โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ สระแก้ว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานวโรกาสให้ นายสมจิตต์ และนางมณี อิ่มเอย น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินตำบลศาลาลำดวน อำเมืองเมือง จังหวัดสระแก้ว จำนวน 110-3-81 ไร่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เพื่อให้เป็นถานที่ฝึกกระบือให้สามารถทำการเกษตร และเป็นแหล่งที่ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้วัฒนธรรมการเกษตรท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งให้เกษตรกรได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพอเพียง
วันอังคารที่ 13 มกราคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ในครั้งนั้นได้พระราชทานหญ้าสดแก่กระบือทรงเลี้ยง ทอดพระเนครบ้านพักปราชญ์ท้องถิ่นและการก่อสร้างบ้านดินในขึ้นตอนต่างๆ ทรงฟังบรรยายแนวทางและแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อาทิเช่น การฝึกกระบือผู้เรียนรู้ การอบรมเกษตรกร การทำแปลงฝึกการไถนา การปลูกข้าว ทรงเยี่ยมราษฎร และได้มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาสร้างห้องปฏิบัติการทางวิทยายาศาสตร์ขึ้น เพื่อทำการวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบือ และอาหารของกระบือ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนารวบรมกระแสรับสั่งทั้งหมดมาดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์เสร็จเรียบร้อย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เมื่อวันอังคารที่ 10 มีนาคม 2552 ในการเสด็จครั้งนี้ได้ทอดพระเนครการฝึกกระบือไถนา คราด และตีลูกทุบ ซึ่งเป็นการเตรียมดินสำหรับปลูกข้าว ทรงฟังบรรยายเรื่องหลักสูตรการฝึกกระบือและการดูแลกระบือ ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ นิทรรศการแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรแบบดั้งเดิม และทรงปล่อยปลาไทยลงในสระมะรุมล้อมรัก

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

โครงการห้วยสโมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปราจีนบุรี

โครงการห้วยโสมงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ พื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ และพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอ อำเภอ นาดี ตำบลเมืองเก่า ตำบลบ่อทอง และตำบลบ้านนา อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

โครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา ปราจีนบุรี

“โครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน” โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการ ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านหัวเขา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านพระ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดำเนินงานทั้งในส่วนของอาคารโรงเรือน และระบบสาธารณูปการ โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องและแปลงสาธิตการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินต้นทุนต่ำ ด้วยการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่นไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส กระเบื้องเก่า มาดัดแปลงเป็นโต๊ะปลูกผัก เพื่อผลิตผักปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมทั้งขยายผลส่งเสริมให้แก่ประชาชนที่สนใจต่อไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ระยอง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเห็นชอบกับแนวทางที่สำนักงาน กปร. เสนอ คือมอบที่ดินให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จัดทำเป็นแปลงสาธิตสวนไม้ผลแบบก้าวหน้า เพื่อใช้เป็นแหล่งสาธิตการผลิตไม้ผลพันธุ์ดี โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ2545 และได้มีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการจัดหาพื้นที่เพื่อจัดทำแปลงศึกษา ทดสอบพันธุ์ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งดำเนินการจัดทำเป็นแปลงไม้ป่าชุมชนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาใช้ประโยชน์และศึกษาพืชท้องถิ่นในชุมชน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

โครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชลบุรี

โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้สนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลาย และมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนเป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม โดยการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ คือ ปลูกไม้โตเร็ว สำหรับใช้สอย ปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับนก และสัตว์ป่าใช้ผลสุกเป็นอาหาร รวมทั้งปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อคืนสภาพป่า รวมทั้งอนุรักษ์ดินและน้ำ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2535 ได้ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 580 ไร่ ไม้ที่ปลูกในระยะเริ่มแรกเจริญเติบโต เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์จากป่า โดยการเก็บหาของป่า เช่น  หน่อไม้ เห็ด ยอดหวาย เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่าวเอ็ด จันทบุรี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่งครอบครัวลักคุณประสิทธิ์ ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 14 แปลง เนื้อที่รวม 160 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ตำบลตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เพื่อใช้ประโยชน์ในมูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาป่าชุมชนให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ รวมทั้งสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้าใจในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จันทบุรี

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ถือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญในภาคตะวันออก ที่ช่วยพลิกฟื้นป่าชายเลนอันเสื่อมโทรม ให้กลับกลายมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประมงและการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ สมุทรสงคราม

นางสาว ประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวาในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้ดำเนินการ
1) พื้นที่สวนชัยพัฒนานุรักษ์
จัด พื้นที่สวนผลไม้ดั้งเดิม เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานไม่ใช้สารเคมี มีการปลูกพันธุ์พืชท้องถิ่น เช่น ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม มะพร้าวพันธุ์ต่างๆ ผสมผสานกับพืชอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น กล่วย ตะไคร้ มะปราง ฯลฯ โดยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิธีชีวิตท้องถิ่นอัมพวาในด้านการ เกษตร ส่งเสริมให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรระหว่างเกษตรกรชาวสวน นักวิชาการ และผู้สนใจ
2) ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ และลานสวนชัยพัฒนานุรักษ์เป็น ลานอเนกประสงค์สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชุมชน และคนในท่องถิ่นเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายหรือจัดแสดง สินค้าที่เป็นของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
3) ร้านค้าชุมชนของโครงการฯ เป็น ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนาโดยมี วัตถุประสงค์เป็นแกนกลางในการส่งเสริมการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงหน่วยงานองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถต่อยอดพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์และ พัฒนาธุรกิจของชุมชนด้วยตน เองได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เพชรบุรี

อุทยานฯ เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยมุ่งหวังว่าเมื่ออุทยานฯ แห่งนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นสถานที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถในด้านการอนุรักษ์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และจะเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยและของโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระ นามาภิไธยเป็นนามอุทยานว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (The Sirindhorn International Environmental Park) และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประดับตราสัญลักษณ์ของอุทยาน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

โครงการโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร เพชรบุรี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดทำโครงการเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานทดแทน ประกอบด้วย โครงการจัดสร้างโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขัน โครงการวิจัยทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มดิบและไบโอดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซล และโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวนสมเด็จย่า) เพชรบุรี

โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ดำเนินการศึกษาทดลองรูปแบบเกษตรยั่งยืน เพื่อศึกษาหารูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม สำหรับสภาพพื้นที่โครงการและใกล้เคียง โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานที่เรียบง่ายและประหยัด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสามารถดำเนินงานปลูกข้าว พืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับและสมุนไพร ในรูปแบบผสมผสาน การลดต้นทุนการผลิต ที่จะเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป จากผลการดำเนินงาน ทำให้การพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง ดินเลว อับฝน กลับคืนสู่สภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

อ่านเพิ่มได้ที่นี่

ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เพชรบุรี


  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีแนวพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้ามาอยู่อาศัยและทำประโยชน์ และการอพยพครอบครัวเกษตรกรได้จัดให้อยู่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร โดยมีทางราชการเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่าง และมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน ๓ ฉบับ รวมเนื้อที่ 12,079 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าของโครงการ

อ่านเพิ่มเติ่มที่นี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า