนมาก  พื้นที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า  ห้วยทราย

พิพิธภัณฑ์ทหาร ศูนย์การทหารราบ (ค่ายธนะรัชต์)

ปี 2550 พิพิธภัณฑ์ทหารราบ ได้จัดตั้งขึ้นจากคำสั่งที่ให้ทุกหน่วยตั้งแต่ระดับกองพันขึ้นไป จัดตั้ง พิพิธภัณฑ์ทหาร โดยจัดแสดงวัตถุโบราณเป็นชุดๆ อันประกอบไปด้วยอาวุธชนิดต่างๆ เครื่องแต่งกาย ภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพผู้บังคับบัญชา เครื่องมือช่างทหารและแผนที่ และทางศูนย์การทหารราบจึงได้ดำเนินการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเดิมที่ตั้งอยู่ที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี และมอบให้แผนกยุทธการศูนย์การทหารราบเป็นผู้รับผิดชอบทำการรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในศูนย์การ ทหารราบ

รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการอื่นๆ เพื่อให้นิทรรศการมีความสมบูรณ์ จนถึงปี 2551 จึงได้ย้ายที่ตั้งหน่วยไปที่ ตำบลเขาย้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตั้งอยู่ที่นี่จวบจนถึงปัจจุบัน โดยภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงชีวประวัติบุคคล นายทหาร ฯพณฯ ท่านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตลอดจนประวัติและวิวัฒนาการด้านการทหาร เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เรื่องราวของวิถีชีวิตทหารและเทคโนโลยีด้านการทหารต่างๆ มาที่นี่ต้องดู! อิฐพระสถูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โบราณวัตถุตั้งแต่สมัย ปี 2148 เดิมอยู่ที่เมืองหาง ประเทศพม่า ซึ่งผู้จงรักภักดีในพระนเรศวรมหาราชได้ร่วมกันสร้างถวาย เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยใหญ่ในรัฐแน และชาวไทยน้อยหลายกลุ่ม แต่ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ทำลายพระสถูปแห่งนี้ไปแล้ว และอิฐก้อนนี้คือส่วนหนึ่งของพระสถูปองค์นั้น

พิพิธภัณฑ์และอาคารประวัติสงครามกองบิน 5

นิทรรศการประวัติและวิวัฒนาการสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ของกองบินน้อยที่5 วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทหารในช่วงสงคราม นิทรรศการเกี่ยวกับประวัติการบินของประเทศไทยและเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกทัพขึ้นบกที่อ่าวน้อย ภาพเหตุการณ์จริงของสงครามที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ทั่วโลก จำรองชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตที่ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นต้องจัดเตรียมให้ หยิบฉวยได้ง่ายในยามฉุกเฉิน ห้องนิทรรศการทหารไทยในไฟสงคราม ห้องนิทรรศการการเจรจาขอผ่านแดน ห้องสู่สันติภาพ นิทรรศการเกียรติภูมิผู้กล้า ฉากของวีรบุรุษในสมรภูมิ (น.ต.ม.ล. ประวาศ ชุมสาย) ชุดทหาร ที่ผ่านศึกสงครามรูกระสุนจากเหตุการณ์จริง อาวุธยุทโธปกรณ์ของผู้กล้ากองบินน้อยที่ 5 แผ่นจารึกซื้อของผู้กล้าท่านต่างๆ ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการชีวิตความเป็นอยู่ของหอยตลับ เนื่องจากหอยตลับเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทั้งทางชีวภาพและเศรษฐกิจของจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์

พิพิธภัณฑ์หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร คือนักบุกเบิกการเกษตร ผู้อุทิศชีวิตเพื่อเกษตรกรรมและเกษตรกรไทย อย่างแท้จริง โดยพระองค์ได้ทรงทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมขึ้นที่ฟาร์มบางเบิด เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นทางเลือกสำหรับอาชีพของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้ตกเป็นราชพัสดุ ให้เกษตรกรเช่าใช้จนถึงปี พ.ศ. 2532 ก่อนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะขอพื้นที่ฟาร์มบางเบิดมาใช้ประโยชน์เพื่อจัดตั้งสถานีวิจัยทางการเกษตร ในปี พ.ศ. 2534 และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานฟื้นฟูผลงานและเผยแพร่เกียรติยศของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร โดยมีการจัดแสดงชีวประวัติของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และหม่อมศรีพรหมา รวมถึงประวัติการจัดตั้งสถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร และวิวัฒนาการเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการกสิกรรม และการพัฒนาสายพันธุ์ผลผลิตทางการเกษตรด้วย

