พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ตั้งอยู่ที่บ้านยาง หมู่ที่ ๑๒ ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และเป็นสถานที่รวบรวม และจัดแสดงแนวพระราชดําริในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สืบเนื่องมาจากการเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม เมื่อวันที่ ๘ – ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ โดยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ในตําบลแม่งอน และตําบลแม่ข่า อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรวมถึงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เสด็จเยี่ยมผู้ประสบภัยในพื้นที่ และรับสั่งกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานให้หาแนวทาง ป้องกันการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมแก้ไขปัญหาด้วย 

เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพื้นที่ และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) เพื่อหารือกับคณะทำงานเรื่องแนวทางการฟื้นฟูโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ภายหลังการหารือ เลขาธิการ กปร. แจ้งพระราชดําริ เรื่อง การฟื้นฟูสภาพพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) และชุมชน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนไตรรัตนวิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนไตรรัตนวิทยาคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการศึกษาปี พ.ศ. 2542 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้วิชาท้องถิ่นของเรา มี อ.ทวี พรหมา เป็นผู้ดูแล อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว แบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็นส่วนๆ ตามเนื้อหาทางด้านวิถีชีวิตท้องถิ่น เช่น เรื่องเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ก็จะจัดแสดงกลองยาว โปงลาง เรื่องเครื่องมือดักจับสัตว์ เรื่องศาสนาความเชื่อ จัดแสดงใบเสมาหินทรายจำลอง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักเรียนเกี่ยวกับประโยชน์และหน้าที่ของใบเสมา ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบมาในจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนจัดแสดงเครื่องเรือนพื้นบ้านอีสาน จัดแสดงบ้านแบบอีสานโดยการจำลองพื้นบ้านจริงๆ มาไว้ในห้องจัดแสดง และให้ข้อมูลว่าเรือนอีสานนั้นมีหลายแบบ แต่ละแบบก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่มีฐานะแตกต่างกัน เช่น เรือนที่เรียกว่า “เกย” เป็นเรือนกึ่งถาวร ชาวบ้านทั่วไปจะอยู่ หรือ เรือนแบบ “โข่ง” หรือ “แฝด” เป็นเรือนใหญ่ของเจ้านายอาญาสี่ (อุปราช อุปวงศ์ มหาราชวงศ์ และ ราชบุตร) เป็นต้นเพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นว่าในสมัยก่อนนั้น มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร มีศักดิ์ทางสังคมเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังได้จัดแสดงวิธีการผลิตภาชนะดินเผาแบบสุมไฟ และแบบใช้เตาเผา โดยสื่อโดยการสร้างแบบจำลองทั้งการสุมไฟ และการเผาในเตา เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงกระบวนการในการผลิตภาชนะดินเผาว่ามีขั้นตอนและพัฒนา ทั้งยังได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว ตั้งแต่เรื่องราวของพันธุ์ข้าวไปจนถึงวิธีตีข้าว เป็นต้น ส่วนมุมอื่นๆ นั้น เป็นการจัดแสดงย่อย ๆ เกี่ยวกับ การอยู่ไฟ สมุนไพรพื้นบ้าน หม้อต้มยา หีบคัมภีร์ใบลาน ผ้า และ เครื่องจักสานพื้นบ้าน เป็นต้น

บริหารจัดการ

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ของมูลนิธิชัยพัฒนา เชียงใหม่

ร่วมเรียนรู้กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกหญ้าแฝก การทำฝายต้นน้ำลำธาร การทำแนวกันไฟทั้งในพื้นที่โครงการและในพื้นที่ชุมชนของเกษตรกรเครือข่ายของโครงการ และกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น การผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงไส้เดือนดิน การผลิตสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงการผลิตพืชอินทรีย์ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ ผู้เข้าชมโครงการสามารถดื่มด่ำกับเครื่องดื่มสูตรพิเศษของทางร้านท่ามกลางบรรยากาศขุนเขาและธรรมชาติที่ทางร้านยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ของโครงการ เช่น ชาสมุนไพร เนื้อผลไม้ทาขนมปัง และของที่ระลึกของชุมชน เช่น ไม้กวาดดอกหญ้าของกลุ่มผู้สูงอายุตำบลโป่งน้ำร้อน

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผู้ไท วัดสิมนาโก จังหวัดกาฬสินธุ์

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผู้ไท วัดสิมนาโก จัดตั้งโดยดำริของหลวงปู่พระครูพิศาลศิลปะยุต อดีตเจ้าอาวาสวัดสิมนาโก อดีตเจ้าคณะอำเภอกุฉินารายณ์ ซึ่งท่านได้เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของต่างๆ ไว้ก่อนแล้วแต่ยังมิทันได้ตั้งอาคารหอพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ก็ได้ละสังขารไปก่อน ต่อมา พระครูเมตตาคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดสิมนาโก และเจ้าคณะอำเภอรูปปัจจุบัน จึงได้เริ่มดำเนินการจัดสร้างอาคารหอพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมสิ่งของวัตถุโบราณเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อซึ่งเป็นหลังที่สองที่สร้างทดแทนหลังเดิม ซึ่งถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหลัง
วัตถุโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นผู้ไท วัดสิมนาโก ได้แก่ เหรียญและธนบัตรโบราณ เครื่องสัมฤทธิ์ วัตถุมงคล เครื่องจักสาน ของใช้จากไม้ไผ่ ของใช้ทำจากไม้ ไม้แกะสลักช่อฟ้ากุฏิสงฆ์ ไหโบราณ และภาพถ่ายการแต่งกายของชาวผู้ไทในอดีต เป็นต้น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน เชียงราย

โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลูกชาน้ำมันเพื่อแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมและสร้าง รายได้เพี่อแก้ไขความยากจนโดยจ้างปลูกและดูแลในระยะเริ่มต้น เก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าในระยะยาว อีกทั้ง เป็นการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินบริเวณเชิงเขาได้เป็น อย่างดี และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามได้อีกทางหนึ่งด้วย

อ่านเพิ่มเติมที่นี่

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า“สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

อ่านเพิ่มได้ที่นี่

พิพิธภัณฑ์สิรินธร

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เดิมเป็นศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ในปี พ.ศ.2537 พบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ในบริเวณที่เป็นหลุมขุดค้นปัจจุบัน โดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา คณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณีจึงได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ และพบว่า ภูกุ้มข้าว เป็นแหล่งที่พบโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย มีการพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดต่างๆ เป็นกระดูกชนิดกินพืชมากกว่า 7 ตัว จำนวนกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น ที่สำคัญคือ พบชิ้นส่วนของหัวกระโหลก ฟันและกราม และโครงกระดูกที่เรียงรายต่อกัน เกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัวอยู่ด้วย โครงกระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขาของภูกุ้มข้าวซึ่งมีรูปร่างคล้ายลอมฟาง มีความสูงประมาณ 240 เมตร

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวาบ้านโพน

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา บ้านโพน หรือ อีกชื่อหนึ่ง คือ ศูนย์วิจิตรแพรวาบ้านโพน บ้านโพน เป็นหมู่บ้านชาวผู้ไทย ชาวผู้ไทยอพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท มีความโดยโดดเด่นในเรื่องของการทอผ้า และยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรมซึ่งสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทอผ้าไหมแพรวา ซึ่งเป็นผ้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดกาฬสินธุ์ นักท่องเที่ยวแวะไปเยี่ยมชมและเลือกซื้อผ้ากันมาก จึงมีการตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโพนขึ้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เริ่มต้นมาจากการเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ โดยหน้าที่ขณะนั้นเพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาทพิมาย ร่วมกับโบราณวัตถุที่ได้จากการ เก็บรวบรวมจากจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

อุทยานการเรียนรู้สิรินธร

อุทยานการเรียนรู้สิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ภายในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นหลังจากการจัดแสดงนิทรรศการ ในงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลกปี 2538 (World Tech’95) ซึ่งอาคารกาญจนาภิเษกและอุทยานผีเสื้อเฉลิมพระเกียรติ ยังคงเปิดให้บริการตลอดมา ต่อมามีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายจากผลงานความสนใจของคณาจารย์กลุ่มต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจึงได้รวบรวมแหล่งเรียนรู้เหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ “อุทยานการเรียนรู้สิรินธร” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร พรรณไม้ แมลงกับสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน เทคโนโลยีต้นแบบ เกษตรอินทรีย์ อันรวมถึงพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์

วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
เล่ากันว่าเมื่อคราวย่าโมเป็นผู้นำชาวโคราชเข้าต่อสู้กับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์จนได้ชัยชนะ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ มีสตรีผู้กล้าหาญร่วมต่อสู้อีกท่านหนึ่งคือ นางสาวบุญเหลือ ซึ่งเป็นผู้พลีชีพด้วยการจุดไฟทำลายเกวียน ที่บรรทุกดินระเบิดจนตัวตาย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2369 ชาวบ้านทุ่งสัมฤทธิ์และชาวโคราช ได้ให้ความเคารพนับถือ ไม่ยิ่งย่อนกว่าย่าโมและเรียกนางบุญเหลือว่า ย่าเหลือ
อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ เป็นศาลสถิตดวงวิญญาณนางสาวบุญเหลือหรือย่าเหลือ และวีรชนชาวโคราชสร้างเป็นศาลาทรงไทย แบบจัตรุมุข ขนาดกว้าง 5 ม.ยาว 5 ม.ชาวทุ่งสัมฤทธิ์ร่วมกันสร้างขึ้นใ่น พ.ศ.2531 ภายในศาลมีรูปปั้นนางสาวบุญเหลือขนาดย่อมยืนอยู่ในท่าถือคบเพลิงที่นำไปจุดเกวียนบรรทุกดินระเบิดของทหารลาว

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่

ตามรอยพระราชา เส้นทางภาคเหนือตอนบน “The King’s Journey” Learning Passport

กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อกำเนิดจากการที่ได้รับพระราชดำริ เมื่อวัน 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ที่พระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก

อ่านก่อนได้ คลิ๊ก ตามรอยพระราชา เส้นทางภาคเหนือตอนบน “The King’s Journey” Learning Passport 

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า