DIY: ว่าวจิ๋ว สำหรับเจ้าตัวจิ๋ว

การเล่นว่าวในไทยตามประวัติศาสตร์นั้นมีมาอย่างเนิ่นนาน ไล่กลับไปได้ถึงสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีกันเลยทีเดียว ความสนุกสนานในการเล่นว่าวนั้นเกิดขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความหลากหลายของชนิดของว่าว การแข่งขัน และลวดลายสีสันของว่าว เป็นต้น

การเล่นว่าวนั้น มักเล่นในบริเวณที่มีลานกว้างและมีลมแรงพอประมาณและเป็นลมที่สม่ำเสมอ โดยทั่วไปแล้วในประเทศไทยนิยมเล่นกันในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ซึ่งมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า ‘ลมว่าว’ ว่าวบางชนิดก็พบเจอเฉพาะในแต่ละภาคของประเทศเท่านั้น แต่ว่าวที่โด่งดังและเป็นที่นิยมทั่วไปได้แก่ ว่าวจุฬา ว่าวงู และว่าวปักเป้า

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ว่าวก็มีสีสันมากขึ้น มีการประดิษฐ์พร้อมใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนเกิดเป็นว่าวรูปลักษณ์ใหม่ๆ ทั้งสวยงาม และตลกขบขัน และนั่นจึงเป็นโอกาสพิเศษที่เราจะได้ชวนคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมาชวนน้องๆ หนูๆ สนุกไปกับการสร้างสรรค์ว่าวรูปแบบใหม่ๆ พร้อมเล่นว่าวไปพร้อมๆ กับพวกเขาด้วย

วันนี้เรานำเสนอการทำ ‘ว่าวจิ๋ว’ เป็นว่าวน่ารักๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยคุณลูกๆ ทำได้แม้ว่าเขาจะเพิ่งจะตัวเล็กนิดเดียวก็ตาม

เรามาเริ่มกันที่วัสดุอุปกรณ์กันเลย

  1. กระดาษตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดตามต้องการ (ในภาพใช้ขนาด 15×15 เซนติเมตร) 5 แผ่น แนะนำให้ใช้หลายสีเพื่อความสวยงามและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
  2. กรรไกร กาว (หรือสก๊อตเทป)
  3. เชือกขนาด 120 เซนติเมตร 2 เส้น และขนาด 150 เซนติเมตร 1 เส้น

วิธีทำ

1. นำกระดาษที่ตัดไว้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้ว มาพับตามแนวทแยง จนเกิดเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า แล้วพับครึ่งของสามเหลี่ยมอีกครั้งจนเกิดสามเหลี่ยมที่เล็กลงอีก เมื่อได้สามเหลี่ยมเล็กๆ แล้ว ให้วางด้านแหลมของสามเหลี่ยมเข้าหาตัว โดยให้ด้านสันอยู่ฝั่งตรงข้าม แล้วพับครึ่งขึ้นไปจนเกิดไปรอย (ตรงนี้จะออกมารูปร่างคล้ายเรือกระดาษ) แล้วคลี่ออกและใช้กรรไกรตัดตามรอยพับรอยสุดท้าย เมื่อคลี่กระดาษทั้งหมดออกมาแล้วจะได้กระดาษสี่เหลี่ยมจุตรัสที่มีช่องว่างรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสอยู่ตรงกลาง (ดังรูป)

2. นำกระดาษอีก 2 แผ่น มาพับ (ทีละแผ่น) โดยพับตามแนวทแยงเหมือนชิ้นแรก แต่ไม่ต้องถึงมุมแล้วกรีดให้เรียบ จากนั้นพลิกกลับให้อีกด้านขึ้นมาอยู่ด้านบน แล้วพับขึ้นมาให้มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรทีละชั้นจนหมดกระดาษ แล้วจึงใช้กาวหรือสก๊อตเทปติดให้กระดาษอยู่ทรง จะได้เป็นแท่งกระดาษแบนๆ สีสันสดใส หมายเหตุ: กระดาษทั้ง 2 แผ่นนี้คือโครงว่าว หากครอบครัวไหนมีแท่งไม้ไผ่ไม่หนามากก็สามารถใช้แทนได้

3. กระดาษที่เหลืออีก 2 แผ่น นำมาพับครึ่งตามแนวขวาง (ทีละแผ่น) จากนั้นพับครึ่งอีกครั้งไปเรื่อยๆ เมื่อคลี่ออกมาแล้วจะได้รอยพับที่สามารถแบ่งประกาษได้เป็น 8 เส้น ให้ตัดตามรอยพับนั้น แล้วนำมาต่อกันให้ยาวขึ้น (ความยาวตามชอบ) ตรงนี้จะเป็นส่วนหูและหางว่าว

เข้าสู่ขั้นตอนการประกอบว่าวจิ๋ว

ขั้นตอนแรก: ให้นำกระดาษที่ได้จากข้อ 1 มาวางโดยให้มุมแหลมอยู่ตรงหน้าเราตามภาพ

ขั้นตอนที่ 2: นำเชือกความยาว 120 เซนติเมตร มาวางบนกระดาษตัวว่าว โดยให้ปลายอยู่ที่มุมฝั่งตรงกันข้ามกันทั้ง 2 เส้น แล้วติดกันด้วยกาวหรือสก๊อตเทป

ขั้นตอนที่ 3: นำกระดาษที่ได้จากข้อ 2 หรือไม้ไผ่วางตามยาวจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่งตามแนวทแยง ให้ปลายกระดาษทับลงบนปลายเชือกที่วางลงไปก่อนหน้านี้แล้วยึดติดด้วยกาวและสก๊อตเทป

ขั้นตอนที่ 4: นำกระดาษที่ได้จากข้อ 3 ไปติดที่ตัวว่าว 3 จุดโดยยกไว้ส่วนที่เป็นหัวว่าวไว้

ขั้นตอนที่ 5: ยกเชือกที่ติดกับตัวว่าวขึ้นมา โดยกะประมาณให้บาลานซ์พอดีแล้วนำเชือกอีกเส้นที่มีความยาวที่สุดมามัดเชือกทั้งสองเส้นที่ติดกับว่าวไว้ เชือกเส้นยาวนี้จะให้เด็กๆ ถือว่าววิ่งเวลาขึ้นว่าว และเวลาที่ว่าวติดลมลอยในอากาศแล้ว ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มความยาวได้ตามใจชอบ

เพียงเท่านี้ก็ได้ ‘ว่าวจิ๋ว’ ที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคุณพ่อกับคุณแม่ก็ช่วยน้องๆ หนูๆ นำว่าวขึ้นสู่ฟ้ากันได้เลย

การเล่นว่าวนั้น ด้วยตัวว่าวแล้ว ก็ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งทำด้วยกันก็ยิ่งเพิ่มความสุขสบายใจมากยิ่งขึ้น ความรักความอบอุ่นก็คงจะอบอวลไปทั่วทั้งครอบครัว ส่วนด้วยวิธีการเล่นว่าวนั้นก็ยังฝึกให้เด็กๆ ได้คิดวิคราะห์ถึงวิธีการนำว่าวขึ้นสู่อากาศ ฝึกความแข็งแรง อดทน ไหวพริบ และความสามัคคีด้วย เพราะจะขึ้นว่าวแต่ละที คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องช่วยน้องๆ หนูๆ นำว่าวขึ้นสู่อากาศด้วยกัน

ขอให้ว่าวจิ๋ว นำความเบิกบานมาสู่ครอบครัวในปริมาณที่ไม่จิ๋วนะคะ

DIY กระทงขนมเข่งวันตรุษจีน : กิจกรรมสร้างสุขที่คุณพ่อคุณแม่ร่วมทำกับลูกได้

ใกล้จะตรุษจีนแล้ว หลายครอบครัวกำลังมองหาอาหาร ขนม และหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นต่อพิธีการต่างๆ ในวันนั้น แต่ทริคดีๆ วันนี้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีหนูๆ ตัวน้อยๆ อยู่ในบ้านด้วยก็คือ ‘ อย่าปล่อยให้พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว’ เพราะแท้จริงแล้วเด็กก็มีส่วนร่วมด้วยได้ ลองมองไปที่กิจกรรมง่ายๆ อย่าง ‘เย็บกระทงขนมเข่ง’

การให้เด็กๆ ได้ทำงานฝีมือหรือสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ นั้นสร้างประโยชน์มหาศาลกับพวกเขามาก เรียกว่าเกือบจะส่งเสริมทักษะของเด็กๆ เกือบทุกด้านเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการได้ใช้ความคิดในการเลือกวิธีการต่างๆ ที่จะใช้ทำงานที่ทำอยู่ในสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มทักษะในการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว และยังได้ฝึกสมาธิให้ดีขึ้นเพราะทุกสิ่งที่กล่าวมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชิ้นงานแสนสนุกนี้

สำหรับการทำสิ่งประดิษฐ์หรืองานฝีมือเหล่านี้ มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนบอกว่าไม่ค่อยกล้าลงมือทำกับลูก หรือชวนลูกทำเพราะตัวเองไม่มีความสามารถทางด้านนี้เลย ดังนั้นแม้จะอยากมีกิจกรรมดีๆ ร่วมกับลูกมาก แต่ก็ไม่ได้เริ่มสักที แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณแทบไม่ต้องใช้ทักษะอะไรเลย ไม่มีอะไรต้องกังวลถึงตรงนั้น เราลองมาดูวิธีการง่ายๆ ในการทำกระทงขนมเข่งสำหรับตรุษจีนปีนี้กัน

อุปกรณ์:

  1. ใบตอง
  2. ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากประมาณ 10 เซนติเมตร (หรือขนาดใดก็ได้ตามต้องการ)
  3. มีด / กรรไกร / ดินสอ
  4. ที่เย็บกระดาษ / ไม้กลัด

