โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพชรบุรี

ต้นแบบบำบัดน้ำเสีย สู่น้ำใส ด้วยกลไกธรรมชาติ
ที่มา : ในหลวงทรงมองเห็นว่า หากไม่บำบัดน้ำเสีย เราจะมีน้ำสะอาดจากที่ไหนมาใช้กัน หากธรรมชาติป่าชายเลนถูกทำลาย สัตว์ต่างๆ จะไปอาศัยอยู่ที่ไหน  เนื่องจาก น้ำ ป่าชายเลน พืช และสัตว์ต่างๆ มีความเกี่ยวข้องพึ่งพาอาศัยกัน  ในหลวงจึงให้แนวทางไว้ว่า…“ใช้ธรรมชาติบำบัดซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีโปรแกรมท่องเที่ยว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สัมผัสวิถีชีวิตธรรมชาติ ประมงพื้นบ้านพร้อมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม นำเที่ยวโดยทีมงานที่ชำนาญงาน มีที่พักระดับมาตรฐานและบริการอาหารเลิศรส

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพชรบุรี

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์  จัดให้ราษฎรที่เข้าทำกินอยู่เดิม  ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ได้ประโยชน์จากป่าไม้   และไม่ทำลายป่าไม้อีกต่อไป   มุ่งหมายที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า  จัดหาแหล่งน้ำ  ศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า “ระบบป่าเปียก”  ให้ราษฎรสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้  เพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ    ควบคู่ไปด้วย และให้ราษฎรที่เข้ามาทำกินโดยมิชอบเข้าร่วมกิจกรรมการดูแลรักษาป่าประกอบอาชีพ  โดยใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต     นอกจากนี้ยังให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป    เพื่อจะให้ประชาชน    ผู้ยากไร้อยู่รอด และธรรมชาติอยู่รอด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เพชรบุรี

เมื่อปี พ.ศ. 2551 เกิดเหตุการความคิดเห็นต่างกันทางการเมืองทำให้มีกลุ่มบุคคลออกมาแสดงความคิดเห็น สร้างความไม่สงบขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเอาหัวมันเทศ
วางบนตาชั่งตั้งไว้บนโต้ะทรงงาน เพื่อเป็นคติเตือนใจ “ชั่งหัวมัน” หัวมันเทศเมื่องวางอยู่นานเข้าก็จะแตกใบ มีต้นงอกออกมา ก็ทรงให้เอาต้นมันนั้นไปเพาะเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำ แล้วนำมันเทศหัวใหม่มาวางไว้บนตาชั่งแทน ทำเช่นนี้เรื่อยไป ในเรือนเพาะชำก็มีแต่ต้นมันเทศ ทรงมีดำริว่า หัวมันเทศวางไว้บนตาชั่งไม่มีดินและน้ำยังงอกได้ที่ดินแปลงนี้ มีดินและพอมีน้ำอยู่บ้างก็น่าจะปลูกมันเทศได้ จึงทรงพระราชทานต้นมันเทศจากเรือนเพาะชำมาปลูกไว้ที่นี่ และพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”
บ้านไร่ของพระราชามีทั้งพิพิธภัณฑ์ดิน ทุ่งกังหันลม และแหล่งที่เราได้เรียนรู้มากมาย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ นครปฐม

ชุมชนบ้านศาลาดิน ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แต่เดิมมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวปีละครั้ง เป็นสาเหตุให้เกษตรกรยากจน ขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบถึงปัญหา จึงได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้กับเกษตรกร จำนวน ๑,๐๐๙ ไร่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลและ จัดรูปที่ดิน ให้เกษตรกรแปลงละ ๒๐ ไร่ ให้เกษตรกรเข้าทำกินได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และพระราชทานการทำเกษตรผสมผสาน ชุมชนบ้านศาลาดิน จึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ผจญภัยบนสายน้ำบ้านศาลาดิน สามารถล่องเรือออกไปเรียนรู้ชมวิถีชีวิตคนตามริมคลองมหาสวัสดิ์ ชมนาบัว และแปลงเกษตรผสมผสาน ร่วมดูพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ จัดการน้ำชุมชนที่ในหลวงสอนเรื่องการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

