“เพชรบุรีดีจัง” ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

จับมือชุมชนพัฒนา “ถนนคนเดินมีชีวิต” เปิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

“เพชรบุรี” นอกจากจะได้รับการขนานนามว่า “เมือง 3 รส” ยังได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO และเป็นแหล่งรวมสกุลช่างฝีมือศิลปะโบราณหลากหลายประเภท ที่มีการสืบทอดศิลปะและภูมิปัญญามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาทิ งานปูนปั้น ช่างทอง สลักไม้ แทงหยวก เขียนลายผ้าโบราณ งานเขียนลายรดน้ำ และงานจำหลักหนังใหญ่

กิจกรรมหนังตะลุงที่วัดใหญ่สุวรรณาราม

แต่ภูมิปัญญาสกุลช่างเมืองเพชรอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ในช่วงเวลาหนึ่งกลับขาดคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เพราะรูปแบบของการจัดการศึกษาในช่วงนั้นให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ จนหลงลืมรากเหง้า ในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

ครูจำลอง บัวสุวรรณ์

ในขณะนั้น “จำลอง บัวสุวรรณ์” ยังรับราชการครูมองเห็นปัญหาว่า สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนในโรงเรียนไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตได้ และไม่ว่าจะเรียนเก่งขนาดไหนก็ไม่สามารถตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องราวใกล้ตัวในท้องถิ่นได้ จึงมองเห็นโอกาสในการเรียนรู้เริ่มต้นจากการทำโครงการ “ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” สืบค้นรวบรวมภูมิปัญญาเมืองเพชร พบว่าสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้กำลังจะเลือนหายขาดไปและการเชื่อมต่อจากคนรุ่นใหม่ จึงได้ก่อตั้ง กลุ่มลูกหว้า ขึ้นในปี 2549 สร้างทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสืบสานรักษาภูมิปัญญาศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรที่ให้กับเด็กและเยาวชน

“กลุ่มลูกหว้าทำงานร่วมกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อองค์ความรู้ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่โดยเน้นที่งานช่างเมืองเพชรและภูมิปัญญาท้องถิ่น จากนั้นก็ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังและเปลี่ยนชื่อเป็นเพชรบุรีดีจังในปี 2553 เพื่อสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของเราออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ และสืบสานภูมิปัญญาเมืองเพชรด้วยการทำให้คนที่มีองค์ความรู้และต้องการที่จะถ่ายทอดความรู้ได้มาเจอกับคนที่ต้องการมาเรียนรู้”

การแสดงละครชาตรี

“เพชรบุรีดีจัง” เป็นหนึ่งใน “เครือข่ายพื้นที่ดีจัง” ที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มานานกว่า 10 ปี โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  โดยนำเอางานศิลปะหัตกรรมตัดกระดาษเพื่อใช้ประดับในงานบุญเทศกาลต่างๆที่เรียกว่า “พวงมโหตร” มาเป็นเครื่องมือตัวแรกที่ใช้สื่อสารกับคนภายนอก และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ร่วมกิจกรรมที่ สถานีดีจัง ในการสร้างความสุขสนุกไปกับเรียนรู้โดยเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาเชิงช่างสาขาต่างๆ ได้อย่างลงตัว โดยได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่จาก บริษัท เพชรบุรีท่องเที่ยว พัฒนา จำกัด เปิดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ณ สถานีรถรางเขาวังเคเบิลคาร์

นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนพื้นที่กุฏิเก่าที่ถูกทิ้งร้างของวัดใหญ่สุวรรณาราม ให้กลับมาเป็นพื้นที่เรียนรู้สืบสานศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรในชื่อ “หอศิลป์สุวรรณาราม” เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การตอกลายฉลุปิดทอง ที่นำต้นแบบจากเสาไม้ของศาลาการเปรียญสมัยกรุงศรีอยุธยามาประยุกต์เป็นกิจกรรมการทำภาพพิมพ์ลายกระเป๋าผ้า ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มลูกหว้าจากการออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างสนุก นักท่องเที่ยวได้ความสุข และได้ของที่ระลึกกลับบ้าน

ปัจจุบันกลุ่มลูกหว้ามีรายได้จากการจากกิจกรรมดินปั้นเซรามิก วาดเพ้นท์พิมพ์ เป๋าผ้าฉลุลาย และอีกส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเองและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเครือข่าย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ การเป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดเพชรบุรี โดยมีเด็กและเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาจากทำกิจกรรมกับเราตั้งแต่ช่วงแรกๆ ขึ้นมาแกนนำขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิด 3 ส. สื่อสาร สร้างสรรค์ และมีส่วนร่วม  และยังเป็นนักออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเครือข่ายต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องด้วยความสนุกและน่าสนใจ

ครูจำลองเล่าถึงการทำงานของกลุ่มลูกหว้า
ถนนมีชีวิตพานิชเจริญ

ล่าสุดกลุ่มลูกหว้าและเครือข่ายเพชรบุรีดีจัง ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบุรี ชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าสองข้างทางของถนนพานิชเจริญ ปิดถนนในทุกวันเสาร์ในช่วง 17.00-21.00 น. เพื่อใช้เป็นถนนคนเดินในชื่อ “ถนนมีชีวิต พานิชเจริญ เปิดหมวก” ที่มีรูปแบบต่างไปจากที่อื่น คือเป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่ทางความคิด พื้นที่แสดงออกสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว กิจกรรมรวมแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเมืองเพชรและเครือข่าย ที่สลับกันจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ชวนคนในชุมชนและร้านค้าสองข้างทางเปิดบ้านขายของสร้างรายได้ให้กับชุมชน เชื่อมโยงให้ชาวเพชรบุรีเห็นว่าภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ นั้นสามารถขับเคลื่อน ยกระดับ และพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดได้

สุนิสา ประทุมเทือง

สุนิสา ประทุมเทือง “หนูแดง” แกนนำกลุ่มลูกหว้า เล่าว่า ถนนพานิชเจริญเป็นพื้นที่ที่ทำงานกับชุมชนเรื่องพื้นที่เรียนรู้ในเรื่องงานปูนปั้น ร้านทอง ย่านค้าข้าว ขนมหวาน ชุมชนเก่าริมแม่น้ำเพชรฯลฯ เมื่อเทศบาลเมืองเพชรบุรีมีแนวคิดจัดถนนคนเดิน กลุ่มลูกหว้าจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาเมืองเพชรและการแสดงเปิดหมวกเป็นเครื่องมือสื่อสารและพื้นที่แสดงออกของเด็กๆ

“ถนนคนเดินมีกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับคนทุกเพศวัย มีการระบายสีเขียนป้ายผ้าที่มีหัวข้อเกี่ยวกับชุมชนในย่านนั้นๆ มีพื้นที่ Kids Zone ให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างอิสระ มีพื้นที่วาดรูป ระบายสี ทำของเล่น มีการทำพวงมโหตร ภาพพิมพ์ การเพ้นท์ฉลุลายผ้า การทำหุ่นเงาลายฉลุ เปิดโซนตลาดเล็ก-กะ-สิ(Legacy) เพื่อจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของกินของใช้และหัตกรรมพื้นบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัด และมีโซนเมืองช่างแห่งสยาม มีการแสดงพื้นบ้านอย่างละครชาตรี หนังตะลุง และกิจกรรมต่างๆ จากเครือข่ายเพชรบุรีดีจังหมุนเวียนเข้ามาจัดกิจกรรม”

“ครูแดง” ชมพูนุช ประเสริฐจิตร์

“ครูแดง” ชมพูนุช ประเสริฐจิตร์ ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านผ้ามัดย้อมไม้โกงกางจากบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ที่ชักชวนเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการดูแลรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติของผืนป่าชายเลนมานานกว่า 20 ปีเล่าว่า ปกติถนนคนเดินมักจะมีแต่การขายของ แต่ที่ถนนพานิชเจริญนั้นแตกต่าง เป็นถนนคนเดินที่มีสีสันและความสนุกจากกิจกรรมต่างๆ ทำให้ถนนแห่งนี้เป็นถนนคนเดินที่มีชีวิต สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้คนที่มาเดินได้เป็นอย่างดี ร้านค้าต่างๆ ในชุมชนก็ขายของได้ดีขึ้น และยังช่วยให้เกิดการถ่ายทอดกระจายองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเพชรบุรีออกไปสู่บุคคลภายนอกได้อีกด้วย

บงกช เศวตามร์

บงกช เศวตามร์ จากศูนย์การเรียนนวัตกรรมเพื่อความสุข ที่ได้นำเครือข่ายที่ออกแบบหลักสูตรและจัดการเรียนรู้โดยครอบครัวมาศึกษาดูงานพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ของเครือข่ายเพชรบุรีดีจังกล่าวว่า เพชรบุรีนั้นมีความร่ำรวยในทุกๆ เรื่องซึ่งในหลักสูตรของเราเด็กๆ จะเรียนรู้จากสิ่งที่จับต้องได้ใกล้ตัว โดยจะต้องมองให้เห็นรายละเอียด และสามารถเชื่อมโยงย้อนกลับมามองเห็นในภาพใหญ่ได้

“เช่นการพาเด็กไปทำว่าวที่นาบุญข้าวหอมเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ของเพชรบุรีดีจัง การที่เด็กได้ลงมือทำ ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และอธิบายได้ว่าว่าวสามารถบินขึ้นไปบนฟ้าได้อย่างไร หรือจะแก้ไขอย่างไรหากว่าวไม่สามารถขึ้นบินได้ ซึ่งหากมองผิวเผินก็เป็นแค่เรื่องสนุก แต่ในความสนุกนั่นคือการเรียนรู้เชิงฟิสิกส์ที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่วัยประถม”

ทำพวงมโหตรที่ถนนคนเดิน

 “เพชรบุรีดีจังคือพื้นที่ที่ไม่ว่าจะไปตรงไหนก็จะมีแต่สิ่งดีๆ ที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ เป้าหมายของเราคือต้องการให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ โดยกลุ่มลูกหว้าได้ร่วมกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้กว่า 30 แห่ง ออกแบบกิจกรรมเพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ไม่มีการสอนในโรงเรียน ช่วยเสริมสร้างทักษะ จิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และช่วยสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ในครอบครัวจากการออกแบบกิจกรรมให้พ่อแม่ลูกได้ช่วยกันทำ ซึ่งถนนมีชีวิต พานิชเจริญฯ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อสารให้คนในชุชนและหน่วยงานในพื้นที่ได้เห็นความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้ เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ออกไปสู่ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับชุมชนไปพร้อมกัน” หนูแดง แกนนำกลุ่มลูกหว้าระบุ

วาดระบายสีป้ายผ้าสร้างการมีส่วนร่วม

เพชรบุรีดีจัง และ กลุ่มลูกหว้า จึงนับได้ว่าเป็นพลังของคนรุ่นใหม่อันเป็นผลผลิตของการขับเคลื่อนการทำงาน “พื้นที่เรียนรู้” ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน พร้อมกับใช้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ อันทรงคุณค่าควบคู่ไปกับความสนุก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเมืองเพชรไม่ให้ถูกลบเลือนหาย พร้อมกับพิสูจน์ให้เห็นว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านและศิลปะสกุลช่างเมืองเพชรบุรี ไม่ได้เป็นแค่ของเก่า แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ด้วยเช่นกัน.

“อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” สานพลังความร่วมมือเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

เปลี่ยนทุกพื้นที่เป็น “แหล่งเรียนรู้” สำหรับเด็กและเยาวชน

การเรียนรู้คือต้นทางที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ ทั้งหมด การเรียนรู้จะช่วยให้คนมีคุณภาพ สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าเราต้องการสร้างเมืองที่มีคุณภาพ ก็จะต้องมาจากการมีคนที่มีคุณภาพและการบริหารบ้านเมืองที่มีคุณภาพ  เราจึงต้องเริ่มสร้างคนจากเด็กและเยาวชน บนความคาดหวังว่าเด็กที่เราได้บ่มเพาะจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์ได้

พิชาลล์ สร้อยสุวรรณ

เป็นเสียงสะท้อนและความคาดหวังของ “พิชาลล์ สร้อยสุวรรณ” เลขานุการเครือข่าย “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในชื่อของ “กิ่งก้านใบ Learning Space” มานานกว่า 15 ปี  โดยอุตรดิตถ์ติดยิ้มเกิดขึ้นจากรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จำนวน 13 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะทำงานในประเด็นที่แตกต่างกันออกไปผ่านกิจกรรมในพื้นที่หลากหลายรูปแบบ โดยเป็นหนึ่งใน “เครือข่ายพื้นที่ดีจัง” ที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

“จุดเริ่มต้นของเครือข่ายอุตรดิตถ์ติดยิ้มนั้นเกิดขึ้นการจัดเทศกาลที่มีชื่อว่ายกพวกดีกัน เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กวัยรุ่นในปี 2545 ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานของเครือข่ายก็คือการจัดเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มในปี 2560 เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องของพื้นที่เรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์อย่างจริงจัง และมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” พิชาลล์กล่าว

 โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ คนในจังหวัดเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเด็ก เยาวชน และการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เครือข่ายอุตรดิตถ์ยิ้มถูกเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของทางจังหวัดเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่มักจะสอดแทรกเรื่องของการเรียนรู้เข้าไปด้วยเสมอ เช่นถนนคนเดินจากเดิมที่มีแค่การจำหน่ายสินค้า ก็มีเรื่องของการแสดงทางวัฒนธรรมและการละเล่นต่างๆ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น เช่นกัน

“เดี่ยว” วรวุฒิ เพ็งป่าแต้ว

“เดี่ยว” วรวุฒิ เพ็งป่าแต้ว จาก “บ้านนอกสบายดี” หรือ “กลุ่ม ฅ. คนบ้านนอก” นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอุตรดิตถ์ยิ้ม ที่นำเอาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการทำเกษตรอินทรีย์ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรสำหรับคนทุกวัย ที่มีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ผสมผสานกับความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เด็กและเยาวชนเป็นสะพานเชื่อมความรู้เข้าไปสู่ผู้ใหญ่และคนในชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

 “ถ้าจะสอนเรื่องเกษตรอินทรีย์กับเด็กเนื้อหามันก็หนักไป ก็เลยพามาเล่นโคลน เล่นน้ำ เล่นฟุตบอล ของเล่นพื้นบ้าน เป่าปี่ตอซัง หนังสติ๊ก แล้วค่อยๆ สอดแทรกเรื่องวิถีเกษตรอินทรีย์เข้าไปกับการเล่น เช่นเล่นดินโคลนแล้วทำไมไม่คัน ก็ให้ความรู้ไปว่าแปลงนี้ไม่ใช้ปุ๋ยไม่ใช้ยา นานเข้าเด็กก็เริ่มถาม ก็ค่อยๆ สอดแทรกแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ตอนนี้ก็ทำให้คนชุมชนเริ่มหันมาลดละเลิกการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงบ้างแล้ว และอยากให้บ้านนอกสบายดีเป็นต้นแบบเล็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ในการทำพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้จากต้นทุนในด้านต่างๆ ที่ตัวเองมีอยู่”

“แช็ค” สุกฤติ ปิ่นเพชร

“แช็ค” สุกฤติ ปิ่นเพชร จาก “ธรรมมือสตูดิโอ” หนึ่งในเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้อุตรดิตถ์ติดยิ้ม ที่ใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะบำบัดและธรรมชาติบำบัด มาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน สร้างทางเลือกและโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับคนทุกเพศวัย โดยมุ่งเน้นเรื่องของอาหารที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนภายนอกและคนในพื้นที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่

“เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์ติดยิ้มในปี 2560 ที่มีการจัดงานยิ้มใหญ่ไฟกระพริบ ซึ่งตรงกับแนวคิดในเรื่องของการสร้างพื้นที่เรียนรู้ และทำให้เห็นว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนคิดและทำแบบเราเหมือนกัน และอยากเห็นพื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในทุกตำบลทุกอำเภอเพื่อให้เด็กๆ ได้มีทางเลือกของชีวิต เพราะการมีพื้นที่สร้างสรรค์จะทำให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่มีในชุมชนนั้นสามารถนำมาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างได้ เช่นดินเหนียวสร้างเครื่องปั้นดินเผาได้ในขณะที่ก็ใช้สร้างบ้านได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งพลังของความคิดสร้างสรรค์จะก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น”  

“ลุงรัง” รังสรรค์ โนนคำ

“ไร่ลุงรัง” ฟาร์มออร์แกนิค ร้านกาแฟ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ดำเนินงาน “ลุงรัง” รังสรรค์  โนนคำ ก็เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ของอุตรดิตถ์ติดยิ้ม ที่เปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ในฟาร์มแห่งนี้ให้กลายเป็นกิจกรรมเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับทุกครอบครัว ด้วยการประยุกต์เรื่องเกษตรกรรมนำมาใส่กระบวนการแล้วถ่ายทอดลงไปให้คนที่อยากเรียนรู้ได้เข้ามาสัมผัส ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานเพื่อสังคมนั้นสามารถเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจและหล่อเลี้ยงตัวเองได้

“กิจกรรมต่างๆ ก็จะประยุกต์จากเรื่องเกษตรกรรมแล้วนำมาทำให้เป็นเรื่องสนุก โดยจับกลุ่มเป้าหมายคือเด็กปฐมวัยและครอบครัว เด็กอยากลองทำนาแต่ไม่ได้ทำนาเพื่อให้ได้ผลผลิต แต่ทำนาเพื่อความสนุก สนุกตรงได้เล่นดินเล่นโคลน ได้ลองทำอะไรที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตคนเมือง ตรงนี้ก็จะได้เรื่องพัฒนาการทางร่างกาย พอเขาสนุกก็จะสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปให้เกิดเป็นการเรียนรู้ ทำให้เห็นคุณค่าของวิชาเกษตรกรรมที่สามารถถ่ายถอดหรือปลูกฝังความรู้ในด้านต่างๆ ให้กับเด็กได้”

ด้าน “ลาเต้” มรุเดช ไทยดิตษ์ จาก “กลุ่ม UTD” หรือ “อุตรดิตถ์ติดดาว” ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสมัยใหม่ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน  ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวในด้านต่างๆ ของจังหวัดทั้งแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ข่าวสารบ้านเมือง และปัญหาต่างๆ ทางสังคม ผ่านการสร้างสรรค์สื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน

“กลุ่ม UTD เข้ามาเป็นทำหน้าที่ส่งเสริมและให้ความรู้กับน้องๆ เยาวชนในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องพิษภัยจากสื่อ การรู้เท่าทันสื่อ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของภาคประชาสังคม สะท้อนปัญหา ตีแผ่พิษภัยในสังคม โดยมีเครือข่ายเป็นเยาวชนอายุ 16-23 จำนวนกว่า 10 คนที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมในเรื่องต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่เรียกว่า UTD Station เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมการผลิตสื่อต่างๆ  ให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

ซึ่งเป้าหมายของการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” นั้น ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันคือ การเปิดพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน

“ต้องการขับเคลื่อนในเรื่องของการมีพื้นที่เรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะคำว่าพื้นที่เรียนรู้นั้น จะมีพื้นที่ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่ข้อจำกัด อย่างตลาดในชุมชนก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ ให้เด็กได้มาเรียนรู้เรื่องการผลิตแปรรูปค้าขาย  พื้นที่เรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ ที่ สิ่งสำคัญคือต้องมองให้เข้าใจและออกแบบสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร”

วรวุฒิ บ้านนอกสบายดี ระบุ

“อุตรดิตถ์ติดยิ้มเป็นเครือข่ายทางสังคมของคนที่ทำงานเพื่อสังคม เป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้ทุกคนในจังหวัดรู้ว่า เรามีพื้นที่ปลอดภัยทางความคิด มีพื้นที่แสดงออกสำหรับทุกคน เป็นพื้นที่สาธารณะของเด็กๆ ที่เขาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ใหญ่”  รังสรรค์ ไร่ลุงรัง ระบุ

“เป้าหมายที่เราวางไว้อันดับแรกก็คือการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เราไม่ได้คาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลง แต่หวังผลที่จะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยมีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เขาได้รับจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นและเป็นผู้ขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมด้วยตัวของเขาเอง” พิชาลล์ กิ่งก้านใบ กล่าวสรุป

วันนี้ “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” คือเครือข่ายของคนที่ทำงานเพื่อสังคมและขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมร้อยการทำงานของภาครัฐเข้ากับภาคประชาสังคมอย่างกลมกลืน บนเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาเด็กและเยาวชน สร้างคนรุ่นใหม่เพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนของตนเองให้มีคุณภาพต่อไปในอนาคต.

เครือข่าย “ครู-ผู้ปกครอง-ชุมชน” สร้างและหนุน “หลักสูตรการเล่น”

นวัตกรรมการเล่น “ใครๆ ก็ทำได้” สู่วิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ตำบลปางมะผ้า

ทุกๆ การเล่นคือการเรียนรู้ ทุกๆ การเรียนรู้ล้วนเกิดมาจากประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ ดังนั้นการเล่นของเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของความสนุก แต่คือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างมีความสุข ที่มีงานวิชาการยืนยันแล้วว่าสามารถสร้างเสริมและเติมเต็มพัฒนาการเด็กปฐมวัยในด้านต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน

ลึกเข้าไปในเทือกเขาถนนธงชัยชายแดนไทยพม่า ณ บ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของชาวไทยภูเขาหลายชนเผ่าทั้ง ไทใหญ่ ปะโอ และลาหู่ แต่ความห่างไกลไม่ได้เป็นข้อจำกัด ขัดขวางโอกาสการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะที่ชุมชนแห่งนี้ได้นำเอาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาหลอมหลวมเป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยอายุ 2-4 ปีผ่านการ “หลักสูตรการเล่น”

เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม

“หลักสูตรการเล่น” เป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดขยายผลจากกิจกรรมการ “เล่นอิสระ” ที่ “ครูเล็ก” พัชรา รักสัตย์สัญญา  นำการเล่นมาใช้เป็นเครื่องมือในจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุขเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ครบทุกมิติของ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางคาม” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก”  ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ของเล่นพื้นบ้านสร้างการเรียนรู้

“การออกแบบการเรียนการสอนหรือวิธีจัดการเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปางคาม ไม่มีสูตรตายตัว  ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ และจัดการเล่นตามความสนใจของตัวเด็กเอง เช่น บางวันเด็กๆ อยากไปดูวัว ก็จะพาไปดูวัว หรือ อยากไปเก็บชา ก็จะพาไปเก็บชาที่ไร่ชา พาไปเล่นน้ำ ไปดูชาวบ้านดำนา บางวันเรียนหน่วยลอยกระทง ก็จะสอนให้เด็กเล่นลงมือทำกระทงและพาไปลอยที่แม่น้ำ  ทำให้เด็กมีความสุข ครูก็สอดแทรกเรื่องราวในหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ เข้าไปในกิจกรรมนั้น พร้อมอำนวยความสะดวกในการเล่น และดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กๆ” ครูเล็ก พัชรา เล่าถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้

เพราะการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเด็กใช้ภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธ์เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ภาษาไทย “ครูเล็ก” จึงเริ่มประยุกต์ใช้ “การเล่น” เข้าไปแก้ปัญหาเรื่อง “การสื่อสารภาษาไทย” ผ่านการจัด  “กิจกรรม เล่น เรียนรู้ สู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย”  จนได้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Best Practice ระดับปฐมวัยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเครื่องยืนยันว่าการเล่นนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องสนุก แต่สามารถประยุกต์ใช้ไปสู่สร้างการเรียนรู้ได้ทุกๆ เรื่อง

ครูเล็ก

เด็กหลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เมื่อสื่อสารกับเพื่อนและครูไม่ได้จึงไม่อยากมาโรงเรียน ดังนั้นทุกกิจกรรมจึงสอดแทรกคำศัพท์ภาษาไทยคู่กับภาษาถิ่น ให้เด็กออกเสียงและพูดตามซ้ำๆ จนเด็กจำได้ขึ้นใจและเกิดความมั่นใจ สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง

ครูเล็ก กล่าว

เพราะเชื่อมั่นว่าทุกพื้นที่ในชุมชน ทุกมุมของบ้าน ทุกกิจกรรมของคนในครอบครัว สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่และเรื่องราวให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ ทางคณะครูผู้ดูแลเด็กทั้งหมดของตำบลปางมะผ้า จึงรวมตัวกันจัดกิจกรรมอบรมผู้ปกครองในวันแรกรับบุตรหลานเข้าเรียน โดยเชิญทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็กมาเป็นวิทยากรปูพื้นฐานความคิด เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการเล่นที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการและสมองของเด็ก  พร้อมกับชักชวนให้ผู้ปกครองที่มีความพร้อมมาร่วมกันเป็น Play Worker เพื่ออำนวยการเล่นให้กับเด็กๆ ทั้งที่บ้าน และในการจัดกิจกรรมต่างๆ

เมขิ่น ฉิ่งต่า คุณแม่ของน้องบุญ

เมขิ่น ฉิ่งต่า คุณแม่ของ “น้องบุญ” วัย 4 ขวบ เล่าว่าน้องบุญมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เกิดทำให้มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน พอผ่านการอบรมเลยรู้ว่าการเล่นนั้นมีประโยชน์ส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ทุกด้านก็เลยสนับสนุนให้น้องบุญได้เล่นอิสระเต็มที่ จึงชวนน้องบุญทำกิจกรรมทุกอย่างภายในบ้าน ทำกับข้าวก็จะให้ช่วยหั่นผัก ล้างผัก เท่าที่พอจะทำได้

“ถ้าลูกอยากเล่นอะไรก็จะคอยช่วยจัดหาอุปกรณ์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเล่นให้ และจัดมุมเล่นอิสระในบ้าน ทำให้น้องบุญกล้าคิด กล้าคุย กล้าแสดงออก ช่างสังเกต ช่างถาม มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อและแม่ดีขึ้น มีน้ำใจ มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น พูดคุยโต้ตอบภาษาไทยได้ แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ดีใจมากเมื่อพบว่าน้องบุญมีพัฒนาการดีสมวัย” แม่น้องบุญ ระบุถึงข้อดีของการเล่น

ผ่องพรรณ รักสัตย์สัญญา คุณแม่ของน้องฟองเบียร์

ผ่องพรรณ รักสัตย์สัญญา คุณแม่ของ “น้องฟองเบียร์”  วัย 4 ขวบ กล่าวว่า เมื่อก่อนครอบครัวเธอรักความสะอาดมาก ไม่ยอมให้น้องฟองเบียร์เล่นดินเล่นทรายเพราะกลัวเชื้อโรค แต่ตอนนี้เปลี่ยนใจยอมให้ลุยได้เต็มที่ เพราะเห็นน้องฟองเบียร์เล่นแล้วมีความสุข พร้อมกับชักชวนสามีช่วยกันประดิษฐ์ชิงช้าจากเศษไม้ให้ลูกได้เล่นในบ้านด้วย ซึ่งผลจากการเล่นกับลูกที่บ้านทำให้น้องฟองเบียร์ ร่าเริง แจ่มใส กล้าคิด กล้าแสดงออก และเวลาที่เล่นกับเพื่อนๆ ที่มาบ้าน ก็สังเกตเห็นว่าน้องใช้ภาษาไทยสื่อสารกับเพื่อนๆ ที่มาเล่นด้วยกัน

นอกจากการขยายพื้นที่สนับสนุนการเล่นให้เกิดขึ้นในครอบครัวแล้ว “ครูเล็ก” ยังขยายผลออกไปถึงชุมชน โดยชักชวนคณะกรรมการ ศพด.และผู้ปกครองของเด็ก รวบรวมสื่อการเล่นตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เน้นการมีส่วนร่วมในการคิดค้นหาของเล่นพื้นบ้านจากประสบการณ์ในอดีตของสมาชิกในชุมชน “เมื่อตอนวัยเยาว์ได้เล่นอะไรบ้าง?” แล้วนำกลับมาทำให้เด็กๆ ได้ทดลองเล่นอีกครั้ง ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทั้งผู้ปกครอง สมาชิกในชุมชน ในการทำของเล่นต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างมีความสุข แถมยังเป็นการสร้างเครือข่าย Play Worker ในชุมชนไปพร้อมๆ กัน

เดินไปเล่นในชุมชน

ของเล่นพื้นบ้านที่เด็กๆ ชอบมากก็คือ ตียอ เป็นเครื่องดีดคล้ายพิณ ที่ผู้ปกครองมักจะทำมาให้เล่นทุกปี เวลาดีดแล้วมีเสียงดัง ดีดช้าดีดไวให้เสียงต่างกัน เป็นเครื่องดนตรีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยพัฒนาทักษะการฟัง ประสาทสัมผัสตากับมือ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ได้ออกเสียงร้อง เด็กๆจะสนุกสนานกันมาก แล้วก็มีกลองของชาปะโอ ทำจากกระบอกไม้ไผ่ มีลูกข่างของชาวลาหู่ และสะบ้าของไทใหญ่ ที่ให้เด็กได้ฝึกเล่นกันเป็นทีม บางคนก็เอาไปนับหรือระบายสี เด็กๆ ก็จะได้ฝึก การนับจำนวน จำแนกสี ขนาด มิติรูปทรง ครูเล็กกล่าว  

ผลสำเร็จของการเรียนรู้ผ่านการเล่นโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ และการขยายพื้นที่การเล่นอิสระลงไปยังครอบครัวและชุมชน จนเกิดเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกตำบลปางมะผ้า” ที่มีครูและผู้ปกครองจำนวน 80 คนเข้าร่วมเป็นผู้อำนวยการเล่น  ทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวได้รับการต่อยอดพัฒนาไปสู่“หลักสูตรการเล่น” ที่ได้หลอมรวมนโยบายของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมาผนวกเข้ากับการเล่นอิสระ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนตามบริบทของพื้นที่ที่มีชั่วโมงการเล่นมากถึง 76 ชั่วโมงและมีวันเล่นมากถึง 17 วัน โดยปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลปางมะผ้า ได้ขยายผลนำหลักสูตรการเล่นไปใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 6 แห่งในพื้นที่ มีการอบรมพัฒนาครู ควบคู่ไปกับดึงผู้ปกครองในแต่ละชุมชนเข้ามาเป็นเครือข่าย Play Worker ในระดับตำบลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ครูแคท พัชราภา ศุภธาดากุล

 “ครูแคท” พัชราภา ศุภธาดากุล ครูผู้ดูแลเด็ก “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านไม้ลัน” หนึ่งในพื้นที่ขยายผลหลักสูตรการเล่นกล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนเด็กปฐมวัยให้ความสำคัญกับการเล่นภายนอกห้องเรียน มากกว่าในห้องเรียน โดยเน้นให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้วิถีชุมชนของตัวเอง เช่น พาไปเก็บใบชา ปลูกผักสวนครัว ดูต้นไม้ในชุมชน และเล่นผ่านสื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผู้ปกครองช่วยกันทำมาให้เล่นอยู่เสมอ ทำให้ได้ผลลัพธ์จากกิจกรรมการเล่นต่างๆ ออกมาชัดเจน

เด็กๆ มีพัฒนาการตามวัย สามารถตอบคำถามง่ายๆ ตามช่วงวัยของเขาได้ มีพฤติกรรมและการแสดงออกต่างๆ เป็นที่น่าพึงพอใจ ยิ่งถ้าเราให้เขาเล่นมากเท่าไหร่ เขาก็เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น และสามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ดีขึ้น

ครูแคท ระบุ
ความสุขของเด็กจากการเล่น

“การเล่น” ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีความสุขสนุกสนานและผ่อนคลาย  แต่การเล่นนั้นมีพลังสร้างสรรค์อย่างมากมาย สามารถเชื่อมร้อยไปกับการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย จึงอาจกล่าวได้ว่า เด็กสร้างการเล่น แล้วการเล่นก็กลับมาช่วยสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาครบสมบูรณ์ในทุกด้าน และเป็นพลังแห่งเล่นอิสระที่ทุกคนมีส่วนสนับสนุนได้.

DIY : ขนมไข่เต่า

ส่วนผสม

  • มันเทศนึ่ง 300 กรัม 
  • แป้งมันต150 กรัม
  • น้ำตาลทราย 100 กรัม
  • หัวกะทิ 50 มิลลิลิตร
  • เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
  • น้ำมันสำหรับทอด

วิธีทำขนมไข่เต่า

  1. นำมันเทศบี้ให้ละเอียด ทำในขณะที่กำลังร้อนจะบี้ง่าย จากนั้นใส่น้ำตาลทรายขาว เกลือป่น คลุกเคล้าให้เข้ากันดี
  2. ใส่แป้งมันลงไป ขยำให้เข้ากัน ตามด้วยหัวกะทิ นวดจนแป้งเนียน 
  3. ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ตามใจชอบ พักเอาไว้
  4. ตั้งกระทะ เปิดแก๊สใช้ไฟกลางสำหรับทอด ใส่น้ำมันพอให้พอท่วมขนม พอน้ำมันร้อน ใส่แป้งลงไป หมั่นคนเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ติดก้นกระทะ
  5. พอขนมลอยขึ้นมา ใช้กระชอนกดๆ คลึงๆ ที่แป้ง จะทำให้ขนมฟูและกลวง หากขนมออกสีน้ำตาลทอง สามารถตักขึ้นมาพักสะเด็ดน้ำมันได้เลย

DIY : ทับทิมกรอบ แก้ร้อนกัน

ส่วนที่ 2

  1. แห้วหรือสมหวังตามชอบใจ
  2. สีผสมอาหาร สีแดงกับเขียว 
  3. แป้งมันสำปะหลัง 150 กรัม
  4. น้ำตาลทราย 150 กรัม
  5. น้ำ 200 มิลลิลิตร
  6. หัวกะทิ 200 มิลลิลิตร
  7. ใบเตย 3 ใบ
  8. เกลือเล็กน้อย