วิธีการทำ

  1. นำใบตองที่ได้มาตากแดดให้ใบตองอ่อนตัว จากนั้นนำมาเช็ดด้วยผ้าหมาดทั้ง 2 ด้านให้สะอาด
  2. นำชามมาคว่ำลงบนใบตอง แล้วใช้มีตัดตามรอยวงกลมของใบตอง ขั้นตอนนี้จะวางใบตองชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ เมื่อตัดใบตองออกมาได้แล้ว ให้ใช้กรรไกรตกแต่งให้เป็นวงกลมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ขั้นตอนนี้สามารถใช้ดินสอขีดสิ้นตามปากชามที่คว่ำ แล้วจึงใช้กรรไกรตัดตามรอยขีดได้ด้วย)
  3. หยิบใบตองวงกลมที่ตัดได้แล้วจากข้อ 2 โดยให้ด้านสีอ่อนประกบกัน
  4. วัดขนาดจากขอบของใบตองให้ได้ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรหรือประมาณ 1 ข้อนิ้วมือดังรูป แล้วพับทับกันลงไป แล้วใช้ที่เย็บกระดาษหรือไม้กลัด เย็บติดให้เรียบแล้ว ทำแบบเดียวกันนี้อีก 3 ครั้ง จนเกิดเป็นมุม 4 มุม
  5. ตกแต่งขอบให้เรียบร้อยด้วยกรรไกรอีกครั้ง

เท่านี้กระทงขนมเข่งที่เกิดจากฝีมือของเด็กๆ ก็จะเป็นรูปเป็นร่างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมนำไปใช้ใส่ขนมเข่งแล้วนำไปนึ่งต่อได้ทันที

กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่พัฒนากล้ามเนื้อมือ นิ้ว การเคลื่อนไหว ซึ่งจำเป็นสำหรับการเรียนในโรงเรียนต่อไปแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับคุณพ่อคุณแม่และญาติผู้ใหญ่ในวันสำคัญนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในใจของเด็กๆ ได้อย่างยาวนานอีกด้วย

ลองหาช่วงเวลาดีๆ หรือโอกาสสำคัญต่างๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ เพื่อให้เขาจะได้รับทั้งประโยชน์และความสุขที่จะได้ทำอะไรร่วมกับผู้ใหญ่ เชื่อเถอะว่าคุณพ่อคุณแม่ก็มีความสุขไม่แพ้กัน

ชวนวัยรุ่นมา “เล่น-เรียน-รู้” บูรณาการ STEM Education สร้างทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ด้วยของเล่น “Automata”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนี้คำว่า “การเรียนรู้” นั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่า “การศึกษา” และการเรียนรู้ยังถือเป็น ทักษะที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีศักยภาพพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 หรือยุค VOCA World ได้

เพราะเชื่อมั่นว่า “การเล่น” เป็นประตูบานแรกที่นำไปสู่ “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัวของ “โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้” ที่ใช้ของเล่นพื้นบ้านและของเล่นที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องมือในสร้างกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ที่ยืดหยุ่นสำหรับคนทุกช่วงวัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมานานกว่า 20 ปี

“Day Camp 14 – 18 ปี ชวนวัยรุ่นมาเรียนรู้งานไม้ และ Automata” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นเพื่อชักชวนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มาเรียนรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือทำของเล่นงานไม้ Automata ซึ่งเป็นของเล่นที่ใช้หลักการ STEM Education บูรณาการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ทำให้ของเล่นเคลื่อนไหวได้ ร่วมไปถึงการมีมิติสัมพันธ์ การจัดการเรียงลำดับ การคำนวณ โดยใช้กลไกลูกเบี้ยวในการขยับชิ้นส่วนต่างๆ และร่วมกันออกแบบและสร้างของเล่นชิ้นใหม่ๆ ให้กับน้องๆ ในชุมชน

วีรวรรณ กังวานนวกุล นักออกแบบกิจกรรมและผู้อำนวยการเรียนรู้ เล่าว่ากิจกรรมวันนี้เป็นการชวนน้องๆ มาทำกิจกรรมงานไม้ Day Camp Automata สำหรับวัยรุ่นอายุ 14-18 ปี ให้ได้มารู้จักวิธีการใช้เครื่องมือสำหรับงานไม้เบื้องต้น ได้เข้าใจเรื่องกลไก เรื่อง STEM ได้ลองประดิษฐ์ ออกแบบ ขัดไม้ ประกอบ วางแผน ได้ลองวัด จัดวาง คำนวณ เพื่อให้เกิดกลไกของเล่นที่เคลื่อนไหวได้

ระหว่างทางเด็กๆ ก็จะได้เปิดโลกของความเข้าใจเรื่องของเครื่องมือ ได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน พอเขาได้ลองทำแล้วทำได้ก็จะเกิดความภูมิใจในตัวของตนเอง ในส่วนที่จะต้องออกแบบเอง ก็จะต้องเกิดการคำนวณ ได้ลองใช้การวัดจริงๆ ทำดูแล้วมันประกอบได้ไหม ความผิดพลาดเล็กน้อยๆ เพียง 1 เซนติเมตร ก็ทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถต่อกันได้ เกิดกระบวนการการทำงานร่วมกัน ซึ่งตัวเขาเองก็ได้ค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวเขานั้นก็รู้จักไม้บรรทัดมาตั้งแต่อนุบาล แต่พอต้องนำมาใช้จริง ก็ยังใช้ไม่ถูกต้อง แต่เขาก็สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดการเรียนรู้มากมาย ทั้งไม่เป็นไร ทั้งค้นพบ และจดจำ ซึ่งบรรยากาศของการทำงานจะมีความยืดหยุ่น ให้กำลังใจ เสริมพลังกันและกัน”

“แปลน” รามิล กังวานนวกุล อายุ 20 ปี นักออกแบบของเล่นและวิทยากรกระบวนการ เล่าว่าได้ชวนน้องๆ ในชุมชนมาเรียนรู้เรื่องของเล่น Automata แล้วชวนกันคิดพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างของเล่นรางลูกแก้วขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กๆ ที่มาใช้พื้นที่ของโรงเล่นฯ ได้สนุกกับของเล่นชิ้นใหม่

“ช่วงเช้าจะชวนน้องๆ มาทำของเล่น Automata ที่ใช้กลไกลูกเบี้ยวฟันเฟือง ปูพื้นฐานแบบง่ายๆ โดยมีแบบอยู่แล้วเพียงแค่ออกแบบตุ๊กตาด้านบนตามจินตนาการของแต่ละคน ส่วนช่วงบ่ายก็จะเป็นลงมือทำของเล่นชิ้นใหญ่ด้วยกัน ซึ่งนอกเหนือจากทักษะที่ได้จากการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในงานช่างแล้ว น้องๆ จะเกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ได้เรียนรู้เรื่องของกลไก เรื่องวัสดุ เรื่องของ STEM การทำงานเป็นทีม มีการจัดแบ่งทีมแบ่งกลุ่ม จัดลำดับความเหมาะสมและความถนัดของและคน”  

 “มิ้ว” ปรียาภรณ์ ดวงชัย อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแม่สรวยวิทยาคม ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมทำของเล่น Automata เล่าให้ฟังว่า ผู้หญิงกับงานไม้ ดูเหมือนว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก งานพวกนี้ไม่ว่าใครก็ทำได้ ทำแล้วก็รู้สึกว่าสนุก ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนมากกว่า

“ในระหว่างการทำชิ้นงานเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงาน และสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันได้ เช่นการสร้างรถยนต์ ที่ต้องใช้กลไกและสิ่งต่างๆ หลายอย่างมารวมกัน แต่ละอันก็ต้องมีพื้นฐานมาจากของเล่น Automata และที่กำลังประดิษฐ์รางลูกแก้วเพื่อทำของเล่นให้น้องๆ ก็ต้องใช้กลไก Automata ที่ต้องเพิ่มเฟืองและลูกรอกต่างๆ เข้ามา โดยใช้ความรู้เดิมที่มีเป็นตัวตั้ง ซึ่งต้องใช้ทั้งการชั่งตวงวัดให้ถูกต้องชิ้นส่วนต่างๆ ถึงจะออกมาตรงตามแบบที่กำหนดไว้”

กิจกรรมงานไม้ Day Camp Automata ที่จัดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงการชวนน้องๆ เยาวชนเข้ามาเรียนรู้วิธีทำของเล่นจากไม้เพียงเท่านั้น แต่เป็นการชวนพวกเขาให้เข้ามาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ผ่านการลงมือทำ นำหลักทฤษฏีในห้องเรียนมาสู่ภาคปฏิบัติ เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกันทั้งบนความสำเร็จ ความล้มเหลว และความผิดพลาดระหว่างการทำงานร่วมกัน

 “การทำงานครั้งนี้พวกเขาได้ความเป็นพวกพ้อง ได้มาทำของเล่นชิ้นใหญ่ด้วยกัน ก่อนที่จะนำไปติดตั้งไว้ให้เด็กๆ ในชุมชนได้เล่น และเมื่อเขาเห็นก็จะเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งทักษะพวกนี้จะอยู่ติดตัวไปตลอด แม้ว่าจุดประสงค์ของเราคือการผลิตชิ้นงานออกมาให้สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เขาได้รับในขั้นตอนการปฏิบัติงานซึ่งสำคัญกว่ามาก ช่วงวัยรุ่นถ้าเขาจะสามารถหันหลังให้กับสิ่งรุมเร้าในทางที่ผิดได้ จะต้องมี 4 องค์ประกอบคือ มีความกล้า มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีเพื่อน และต้องได้รับความไว้วางใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด” วีรวรรณ กังวานวนกุล กล่าว

แม้วันนี้ยังการทำของเล่นทำรางลูกแก้วติดผนังจะยังไม่สำเสร็จ แต่ระหว่างทางเชื่อว่าหลายๆ คนคงได้ค้นพบและเรียนรู้อะไรมากมาย และทุกคนก็พร้อมใจกันนัดหมายในการมาลงมือทำต่อให้เสร็จเพื่อให้น้องๆ ที่มาเล่นที่โรงเล่นฯ ได้มีของเล่นกลไกชิ้นใหม่ให้ได้เล่นสนุกกันต่อไป

วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ กล่าวว่าได้ออกแบบพื้นที่และกระบวนการต่างๆ ของโรงเล่นฯ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ความคาดหวังของเราคือพวกเขาได้รอยยิ้ม ความทรงจำ และประสบการณ์ดีๆ กลับออกไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพลังงานบวกและพลังงานสร้างสรรค์ทำให้พวกเขาเดินหน้าต่อไป พร้อมกับขับเคลื่อนให้สังคมได้เดินต่อไป

การเล่นเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่เรื่องราวต่างๆ ทั้งความสนุกสนาน ความคุ้นชินกันระหว่างคนหน้าใหม่กับคนหน้าเก่า นำไปสู่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นำไปสู่การเผชิญสิ่งต่างๆ สุดท้ายก็จะนำไปสู่การค้นพบทั้งความรู้ใหม่ เป็นประตูบานแรกที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีที่สุด

สสส. เชื่อว่าการมี พื้นที่เรียนรู้หรือ “Learning Space” เป็นหนึ่งในกลไกและทางเข้าสำคัญในการสร้าง ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ” เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย ด้วยการเปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และในชุมชน ให้กลายพื้นที่เรียนรู้ ที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนครบทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ระบุ

“มาร์ค Masterchef Junior Thailand” ชวนดูแลสังคม “เริ่มที่เรา ได้ที่โลก” – “รับแล้ว ต้องคืนบ้าง”

“มันต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน มองว่าตรงไหนคือปัญหาที่เราอยากแก้ไข ยิ่งเป็นปัญหาที่เราสนใจ แรงผลักดันมันจะเยอะจนเราทำมันออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นี่คือคำตอบของ “มาร์ค ภาวริสร์ พานิชประไพ” ท็อป 3 จากรายการสุดยอดทำอาหาร มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ ซีซัน 1 เมื่อเจอคำถามที่ว่า หากอยากจะช่วยแก้ปัญหาให้กับโลกนี้บ้าง จะต้องเริ่มจากตรงไหน

มาร์คที่ตอนนี้เปลี่ยนจากเด็กชายเป็น เด็กหนุ่ม และทำกิจกรรมเพื่อช่วยสังคมมาแล้วมากมายหลายกิจกรรมผ่านการทำอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถนัดมากๆ เล่าให้เราฟังว่า ยิ่งใกล้ชิดเราจะยิ่งมีพลังที่จะอยากทำให้สิ่งนั้นๆ มันดีขึ้น

“คนบางคนอยากจะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม แต่คิดโปรเจกต์ไม่ออกนอกจากการบริจาคเงินซึ่งบางคนอาจจะอยากทำมากกว่านั้นก็ได้ มาร์คจะแนะนำว่า ให้มองปัญหาที่ตัวเองเจอก่อนครับ อย่างมาร์คชอบทำอาหาร ก็เห็นปัญหาเกี่ยวกับเศษอาหารที่มันจะเกี่ยวเนื่องไปถึงปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งพอมองจากมุมที่เราเห็นและอยากจะแก้ไขปัญหา เราจะพิจารณาเองได้โดยอัตโนมัติว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้างกับปัญหานั้นๆ และเวลาที่เราลงแรงและเวลาจริงๆ มันได้เห็น ได้เจาะลึกปัญหาจริงๆ ยิ่งเป็นปัญหาที่เราสนใจ มันยิ่งผลักดันให้มันเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”

ซึ่งโดยส่วนตัวของมาร์คเองก็ได้เริ่มแล้วด้วยการที่จะทำให้เศษอาหารที่เกิดจากการทำอาหารกลายเป็น Zero waste หรือ การไม่มีขยะเหลือทิ้งเลย

“โปรเจกต์ส่วนตัวที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือการทำปุ๋ยจากเศษอาหาร ตรงนี้เกิดจากเราเห็นปัญหาของอาหารเหลือทิ้ง และมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ เป็นส่วนใหญ่เลยด้วยซ้ำที่มันส่งผลต่อธรรมาชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เลยคิดว่าจะนำเอาเศษอาหารพวกนี้นำมาทำปุ๋ยแล้วนำไปเพาะปลูกอาหารแล้วหากมีส่วนเหลือก็นำกลับมาทำปุ๋ยอีกครั้งให้หมุนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างการวางแผนกับผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีความรู้ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เราทำเพื่อช่วยเหลือกัน คาดว่าจะได้เห็นกันในปีหน้าครับ”

เรื่องการช่วยเหลือสังคมนั้น เป็นสิ่งที่เด็กหนุ่มจากมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ได้รับการชี้แนะจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก อย่างการช่วยเหลือคนอื่นผ่านการให้ หรือการบริจาคไปกับโรงพยาบาลและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือที่หลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสอน และพากันทำได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ

มาร์คสร้างโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมาแล้วมากมายนับตั้งแต่ยังมีคำนำหน้าว่า เด็กชาย อาทิ เคยช่วยขายผลิตภัณฑ์จากภาพวาดโดยผู้ป่วยออทิสติกแล้วนำรายได้นั้นไปมอบให้กับศิริราชมูลนิธิ หรือโครงการ “FOOD FOR GOOD พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย” โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่มีเป้าหมายเพื่อ “ลดจำนวนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ” หรืออื่นๆ เช่น ยูนิเซฟ และเมอร์ซิเดส เบนซ์ ที่ดูแลเรื่องอาหารของเด็ก เป็นต้น

“ทางบ้านพาทำเรื่องการช่วยเหลือการบริจาคมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ส่วนใหญ่จะทำช่วงวันเกิด และหลังจากที่เราร่วมรายการ มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ ทำให้มี cooking event หลายจังหวัดทั่วประเทศ  ก็มีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้น เราเลยถือโอกาสนี้สร้างกิจกรรมและร่วมบริจาคร่วมกัน และการได้ลงไปทำงานจริงๆ ก็ทำให้เราเห็นปัญหา เช่น ทำโครงการร่วมกับ “FOOD FOR GOOD พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย” ซึ่งที่เราตัดสินใจร่วมงานด้วย เพราะเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจเพราะเกี่ยวกับอาหารและเขาก็นำเงินไปช่วยโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กที่โรงเรียนที่จังหวัดเลย มาร์คก็มีโอกาสได้เข้าไปดูงานที่โรงเรียนนั้นด้วย ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่และได้เห็นว่า ปัญหามีอยู่จริง และเงินที่เราเอาเข้าไปช่วยก็พัฒนาตรงนั้นได้จริง ซึ่งมันไม่ใช่แค่การบริจาคเงินให้แล้วทางโรงเรียนไปจัดการกันเอง แต่มีการสร้างระบบให้ทั้งหมด ทำให้หลังจากนั้น เขาก็สามารถดำเนินการต่อเองได้ โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วยครับ และในปีหน้ามาร์คก็จะมีโครงการร่วมกับที่นี่อีกครั้งครับ”

“การช่วยเหลือสังคมไม่ใช่หน้าที่ที่ใครจะมาบังคับได้ว่า เราต้องทำนะ แต่มาร์คเห็นปัญหาที่มีอยู่จริง เลยอยากจะช่วย มาร์คอยากช่วยอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้อยากช่วยจริง เราให้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ มันต้องเริ่มจากตัวเองที่อยากจะช่วยก่อน”

“พ่อแม่สอนตั้งแต่เด็กว่า ถ้าเราได้อะไรแล้ว ก็มองย้อนไปที่สังคมบ้าง แล้วกลับไปช่วยเหลือเขากลับบ้าง”

การได้มายืนในจุดที่มีแฟนคลับ มีชื่อเสียงนั้น ก็เหมือนกับสิ่งที่สังคม หรือแฟนๆ มอบโอกาสและความพร้อมในช่วยเหลือคนอื่นให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นครอบครัวของมาร์คจึงไม่ลืมที่จะย้ำอีกว่า

“ได้มาแล้ว ก็ต้องให้คืนบ้างครับ”

ติดตามโปรเจกต์ใหม่ๆ ของเชฟมาร์คได้ที่เฟซบุ๊ก : Mark Kidchen

“เทพลีลา” ชวนคนรุ่นใหม่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์บนโลกออนไลน์ ใช้ “ความชอบ” สานฝันสู่อาชีพ “YouTuber / Content Creator”

วันนี้ นักดนตรี นักแสดง YouTuber เชฟ ครู หมอ พยาบาล นักธุรกิจ ฯลฯ ได้กลายเป็นอาชีพในฝันลำดับต้นๆ ของเด็กและเยาวชนไทย เมื่อต้องตอบคำถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร? แต่การที่จะไปให้ถึงฝันพวกเขายังต้องการทักษะในด้านต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ใช่ด้านวิชาการและไม่สามารถหาได้ในชั้นเรียน โดยเฉพาะทักษะวิชาชีพต่างๆ

กิจกรรม BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO จึงเกิดขึ้นโดย สสส. ร่วมกับ กทม. นำเอาข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ค้นหาความต้องการเรียนรู้ในวันว่างของเด็กและเยาวชนไทย มาต่อยอดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อชักชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้เห็นถึงความสำคัญของของวันว่างที่มีมากกว่า 150 วันในแต่ปี พร้อมชักชวนให้ทุกฝ่ายให้มาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีกิจกรรมหลากหลาย สอดคล้องตามความสนใจ เพื่อปูทางสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเพื่อสร้างอนาคตให้เด็กและเยาวชนไทย

ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน ค้นหาความถนัด เปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ ที่สามารถต่อยอดพัฒนาเป็นทักษะอาชีพ พร้อมเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกับไอดอลในสาขาอาชีพต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจการลงมือทำในสิ่งที่ชอบ ที่สามารถพัฒนาสู่อาชีพในฝันโดยใช้แค่วันว่างให้เกิดประโยชน์

โดยเฉพาะการเป็น YouTuber ก็มีคำแนะนำดีๆ จาก “พี่เหว่ง” ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และ “พี่เติ๊ด” ภูถิรพัฒน์ อ่องศรี คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังจาก “ช่องเทพลีลา” เจ้าของรางวัล Best YouTuber ผู้ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์เพื่อเยาวชน มาแนะนำไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานบนโลกออนไลน์ บนแพลทฟอร์มต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ โดยทั้งคู่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า…ให้เริ่มต้นที่ความชอบ