หอศิลป์ทวี รัชนีกร นครราชสีมา

หอศิลป์ ทวี รัชนีกร ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2550 โดยศิลปินแห่งชาติ ทวี รัชนีกร ในสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ.2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงผลงานศิลป์ในประเภทต่างๆ ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และเทคนิคผสม นอกจากจัดผลงานแสดงดังกล่าวแล้วยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา อาทิ การประกวดวาดภาพ การจัดเสวนา หรือการบรรยายทางศิลปะ นอกจากนี้ยังมีอาคารเล็กที่จัดแสดงผลงานวาดเส้นเทคนิคผสม ชั้นบนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือศิลปะไว้บริการ

สวนสัตว์นครราชสีมา นครราชสีมา

สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์ลำดับที่ ๔ ในองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ชื่อ “โครงการสวนสัตว์นครราชสีมา” จนกระทั่งมีพิธี เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ โดยมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธี และใช้ชื่อว่า “สวนสัตว์นครราชสีมา” เป็นต้นมา สวนสัตว์นครราชสีมาจัดเป็นสถานที่พักผ่อนเชิงนิเวศของประชาชน เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าและธรรมชาติศึกษาของเยาวชนที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานการสวนสัตว์ให้มีคุณภาพในระดับสากล ภายใต้นิยาม “ท่องเที่ยว เรียนรู้ สู่ธรรมชาติ”

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย นครราชสีมา

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบราว 2,658 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองพิมายในอดีต ด้านทิศเหนือและตะวันออกจรดแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกจรดลำจักราช และด้านทิศใต้ครอบคลุมสุดเขตบารายด้านทิศใต้
กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 38 ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479 และได้ดำเนินการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ.2507– 2512 โดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำการบูรณะปราสาทประธานด้วยเทคนิค “อนัสติโลซีส” (ANASTYLOSIS) คือ การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมายอย่างต่อเนื่อง ต่อมากรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ พิมายขึ้น และดำเนินการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานอื่นๆ ที่สำคัญจนแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2532 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

ห้องไทยศึกษานิทัศน์และวัฒนธรรมอาเซียน นครราชสีมา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีภารกิจหลักสำคัญประการหนึ่งคือ ภารกิจด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามภารกิจด้านทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน สังคม ระดับท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ  
ห้องไทยศึกษานิทัศน์และวัฒนธรรมอาเซียน (เดิมชื่อห้องไทยศึกษานิทัศน์) เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) การสะสมรวบรวมและจัดแสดงวัสดุทางวัฒนธรรมทั้งหมด เป็นความสนใจทางวิชาการและความประทับใจ ส่วนตัวของ อาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ ที่มีต่อวัฒนธรรมพื้นบ้านของอีสาน มีการเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรม และภูมิปัญญา วัฒนธรรมอาเซียน รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อการเรียนการสอนวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจต่อวิธีคิดของคนพื้นถิ่นให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่นในฐานะที่เขาเป็นนักประดิษฐ์เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและระบบวัฒนธรรม วิธีคิดเหล่านี้เป็นต้นแบบให้กับนักประดิษฐ์รุ่นใหม่สำหรับการพัฒนธรรมเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อสังคมในอนาคตและเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัย
“ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยา คือ ห้องเรียนรูปแบบหนึ่งผมนำวัสดุต่าง ๆ ที่ชาวชนบทอีสานใช้ในแต่ละช่วงฤดูกาลมาประกอบการเรียนรการสอน โดยชี้ให้นักศึกษาเห็นว่า ถ้าเราเข้าใจคน พฤติกรรมและความคิดของคนโดยเฉพาะคนทำวัสดุอุปกรณ์ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำไมเขาต้องใช้ ต้องทำ ต้องออกแบบรูปทรงอย่างนั้น วัตถุประสงค์ของเขาในการใช้งาน ประกายความคิดเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจคน ความคิดคน นั้นคือเราเข้าใจเทคโนโลยีจากความเข้าใจวัฒนธรรมที่เขาคิดและปรับเปลี่ยนมา” (สุริยา สมุทคุปติ์,๒๕๕๘:๑๑๙)
การจัดแสดงนิทรรศการถาวรด้วยกัน ๘ โซน ประกอบด้วย
“ที่นี่อีสาน หรือ หม่องหนี่อีสาน, เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน, เฮ็ดเฮือนเฮ็ดชาน, ห้องพระยากำธรพายัพทิศ, นุ่งฝ้ายห่มไหม, สังคมวัฒนธรรมอาเซียน, บันเทิงเริงเล่น หรือ หม่วนซืนโฮแซว, ทำบุญไหว้ผี หรือ เฮ็ดบุญทำทาน”
และให้ความสำคัญต่อการจัดนิทรรศการหมุนเวียน ๔ ชุด ตามหัวข้อการศึกษาวิจัย เช่น นิทรรศการว่าวไทยว่ายฟ้า นิทรรศการภูมิปัญญา และเทคโนโลยีในวัฒนธรรมข้าว นิทรรศการกับดักจักสาน และนิทรรศการระหัดวิดน้ำลำตะคอง เป็นต้น