วิธีทำ

  1. หั่นแห้วเป็นชิ้นเต๋า  แล้วนำไปแช่ในน้ำเปล่าที่ผสมสีผสมอาหารประมาณ 10-15 นาที หรือดูจนแห้วเริ่มเปลี่ยนสี
  2. นำแห้วไปคลุกแป้งมัน 
  3. ต้มน้ำให้เดือด นำแห้วที่คลุกแป้งมันใส่ลงไปต้มในน้ำเดือด สังเกตุแป้งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีใส และตัวทับทิมกรอบลอยขึ้นมา แสดงว่าสุกแล้ว ให้ตักขึ้นลงแช่ในน้ำเย็นจัด
  4. ตั้งหม้อบนเตา ใช้ไฟกลาง ใส่หัวกะทิ และใบเตยลงไป เมื่อหัวกะทิเริ่มร้อน ใส่น้ำตาลทรายและเกลือลงไป คนให้ละลายเข้ากันดี

DIY : เจลลี่แบร์ ทำเองได้ง่ายมากๆ 

ส่วนผสม

  1. ผงเยลลี่  100 กรัม
  2. เจลาติน  40 กรัม
  3. น้ำเปล่า 100 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. เตรียมส่วนผสมประกอบด้วย ผงเยลลี่ เจลาติน และน้ำ นำส่วนผสมทั้ง 3 เทและคนให้เข้ากับ โดยพักเจลาตินและผงเยลลี่ให้ซับน้ำให้เต็มที่ ประมาณ 10-12 นาที
  2. เตรียมแม่พิมพ์ที่ต้องการใช้
  3. จากนั้นนำขึ้นตั้งไฟเบาๆ และขนไปเรื่อย ๆจนทุกอยากละลายจนใส ปิดไฟ พักไว้ 2-3 นาที แล้วช้อนฟองออก 
  4. รีบเทใส่พิมพ์แล้วนำแช่ตู้เย็น 1-2 ชม. สามารถนำไปคลุกแป้งข้าวโพดแล้วเคาะออกเพื่อไม่ให้ติดกันได้

8 ++ เว็บไซต์ที่จะทำให้ชีวิตนักเรียน – นักศึกษาง่าย และพัฒนาสู่จุดที่ดียิ่งขึ้น

ด้วยปัจจุบันในยุคที่เรากำลังจะเดินทางไปสู่ Thailand 5.0 ทำให้โลกนี้ไม่เพียงแต่จะอุดมไปด้วยข้อมูลเท่านั้น แต่ยังอัดแน่นไปด้วยสิ่งเหนือจินตนาการหลายอย่าง ถ้าเราจัดเรียงไม่ดี ข้อมูลที่มากอาจจะเป็นเพียงขยะเท่านั้น แต่มีการดูแลนวัตกรรมที่เจริญก้าวหน้าไปมากนี้ให้ถูกต้อง สิ่งที่เราได้รับก็จะกลายเป็น “คลังความรู้ขนาดใหญ่” และสามารถหยิบนำมาปรับใช้กับผู้คนในสังคมได้อย่างเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาและสร้างคุณค่าให้กับสังคมไปพร้อมๆ กัน

ในวันนี้เรามีแหล่งข้อมูลดีๆ สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่พัฒนาขึ้นทุกวันเพื่อให้มองแนวทางไปสู่อนาคตที่สดใสได้

1. TED-Ed (www.ted.com/watch/ted-ed)

เป็นไปไม่ได้เลยที่พูดถึงเว็บไซต์หาความรู้สำหรับนักเรียนนักศึกษาแล้ว จะไม่พูดถึง TED-Ed ที่นี่เป็นเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในการวบรวมการบรรยายข้อมูลของวิชาต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และมักจะเป็นวิชาหรือความรู้ที่หาไม่ได้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายคือการให้ความรู้กับคนทั่วโลก ที่สำคัญทุกคลิปจะถูกทำขึ้นจากคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้คุณใส่ใจการเรียนมากขึ้น และยังกระตุ้นให้คิดนอกกรอบได้ดีขึ้นอีกด้วย

2. Google Scholar (scholar.google.co.th)

เมื่อมีห้องสมุดที่เป็นวิดีโอกันไปแล้ว เราก็ขอมอบห้องสมุดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Google Scholar กันบ้าง ที่นี่ก็คือ search engine ตัวหนึ่งของ google แต่เป็น search engine ที่ใช้สำหรับค้นหาบทความด้านวิชาการทุกด้านได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ บทคัดย่อ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ วารสาร ที่จัดทำและเผยแพร่จากสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และแหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ข้อมูลหาง่าย และมีจำนวนมากเพราะมาจากทั่วทุกมุมโลก สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงที่ได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ

3. Purdue OWL (owl.purdue.edu)

หากกำลังมองหาที่ฝึกเขียนภาษาอังกฤษแนววิชาการ เพื่อศึกษาต่อ ทำปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ หรือเขียนประวัติย่อสำหรับสมัครงาน Purdue OWL ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ Purdue OWL คือเว็บไซต์ที่ครอบคลุมเคล็ดลับมากมายเกี่ยวกับการเขียนเชิงวิชาการ ไวยากรณ์ และทุกสไตล์การเขียน ซึ่งถูกจัดกลุ่มไว้ในระดับและการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ง่ายต่อการศึกษาของทุกคน นอกจากนี้วิดีโอทั้งหมดยังหาชมได้ง่ายๆ จาก youtube อีกด้วย

4. Evernote (evernote.com)

หากชีวิตวุ่นวายไร้การจัดสรรทั้งการจดโน้ต การบ้าน ตารางสอบ สอบเก็บคะแนน รายงานที่ต้องส่ง แผนงานโครงการและอีกมากมายหลายอย่าง ยกชีวิตส่วนตัวทั้งหมดให้ Evernote จัดระเบียบได้ด้วยความสามารถในการจัดระเบียบและระดมสมองที่สามารถนำมาใส่ไว้ก่อนได้ เมื่อต้องการนำมาใช้จึงค่อยดึงออกมา นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับแอปอื่นๆ เช่น Google Drive และ Outlook และยังสามารถตัดคลิปปิ้งหน้าเว็บที่สนใจมาเก็บไว้ใช้งานได้ด้วย

5. Trello (trello.com)

ถ้าหากว่าถูกมอบหมายให้ทำงานกลุ่ม Trello จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้นด้วยเป็นแพล็ตฟอร์มที่นำเพื่อนร่วมกลุ่มทั้งหมด รวมถึงเครื่องมือในการทำงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน และทั้งทีมก็จะได้เห็นความคืบหน้าของงานทั้งหมดอีกด้วย

6. Medium (medium.com)

ชีวิตไม่ได้มีแต่ในห้องเรียน ลองเดินเฉิดฉายออกมานอกห้องเรียนบ้างอาจจะได้เจอสิ่งดีๆ รออยู่ตรงหน้า แต่หากไม่มีเวลา หรือมีเป็นช่วงสั้นๆ เราแนะนำ Medium เว็บไซต์สื่อทางสังคมที่ “ดีต่อใจ” “ดีต่อกาย” และ “ดีต่อสมอง” ด้วยบทความคุณภาพมากมายที่ถูกนำมาขึ้นไว้ในเว็บไซต์นี้ และยังสามารถเลือกได้ตามความสนใจของคุณ ใช้งานร่างกาย สมอง และจิตใจมามาก แวะที่เว็บไซต์นี้ก่อนได้

7. Scholarship (www.scholarship.in.th)  / วิชาการ (vcharkarn.com/scholarship) 

สองในหลายเว็บไซต์ที่นักเรียนนักศึกษาของไทยจะต้องทำความรู้จัก เพราะมีทริค แนะแนวสำหรับการศึกษาต่อต่างประเทศมากมาย ที่สำคัญที่สุดมีข่าวทุนการศึกษามาบอกกันตลอดเวลา ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกครบถ้วน

8. เว็บไซต์ขอทุนต่างประเทศ

เมื่อจดจ่ออยู่กับเว็บไซต์รวบรวมทุนการศึกษาในไทยแล้ว ก็อย่าลืมมาใช้เวลากับเว็บไซต์รวมรวบทุนการศึกษาของต่างประเทศด้วย พิเศษนิดก็ตรงที่หลายเว็บไซต์มีเกมให้เล่นเพื่อสะสมคะแนนหรือตอบคำถามเพื่อขอทุนการศึกษาหาทำคะแนนได้ดีพอหรือจะใช้เวลาเพื่อล่าเงินรางวัลจากเว็บไซต์เหล่านี้ก็ได้ และพิเศษกว่านั้นก็คือ เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมทุนการศึกษาจากทั่วโลก โดยน้องๆ นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์เหล่านี้ได้ที่ Zinch.com   

  • Fastweb.com  
  • ScholarshipPoints.com   
  • Cappex.com  
  • Scholarships.com 
  • College Board’s Scholarship Search  
  • StudentScholarships.org   

เป็นต้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ หลายแพล็ตฟอร์มที่จำเป็น (หรืออย่างน้อยก็น่าใช้) สำหรับนักเรียนนักศึกษา แต่ทั้งหมดนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า การศึกษาไม่ได้หายากหรือมีไว้สำหรับใครโดยเฉพาะ ด้วยยุคสมัยที่ข้อมูลมีเยอะมากเราเพียงแค่ต้องหาและหยิบข้อมูลนั้นจากแหล่งที่ถูกต้องที่สุดเพื่อพาเราพัฒนาไปสู่จุดที่ดีกว่าเท่านั้น

ทำกิจกรรมตัวเป็นเกลียว แต่หัวก็ยังไบรท์ อายส์ กนิษฐา ปั้นตัวตนจากการเป็นนักกิจกรรมจิตอาสา

เด็กกิจกรรม เรียนดีได้หรือ?

ทำกิจกรรมเยอะ แล้วจะเสียเวลาเรียนหรือเปล่า?

ทำกิจกรรมมากๆ แล้วได้ประโยชน์อะไร?

เชื่อว่าจนถึงวันนี้ คำถามเหล่านี้ก็จะมีปรากฏอยู่ในหัวของผู้ปกครองหลายท่าน วันนี้เรามีตัวอย่างเด็กกิจกรรมดีที่มีการเรียนเด่นให้ได้รู้จักกัน

นางสาวกนิษฐา สินธุพัฒน์สุข หรือ อายส์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ผู้ซึ่งรักในการทำกิจกรรมมากพอๆ กับการเรียน บอกกับเราว่า หากแบ่งเวลาให้ดี กิจกรรมก็ไม่ได้แย่งเวลาการเรียนไปเลย และยังจะทำให้เสริมทักษะด้านการเรียนที่ตัวเองสนใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อายส์ทำกิจกรรมทุกอย่างทั้งในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น เชียร์ลีดเดอร์ ประธานนักเรียน ประธานคณะสี พิธีกรงานสำคัญ และกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางโรงเรียนเป็นผู้จัด ส่วนนอกโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม เด็กนักเรียนที่ขาดแคลน และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเริ่มจากการถูกชักชวนจากเพื่อนให้ร่วมทำงานกับสภาเด็กและเยาวชน

“ตอนที่เพื่อนมาชวนให้ร่วมเป็นจิตอาสาของสภาเด็กตรงนั้นเราตอบตกลงทันที ซึ่งก็รู้สึกชอบมากเพราะได้ทำกิจกรรมจิตอาสาหลายๆ อย่างเลย ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมทาสีโรงเรียน ทาสีบ้านพักครู ดูแลสถานที่ ทำบูธกิจกรรม รวมไปถึงทำคอนเทนต์โปรโมทประชาสัมพันธ์ให้กับสภาเด็กด้วยค่ะ”

