ประกอบด้วย เรือนอนุสารสุนทร เป็นสถาปัตยกรรมเรือนล้านนาที่สร้างตามแบบของเรือนคำเที่ยง ซึ่งตระกูลชุติมา และตระกูลนิมมานเหมินท์ ได้สร้างเรือนกาแลหลังนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเรือนโบราณล้านนา และอาคารเทพรัตนราชสุดา ซึ่งเป็นอาคารที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามอาคาร และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดในวันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาด้านต่าง ๆ
พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก เชียงใหม่
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดย สล่าเพชร วิริยะซึ่งได้รวบรวมเพื่อนฝูง ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหา ช่างแกะสลักฝีมือดีและมีความรักในศิลปะการแกะสลัก ไม้แบบล้านนามารวมตัวกันจัดตั้ง กลุ่มแกะสลักขึ้นมา
เมื่อปีพ.ศ.2531 คุณลุงประยูร จรรยาวงศ์ (2458) คอลัมน์นิสต์ชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐในขณะนั้น ได้ให้เกียรติมาเยี่ยมเยือน พร้อมกับตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านจ๊างนัก” อันหมายถึงบ้านที่มีช้าง เยอะแยะมากมาย
บ้านจ๊างนัก ได้มีการพัฒนารูปแบบการแกะสลักช้าง จากเดิมที่ช่างแกะจะมีการแกะสลักแบบตายตัว รูปแบบจะซ้ำกัน มาเป็นการแกะสลักช้างที่ดูมีชีวิตชีวา มีท่าทางท่วงทำนองที่เหมือน ช้างจริง ๆ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกที่มีการแกะสลักช้าง รูปแบบเสมือนจริง
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร บริเวณที่ตั้งเคยเป็นสะดือเมืองในสมัยพระยาเม็งราย เป็นที่ตั้งของเสาอินทขีลหรือเสาหลักเมืองก่อนที่จะย้ายไปวัดเจดีย์หลวง ที่ดินเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 จนถึงเจ้าดารารัศมี เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองตามระบบเทศาภิบาลจึงได้ประทานให้รัฐบาล เคยใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อศาลากลางย้ายไปใช้หลังใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่จึงขอปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี พ.ศ.2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
เชียงใหม่ ซู อควาเรียม เชียงใหม่
เชียงใหม่ ซู อควาเรียม เป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำครบวงจรแห่งแรก หนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยอุโมงค์ใต้น้ำขนาดใหญ่ และ มีความยาวมากที่สุดในโลก รวบรวมปลาน้ำจืดแห่งลุ่มแม่น้ำโขงและโลกใต้ทะเลเข้าด้วยกัน
ภายในอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ขนาด 13,985 ตารางเมตร มีอุโมงค์ใต้น้ำใหญ่เป็นอันดับ 1 ในโลก คือ อุโมงค์น้ำจืดและน้ำเค็ม เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ เป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวรวม 133 เมตร แบ่งเป็นอุโมงค์น้ำเค็ม 66.5 เมตร และ อุโมงค์น้ำจืด 66.5 เมตร มีลักษณะอุโมงค์เป็นอะคลิลิกใส หนากว่า 2.5 นิ้ว สามารถรับแรงดันน้ำ ระดับความลึก 5 เมตร ได้อย่างปลอดภัย จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดและน้ำเค็มมากกว่า 20,000 ตัว มีพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 250 สายพันธุ์ และเป็นการแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจาก 2 ป่าฝนที่สำคัญของโลก คือ เอเชีย และ อะเมซอน
พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เชียงราย
พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เกิดจากการทำงานร่วมกันของชุมชนและนักพัฒนาสังคม(กลุ่มคนเฒ่าคนแก่) ที่นำความรู้ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ ออกมาถ่ายทอดสู่การพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือที่เรียกว่า “ของเล่นพื้นบ้าน” จนพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา โดยมีคุณวีระพงษ์ กังวานนวกุล หรือ คุณเบิ้ม เป็นผู้ผลักดัน โดยได้รับความสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแดดในการสร้างอาคาร และชุมชนได้มอบที่สาธารณประโยชน์ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย ตามวัตถุประสงค์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เชียงราย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสาขาประจำแหล่งโบราณคดี การจัดแสดงมุ่งเน้นในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งหลักแหล่งของชุมชน ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์การจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.อาคารจัดแสดงหลัก ชั้นล่างแบ่งออกเป็น 5 หัวเรื่อง ได้แก่ เรื่องภูมิสถานเมืองเชียงแสน เรื่องเชียงแสนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรื่องลวดลายปูนปั้นจากวัดป่าสัก เรื่องพระพุทธรูปศิลปะล้านนาเมืองเชียงแสน เรื่องศิลาจารึกในจังหวัดเชียงราย