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่ม ชัยภูมิ

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่ม จังหวัดชัยภูมิ เป็นหน่วยงานสังกัดส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหนองโพนงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีบทบาทหน้าที่ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยผ่านกิจกรรมต่ง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน การประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนและหมู่บ้าน การประชาสัมพันธ์ทางวิทยุกระจายเสียง การผลิตสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทั้งจดหมายข่าว และวารสาร เป็นต้น ทั้งนี้มุ้งเน้นเป้าหมายการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่รอบแนวเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สถานศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชนในท้องที่จังหวัดชัยภูมิก่อนเป็นอันดับแรก

 

พิพิธภัณฑ์มีชีวิตบ้านขี้เหล็กใหญ่ ชัยภูมิ

จากคำถาม… “บ้านขี้เหล็กใหญ่…เกิดขึ้นเมื่อใด? คนบ้านขี้เหล็กใหญ่อพยพมาจากเวียงจันทน์ พร้อมเจ้าพ่อพญาแล จริงหรือไม่? ใคร…เป็นคนตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่?
จากการศึกษาข้อมูลร่วมกัน ของทีมนักมานุษยวิทยาเดินดินบ้านขี้เหล็กใหญ่-ชัยภูมิ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผ่านโครงการศึกษาและประยุกต์ใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาเพื่อพัฒนา พิพิธภัณฑ์มีชีวิตของชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เมื่อเดือนกันยายน 2555-สิงหาคม 2556 ได้คำตอบและเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับประวัติบ้านขี้เหล็กใหญ่ ที่มีคำเล่าลือว่า “บ้านเจ้าบ้านนาย” เป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามไว้มากมาย อีกทั้งผู้คนในชุมชนมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีระเบียบวินัยในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน มีความช่วยเหลือเกื้อกูล เมตตา เอื้ออารี ส่วนผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะให้ความเอ็นดู แนะนำสั่งสอนผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จึงได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา เป็นความงดงามที่สะสมต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี
วัดบ้านขี้เหล็กใหญ่” หรือ “วัดบริบูรณ์” ไม่มีหลักฐานการก่อตั้งวัด ว่ามีการสร้างวัดเมื่อใด มีเรื่องเล่าที่พูดต่อๆ กันมาภายในชุมชนว่าครั้งแรกของการตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่ มีการสันนิษฐานว่า หลวงปู่ไก่ สมัยนั้นบวชเป็นพระแล้วนำพาคาราวานผู้คนมานอนใต้ต้นมะขามใหญ่บริเวณวัดใน เบื้องต้น แต่ไม่สามารถนอนได้ เลยมานอนใต้ต้นขี้เหล็กใหญ่ต้นหนึ่ง พอตื่นมาเห็นสภาพพื้นที่โดยรอบเป็นชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานก็เลยตกลงตั้งรกรากอาศัย ตั้งเป็นบ้านขี้เหล็กใหญ่ขึ้นมา
นอกจากเรื่องเล่า หรือความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนแล้วยังมีคำสันนิษฐานว่าบ้านขี้เหล็กใหญ่ มีการตั้งชื่อมาจากการเป็นชุมชนที่เป็นกองกำลังสำคัญของเจ้าพ่อพญาแล จึงมีการหลอมและตีเหล็กเพื่อใช้ทำดาบและอุปกรณ์ในการทำศึก ทำให้มีเศษเหล็กมาก จึงเรียกว่า “บ้านขี้เหล็ก” จากข้อสังเกตของการศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาของทีมนักมานุษยวิทยาเดินดินบ้านขี้เหล็กใหญ่-ชัยภูมิ พบว่า บ้านขี้เหล็กใหญ่มีการก่อตั้งบ้านเรือนในยุคสมัยใดไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า บ้านขี้เหล็กใหญ่มีการตั้งบ้านเรือนก่อนที่เจ้าพ่อพญาแลจะอพยพมาอยู่ที่โนนน้ำอ้อม เป็นหมู่บ้านที่มีผู้คนอยู่แล้วพอสมควร ซึ่งสังเกตได้จากผังเครือญาติและเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดกันมาในของหลายๆตระกูล โดยเฉพาะคำบอกเล่าของลูกหลานตระกูล “ดิเรกโภค” ที่รวบรวมคำบอกเล่าของ ย่าดี ดิโรกโภค ภรรยาของปู่หมา ดิเรกโภค ซึ่งปู่หมาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2504 และจากหลักฐานทะเบียนบ้าน พ.ศ.2599 ระบุว่าปู่หมา ดิเรกโภค เกิด พ.ศ.2423 ครั้งปู่หมาเป็นเด็กประมาณ 11-12 ปี เคยปรนนิบัติหลวงปู่ไก่ซึ่งชราภาพ อายุประมาณ 80 ปี แสดงว่าหลวงปู่ไก่ น่าจะเกิดช่วง พ.ศ.2350-2354 โดยประมาณ และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เจ้าพ่อพญาแลเป็น “พระภักดีชุมพลปกครองเมืองไชยภูมิ์” จะอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2360-2369 ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงปู่เผือก เป็นคนยุคเจ้าพ่อพญาแล มาจากเวียงจันทร์พร้อมเจ้าพ่อพญาแล ซึ่ง “หลวงปู่ไก่” เป็นคนตั้งบ้านขี้เหล็กใหญ่ หากลองเทียบช่วงเวลาแล้วจะพบว่า หลวงปู่ไก่ น่าจะอยู่บ้านขี้เหล็กใหญ่มาก่อนหน้าที่เจ้าพ่อพญาแลจะมาตั้งถิ่นฐานที่โนนน้ำอ้อม