“การทำกิจกรรมก็ทำให้เราได้พัฒนาทักษะของตัวเองไปเรื่อยๆ และรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพื่อที่จะได้พัฒนาทักษะนั้นให้ดียิ่งขึ้นค่ะ อย่างตอนที่ทำพิธีกรให้กับสภาเด็ก เราก็สามารถนำมาต่อยอดในวันนี้ที่ได้ทำหน้าที่พิธีกรให้กิจกรรมของ สสส. (สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ในส่วนของปิดเทอมสร้างสรรค์ เราก็ได้มาเป็นพิธีกรในงาน ทำสคริปต์เองได้ รวมทั้งทำกิจกรรมไลฟ์สดด้วย กลายเป็นว่าเรายิ่งได้ฝึกพัฒนาทักษะของตัวเองมากขึ้นไปอีก”

“ข้อดีของการเป็นเด็กกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งมีข้อดีมากมายหลากหลาย อาทิ  การได้ช่วยเหลือผู้คนมากมาย การได้ฝึกทักษะการพูด ฝึกทักษะการรับฟัง และยังได้พบเจอผู้คนหลากหลาย และได้ฝึกพัฒนาทักษะการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่เด็กกิจกรรมอย่างอายส์ได้รับมาจากการทำกิจกรรมจิตอาสา”

ที่สำคัญอายส์จะไม่ได้ทำกิจกรรมมากมายขนาดนี้เลย หากว่าไม่ได้แรงเชียร์แบบเต็มกำลังจากครอบครัว

“คุณพ่อคุณแม่ชอบให้ทำกิจกรรมค่ะ พาไปทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก อย่างกีฬา เอ่ยชื่อมาเถอะ อายส์เล่นมาแล้วเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำ เทนนิส ปิงปอง แบดมินตัน เปตอง หรือยิมนาสติก หรือแม้กระทั่งการทำอาหารที่อายชื่นชอบมาก ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ”

และเมื่อถามว่าจัดแบ่งเวลาเรียนกับเวลาทำกิจกรรมอย่างไร เพื่อให้ทำได้ดีทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะตอนนี้ อายส์กลายเป็นนิสิตสาขาวิชาการจัดการการสื่อสาร (หลักสูตรนานาชาติ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว อายส์ก็แชร์เคล็ดลับที่ง่ายและทำได้ทุกคนให้ฟัง

“อายส์จะจดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน แล้วจัดลำดับความสำคัญว่า สิ่งไหนด่วน สิ่งไหนรอได้ สิ่งไหนควรทำก่อน หรือสิ่งไหนไว้ทำวันถัดไปได้ จากนั้นก็ค่อยๆ ลงมือทำไปตามแผน ที่สำคัญก็คือ กิจกรรมที่เราทำมาทั้งหมดมันทำให้เรามีทักษะต่างๆ จนทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร เช่น เราชอบเป็นพิธีกร ชอบอยู่หน้ากล้อง แต่ก็ทำการตลาดได้ เป็นโปรดิวเซอร์ได้ ทำให้เราจึงมีผลงานยื่นพอร์ตและผ่านเรียบร้อยแล้วค่ะ”

“และคิดว่าเราจะทำกิจกรรมจิตอาสาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วค่ะ เชื่อว่าตัวเองจะสามารถแบ่งเวลาได้ และเมื่อเรามีแรงกำลังมากกว่านี้ก็จะยิ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้มากกว่านี้ด้วยค่ะ”

เธอพูดปิดท้ายด้วยรอยยิ้มและน้ำเสียงมุ่งมั่น

——

หมายเหตุ

  1. ชื่อมหาวิทยาลัย เป็นชื่อที่ได้จากการสัมภาษณ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นมหาวิทยาลัยตามที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์เท่านั้นจึงจะถูกเรียกว่า คนหัวไบร์ท
  2. ภาพจาก Ig: eyesmam

One Proud Day วันพราวด์ๆ ของ “ปั้น-ปุณณวิช” ในทุกปิดเทอม

ภาพความทรงจำในช่วงเวลาปิดเทอมของทุกคนอาจจะแตกต่างกันออกไป สำหรับผู้ใหญ่บางคน วันที่ลูกๆ ปิดเทอมอาจจะเป็นวันที่ยุ่งที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง เพราะมีเจ้าตัวเล็กๆ อยู่ด้วยทั้งวัน ส่วนเด็กๆ บางคนอาจจะนึกถึงความสนุกสนานที่จะได้เล่นกับเพื่อนๆ แบบไร้กฎเกณฑ์ไม่มีคุณครูหรือตารางเรียนมาวุ่นวาย บางคนอาจจะต้องเรียนพิเศษ หรือบางคนอาจจะมีสิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้น

แต่สำหรับ “ปั้น-ปุณณวิช ดีวิเศษพันธ์” เขาเรียกช่วงเวลาเหล่านั้นว่า “วันพราวด์เดย์ (One Proud Day) พราวด์ในที่นี้หมายถึง ภาคภูมิใจ ซึ่งปั้นในวัยที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วเมื่อมองย้อนกลับไป ก็ภาคภูมิใจกับมันจริงๆ

One Proud Day” เป็นชื่อกิจกรรมตอนปิดเทอมของโรงเรียนทอสี โรงเรียนประถมที่ปั้นเรียนอยู่ครับ เป็นกิจกรรมที่ให้อิสระกับนักเรียนว่า ให้ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองชอบหนึ่งอย่าง แล้วมานำเสนอต่อหน้าชั้นในวันเปิดเทอม”

กิจกรรมที่เด็กชายปั้นในวันนั้นได้ร่วมทำกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงสัตว์ ทำยูทูปเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของเด็กวัยประถม จนตอนนี้พัฒนามาสู่ติ๊กตอก ทำธุรกิจใหม่ ทำนิตยสารหรืออื่นๆ ล้วนแล้วแต่สร้างความสนุกสนานให้กับเขาเป็นอย่างมาก และยังต่อยอดสร้างตัวตนที่แข็งแรงของเขามาจนถึงทุกวันนี้

“One proud day เป็นกิจกรรมที่คล้ายๆ กับปิดเทอมสร้างสรรค์ เป็นของโรงเรียนประถมที่ปั้นเคยเรียนครับก็ให้เราคิดโปรเจกต์ขึ้นมาว่า ปิดเทอมเราจะทำอะไร โดยมีกิจกรรมทั้งปิดเทอมภาคเล็กในช่วงเดือนตุลาคม และปิดเทอมใหญ่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ผมทำหลายอย่าง มีสองสามครั้งที่ผมจำได้แม่นเลย ก็คือ การทำธุรกิจ และทำนิตยสารครับ สำหรับการทำธุรกิจ ปีนั้นปั้นเปิดร้านขายกำไรข้อมือแฮนด์เมดในช่วงปิดเทอม ปั้นถักแล้วแล้วนำไปขายคนแถวบ้าน จากนั้นเราก็ทำบัญชีรายรับรายจ่าย อีกปีหนึ่งที่จำได้แม่นคือ อยากเป็นนักเขียน ปั้นก็ทำนิตยสารทำมือขึ้นมาเลย โดยให้แต่ละหน้ามีเซ็กชั่นที่แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้ง หน้าเล่นเกมส์ หน้าข้อมูลความรู้ และไลฟ์สไตล์ต่างๆ พอเราทำเนื้อหาเสร็จก็พิมพ์แล้วนำออกแจก จะเห็นว่า เพียงแค่กิจกรรมเดียวก็ทำให้ปั้นเรียนรู้ได้หลายอย่างมาก มีประโยชน์ต่อเด็กประถมมาก อย่างปีที่ทำนิตยสาร ไม่เคยมีเทอมไหนที่ทำให้เราวุ่นขนาดนั้นมาก่อน ปกติปั้นทำงานหนักอยู่แล้ว ไม่ได้ชอบอยู่เฉยๆ พอตัดสินใจที่ทำนิตยสารก็พยายามวางแผน เขียน และทำมันขึ้นมา รู้สึกว่าเป็นการได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์จริงๆ และได้พัฒนาศักยภาพเรา และมีความสุขมากด้วยครับ”

นับตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าจะเลยช่วงวัยประถมศึกษาแล้ว แต่กิจกรรมช่วงปิดเทอมก็ยังคงสร้างวันแห่งความภาคภูมิใจให้กับเด็กชายที่ในวันนี้ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นแล้วไม่เคยขาด จนถึงทุกวันนี้ปั้นก็ยังคงสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ช่วงปิดเทอมให้ตัวเองอยู่เสมอ

สังเกตได้ว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญและมีบทบาทให้ชีวิตช่วงปิดเทอมของปั้นสนุกและได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นก็คือครอบครัว เมื่อพวกเขาไม่เคยปฏิเสธ ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไร จนหลายกิจกรรมกลายเป็นกิจกรรมครอบครัวไปเลยด้วยซ้ำ

“ถึงตอนนี้ยังทำกิจกรรมเล็กๆ ตอนปิดเทอมตลอด คือปั้นและที่บ้านจะชอบหาโปรเจกต์ที่ทำร่วมกันช่วงปิดเทอม อย่างเช่น ตอนม. 3 จะขึ้น ม. 4 ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด เรามีความคิดว่าปั้นอยากได้ห้องเป็นของตัวเอง ปั้นก็จะมีโปรเจกต์ว่า ปีนั้นเราจะทำห้องกัน ก็เริ่มหาวิธีการ มันอาจจะไม่ใช่โครงการใหญ่ร์อะไร แต่ก็คุยกันว่าจะทำ แล้วอยากรีโนเวทห้องที่บ้าน จากที่จอดรถให้เป็นห้องซักรีดและห้องเลี้ยงหมา เราทำโดยไม่ต้องใช้ช่าง เป็นงานดีไอวายที่ทุกปิดเทอม เราจะหากิจกรรมมาทำด้วยกันครับ สำหรับเรื่องนี้พ่อกับแม่ไม่เคยว่าอะไรเลย อย่างการไปเข้าค่ายช่วงปิดเทอม ก็มีทั้งค่ายวิทย์ ค่ายศิลป์ พอไปแล้วก็มาคุยกันว่าอะไรชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็ทำต่อ แต่ถ้าไม่ชอบก็ลองมาคุยกันในรายละเอียด”

“สำหรับปั้น ปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากครับ”

ความสนุกของปั้นยังคงมีอยู่เรื่อยๆ แต่ก็เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ล่าสุด ปั้นใช้ชีวิตช่วงเวลาปิดเทอมที่แตกต่างออกไป และเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนใครด้วย

“เทอมที่แล้วปั้นไม่ได้อยู่ในไทย แต่ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา มองว่าเป็นโอกาสที่ดีของเรา เพราะเราเรียนออนไลน์มาทั้งปีแล้ว แต่ว่าที่อเมริกาเขาไม่มีปัญหาเรื่องโควิดเลย เราจึงได้ไปโรงเรียนทุกวัน ทำให้ได้เปิดโลกใหม่ๆ ตอนที่ไปใช้ชีวิตที่นั่น และเมื่อเรากลับมาหลังจากไปแลกเปลี่ยน 1 ปีแล้ว เราก็มาเรียนต่อได้ทันที ไม่ต้องซ้ำชั้น ปั้นจึงคิดว่า นี่เป็นปิดเทอมที่ยอดเยี่ยมมากๆ ครับ”