“เทพลีลาเราเริ่มต้นครั้งแรกจากสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจ เป็นสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกสนุก เราคุยเรื่องนี้กันแล้วมันสนุกดี ก็เริ่มจากตรงนั้น จนปัจจุบันก็ยังเป็นสิ่งที่เราสนุกกับมัน และเป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกหรือสื่อสารอะไรออกไปกับสังคม ซึ่งการเริ่มต้นที่ดีที่สุดก็คือเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบก่อน”

พี่เติ๊ดกล่าว

“ถ้าอยากมีช่อง เริ่มต้นง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องของอุปกรณ์ เอาความสนใจของเราเป็นตัวตั้ง เรามีแรงบันดาลใจอะไร มี passion สนใจเรื่องอะไร เราก็จะอยู่กับมันได้นาน ง่ายที่สุดก็คือ มือถือแค่นี้ก็สามารถทำคอนเทนต์บน tiktok ได้แล้ว แล้วก็ทำเลยไม่ต้องรอช้าเท่านั้นเอง” พี่เหว่งแนะนำ

“จริงๆ ถ้าอยากจะเป็น content creator ให้เริ่มทันที ความยากของมันมาจากการที่เราไม่ได้เริ่มต้นสักที การเริ่มทำคอนเทนต์ดีที่สุดก็คือเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่อยากทำ สิ่งที่เราทำแล้วเรารู้สึกสนุกกับมัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเริ่มเลย” พี่เติ๊ดย้ำ

เมื่อใครๆ ก็สามารถเป็น Youtuber ได้ แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้พื้นที่ออนไลน์ในช่องทางต่างๆ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์ ได้รับความชื่นชนจากผู้ชม ที่มีคุณค่ามากกว่าเป็นแค่ความสนุกแต่สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่นๆ

“วุฒิภาวะที่ดีหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีจะสร้างทัศนคติที่ดี ดังนั้นในเรื่องนี้ครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก เพราะเด็กมีวุฒิภาวะต่างกัน บางครั้งที่เขาดูโซเซียลเยอะๆ ก็จะแยกไม่ออกว่าอะไรดีไม่ดี ค่านิยมที่อยากให้คนมาดูเยอะๆ เพราะอยากมีพื้นที่แสดงตัวตน ก็ไปเลือกที่ในสิ่งที่ไม่ดีที่มันทำง่ายแทน ดังนั้นครอบครัวต้องเป็นที่พึ่งที่ดีให้กับเขา เพื่อให้มีภูมิต้านทานที่ดีในการคัดกรอง แยกแยะว่าอะไรดีอะไรไม่ดีได้” พี่เหว่งระบุ

“เรื่องเนื้อหาที่ไม่ดีคงต้องเริ่มจากตัวของ influencer เอง เวลาที่เราทำคอนเทนต์อะไรก็ตามขอให้คิดเสมอไว้ว่าเราเองก็เป็นสื่อ ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีคนมองและชื่นชอบเราอยู่ น้องๆ พอเห็นแล้วอาจคิดว่านี่คือสิ่งที่ดี สิ่งที่สนุก แล้วก็อยากจะทำบ้างจนสร้างความเดือดร้อน ดังนั้นถามตัวเองดีๆ ว่าสิ่งที่ทำๆ ให้ตัวเองเดือนร้อน คนอื่นเดือดร้อนหรือเปล่า และคิดถึงคนที่ดูเราว่าเราได้ส่งสารที่ดีออกไปหรือเปล่า” พี่เติ๊ดแนะนำ

“สารที่บอกว่าดี ไม่ได้หมายความว่าน้องๆ จะต้องสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์สังคมอะไรแบบนั้น แต่เป็นการส่งความสุขออกไป บางครั้งคอนเทนต์เราอาจจะไร้สาระเลยก็ได้ ชอบศิลปะก็ทำด้านศิลปะ  ชอบวิทยาศาสตร์ ชอบดนตรีก็ทำได้ ชอบหุงข้าวก็ยังทำได้  ถ้าคนดูเค้ารู้สึกมีความสุข ดูแล้วสนุกจัง นั่นก็คือว่าเป็นคอนเทนต์ที่ดีแล้ว”

พี่เหว่งกล่าว

“ครั้งแรกๆ ที่เราทำอะไรออกไป ให้คิดไว้แต่แรกเลยว่ามันจะไม่มีคนดูในช่วงแรก แต่นั่นจะเป็นบทเรียนให้เราเรียนรู้ว่าจะต้องปรับอย่างไร ปรับไปเรื่อยๆ ไม่ต้องกลัวที่จะเริ่ม อย่าไปคาดหวังว่าคลิปแรกจะมีคนดูเยอะที่สุด” พี่เติ๊ด ให้กำลังใจน้องๆ ที่กำลังอยากเป็น Youtuber

พร้อมกันนี้ทั้ง “พี่เหว่ง” และ “พี่เติ๊ด” ยังฝากข้อคิดให้กับน้องๆ ที่สนใจในสายอาชีพนี้ว่า โลกออนไลน์นั้นเป็นดาบสองคม ถ้าเราสามารถใช้อย่างถูกต้องมันก็จะมีประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอย่างมหาศาล แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิดมันก็จะมีโทษและเกิดผลกระทบต่อตนเองและคนอื่นๆ มากเช่นกัน

“ไม่ว่าเริ่มด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ให้คำนึงด้วยว่าเรากำลังจะกระโดดเข้าไปเป็นสื่อ อยากให้น้องๆ คิดในมุมนี้นิดหนึ่งว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น ทำร้ายใครหรือเปล่า หรือทำร้ายตัวเองหรือเปล่า” พี่เติ๊ดชี้แนะ

“เวลาที่เราอยู่ในโซเซียล จะมีคนพูดถึงเราทั้งดีและไม่ดี ในวันนี้อยากจะให้น้องๆ คุยกันได้ ติได้ ชมได้ แต่อย่างด่ากันด้วยความรุนแรง ในบางครั้งที่มันรุนแรงเกินไป ก็ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า ท้อแท้ ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นโรคนี้กันเต็มไปหมด ความรุนแรงไม่ได้ช่วยอะไร แล้วน้องๆ ที่จะเข้ามาอยู่ตรงนี้จะต้องเจอทุกคน ดังนั้นเราจะมีเกราะป้องกันตัวเองให้รอดพ้นจากภาวะเหล่านี้ได้อย่างไร” พี่เหว่งฝากข้อคิด

สสส.เราสำรวจพบว่าสิ่งที่เด็กๆ ชอบที่สุดก็คือการได้ทำสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่อยากทำในวันหยุด แล้วเด็กยุคนี้เองเมื่อโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็มีคำตอบที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพต่างๆ ที่เห็นชัดเจน หลายคนอยากเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจออนไลน์ อยากเป็นChef อยากเป็น YouTuber อยากเป็นนักแสดง ซึ่งสิ่งต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นสิ่งที่จะติดตัวและใช้ในชีวิตของเขาในระยะยาวต่อไดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวสรุป.

เปิด 9 แนวคิด “การศึกษาในโลกอนาคต” ที่ “ธนินท์” และ “แจ็ก หม่า” เสนอให้คนรุ่นใหม่เรียนจบเร็วขึ้น เพื่อรับมือยุคปัญญาประดิษฐ์

หลังจาก “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างกระแสเสนอแนวคิด “ลดจำนวนปีการเรียนในระบบการศึกษา” ให้จบมหาวิทยาลัยที่อายุ 18 ปี จากปกติที่เรียนจบที่อายุประมาณ 21-22 ปี โดยเป็นการให้สัมภาษณ์นอกรอบ ในช่วงที่เขาไปปราฎตัวขึ้นเวที “Forum for World Education” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2562

การจัดงานครั้งนี้ กำหนดหัวข้อ “รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า” โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจและทุกภาคส่วนระดับโลก เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี, แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา และ เดวิด ครุกแชงก์ ประธานบริษัท ดีลอยท์ แห่งสหราชอาณาจักรร่วมเวทีพร้อมกับนักการศึกษา คณบดี อธิการบดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในหลายประเทศเข้าร่วมเพื่อหาแนวทางการศึกษาแห่งอนาคต

ในงานนี้นอกจาก “ธนินท์” จะได้รับเชิญขึ้นเวที รับฟังการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Progress, challenges and opportunities ของ “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริหารบริษัท อาลีบาบากรุ๊ปแล้ว เขายังได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นด้านการศึกษา ซึ่งหลายเรื่องเขาเห็นตรงกับ “แจ็ก หม่า โดยเฉพาะ “การเรียนนอกตำรา” ผ่านการ “ลงมือทำ”

โดย “แจ็ก หม่า” กล่าวบนเวทีปาฐกถาที่ปารีสว่า เด็กควรเรียนจบให้เร็วขึ้น จะได้มีโอกาสทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตไปด้วย เพื่อให้เข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ เพราะวันนี้การเรียนในระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันในหน้าที่การงานอีกต่อไป อาลีบาบากรุ๊ปไม่ได้จ้างคนที่เพราะเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือเอ็มไอที แต่จ้างบุคลากรที่มีความพร้อมจะเรียนรู้ มีความต้องการการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ บุคลากรที่เราจ้างงาน คือ คนที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ได้จ้างเพียงเพราะเขามีปริญญาหรือมีวุฒิการศึกษาขั้นสูง เพราะทันทีที่คุณเรียนจบได้รับวุฒิการศึกษาแล้ว นั่นก็หมายความว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่คุณต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณเอง

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ “ธนินท์” เห็นว่า ทำไมจึงเสนอให้ลดจำนวนปีการเรียนในระบบการศึกษาลง โดยเห็นว่า การลงมือทำคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เขามีแนวคิดอยากให้เด็กไทยเรียนจบมหาวิทยาลัยที่อายุ 18 ปี แล้วทำงานได้เลย โดยลดจำนวนปีลงจากระบบการศึกษาปกติประมาณ 4 ปี เพราะเป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ต้องเร็วแบบมีคุณภาพ โดยเขายกกรณีให้เห็นว่า สถาบันผู้นำเครือซีพี ที่เขาก่อตั้งขึ้นนั้น ใช้เวลา 3-6 เดือน ในการสร้างคนให้ทำงานและบริหารจัดการเป็นผู้จัดการได้ สามารถทำงานสร้างกำไรได้ แต่นั่นคือเชิงธุรกิจ หากมองในฝั่งนักวิชาการ มหาวิทยาลัย หรือภาคการศึกษาก็ควรจะต้องเร็วเช่นเดียวกัน