พิพิธภัณฑ์การจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริบ้านม่วงชุม เชียงราย

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ชุมชนบ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในอดีตชุมชนแห่งนี้มีปัญหาคลาดแคลนน้ำ เนื่องจากป่าไม้กว่า 3,720 ไร่ ถูกทำลายจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น แม้จะมีอ่างเก็บน้ำชุมชนแต่ไม่สามารถสำรองน้ำเอาไว้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ น้ำจึงพัดพาตะกอนดินมาทับถมจนอ่างเก็บน้ำตื้นเขิน และไหลลงสู่แม่น้ำอิงอย่างรวดเร็ว

ปัญหาความเดือดร้อนที่สะสมมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้ชาวบ้านในชุมชนตระหนักถึงปัญหาและหันมาช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดยการปลูกต้นไม้ปีละ 1,500 ต้น ตั้งแต่ปี 2543 แต่พบว่าน้ำยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน

อ่านเพิ่มได้ที่นี่

พิพิธภัณฑ์วัดกลาง จังหวัดกาฬสินธุ์

พิพิธภัณฑ์วัดกลาง สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2525 ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณของวัดกลาง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ อาคารจัดแสดงเป็นอาคาร 2 ชั้นคอนกรีตเสริมเหล็กยกพื้น ชั้นล่างจัดแสดงโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป เทวรูปลักษณะต่าง ๆ เครื่องปั้นดินเผาศิลปะร่วมสมัยกับบ้านเชียง ปิ่นโตเขินแบบพม่า กรรไกร มีด ขันน้ำ พานรอง กระต่ายขูดมะพร้าว กระดิ่งคล้องช้าง บานประตูไม้แกะสลักขนาดใหญ่ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นของเก่าอีกจำนวนมาก ส่วนชั้นบนของอาคารเป็นที่เก็บเอกสาร หนังสือ พระไตรปิฎก ที่สำคัญคือตู้ลายรดน้ำซึ่งเป็นตู้ที่ใช้เก็บคัมภีร์โบราณ

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า