“การได้ทำกิจกรรมช่วงปิดเทอมและช่วงเวลาอื่นๆ นั้น ปั้นว่ามันได้พัฒนาตัวเอง ตรงนี้อาจจะเป็นคำใหญ่สักหน่อย นั่นก็เพราะสิ่งที่เราทำมันพัฒนาทักษะได้หลายอย่าง แต่ถ้าคำใหญ่สุดเลยคือ เราได้เรียนรู้ตัวเองครับ บางครั้งเราทำไม่ใช่เพราะเราชอบหรือไม่ชอบ แต่เราได้รู้ว่า สิ่งนี้แหละคือตัวเรา มันไม่ใช่ว่าทุกกิจกรรมที่เราทำมันจะเหมาะกับเรา เราเคยไปค่ายกีฬา ค่ายวิทยาศาสตร์ แต่มันไม่ใช่ตัวเรา อันไหนที่ไม่ใช่ก็ตัดทิ้ง แล้วเราก็หาสิ่งใหม่เพื่อพัฒนาสิ่งที่เราชอบต่อไป และสิ่งที่เราทำ เราเรียนรู้ มันก็สามารถนำไปบอกคนอื่นต่อได้”

“ปั้นเป็นคนชอบเรียนรู้ เพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง อยากเป็นคนที่รู้ทุกเรื่องเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาปรึกษาพูดคุยกับเราได้ อยากให้ทุกคนเชื่อใจในตัวเราว่า เราทำได้ อยากช่วยให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสทำกิจกรรม หรือสิ่งที่มีประโยชน์ร่วมกับเราเรามีความสุขตรงนี้ก็อยากให้เขามีความสุขไปกับเราด้วยครับ”

 เด็กหนุ่มที่ทำกิจกรรมช่วงปิดเทอมมาตลอดชีวิตวัยเรียน และยังมุ่งมั่นจะทำต่อไปย้ำกับเราอีกครั้งว่า การได้ลองทำกิจกรรม หรืออาจจะเป็นการเล่นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็จะทำให้ชีวิตมีอนาคตที่น่าสนใจรออยู่ด้วย

“อยากชวนเพื่อนๆ มาลองทำกิจกรรมอะไรสักอย่างดูครับ มันจะเป็นการค้นหาตัวเองได้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร และปั้นรู้สึกว่า แค่เพียงได้ลองทำดู ก็เปิดโลกเราแล้ว ไม่จำเป็นต้องอะไรใหญ่ๆ เช่น เห็นคนอื่นเป็นยูทูเบอร์แล้วลองทำดู แค่คลิปเดียวเราก็รู้แล้วว่าชอบหรือไม่ชอบ คืออยากให้ลงมือทำ แค่คุณก้าวออกจากบ้านมันก็คือการลงมือทำแล้ว มันอาจจะเป็นก้าวเล็กๆ  แต่มันคือคุณได้ก้าวไปไกลกว่าคนอื่นที่ยังไม่ลงมือทำแล้ว”

เราเชื่อมาตลอดว่าการทำกิจกรรมของเด็กจะทำให้เด็กพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ เช่น การคิด การเรียนรู้ การตัดสินใจ กล้ามเนื้อในอวัยวะต่างๆ แต่เมื่อได้คุยกับหนุ่มน้อยคนหนึ่งที่ทำกิจกรรมมาอย่างหลากหลาย และเอ่ยถึงการเรียนรู้ตนเอง เราก็ต้องยอมรับแล้วว่า กิจกรรมสำหรับเด็ก อาจจะให้อะไรมากกว่าที่คิด และส่งผลถึงอนาคตของพวกเขาจริงๆ

เอาละ! ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลือกสัก 1 กิจกรรมที่มีประโยชน์ เพื่อเด็กๆ ของคุณ

—————

ภาพจาก Ig: pun_punnavit

“เล่นยกกำลังสุข” เปลี่ยนวิชาการเป็นความสนุกที่ รร.วัดทุ่งสว่าง เปิดพื้นที่ “4 P” ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ด้วยกิจกรรม “เล่นอิสระ”

ในยุคสังคมดิจิตัลเวลาส่วนหนึ่งของเด็กและเยาวชนจำนวนมากมักหมดไปกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์จนส่งผลเสียต่อสุขภาวะในด้านต่างๆ ประกอบกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้านวิชาการ ให้คุณค่ากับการเรียนพิเศษ จนทำให้เด็กต้องเสียโอกาสหนึ่งในชีวิตที่สำคัญไปนั่นก็คือ…การเล่น

“การเล่น” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะดึงเด็กออกจากสื่อสมัยใหม่ ช่วยให้เด็กมีกิจกรรมทางกายอย่างสร้างสรรค์ มีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี มีพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม สร้างให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21

 ที่ โรงเรียนวัดทุ่งสว่าง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่6 ทางคณะครูและผู้บริหารต่างเห็นพ้องตรงกันว่า “การเล่น” นั้นสำคัญไม่น้อยกว่า “การเรียน” เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อเด็กได้เล่นก็จะมีความสุข และความสุขจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีในทุกๆ เรื่อง จึงได้เข้าร่วมเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก” ที่ร่วมขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา(มยพ.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

รมิดา จงหมื่นไวย์

รมิดา จงหมื่นไวย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทุ่งสว่าง กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกในปี 2563 และทำเรื่องการเล่นในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องจากการเล่นจากครูที่ได้รับการอบรมเป็น Play Worker  จนครูทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญปัจจุบันได้มีการเปิดพื้นที่ต่างๆ ของโรงเรียนเพื่อสนับสนุนการเล่นอิสระสำหรับเด็กทุกช่วงวัย ทั้งพื้นที่ Playground ลานเล่นของน้องอนุบาล Play land  ลานเล่นของเด็กประถมต้น  Play room  ห้องเล่นของพี่ประถมปลาย  และPlay zone ที่ถูกจัดไว้ตามมุมอาคาร เพราะครูทุกคนตระหนักถึงการเล่นว่า “อะไรก็เล่นได้ ที่ไหนก็เล่นได้” แล้วจึงบูรณาการเรื่องเล่นเข้าไปสู่กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ

“การเล่นไม่ใช่แค่เพื่อความสนุก แต่เป็นการพัฒนาสมองและความคิดสร้างสรรค์ การเล่นทำให้เกิดทักษะต่างๆ ที่หลากหลายผ่านการคิดและลงมือทำ และการเล่นคือการสร้างความสุขให้กับเด็ก โดยโรงเรียนได้ส่งเสริมเรื่องเล่นกับนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดกิจกรรมวัน Play Day ให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ สังเกตได้ว่าเด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน แต่เรื่องวิชาการเราก็ไม่ได้ทิ้ง เพราะครูของเราได้เข้าอบรมเป็นผู้อำนวยการเล่นหรือ Play Worker เมื่อครูเข้าใจการเล่น เข้าใจความต้องการของเด็ก ก็จะสามารถบูรณาการเรื่องเล่นไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการได้”

ซึ่งเรื่องการเล่นนั้นผู้ปกครองหลายคนอาจจะมองว่าน่าจะเหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย แต่สำหรับเด็กระดับประถมศึกษานั้นการเล่นคงเป็นแค่ความสนุกไม่มีสำคัญเท่ากับการเรียนหรือการกวดวิชา แต่ในความเป็นจริงแล้วการเล่นนั้นมีความสำคัญสำหรับเด็กทุกช่วงอายุ เพราะการเล่นคือหัวใจของการสร้างทักษะต่างๆ ที่สำคัญสำหรับโลกในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนวัดทุ่งสว่างจึงได้ต่อยอดการ “เล่นอิสระ” ไปสู่การจัดทำ “โครงการทุ่งสว่างเล่นยกกำลังสุข (Play&Learn)เพื่อขยายผลในเรื่องของการเล่นที่ดำเนินงานมา 3 ปีจากในรั้วของโรงเรียนออกไปในชุมชนและครอบครัว สร้างเครือข่าย Play Worker ครูและผู้ปกครองที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการเล่นให้เกิดความยั่งยืน

“การเล่นมีความสำคัญสำหรับเด็กทุกคน  เด็กทุกวัยยังมีความชอบและความสนุกกับการได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองสนใจ ยังต้องการของเล่น การเล่นไม่มีการแบ่งเพศ เด็กผู้ชายอยากใส่ชุดเด็กผู้หญิง หรือแต่งหน้าทาปาก ตรงนี้เราไม่ควรจำแนกเพศกับของเล่นและการเล่น ไม่จำเป็นต้องเล่นในสิ่งที่เราถูกออกแบบมาตั้งแต่วัยเด็กว่าผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ หรือเด็กผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา การเล่นอิสระหรือ Free Play นั้นคือการเปิดกว้างทางความคิด เด็กอยากเล่นอะไร อยากทำอะไร ทำได้หมด ครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยการเล่น เตรียมพื้นที่ อำนวยความสะดวก คอยดูความปลอดภัย ที่เหลือก็ให้เด็กๆ ได้เล่นไปตามความต้องการของเขา อย่างการเล่นแล้วเก็บคือวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งที่ได้จากการเล่น”  “ครูโอ” ศิศิวิมล ปานะบุตร ผู้รับผิดชอบโครงการเล่นยกกำลังสุข ระบุ

“ครูโอ” ศิศิวิมล ปานะบุตร

โดยในวันนี้ที่โรงเรียนวัดทุ่งสว่างได้จัดกิจกรรม “Play Day วัดทุ่งสว่าง” งดการเรียนการสอน เปลี่ยนทุกพื้นที่ของโรงเรียนให้เป็นพื้นที่เล่นอิสระ โดยประสานความร่วมมือกับ เครือข่าย Korat Free Play, กลุ่มโคราชยิ้ม, มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และเครือข่ายผู้ปกครอง เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความสุขสนุกเรียนรู้ผ่านการเล่นและลงมือทำตามความสนใจ

ดร.บุญญ์กัญญ์ จิระเพิ่มพูน

ดร.บุญญ์กัญญ์ จิระเพิ่มพูน จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ที่ได้นำ “กล่องเล่น” หรือ Box of Toys มาร่วมกิจกรรมในวันนี้กล่าวว่า กล่องเล่นเป็นนวัตกรรมสนับสนุนการเล่นที่ถูกคิดค้นออกแบบและพัฒนาขึ้นจากลูกศิษย์ที่เป็นนักศึกษาเอกปฐมวัยเพื่อเปิดโลกของการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ  ซึ่งการออกแบบกล่องเล่นทำให้นักศึกษาที่จะจบไปเป็นครูได้มีโอกาสเรียนรู้ความต้องการของเด็กๆ และสามารถออกแบบของเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยได้

“การเล่นนั้นเป็นจุดกำเนิดของการเรียนรู้ในวัยเด็กทุกช่วงวัย ดังนั้นถ้าเขาสามารถออกแบบของเล่นให้มีความน่าสนใจเหมาะกับเด็กแต่ละคนแต่ละวัยได้ ในอนาคตเขาก็จะสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนได้เช่นเดียวกัน การมาช่วยทำกิจกรรมในวันนี้ตัวนักศึกษาเองก็จะได้เรียนรู้วิธีการที่จะทำงานกับครูผู้สอน เรียนรู้วิธีการดูแลจัดการเด็ก และเป็นการปลูกฝังสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครูผ่านการลงมือทำกิจกรรมกับเด็กๆ ไปพร้อมกัน”