ชั้นลอย แบ่งเป็น 2 หัวเรื่อง ได้แก่ เรื่องโบราณสถานที่สำคัญในเมืองเชียงแสน เรื่องโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500-ปัจจุบัน ทั้งในเมืองเชียงแสนและพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย อาทิ พระพุทธรูป เครื่องประดับเจดีย์ แผ่นอิฐมีจารึก และเครื่องสำริด
2.อาคารจัดแสดงส่วนขยาย แบ่งออกเป็น 4 หัวเรื่อง ได้แก่ เรื่องเครื่องถ้วยล้านนาในจังหวัดเชียงราย นับเป็นการศึกษาค้นคว้าเรื่องเครื่องถ้วยล้านนาที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาในจังหวัดเชียงราย ส่วนเรื่องถัดมาจัดแสดงเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยา ได้แก่ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำโขง เครื่องมือทำมาหากินในชีวิตประจำวัน เครื่องดนตรีพื้นเมือง ดาบและอาวุธต่างๆ
เรื่องเชียงแสนในอดีต และเรื่องการเข้ามาของกลุ่มชนต่างๆ เช่น ไทยลื้อ ไทยใหญ่ รวมทั้วชาวไทยภูเขา
หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ เชียงราย
ศูนย์ศึกษาวิวัฒนาการยาเสพติด หอฝิ่น เกิดขึ้นจากพระราชปรารภของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อันประกอบด้วยดินแดนของประเทศลาว พม่าและไทย ที่ชาวโลกรู้จักเพียงแค่เป็นที่ปลูกฝิ่น ผลิต และค้าขายยาเสพติดแหล่งใหญ่ อันเป็นเหตุให้เสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศ จากการแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โครงการในพระราชดำริของพระองค์ ที่สามารถลดอุปทาน (supply) ของการผลิตและค้าฝิ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างดี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องมหันตภัยอันเกิดจากฝิ่นและสารเสพติดเพื่อลดอุปสงค์ (demand) ของการใช้สารเสพติดทั้งปวงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินการตามพระราชปรารภ โดยจัดสร้างหอฝิ่น ในพื้นที่บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยค้นคว้า ราบรวมข้อมูลเรื่องรางเกี่ยวกับฝิ่น และสารเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. 2542 โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีของการก่อสร้างก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ในหลายมิติจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่ให้การสนับสนุนด้านการจัดหางบประมาณ ด้านข้อมูล รูปภาพ วัตถุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อการจัดแสดงนิทรรศการ หอฝิ่นจึงเป็นดอกผลแห่งแรงบันดาลใจในการสืบสานแนวพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์และเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2548 หอฝิ่น จัดเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของฝิ่น และสารเสพติดที่ได้จากฝิ่น สงครามฝิ่น ขบวนการค้ายาเสพติด ที่ซับซ้อนอยู่ในทุกส่วนของโลกสารเสพติดอื่นๆ ผลกระทบของสารเสพติดต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และต่อบุคคล ผู้เข้าชมได้มีปฏิสัมพันธ์ สัมผัส ตระหนักถึงมหันตภัย เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาจากฝิ่นและสารเสพติด ได้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และร่วมกันแก้หรือควบคุมปัญหายาเสพติด ตลอดจนนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง หอฝิ่น จึงไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ให้ข้อคิดเท่านั้น ยังเป็นสื่อสัญลักษณ์สะท้อนอานุภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงห่วงใจประชาชาติ และราษฎรไทยที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากสารเสพติดและได้ทรงทุ่มเทความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง กระทั่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและองค์การสหประชาชาติ ได้ลบชื่อประเทศไทยออกจากรายนามประเทศที่มีการปลูกฝิ่นติดอับดับโลกนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นตันมา
พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น เชียงราย
บ้านฝิ่นเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ก่อตั้งโดยคุณพัชรี ศรีมัธยกุล ซึ่งเริ่มต้นจากการเปิดร้านค้าขายของที่ระลึกและของเก่า ต่อมาคุณพัชรีเริ่มตระหนักว่า ของเก่าที่ขายอยู่ในร้านจะหมดไป จึงเริ่มความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ของเก่า โดยได้คุณรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ตั้งชื่อของพิพิธภัณฑ์ให้
คุณพัชรีทำการค้นคว้าข้อมูลจากสำนักงาน ปปส. มหาวิทยาลัยต่างๆ และหนังสือทุกเล่มที่มีการอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวกับฝิ่น โดยให้เพื่อนที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลแปลเนื้อหาทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนเทคนิคการจัดแสดงเป็นความช่วยเหลือจากนักศึกษาอาชีวะ
วัตถุสะสมส่วนใหญ่ได้มาจากการตระเวนเข้าไปค้นหาจนถึงจีนตอนใต้ รวมถึงการค้าของเก่าที่มีของหมุนเวียนเข้ามาตลอดเวลา มีการจัดทำบัญชีกำกับ ในขณะนี้มีของที่จัดแสดงประมาณ 300 ชิ้น ส่วนอีกประมาณ 1,680 ชิ้นอยู่ในคลัง โดยมีแผนขยายพื้นที่จัดแสดงเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์ของเด็กเล่น ตรัง
พิพิธภัณฑ์ของเด็กเล่นแห่งนี้จัดสร้างขึ้นโดย บริษัท แปลนครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตของเล่นจากไม้ยางพาราส่งออกรายใหญ่ของโลก สำหรับการสร้างพิพิธภัณฑ์ของเล่น เนื่องจากบริษัทมีแนวคิดที่มาจากนโยบายที่อยากคืนกำไรกลับสู่สังคมและชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มของเยาวชนจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ของเล่นขึ้น เมือเดือนมกราคม ปีพ.ศ.2543 จนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ และได้กลายเป็นสถานที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับของเล่นชนิดต่างๆ
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ตรัง
กลุ่มทอผ้าบ้านนาหมื่นศรี เป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอนาโยง มีชื่อเสียงด้านผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดตรัง และมีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้านาหมื่นศรี เพื่อสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองไม่ให้สูญหายไป และห่างจากที่ทำการกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีประมาณ 300 เมตร จะมี พิพิธภัณฑ์มรดกพื้นบ้าน ตำบลนาหมื่นศรี เป็นศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นของตำบล เพื่ออนุรักษ์ศิลปกรรมและหัตถกรรรมของท้องถิ่น แสดงอุปกรณ์เครื่องใช้และวัตถุโบราณ จำนวนกว่า 300 ชิ้น นักท่องเที่ยวสามารถชมได้ที่ที่ทำการกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี
ห้องสมุดรถไฟเทศบาลเมืองกันตัง ตรัง
สถานีรถไฟกันตังเป็นสถานีรถไฟสุดทาง ของทางรถไฟสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล การรถไฟแห่งประเทศไทยและเทศบาลเมืองกันตัง ได้ปรับปรุงสถานีรถไฟกันตัง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดทำห้องสมุดรถไฟ ซึ่งใช้โบกี้รถไฟที่ปลดระวางแล้วเป็นห้องสมุดปรับอากาศ ให้อ่านหนังสือได้ สถานีรถไฟนี้มีการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ตรัง
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ในอดีตดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ท่านได้จับจองที่ดินบนเนินเตี้ย ๆ สำหรับสร้างบ้านพัก ตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองกันตัง ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าในควน พระยารัษฎาฯเรียกบ้านหลังนี้ว่า “ควนรัษฎา” ครั้นเมื่อพระยารัษฎาฯถึงแก่อนิจกรรม บ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ต่อมาโรงเรียนกันตังพิทยากรร่วมกับหน่วยงานราชการขอใช้สถานที่จากทายาทคือ ดาโต๊ะเบียนจง ณ ระนอง จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2535 อาคารจัดแสดงเป็นบ้านพักลักษณะเรือนไม้ปั้นหยาสองชั้น ทาสีฟ้า ตัวบ้านโปร่งมีระเบียงรับลมรอบด้าน แวดล้อมด้วนสวนเล็ก ๆ ภายในบ้านจัดแต่งไว้เช่นเดียวกับเมื่อพระยารัษฎาฯยังอาศัยอยู่