เขามองว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันใช้เวลามากเกินไป ช่วงอายุ 18 ปี คือวัยที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้แสดงศักยภาพมากเท่าที่ควร แต่หากเป็นความรู้เฉพาะทางให้ไปศึกษาต่อตามที่จำเป็น แต่การศึกษาปริญญาตรีขั้นพื้นฐานควรลดจำนวนปีเหลือที่ 18 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงในสังคมแห่งการทำงาน

น่าสนใจตรงที่มหาเศรษฐีเบอร์ต้นของประเทศเจ้าของอาณาจักรแสนล้านที่มีพนักงานทั่วโลก 3 แสนคน มองถึงอนาคตในการทำงานไว้ว่า “ความรู้ของเรา ประสบการณ์ของเรา มันใช้กับสมัยใหม่ไม่ได้ ยุคก่อนอาจทำได้ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่แล้ว มันกำลังเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ”

เขาเชื่อว่า คนยุคใหม่ฉลาดมากขึ้นเราจึงต้องสนับสนุนให้เขาเรียนจากสังคม

แนวคิดจบปริญญาตรีอายุ 18 ปี ของ “ธนินท์” แม้ไม่ได้ถูกเสนอให้เสียงดังฟังชัดบนเวทีใหญ่ในการประชุม “Forum for World Education” แต่เนื้อหาสาระบางอย่างที่เขาได้พูดบนเวทีในที่ประชุมก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน

เราลองมาดู “สรุป” แนวคิดด้านการศึกษาของ “ธนินท์” แห่งซีพี และ “แจ็ก หม่า” แห่งอาลีบาบา บนเวที “Forum for World Education” ที่ปารีสกัน โดยเว็บไซต์ข่าวทางการของเครือซีพี www.cp-enews.com รวบรวมเนื้อหาไว้ โดยเราขอสกัดเนื้อหามาสรุปเสนอให้เห็นภาพเปรียบเทียบ 2 แนวคิดด้านการศึกษา ซึ่งมีส่วนที่คล้ายคลึง หรือแตกต่างกันที่จุดไหน มาดูกัน

9 มุมมองด้านการศึกษาแห่งอนาคตของ “ธนินท์ เจียรวนนท์”

1.แก่นแท้ที่ดีที่สุดต้องสร้างอาจารย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด การที่จะสร้างอาจารย์ให้ได้เยี่ยมที่สุด ก็ต้องให้เกียรติเขามากที่สุด ให้รายได้ที่มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้คนเก่ง ๆ ในสังคมหรือในโลกนี้ต้องการที่จะหันมาประกอบอาชีพครูหรืออาจารย์

2.เราต้องสอนให้เด็กใจกว้าง อดทน และเรียนรู้ตลอดเวลา

3.ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดหาครูที่มีความรู้ความสามารถมาใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกลให้กับนักเรียนและผู้คนในชนบท เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้

4.การศึกษาก็เหมือนกับธุรกิจ ต้องมีการปรับตัว และต้องพิจารณาว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร

5.เรายังต้องเรียนรู้เทคโนโลยีจากซีกโลกตะวันตก ต้องยอมรับการศึกษาในซีกโลกตะวันออกยังสู้ไม่ได้ เพราะการเป็นนักธุรกิจต้องนำเทคโนโลยีที่ดี ๆ ของทั่วโลกมาใช้

6.การศึกษาที่แท้จริง คือ ต้องได้ไปสัมผัสของจริง เผชิญปัญหาจริง ยิ่งได้เผชิญปัญหาและแก้ไขปัญหาได้มากเท่าไร นั่นจึงเรียกได้ว่าเป็นของจริง แล้วถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วย ถึงจะเรียกว่าสามารถประยุกต์ใช้ความรู้แท้จริง เพราะการอ่านแค่ในหนังสือไม่ได้ทำให้ได้เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาได้แท้จริง

7.ก่อนที่การเรียนการสอนจะมีการวางหลักสูตรใหม่ ต้องศึกษาวิจัยความต้องการในโลกยุคนี้ก่อน พิจารณาว่าลักษณะบุคลากรหรือหน่วยงานใดที่บริษัทยังขาดแคลน ต้องมองตลาดความต้องการในระดับโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะต่อไปในอนาคตโลกจะไร้ขอบเขตคนไทยไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

8.การเรียนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราต้องลงมือไปปฏิบัติจริงไปสัมผัสของจริง ไม่ยึดติดกับการสอนรูปแบบเดิมในห้องเรียน แต่ต้องไปสัมผัสของจริง การศึกษาที่ดีต้องสร้างคนที่ไปทำงานได้จริงไม่ใช่เรียนแต่หนังสือ

9.การศึกษาตลอดชีวิตนั้นคนรุ่นเก่าเองก็ต้องใจกว้าง และต้องเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ด้วย และต้องให้คนรุ่นใหม่ได้ทำเรื่องใหม่ อาทิ แจ็ก หม่า เป็นผู้ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีจากโลกตะวันตกมาสร้างธุรกิจในจีน ทั้งที่เขาไม่ได้รับการศึกษาจากซีกโลกตะวันตกเลย

9 มุมมองด้านการศึกษาแห่งอนาคตของ “แจ็ก หม่า”

1.ครูเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะวางพื้นฐานการศึกษา ครูเก่งต้องไปสอนในโรงเรียนที่ขาดโอกาสมากกว่าจะสอนในโรงเรียนที่มีนักเรียนเก่งแล้ว เด็กต้องได้เรียนกับครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นและมั่นใจ ดังนั้นอาชีพครูต้องดึงคนเก่งเข้ามา สนับสนุนส่งเสริมด้านรายได้

2.ต้องสร้างเนื้อหาการศึกษาที่ถูกต้องเพื่อรองรับอนาคต ที่เป็นโลกของการทำงานกับหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาทำงานแทนมนุษย์ในส่วนงานที่เป็นตรรกะและงานที่คงที่ จึงจำเป็นต้องวางเนื้อหาการสอนใหม่ ฝึกให้เด็กมีความคิดเชิงวิเคราะห์

3.สอนให้เห็นรู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก สอนให้รู้จักโลกความจริง รู้จักการแก้ปัญหา จึงต้องให้ความสำคัญการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กในระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยม

4.ต้องเปลี่ยนดัชนีวัดการเรียนรู้ของเด็กใหม่ ไม่ใช่แค่การทำแต่ข้อสอบ แต่ต้องทำให้เด็กรู้ว่าเขาเรียนหนังสือไปเพื่ออะไรในอนาคต ให้เขารู้เป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่เรียนเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย

5.ต้องสอนให้เด็กเป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ การเรียนรู้จากสังคมและการทำงาน ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ดังนั้นการวางหลักสูตรการเรียนการสอนต้องเร็ว และให้ความรู้ใหม่ สถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับบริษัท สำรวจตลาด ต้องพิจารณาว่าอนาคตจะผลิตบุคลากรแบบไหนเพื่อสอดคล้องกับตลาด

6.เด็กควรเรียนจบให้เร็วขึ้น จะได้มีโอกาสทำงานพร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตไปด้วย เพื่อให้เข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ เพราะวันนี้การเรียนในระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันในหน้าที่การงานอีกต่อไป อาลีบาบากรุ๊ปไม่ได้จ้างคนที่เพราะเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือเอ็มไอที แต่จ้างบุคลากรที่มีความพร้อมจะเรียนรู้ มีความต้องการการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์ บุคลากรที่เราจ้างงาน คือ คนที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ได้จ้างเพียงเพราะเขามีปริญญาหรือมีวุฒิการศึกษาขั้นสูง เพราะทันทีที่คุณเรียนจบได้รับวุฒิการศึกษาแล้ว นั่นก็หมายความว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่คุณต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณเอง

7.การศึกษาในอนาคต ต้องสอนให้คนรุ่นใหม่มีหัวใจ เราอาจรู้ว่าการมีไอคิว (ความฉลาดทางสมอง) และอีคิว (ความฉลาดทางอารมณ์) เป็นสิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญในอนาคต ต้องสอนให้เด็กมี แอลคิว หรือที่เรียกว่า The Q of Love ที่เป็นความฉลาดทางจิตใจ สิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่สังคมโลก และการทำงานในวันข้างหน้าจะมีหุ่นยนต์ออโตเมชั่น เครื่องจักรเหล่านี้มีเพียงชิปส์ แต่ไม่มีความคิดจิตใจเฉกเช่นมนุษย์ ดังนั้นหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี่เองที่จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญาญาณ (wisdom) ที่แท้จริง

8.การเรียนการสอนในอนาคตต้อง โฟกัสไปที่แนวคิดโลกไร้พรมแดน Global Vision เช่น แทนที่จะสอนเรื่องราวเส้นแบ่งเขตแดนที่ซับซ้อน แต่ควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงความแตกต่าง เพื่อจะได้มีความเคารพต่อโลก เคารพความแตกต่าง เคารพทุกศาสนา เคารพทุกวัฒนธรรม เด็กทุกคนควรได้เรียนสิ่งเหล่านี้ และนี่คือคำตอบของการศึกษาโลก เพื่อให้เด็กได้เข้าใจ เรียนรู้และให้เกียรติผู้อื่น

9.สอนให้พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ดังนั้นวิชาบังคับที่ควรให้เด็กได้เรียน คือ วิชาศิลปะ กีฬา เต้นรำ เป็นต้น

เป็นการสกัด 9 มุมมอง 9 แนวคิด ของนักธุรกิจผู้คร่ำหวอด ซึ่งมองทิศทาง “การศึกษา” ที่ควรจะเป็นในอนาคต