สุทธิศักดิ์ กลึงสัตย์

ด้าน สุทธิศักดิ์ กลึงสัตย์ ผู้ประสานงาน Korat Free Play กล่าวว่า เด็กๆ ในปัจจุบันครอบครัวมักจะเน้นในเรื่องของการเรียนและวิชาการค่อนข้างมาก ทั้งๆ ที่การเล่นก็สามารถสร้างเสริมและพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของเด็กได้เช่นเดียวกัน การเล่นไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการโดยเฉพาะเรื่องของทักษะ EF หรือ Executive Functions ซึ่งเป็นทักษะที่มีผลต่อความสำเร็จในด้านต่างๆ ของมนุษย์ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับโรงเรียนโรงเรียนวัดทุ่งสว่างนำเรื่องของการเล่นอิสระเข้ามาใช้ในสถานศึกษาเป็นแห่งแรกๆ ของจังหวัด

“ในปีนี้ได้ร่วมกับทางโรงเรียนวัดทุ่งสว่างขยายผลการดำเนินงานออกไปยังโรงเรียนอื่นๆ อีก 3 แห่ง และร่วมกับมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ออกแบบของเล่น Box of Toys และใช้รถ Toy Truck เพื่อนำของเล่นออกไปหาเด็กๆ ถึงที่บ้านในชุมชนที่ห่างไกล พร้อมกันนี้ทางกลุ่มโคราชยิ้มก็จะช่วยทำหน้าที่เติมเต็มแนวคิดในเรื่องของการเล่นอิสระและอบรม Play Worker ให้กับครูและครอบครัว โดยมีเป้าหมายในการผลักดันเรื่องของการเล่น Free Play ให้เข้าถึงเด็กให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในโรงเรียน โดยจะนำต้นแบบจากโรงเรียนวัดทุ่งสว่างไปเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ ที่สนใจด้วย”

ปัจจุบันความสำเร็จของการขับเคลื่อนเรื่อง  “การเล่นอิสระ” อย่างต่อเนื่องนอกจากจะสามารถเติมเต็มและสรรค์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ แล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังทำให้โรงเรียนวัดทุ่งสว่างได้รับรางวัล “โรงเรียนต้นแบบด้านการเล่น” จากกระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าคณะครูและผู้บริหารของโรงเรียนแห่งนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ใช้ “การเล่นอิสระ” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ให้กลายเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุขสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน.

“เรียนรู้” ผ่านประสบการณ์ “เล่น” ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง พลังแห่ง “ความสุข” สู่เครือข่ายตำบลสนับสนุนการเล่นเด็กปฐมวัย

“เรียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็จะพาเด็กไปที่นั่นจริงๆ เช่นเรียนเรื่องวัดก็จะพาไปวัด เรียนเรื่องต้นไม้ก็จะพาเด็กไปดูว่าทุ่งนาเป็นอย่างไรมีต้นไม้อะไรบ้าง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทอผ้า ก็พาเข้าไปในหมู่บ้านที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างการจัดการสอนรูปแบบเดิมที่ครูจะเปิดหนังสือหรือเล่าให้ฟังเท่านั้น ทุกครั้งก่อนจะจัดกิจกรรมอะไรเราก็จะต้องถามเด็กๆ ก่อนเสมอว่า วันนี้เขาอยากเรียนหรือทำเรื่องอะไร”

“ครูมด”  นารศ จันทร

เป็นคำอธิบายของ “ครูมด”  นารศ จันทร ถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยอายุ 2-4 ปี จำนวน 18 คนของ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง ตำบลหนองม้า อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ  ที่ได้เข้าร่วมเป็น “เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก”  ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการเล่น ใช้การ “เล่นอิสระ” เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว

 “ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจเลยว่าเด็กต้องการอะไร ไม่สามารถควบคุมเด็กได้ ไม่รู้วิธีการจัดการกับเด็กๆ ต่อมาเมื่อได้เข้ารับการอบรมในการเป็น Play Worker หรือ ผู้อำนวยการเล่น ทำให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของเด็กๆ มากยิ่งขึ้น การปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระตามที่เขาต้องการนั้นง่ายกว่าการบังคับให้เด็กต้องทำอย่างที่เราต้องการ  เมื่อเด็กได้เล่นจนพอใจแล้ว เราจึงค่อยถามเขาว่าการเล่นวันนี้สนุกไหม แล้วจึงชวนเด็กมาทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อ เขาก็จะทำตามและพร้อมที่จะเรียนรู้” ครูมดระบุ

โดยที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง ได้ใช้การเล่นนำการเรียนมา 5 ปี โดยประยุกต์การเล่นเข้ากับการจัดประสบการณ์ 6 กิจกรรมหลักโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ มีจุดเด่นคือการเปิดให้เด็กได้เล่นอิสระตามต้องการ และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนเข้ามาสนับสนุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ  นอกจากเด็กๆ จะได้เล่นอิสระตามที่สนใจในแต่ละวันแล้ว ทุกวันอังคารและพฤหัสยังเป็น “วันเล่น” เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นสนุกได้อย่างเต็มที่ โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเสริมเติมเต็มประสบการณ์เรียนรู้จากการได้ลงมือทำ

“ครั้งแรกทำเรื่องเล่นโดยที่ไม่ได้บอกก่อน ผู้ปกครองเห็นว่าเสื้อเลอะสี จึงถามว่าให้ลูกเล่นอะไร เมื่อมีเสียงสะท้อนและความสงสัย จึงเชิญเข้ามาประชุมชี้แจงการเรียนการสอน เชิญวิทยากรมาอธิบายความสำคัญของการเล่น หลังจากนั้นก็ให้เข้ามาดูเด็กเล่น ชวนให้ผู้ปกครองนึกย้อนว่าตอนที่เป็นเด็กชอบทำอะไรมากที่สุด ทุกคนก็จะนึกถึงและจำได้แต่เรื่องเล่น แล้วก็ชวนให้เล่นกับเด็กผู้ปกครองก็จะเข้าในการเล่นมากขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่รับเด็กใหม่ก็จะจัดอบรมแบบนี้ทุกครั้งเพื่อให้ผู้ปกครองยอมรับ เข้าใจ และสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ” ครูมดเล่าถึงแนวทางการสร้างความเข้าใจ

นอกจากนี้สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองมากที่สุดก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เมื่อก่อนเวลามาส่งก็มักจะร้องไห้ไม่อยากมา แต่พอ “ครูมด” เปลี่ยนการเรียนเป็นการเล่น เด็กๆ ก็อยากจะที่จะมาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากขึ้น เดินเข้ามาในพื้นที่และทำกิจกรรมต่างๆ ที่เตรียมไว้เอง โดยไม่ร้องไห้งอแง และมีวินัยสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนิน “โครงการเยี่ยมบ้านประสานสัมพันธ์”  โดยคณะครูลงไปเยี่ยมบ้านของเด็กๆ  ทุกคน ให้คำและแนะนำความรู้เรื่องการเล่นกับผู้ปกครอง มีหนังสือนิทานให้ยืมเพื่อให้นำไปอ่านให้ลูกฟัง แนะนำการจัดสถานที่เพื่อให้เด็กๆ ได้มีมุมเล่นอิสระที่บ้าน วัสดุเหลือใช้อะไรก็นำมาเป็นของเล่นให้กับลูกหลานได้ได้ หากขาดเหลืออะไรก็พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องไปถึงที่บ้าน

“ครูเต่า” อรุณรัตน์ สุระ

“ครูเต่า” อรุณรัตน์ สุระ จาก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองม้า เล่าว่าก่อนที่นำเรื่องเล่นอิสระมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อน เพราะความเชื่อของคนส่วนมากจะเข้าใจว่าการมาโรงเรียนก็คือต้องมาเรียนหนังสือ

“เรามีการอบรมผู้ปกครองให้เข้าใจถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ว่าเป็นการเรียนปนการเล่น ใช้การเล่นอิสระมาจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย มีวิทยากรให้ความรู้เรื่องประโยชน์และคุณค่าของการเล่น วันที่มีกิจกรรมก็ชวนผู้ปกครองให้มาดูเด็กๆ พอได้เห็นว่าเด็กมีความสุขและมีพัฒนาการต่างๆ ที่ดีขึ้นก็จะเริ่มเชื่อมั่น และพร้อมให้การสนับสนุนทุกครั้งที่มีกิจกรรม”

“ครูเต่า” อรุณรัตน์ สุระ

สำหรับวันนี้ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง ได้จัดกิจกรรม “วันเล่น” ขึ้น มีกิจกรรมวาดภาพระบายสี เล่นสนุกกับฟองสบู่ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่สนุกและอิ่มอร่อยคือ “การทำขนมบัวลอย” และ “ส้มตำ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ เรียกร้องให้คณะครูจัดการเรียนรู้ให้กับพวกเขา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนทุกช่วงวัยเข้ามาเตรียมสถานที่ วัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเองในทุกขั้นตอนโดยมีผู้อาวุโสในชุมชนคอยอธิบายให้คำแนะนำ สอดแทรกความรู้และเรื่องราวต่างๆ ในการทำเข้าไปอย่างสนุกสนาน รวมไปถึงมีกิจกรรมประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุพื้นบ้านในธรรมชาติ อาทิ การร้อยพวงมาลัยดอกไม้ และจักสานปลาตะเพียน

สบา พันธ์ขาว

สบา พันธ์ขาว ผู้ปกครองของ น้องโปรด น้องเนย และน้องแพน เล่าว่า เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องทำกิจกรรมแบบนี้ พอคุณครูชวนให้มาดูว่าเด็กๆ ที่นี่อยู่กันยังไง ได้เห็นพฤติกรรมต่างๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ทำให้เข้าใจเรื่องของการเล่นอิสระว่าการเล่นก็แทรกการเรียนรู้ไปได้ อย่างผักผลไม้ต่างๆ ที่นำมาทำส้มตำในวันนี้เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องสีต่างๆ  ได้สอนชื่อเรียกภาษาไทยคู่กับภาษาอีสาน ได้ฝึกสังเกตเรียนรู้เช่นใส่น้ำปลามากไปก็เค็ม ใส่พริกมากไปก็เผ็ด หลังจากนั้นเลยมาช่วยงานตลอดเพราะอยากให้หลานๆ มีความรู้ มีความสุขจากการได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ

“ครูยาย” สุรชาติ วิทสิงห์

“ครูยาย” สุรชาติ วิทสิงห์ อดีตครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านจาน ที่มาเป็นจิตอาสาช่วยดูแลการจัดกิจกรรมต่างๆ เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า จะไปช่วยงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 แห่งทุกครั้งเมื่อมีการจัดงาน โดยจะชวนเด็กๆ มาสานปลาตะเพียน ทำของเล่นจากวัสดุพื้นบ้าน และเล่านิทานให้ฟัง

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 แห่งของเรามีพัฒนาการที่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก  ซึ่งเกิดขึ้นจากมีการให้ความรู้สร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ใช้การเล่นเป็นหลัก เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และลงมือทำ ทำให้ชุมชนเข้าเข้าใจและมามีส่วนร่วมมากขึ้น ผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างดี”

ร.ต.อ.เสถียร พรหมสุวรรณ

ร.ต.อ.เสถียร พรหมสุวรรณ นายก อบต.หนองม้า กล่าวถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลงว่า เป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 2 แห่งในพื้นที่ เพราะเด็กในวัยนี้การเล่นนั้นมีความสำคัญมาก เป็นการเตรียมความพร้อมทักษะด้านต่างๆ ช่วยพัฒนาสมอง และความคิดสร้างสรรค์ให้พร้อมที่จะเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา

ถ้าเราช่วยกันปลูกฝังสิ่งดีๆ เหล่านี้ก็จะติดตัวเด็กไปจนโต เราจึงได้นำครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ปกครองมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ในด้านต่างๆ ให้กับเด็ก และมีแนวคิดว่าจะต่อยอดขยายผลไปสู่การดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ โดยเปิดศูนย์ 2 วัย ทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ให้คนเฒ่าคนแก่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน เด็กสนุกผู้ใหญ่ก็ไม่เหงา ได้สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้าน และสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ไปพร้อมกัน

การอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเด็กคนนั้นเก่งกว่าคนนี้ แต่เราจะเน้นที่พัฒนาการสมวัย คำว่าพัฒนาการสมวัยก็คือ พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการเล่น การมีความสุข ได้สนุกกับสิ่งที่ทำ ซึ่งการที่เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย จะทำให้เขาสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่า

“ครูมด” นารศ จันทร กล่าวสรุป.