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า – คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ.2524-2539 ป่าผืนนี้ฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จฯ ปราณบุรี ปี พ.ศ.2539 กรมป่าไม้สนองพระราชดำริ ด้วยการยกเลิกสัมปทานและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งยังดำเนินการฟื้นฟูป่าด้วยการกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายปลูกป่า (Forest Plantation Targer- FPT) ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2539 ซึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนในเวลาต่อมา

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัดวังศิลาราม

ประวัติความเป็นมา สืบเนื่องจากการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับผู้เสียชีวิตช่วงก่อนทำฌาปณกิจศพญาติของผู้เสียชีวิตจะจัดขันบูชาธรรมในลักษณะหัวทาน คือ มีทั้งอาหารและของใช้ในครัวและของใช้บางอย่างของผู้เสียชีวิตเช่น มีด,ตะกร้า เป็นต้น สิ่งของบางอย่างที่มีขนาดใหญ่ญาติจะนำมาถวายพระคุณเจ้าในภายหลังเช่น ชุดหาบ(กระจาด)อาวุธปืนฯ

พิพิธภัณฑ์วัดทุ่งกระเซาะ

เริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมื่อ วันที่ 12 มกราคม 2548 เป็นที่ใช้เก็บของโบราณเก่าแก่ของวัด ซึ่งมีอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2203 ได้แก่ พระพุทธรูปเก่าแก่ ของใช้ในวัดในสมัยก่อน วัสดุอุปกรณ์ของโบสถ์หลังเก่าที่ใช้ในการก่อสร้าง ในพิพิธภัณฑ์มีโซนจัดแสดงอยู่โซนเดียว ของทุกอย่างจะจัดวางอยู่รวมกัน

พิพิธภัณฑ์คัมภีรธรรมสาร

เนื่องจากชาวบ้านและวัดต่างๆ ใน ต.บ้านนา ต้องอพยพลงมาเมื่อปี 2502 จากการสร้างเขื่อนภูมิพล ดังนั้นพระพุทธรูปและวัตถุโบราณจึงได้รวบรวมมาไว้ในวัดชลประทานรังสรรค์และได้จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ขึ้น

พิพิธภัณฑ์ชุมชนตรอกบ้านจีน

ตรอกบ้านจีน เป็นย่านค้าขายของเมืองตากตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ลำน้ำแม่ปิงยังไม่ถูกถมเพื่อขยายฝั่งและยังเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องอุปโภค บริโภคที่ส่งมาจากปากน้ำโพขึ้นที่ท่าบ้านจีน ย่านนี้จึงคับคั่งไปด้วยผู้คนที่มาซื้อขาย ขนถ่ายสินค้า บริเวณชุมชนแห่งนี้ในสมัยก่อนจะเป็นลำคลอง มีสะพานข้ามคลองใช้เป็นจุดขนส่งสินค้าและการเดินทาง เป็นจุดที่มีความสำคัญมากในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะหมู่ชาวจีนอพยพที่เข้ามาทำการค้า ได้รับความไว้วางใจและแต่งตั้งจากทางการให้เป็นผู้ดูแลในเรื่องระบบการค้าขาย ทำให้ยุคนี้เกิดความเจริญกับย่านนี้เป็นอย่างมาก บ้านจีนในสมัยนั้นมีแต่ลูกหลานจีนดำเนินการค้าขาย ปลูกบ้าน ร้านค้า และเริ่มมีถนนหนทางแต่เป็นเพียงทางเดินเท้า ร้านค้าจะมีของขายทุกอย่าง มีร้านขายถ้วยชาม ร้านผ้า ร้านหนังสือเรียน ร้านเครื่องอัฐบริขารในการบวชพระ อาคารในตรอกบ้านจีนจะมุงหลังคาบ้านชนกัน จึงเป็นที่ร่มใช้เดินถึงกันได้ตลอด ตรอกบ้านจีนเริ่มซบเซาลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 การค้าขายได้ขยายขึ้นไปทางทิศเหนือ ร้านค้าจึงเริ่มอพยพไปอยู่ที่อื่น ปัจจุบันบ้านจีนจึงหลงเหลือแต่เพียงบ้านเก่า ไม่มีย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองให้เห็นอีก

พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตาก

จังหวัดตากได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองจังหวัดตาก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก(หลังเก่า) มาเป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากอดีตสถานที่ดังกล่าวเคยเป็น “เรือนประทับ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเมืองตาก เมื่อปี พ.ศ.2501

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า