ผู้สนใจอ่านปาฐกถาฉบับเต็มของ “แจ็ก หม่า” และอ่านเนื้อหาการร่วมสัมมนาของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ในงาน “Forum for World Education” ที่กรุงปารีส สามารถติดตามได้ที่ www.cp-enews.com

“แจ็ก หม่า” โชว์วิสัยทัศน์ ปฏิรูประบบการศึกษาโลก รับมือโลกยุคดิจิทัล
> http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/3480

ประธานอาวุโสซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์” ขึ้นเวทีพร้อม “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ร่วมเสนอวิสัยทัศน์การศึกษาแห่งอนาคตมุมมองของภาคธุรกิจ

http://www.cp-enews.com/news/details/cptalk/3483

ที่มา: https://www.prachachat.net/education/news-398415

ใช้ความ “ชอบ” พัฒนาทักษะสู่ “อาชีพ” โลกออนไลน์

แบ่งเวลาเติมฝัน “เรียน-เล่น-สนุก-มีรายได้” ไปพร้อมกัน

โลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน มีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในทุกทวีปทั่วโลก เป็นทั้งเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร แหล่งสาระความรู้ ความบันเทิง และยังเป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ภายในงาน“BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO ที่ สสส. ร่วมกับ กทม. จัดขึ้นเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ ได้มีการเปิดเวทีพูดคุยกับไอดอลของคนรุ่นใหม่ในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาสิ่งที่ชอบ ต่อยอดพัฒนาเป็นทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์

โดยเฉพาะการเล่นเกมส์ออนไลน์ที่เป็นหนึ่งในกิจกรรมยามว่างยอดนิยมของเด็กและเยาวชนในยุคนี้ ที่มองเผินๆ อาจเห็นว่าเป็นแค่เรื่องความสนุก แต่ในปัจจุบันสามารถยกระดับไปเป็นอาชีพได้  

ซึ่ง “โค้ชป้อม” จักรพล ป้อมปราณี วิศวกรไฟฟ้า กฟผ. โค้ชกีฬาอีสปอร์ต(E-Sports) ทีมชาติไทย ที่นำทีมนักกีฬาไปคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาครองได้ 2 เหรียญ เล่าให้ฟังว่า การเล่นเกมส์นั้นนอกจากจะมีรายได้จากการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปเป็น Game Streamer / YouTuber หรือเป็นโค้ชแบบตัวเขาเองได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือการรู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม

“ช่วงที่ยังเรียนมัธยม ส่วนใหญ่จะเล่นเกมตอนหลังเลิกเรียน เล่นเต็มที่ ยกเว้นช่วงใกล้สอบและช่วงสอบจะไม่เล่นเลย จะตั้งใจอ่านหนังสือสอบให้เต็มที่ จนมาถึงช่วงวัยทำงาน เป็นวิศวกรการไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 8 โมงเช้า จนถึง 4 โมงเย็น ส่วนงานด้านโค้ช ก็เป็นงานเสริม ที่อาศัยประสบการณ์การเล่นเกมส์มาตั้งแต่สมัยเรียน ม.2 จนถึงช่วงที่ทำงาน ซึ่งเคยได้แชมป์ระดับประเทศ MOBA Legend และ ROV อยู่หลายปี”

โค้ชป้อมกล่าว

 แต่การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตนั้นไม่ได้หมายความว่า จะต้องมุ่งมั่นอยู่กับการเล่นเกมส์โดยไมต้องไปสนใจเรื่องการเรียนหรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งในเรื่องนี้นั้น “โค้ชป้อม” ได้สอนน้องๆ ทุกคนเสมอว่า ช่วงชีวิตของนักกีฬา นั้นจะมีช่วงที่ท็อปฟอร์มและขาลง วันไหนที่ไม่มีคนจ้างไปแข่งจะทำอะไรกิน

“ถ้าไม่มีงานประจำเลย ก็จะไม่มีรายได้ สมมติอยู่ในวงการ เรียนจบใหม่ๆ เล่มเกมมา 4 ปีก็จริง แต่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านอื่นเลย มันก็อาจจะไปต่อด้านอื่นได้ยาก ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ไปด้วย ส่วนคนที่มุ่งมั่นในทางนี้ก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อยอดไปเป็น Streamer หรือYouTuber เพื่อให้มีรายได้ทางอื่นๆ นอกจากเงินเดือน และเงินรางวัลจากการแข่ง” โค้ชป้อมระบุ

ส่วนการพัฒนาทักษะจากมือใหม่ไปสู่มืออาชีพหรือเป็นโค้ชได้นั้นต้องอาศัยทักษะหรือสกิล และต้องรู้ข้อมูลของตัวเกมส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่นักกีฬาและโค้ชทุกคนต้องมี แต่การที่จะขยับขึ้นไปเป็นโค้ชนั้น จะต้องมองคู่ต่อสู้ให้ออก รู้รูปแบบวิธีการเล่นใหม่ๆ ที่จะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้

“การจะมองให้ออกว่าคู่ต่อสู้เล่นประมาณไหน ต้องไปดูเขา ดูให้เยอะ ดูทีมอื่นๆ เล่น ดูตั้งแต่การซ้อม การแข่งของลีกอื่นๆ แล้วมาประยุกต์ให้เข้ากับทรัพยากรของนักกีฬาที่มีอยู่ในทีม ส่วนการเป็นโค้ชสิ่งสำคัญก็คือการยอมรับจากนักกีฬา เราต้องรู้ว่านักกีฬาต้องการอะไร และต้องทำให้นักกีฬายอมรับในตัวของเราให้ได้ ต้องสอนและอธิบายให้เขาเห็นเป็นภาพได้” โค้ชป้อมย้ำ

“อยากให้มองว่าการเลนส์เกมส์ไม่ได้มีแค่มุมเดียวคือเป็นเด็กติดเกมส์ แต่มีมุมอื่นๆ ที่เป็นได้ทั้งอาชีพ และสามารถสร้างรายได้รูปแบบใหม่ๆ ได้ในอนาคต และอยากฝากว่าถ้าจะลงมือทำอะไร ให้เตรียมตัวมาเต็มที่ แล้วจะต้องลงมือทำให้สุดๆ จริงๆ ซึ่งถ้าได้รับมอบหมายงานอะไรมาแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบและต้องทำงานนั้นออกมาให้ดีที่สุด”

โค้ชป้อมฝากทิ้งท้าย

นอกจากวงการ E-Sport ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผู้คนทั่วทุกมุมโลกบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  

โดย “เค้ง” ณภัทร อัสสันตชัย ศิลปินดิจิทัล ชั้น ม.ปลาย ผู้สร้างรายได้จากความความชอบและความสุขในการทำสิ่งที่รัก ด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะบนโลกออนไลน์ กล่าวว่า ศิลปะ NFT คือการเปลี่ยนงานศิลปะชิ้นเดียวบนโลกของความเป็นจริง ให้กลายเป็นงานศิลปะบนโลกของออนไลน์ 

“จุดเริ่มต้นมาจากการที่ตัวเองชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เวลาวาดรูปแล้วก็มีความสุข ได้ผ่อนคลายจากการเรียน  จนกลายมาเป็นกิจวัตรประจำวัน ต่อมาในปี 2020 ช่วงที่มีโควิด-19 ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ค่าขนม ก็เลยเอาสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วซึ่งก็คืองานศิลปะ นำมาออกเผยแพร่ในช่องทางโซเชียลต่างๆ  โดยเริ่มจากชิ้นแรกราคา 700 บาทก็ขายได้เลย”  น้องเค้งเล่า

ส่วนคนที่สนใจสร้างรายได้จากงานศิลปะ “เค้ง”บอกว่าอยากให้เริ่มจากศึกษาระบบ NFT ก่อนว่าทำงานยังไง และต้องแยกให้ออกระหว่างศิลปะที่เป็นรูปวาดปกติ กับศิลปะ NFT ซึ่งแตกต่างจากการวาดรูปจริงบนกระดาษ  ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาว่าลูกค้าหรือคนที่สนใจงานของเราเป็นใคร จะอาศัยเอาแต่ที่ตัวเองชอบอย่างเดียวไม่ได้

“การวาดรูป NFT หรือศิลปะดิจิทัลนั้นทำได้หลายอย่างมากกว่าในกระดาษ  ซึ่งกระดาษขยับไม่ได้ มันไม่มีเสียง แต่ถ้าวาดแบบ NFT เราทำให้มันขยับได้ มีเสียงได้ เน้นที่ความหลากหลายของงาน และงานศิลปะจะมีแนวทางรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามนิสัยและอารมณ์ของศิลปินแต่ละคน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่างานที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งงานศิลปะ NFT จะกำหนดราคา และกำหนดให้เป็นงานชิ้นเดียวในโลก โดยทุกวันนี้จะจัดสรรเวลาในการวาดรูปหลังเลิกเรียนในตอนกลางคืน” น้องเค้งระบุ

สำหรับคนที่สนใจอยากเป็น ศิลปิน NFT ก็มีคำแนะนำดีๆ จากเค้งว่า “ให้เริ่มต้นจากการมองหาสิ่งที่ชอบก่อน ถ้าเราชอบปุ๊บ เราตั้งใจกับมัน ไม่ว่าจะยังไง มันต้องได้ผลสักอย่าง จะเกิดรายได้ หรือไม่เกิดรายได้ ก็ว่ากันอีกเรื่อง ถ้าเราชอบอะไรแล้วเราเข้าใจกับมันจริงๆ สิ่งนั้นก็คือความถนัด”

“ปีหนึ่งๆ มีวันหยุดมากกว่า 150 วัน เราพบว่าเป็นช่วงที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าในห้องเรียนเสียอีก แล้วเขาสามารถที่จะใช้ช่วงเวลานี้ไปเรียน ไปศึกษา ไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ สสส. อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของวันว่างแห่งการสร้างสรรค์ แล้วมาช่วยกันสร้างระบบการเรียนรู้คู่ขนานไปกับระบบการศึกษา ซึ่งการมีพื้นที่เรียนรู้หรือ Learning Space เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21  เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่อง Event และความสนุกสนาน แต่ปิดเทอมสร้างสรรค์จะสร้างอนาคตให้กับเด็กไทยได้เป็นจำนวนมาก” 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ย้ำความสำคัญ.