“Play Day วันเล่นสนุก” มหัศจรรย์แห่งการเล่นในเด็กปฐมวัย เพียง “เล่นอิสระ” พบผลลัพธ์ชี้ชัดร้อยละ 98 มีพัฒนาการที่สูงขึ้น

“เมื่อเด็กได้เล่น สมองจะเปิด และเกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องได้ดีที่สุด”

เพราะเชื่อมั่นในแนวคิดดังกล่าวทางคณะครูและผู้ดูแลเด็กของ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา สำนักงานเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้และการดูแลเด็กปฐมวัยอายุ 3-6 ปี ในแต่ละวันให้กลายเป็นเรื่องสนุกมาตั้งแต่ปี 2562  เปลี่ยนวิชาการให้เป็นความสุข ใช้ความสนุกจากการเล่นของเด็กๆ เป็นเครื่องมือนำพาไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ทำให้ทุกๆ เช้าของเด็กนักเรียนตัวน้อยกว่า 200 ชีวิตจะได้ยินคำพูดติดปากจากผู้ปกครองที่มาส่งที่หน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ว่า “มาโรงเรียนเล่นให้สนุกนะลูก” จากปกติที่เคยจะได้ยินแต่คำว่า “ตั้งใจเรียนนะลูก”

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการเข้าร่วมเป็น เครือข่าย “เล่นเปลี่ยนโลก” ที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักเรื่องการเล่น ใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว

สำหรับจุดเด่นในการจัดการเรียนรู้และดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา ที่นอกจากจะมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระในเด็กปฐมวัยแล้ว ยังดำเนินการควบคู่กับไปการอบรมทำความเข้าใจให้ความรู้กับผู้ปกครองตั้งแต่วันแรกของการรับเด็กเข้าเรียน ให้ตระหนักและเข้าใจถึงคุณค่าของการเล่นที่เป็นธรรมชาติของเด็กและเป็นพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต เพราะนำไปสู่การสร้างเสริมพัฒนาการที่ดีขึ้นกับเด็กปฐมวัยครบทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา

ครูซุพยาณี มูซอ

ครูซุพยาณี มูซอ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา กล่าวว่า นอกจากทุกวันจะเป็นวันเล่นอิสระของเด็กๆ แล้วในแต่ละเดือนก็จะมีกิจกรรมใหญ่ที่เด็กๆ ต่างรอคอยคือ “Play Day วันเล่นสนุก” โดยจะเปิดพื้นที่เรียนรู้ผ่านโซนหรือฐานกิจกรรมต่างๆ อาทิ โซนเล่นสนุกกิจกรรมกลางแจ้ง โซนศิลปะระบายสีโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ โซนเล่นกับธรรมชาติดิน ไม้ ทราย น้ำ โซนเล่นสนุกกับวิทยาศาสตร์ หรือโซนการเล่นแบบ Loose Parts หรือการเล่นกับวัสดุ สิ่งของ ชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นของจากธรรมชาติหรือสิ่งของที่สามารถถอดออกหรือนำมาต่อติดประกอบเล่นด้วยกันได้ โดยเด็กๆ สามารถเลือกที่จะ เล่น เรียน รู้ และสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ได้ความสนใจของตนเอง โดยจะมีครูและผู้ปกครองร่วมทำหน้าที่เป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น คอยสนับสนุนให้เกิดการเล่นอย่างปลอดภัย เปิดโอกาสให้จินตนาการของเด็กๆ นำพาไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ด้วยตัวของเขาเอง

การเล่นแบบ Loose Parts

“การเล่นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะเด็กทุกคนไม่สามารถย้อนเวลากลับมาเป็นเด็กได้อีกครั้ง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติของเด็กและความต้องการของเด็กในช่วงวัยนี้ก็คือการเล่นนั่นเอง เพราะเมื่อเด็กๆ ได้เล่น เขาก็จะมีความสุข สมองของเขาก็พร้อมที่จะเปิดรับในเรื่องราวต่างๆ และจะเกิดการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่องได้ดีที่สุด”

ครูซุพยาณีระบุ
อภิศิริ ยอดเวียน

อภิศิริ ยอดเวียน ผู้ปกครองของน้อง “นาบี๊ล” ชั้นอนุบาล 2 ที่อาสามาเป็น Play Worker หรือผู้อำนวยการเล่น ในโซนเรียนรู้เล่นกับธรรมชาติดิน ไม้ ทราย น้ำ เล่าว่า การเล่นนั้นมีความสำคัญมากถ้าเราลองสังเกตจะเห็นว่าเด็กๆ ทุกคนจะมีความสุขที่ได้เล่น มีจินตนาการ และมีอิสระทางความคิด

“ครั้งแรกที่พาลูกมาเข้าเรียนก็จะมีการให้ความรู้กับผู้ปกครองทุกคน จนเข้าใจว่าการเล่นนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้มากกว่าการเรียน ซึ่งก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ลูกมีพัฒนาการต่างๆ ที่ดีขึ้นทั้งด้านกล้ามเนื้อ อารมณ์ ความคิด การลำดับเหตุการณ์ การวางแผน มีระเบียบวินัย ในการเล่นของเล่นเมื่อเล่นแล้วก็เก็บของเอง จริงๆ แล้วอยากบอกว่าเรื่องวิชาการนั้นพ่อแม่สามารถสอนเสริมให้กับเด็กๆได้ แต่เด็กในวัยนี้ถ้าเลือกได้อยากให้เขาได้เล่นมากกว่า” แม่น้องนาบี๊ล กล่าว

อรุณี นนทโกวิท

อรุณี นนทโกวิท ผู้ปกครองของน้อง “ฮามีม” ชั้นอนุบาล 3 ที่มีความชอบในเรื่องของเย็บปักถักร้อยก็ใช้ความถนัดของตัวเองมาเป็นผู้อำนวยการเล่นในโซนการเล่นแบบ Loose Parts เล่าว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้อำนวยการเล่น ทำให้ทราบว่าการเล่นนั้นมีคุณค่ามหาศาลสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ สามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการได้ครบทุกด้าน ฝึกสมาธิ มีความอดทน รู้จักที่จะรอคอย เมื่อให้ลูกได้เล่นพบว่าเขามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับอนาคต

“พื้นฐานความรู้ของเด็กนั้นมาจากพ่อแม่ ดังนั้นพ่อและแม่คือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดของลูกเมื่ออยู่ที่บ้าน การเล่นอิสระที่บ้านช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกดีขึ้น เด็กในวัยนี้เราควรสนับสนุนให้เขาได้เล่นอย่างเต็มที่ เนื่องวัยเด็กนั้นมีเวลาที่มีจำกัดเพียงแค่ไม่กี่ปี การเล่นของเด็กปฐมวัยคือการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อให้เด็กๆ ได้เติบโตมีพัฒนาการครบทุกด้านและเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความพร้อมทางด้านวิชาการต่อไปได้” แม่น้องฮามีม ระบุ

ซึ่งผลลัพธ์ของการจัดการเรียนรู้ด้วยการเล่นอิสระนั้น แม้ว่าความสุขและการเรียนรู้อาจจะวัดผลให้เห็นภาพได้ไม่ชัด แต่สำหรับการประเมินพัฒนาการตามหลักของกรมอนามัยนั้นพบว่าเด็กเมื่อแรกรับเข้ายังศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาพบว่ามีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 79 แต่เมื่อได้เล่นอิสระผ่านไปไม่ถึงปีพัฒนาการของเด็กๆ ก็ผ่านเกณฑ์ประเมินได้สูงถึงร้อยละ 98

ครูสุกัญญา เย็นประสิทธิ์

ครูสุกัญญา เย็นประสิทธิ์ ครูพี่เลี้ยงและ Play Worker กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาให้ความสำคัญกับการเล่นอิสระโดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม การสอนในอดีตแต่ละวันจะมีกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้ออกมาเล่นประมาณ 20 นาทีเท่านั้น แต่เมื่อปรับการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระเด็กๆ ก็จะมีเวลาเล่นอิสระมากขึ้นตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และในชั้นเรียนครูก็จะใช้การเล่นแล้วบูรณาการสอดแทรกเนื้อหาเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เข้าไปด้วย

“การเล่นของเด็กคือชีวิตคือการเติบโตของเด็ก เด็กเปรียบเสมือนต้นกล้า ต้นกล้าจะแข็งแรงได้ต้องเกิดจากสิ่งรอบตัวและการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องวิชาการ ลองนึกดูว่าทำไมเราจำการเล่นสนุกต่างๆ ในวัยเด็กได้ ก็เพราะการเล่นเป็นความสุขที่ฝังรากลึกในใจ การเล่นจึงไม่ได้เป็นเรื่องไร้สาระ การเล่นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เพราะการเล่นทำให้เด็กมีความสุข มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถจัดการกับทุกอย่างในชีวิตได้” ครูสุกัญญา กล่าวย้ำ

โดยผลสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนานั้นเกิดขึ้นจากการทำให้ครูผู้ดูแลเด็กทุกคน “เปิดใจและเชื่อมั่นในพลังแห่งการเล่น” บนเป้าหมายเดียวกัน พร้อมกับดึงผู้ปกครองเข้ามาเป็น “ครอบครัวแห่งการเล่น” และเป็น “Play Worker” ให้มีความเข้าใจและสามารถสอดแทรกการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆได้ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ มี “กิจกรรมเยี่ยมบ้าน” สนับสนุนจูงใจให้ผู้ปกครอง “จัดมุมเล่นอิสระที่บ้าน” เพื่อให้เกิดพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากโรงเรียนไปถึงที่บ้าน และยังช่วยสานสัมพันธ์ครอบครัวให้ดียิ่งขึ้นด้วยการ เล่น-เรียน-รู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของครบครัวไปพร้อมกัน จนเกิดเป็นเครือข่ายครู ผู้ปกครองและชุมชน ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการเล่นอิสระ และพร้อมสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้มแข็ง

มุมศิลปะ

โดยล่าสุดแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระกำลังถูกต่อยอดขยายผลโดยมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนาเป็นต้นแบบพื้นที่เรียนรู้เพื่อขยายแนวคิดออกไปสู่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 22 แห่งในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตมีนบุรี

“ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่ครูทุกคนเป็นต้นแบบการจัดการเรียนรู้ที่ใช้การเล่นนำเรียน การมีเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนที่เข้าใจการเล่น สร้างการเรียนรู้ผ่านการเล่นกับลูกได้ พร้อมให้การสนับสนุน และบอกกับครูทุกคนเสมอว่า เราอยู่กันด้วยศรัทธามีศาสนานำทางชีวิต เพราะเราไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่มีสวัสดิการ ดังนั้นให้คิดว่าสิ่งที่ทุกคนทำอยู่เป็นการทำบุญกับเด็ก ถึงจะไม่มีใครเห็นแต่พระเจ้าทรงเห็น”

ครูชุพยาณีกล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า