โมเดลธุรกิจ Gen Alpha “คิด-ค้า-ขาย” ให้ปังจาก “ความชอบ”

สสส. หนุนเปลี่ยนวันว่าง สร้างการเรียนรู้ พัฒนาสู่ทักษะชีวิตและอาชีพ

“เวลาว่างคือเวลาที่เป็นอิสระ ได้ทำอะไรตามที่ตัวเองชอบ เวลาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และเป็นเวลาอื่นนอกเหนือจากเวลาเรียนหรือเวลาทำงาน”

เป็นข้อสรุปและมุมมองของเด็กและเยาวชนที่ได้จากการวิจัย “โครงการกิจกรรมวันว่างและกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชน” โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการค้นหาความชอบ ความสนใจ สิ่งที่อยากเรียนรู้ และลงมือทำในช่วงเวลาว่างของเด็กๆ  

เมื่อค้นพบว่าเด็กและเยาวชนอยากเรียนรู้เรื่องอะไร สสส. จึงร่วมกับ กทม. จึงนำข้อมูลจากงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตรงใจวัยรุ่น ในชื่อ “BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาค้นหาทักษะ ความถนัด และความสนใจในเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสและการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ “อาชีพ” ในฝันของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ YouTuber นักแสดง นักดนตรี เชฟ ขายสินค้าออนไลน์ ฯลฯ

โดยได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองจากไอดอลในแต่ละสาขาอาชีพ ที่ตอบโจทย์ความสนใจและความฝันในการเป็นทั้งเจ้าของกิจการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ อย่าง “โฟกัส”  ธันย์สิตา อริยะรุ่งรัตน์ เจ้าของร้านคุณนายเบเกอรี่ ขายขนมโดนัทชิ้นละ 5 บาท และ “ริสา” มาริสา เวชสุภาพร มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ เจ้าของธุรกิจขนมคีโตเพื่อสุขภาพ ที่ทั้งคู่ล้วนมียอดขายหลักล้านต่อเดือน

“จุดแรกเริ่มมาจากความคิดที่ว่า เงิน 5 บาท ซื้ออะไรแล้วอิ่มท้อง”

เป็นมุมมองและแนวคิดแบบเด็กๆ ของน้อง “โฟกัส”  ที่ตอนนั้นมีอายุเพียง 13 ปี ประกอบกับทางบ้านมีพื้นฐานในการทำร้านเบเกอรี่ แล้วก็เป็นชอบกินโดนัท เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 “โฟกัส” จึงใช้เวลาว่างจากการเรียนออนไลน์มาช่วยแม่ทำขนม ประกอบกับขนมแพนเค้กญี่ปุ่นที่ทำมาขายก็เกิดขายไม่ค่อยออกเพราะมีราคาที่สูงไป เธอจึงเสนอไอเดียให้แม่เปลี่ยนมาทำโดนัทแทน

“พอดีคุณแม่ชอบทำให้ชิม เลยเสนอไอเดียว่าลองมาทำเป็นโดนัทดูไหม ตั้งใจแต่แรกว่าเสนอให้แม่ขายชิ้นละ 5 บาท ราคานี้คืออินมาจากตัวเอง ที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ บางทีเงิน 5 บาทในกระเป๋า ถ้าสามารถซื้อของกินที่อิ่มท้องได้ก็น่าจะดี ประกอบกับเป็นช่วงสถานการณ์โควิดด้วย ก็เลยลองทำขาย แต่ที่บ้านก็กลัวว่าจะขาดทุน เลยตั้งราคาชิ้นละ 10 บาท ปรากฏว่าตั้งแต่เช้ายันบ่าย ขายไม่ได้เลย ก็เลยลองเปลี่ยนมาขาย 5 บาท ตามที่ตั้งใจแต่แรก กลับกลายเป็นว่า บูมขึ้นมา เพียงแค่ชั่วโมงเดียว ขายหมดเกลี้ยง”

จากนั้นชื่อเสียงของโดนัท 5 บาท ที่ตรงความต้องการและงบประมาณในประเป๋าของเด็กๆ แถมยังอร่อยเกินราคา ก็ถูกพูดถึงกันแบบปากต่อปาก บางวันที่ขายดีมากๆ มียอดขายเกือบ 1 หมื่นชิ้นต่อวัน และใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ในการโปรโมทสินค้าและรับออเดอร์ควบคู่กันไป จนปัจจุบันพัฒนาไปเป็นสู่การจำหน่ายแป้งโดนัทสำเร็จรูปแช่แข็งเพื่อให้คนที่สนใจสามารถนำไปขายต่อได้

“ตลาดโดนัทหรือเบเกอรี่ไม่ได้ใหม่ในเมืองไทยแล้ว มีขายกันเกร่อ เราก็ต้องหาจุดเด่นของเรา นอกเหนือจากที่ราคา 5 บาทแล้ว คุณภาพและความอร่อยนั้นเกินราคา ซึ่งหลายคนคิดว่า 5 บาท แป้งคงจะแข็งๆ ทื่อๆ แต่พอได้ชิมแล้ว พบว่าแป้งมันนุ่ม อร่อยเกินราคา เพราะเราใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีมูลค่า” น้องโฟกัสเล่าถึงจุดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับโดนัทจากร้านของเธอ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ “โฟกัส” ฝากถึงเพื่อนๆ ทุกคนที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจและประสบความแบบเธอก็คือให้เริ่มต้นจาก “สิ่งที่ชอบ” ก่อน

“สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบก่อน หาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนตัวเริ่มต้นตอนอายุ 13 ก็คือถ้าหนูเริ่มได้ทุกคนก็น่าจะเริ่มได้ ท้อได้แต่ต้องไม่ถอย”

น้องโฟกัสระบุ

ด้านน้อง “ริสา” มาริสา เวชสุภาพร เจ้าของธุรกิจขนมคีโตเพื่อสุขภาพ ก็มีจุดเริ่มต้นในการเป็นเจ้าของธุรกิจไม่แตกต่างกัน นั่นก็คือ “ความชอบ”

“เป็นคนชอบกิน คนอื่นมาทำให้กินก็ไม่ถูกใจ จึงเริ่มมาทำเองทั้งขนมและอาหาร ชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ หัดทำขนมและอาหารต่างๆแบบลองผิดลองถูกเรื่อยมา โดยหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ตบ้าง ยูทูปบ้าง แล้วก็มาปรับสูตรเป็นสูตรของเราเอง”

ริสาเล่า

โดยจุดเด่นในการทำขนมของ “ริสา” คือการเน้นใช้วัตถุดิบที่ดี และมีราคาที่ขายไม่แพงจนเกินไป นัก ซึ่งคนที่ทานคีโตเพื่อสุขภาพ จะรู้ดีว่าขนมปังคีโต 1 แผ่น ที่ขายกันทั่วๆไป ราคาก็เกือบ1ร้อยแล้ว ซื้อ แต่ของเธอเองนั้น ขายเป็นโรพ (ROPE) เท่ากับ 13 แผ่น ในราคาเพียง 180 บาท เพราะอยากให้คนที่ซื้อของไป ซื้อไปได้ทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างมีความสุข โดยที่มีราคาไม่แพงเกินไปนัก  

ส่วนการจัดสรรเวลาเรียนและการทำขนมนั้น “ริสา” บอกว่าจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาโพสต์ Facebook เพื่อรับพรีออเดอร์สั่งซื้อสินค้า และเร่งทำตามที่ลูกค้าสั่งเข้ามาเพื่อส่งให้ได้ในวันถัดไป ซึ่งเธอรู้สึกว่าสนุกในการทำงาน ไม่เหนื่อย เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ

“สำหรับเพื่อนๆที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองนั้น ก็จะแนะนำว่า ถ้ามีโอกาสเข้ามา ก็ให้รีบคว้าเอาไว้ ให้ลงมือทำทันที อย่ากลัวที่จะลงมือ เพราะแม่สอนเสมอว่าชีวิตเป็นของหนู หนูต้องดูแลตัวเอง เพราะฉะนั้นต้องพยายามทำอะไรของตัวเองด้วยตัวเองก่อน และเอาความชอบที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์” น้องริสาระบุ

ซึ่งการเปิดพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ เปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ มีความสำคัญสำหรับการสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่จำเป็นสำหรับโลกและการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 โดย สสส.เตรียมขยายผลการดำเนินงานปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ออกไปในระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีกิจกรรมหลากหลาย สอดคล้องตามความสนใจของเด็กและเยาวชน

สอดคล้องมุมมองของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ระบุว่า สิ่งที่เด็กและเยาวชนชอบที่สุดก็คือ การได้ทำสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่อยากทำในวันหยุด เด็กยุคนี้เองเมื่อโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็มีคำตอบที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพต่างๆ ที่เห็นชัดเจน

“หลายคนอยากเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจออนไลน์  อยากเป็นChef  อยากเป็น YouTuber อยากเป็นนักแสดงฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน และเป็นสิ่งที่จะติดตัวของเด็กและใช้ในชีวิตของเขาระยะยาวต่อไป”

ผจก.สสส. กล่าวสรุป.

150 วันเปลี่ยนชีวิต “ติดปีก-เติมฝัน” สร้างทักษะโลกยุคใหม่ให้เยาวชน

เปลี่ยน “วันหยุด-วันว่าง” ให้เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

ต่อยอด “ความชอบ” สู่เส้นทาง “อาชีพ” ด้วยการเรียนรู้นอกห้องเรียน

เกือบ 3ปี กว่าที่สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ความกดดันจากการเรียนออนไลน์ ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ขาดโอกาสพบปะเพื่อนฝูงเข้าสังคมและทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนกว่า 2.4 ล้านคน อยู่ในความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านวิชาการ พัฒนาการ อารมณ์และสังคม

โลกในศตวรรษที่ 21 การเรียนรู้ถือว่าเป็น ทักษะ สำคัญที่จะทำให้คนๆ หนึ่งมีศักยภาพพร้อมรับมือ และอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้ หลายประเทศต่างตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการศึกษา ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิด “การเรียนรู้” ที่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหรือเปิดพื้นที่ๆ เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน

 มีข้อมูลจาก ผลสำรวจเยาวชน 2022 ของ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว(คิด for คิดส์) พบว่าองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนได้ดีที่สุดคือ “การมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรม หรือแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่นได้” นอกจากนี้ยังพบว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ได้เกิดแค่ในห้องเรียนหรือกิจกรรมวิชาการเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน การสัมผัสสิ่งรอบตัว การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การวิ่งเล่นหรือการออกไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆนอกบ้าน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

“ในงานสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายลับดับที่หนึ่ง เพราะเป็นวัยที่ก่อร่างสร้างพฤติกรรมที่จะเป็นพื้นฐานในการกำหนดว่าจะมีวิถีชีวิตและสุขภาพไปทางไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสร้างทั้ง hardware และ software ของเด็ก ซึ่งเวลาที่เราจะใช้สร้างทั้ง 2 ส่วนนี้ ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงแค่เวลาที่อยู่ในระบบการศึกษา” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าว

แต่สิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักหลงลืมไปก็คือ ในระยะเวลา 1 ปี ที่มี 365 วันนั้น กว่าครึ่งหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน เพราะเป็นช่วงวันหยุด ทั้งสุดสัปดาห์ นักขัตฤกษ์ ปิดเทอม ซึ่งถ้าปล่อยเวลาเหล่านี้ให้หมดไปกับมือถือหรือคอมพิวเตอร์มากถึง 13-14 ชั่วโมงต่อวัน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

“ปีหนึ่งๆ มีวันหยุดมากกว่า 150 วัน เราพบว่าเป็นช่วงที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าในห้องเรียนเสียอีก เพราะเป็นเวลาอิสระ ที่ไม่มีคนบังคับ แล้วเขาสามารถที่จะใช้ช่วงเวลานี้ไปเรียน ไปศึกษา ไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ” ผจก.สสส.ระบุ

คำถามก็คือว่า…แล้ววันหยุดวันว่าง จะทำอะไรที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของคนรุ่นใหม่? ตอบโจทย์และเป้าหมายในการสร้างกระบวนการเรียนรู้? ที่จะสามารถปูทางสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่จำเป็นสำหรับโลกและการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 ได้

“เวลาว่างคือเวลาที่เป็นอิสระ ได้ทำอะไรตามที่ตัวเองชอบ เวลาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และเป็นเวลาอื่นนอกเหนือจากเวลาเรียนหรือเวลาทำงาน” เป็นข้อสรุปของเยาวชนจากการทำวิจัย “โครงการกิจกรรมวันว่างและกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชน” โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่ต้องการค้นหาความชอบ ความสนใจ สิ่งที่อยากเรียนรู้ และลงมือทำในช่วงเวลาว่างของเด็กๆ  โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า อาชีพในฝันกลุ่มเด็กมัธยมต้นคือ พยาบาล นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ แพทย์ ทักษะที่ต้องการคือ ภาษา ดนตรี กีฬา วิชาชีพ ขณะที่กลุ่มเด็กมัธยมปลายและอุดมศึกษา อาชีพในฝันคือนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ครู พยาบาล ยูทูบเบอร์ นักแสดง ส่วนทักษะที่อยากได้คือ วิชาชีพ ดนตรี ภาษา การแสดงออกในสังคม การขายออนไลน์ และการทำอาหาร 

จึงเป็นที่มาของการจับมือร่วมกันระหว่าง สสส. และ กทม. ในการนำเอาข้อมูลจากงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตรงใจวัยรุ่น ในชื่อ “BKK-เรนเจอร์ x ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” The Miracle Playground @Siam : DREAM & DO เปิดพื้นที่ SIAM SQUARE BLOCK I ให้เด็กและเยาวชนได้มีทางเลือกในการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนตามความสนใจ เปลี่ยนวันว่างให้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ค้นหาสิ่งที่ชอบใช้วันว่างพัฒนาเป็นทักษะอาชีพ

“การได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการทำกิจกรรม เชื่อว่าเด็กๆ จะได้ไอเดียต่างๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ ดังนั้น กทม. พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงวันว่าง เพื่อให้เยาวชนไทยได้ร่วมกันสร้างอาชีพในฝันสู่อนาคตที่สดใส ก้าวสู่การสร้างเมืองของคนรุ่นใหม่ พัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุ

โดยผลสำรวจของ สสส.ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์มีทั้งหมด 6 โซนประกอบไปด้วย

  1. Music & Performance
  2. Learn & Earn
  3. IT (Platform & Content Creator)
  4. Book & Language
  5. Cooking & Café
  6. Dream & Do

ซึ่งสอดคล้องความต้องการของเยาวชน ในการค้นหาตัวเอง เปิดประสบการณ์ใหม่ ไม่ละทิ้งการเรียน พร้อมกับเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกับไอดอลในสาขาอาชีพต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจการลงมือทำในสิ่งที่ชอบ ที่สามารถพัฒนาสู่อาชีพในฝันโดยใช้แค่วันว่าง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบก่อน หาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์  ถ้าหนูเริ่มได้ทุกคนก็น่าจะเริ่มได้ ท้อได้แต่ต้องไม่ถอย”  เป็นมุมมองในการใช้ความชอบมาต่อยอดเป็นธุรกิจของ “โฟกัส”  ธันย์สิตา อริยะรุ่งรัตน์ วัย 15 ปี เจ้าของร้านคุณนายเบเกอรี่ ที่ขายขนมเบเกอรี่เพียงชิ้นละ 5 บาท แต่มีรายได้หลักล้านต่อเดือน

สอดคล้องกับ “เค้ง” ณภัทร อัสสันตชัย ศิลปินดิจิทัล ผู้สร้างรายได้จากการวาดรูปผ่านงานศิลปะบน NFT ที่พูดไปในแนวทางเดียวกันว่าให้ใช้ความชอบเป็นจุดเริ่มต้น “ให้เริ่มต้นจากการมองหาสิ่งที่ชอบก่อน ถ้าเราชอบปุ๊บ เราตั้งใจกับมัน ไม่ว่าจะยังไง มันต้องได้ผลซักอย่าง จะเกิดรายได้หรือไม่เกิดรายได้ก็ว่ากันอีกเรื่อง”

“พี่เหว่ง” “พี่เติ๊ด” ช่องเทพลีลา

โดยเฉพาะอาชีพในฝันของเยาวชนส่วนใหญ่ในการเป็น YouTuber ก็มีคำแนะนำดีๆ จาก “พี่เหว่ง” ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และ “พี่เติ๊ด” ภูถิรพัฒน์ อ่องศรี คอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดังจาก ช่องเทพลีลา เจ้าของรางวัล Best Youtuber ผู้ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์เพื่อเยาวชน มาแนะนำไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยทั้งคู่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้เริ่มต้นจากความชอบก่อนเช่นกัน

“ถ้าอยากมีช่อง เริ่มต้นง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องของอุปกรณ์ เอาความสนใจของเราเป็นตัวตั้ง เรามีแรงบันดาลใจอะไร มี passion สนใจเรื่องอะไร ง่ายที่สุดก็คือ มือถือแค่นี้ก็สามารถทำคอนเท้นท์บน tiktok ได้แล้ว แล้วก็ไม่ต้องรอช้าเท่านั้นเอง” พี่เหว่งแนะนำ

“สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือการเริ่มต้น ความยากของมันมาจากการที่เราไม่ได้เริ่มต้นสักที การเริ่มทำคอนเทนต์ดีที่สุดก็คือเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราชอบก่อน สิ่งที่เราทำแล้วเรารู้สึกสนุกกับมัน ถ้าอยากเป็น content creator สิ่งที่สำคัญคือเริ่มเลย” พี่เติ๊ดกล่าวย้ำ

“สสส.เราสำรวจพบว่าสิ่งที่เด็กๆ ชอบที่สุดก็คือการได้ทำสิ่งที่รัก ที่ชอบ ที่อยากทำในวันหยุด แล้วเด็กยุคนี้เองเมื่อโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็มีคำตอบที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพต่างๆ ที่เห็นชัดเจน หลายคนอยากเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจออนไลน์  อยากเป็นChef  อยากเป็น YouTuber อยากเป็นนักแสดงฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน  เป็นสิ่งที่จะติดตัวของเด็กและใช้ในชีวิตของเขาระยะยาวต่อไป”  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ระบุถึงความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน

ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ได้ย้ำว่า ระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ขาดหายไปในช่วงของการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยถดถอย ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะในทุกมิติ

“ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันเติมเต็มทักษะและความต้องการที่ขาดหายไป เพื่อให้เขาได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบ ได้ค้นพบตัวเอง ได้ค้นหาความชอบ ค้นหาความถนัด ได้เติมเต็มทักษะในด้านต่างๆ ที่ขาดหาย ช่วยเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนครบทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา ซึ่งการมี พื้นที่เรียนรู้หรือ Learning Space เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21  เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย”

โดย สสส.เตรียมขยายผลการดำเนินงานปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง ออกไปในระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีกิจกรรมหลากหลาย สอดคล้องตามความสนใจของเด็กและเยาวชน สร้างพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นประเทศไทย

 “สสส.อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของ 150 วันว่างแห่งการสร้างสรรค์ แล้วมาช่วยกันสร้างระบบการเรียนรู้คู่ขนานไปกับระบบการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ Event แค่ความสนุกสนาน แต่ปิดเทอมสร้างสรรค์จะสร้างอนาคตให้กับเด็กไทยได้เป็นจำนวนมาก”  

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวเชิญชวน.

ชี้เป้า แหล่งหาที่ฝึกงานระหว่างปิดเทอม เสริมทักษะ วัดจังหวะหัวใจ ชอบจริงหรือไม่ เดี๋ยวรู้กัน

หลุมดำอย่างหนึ่งในชีวิตนักเรียนที่กำลังจะเลือกคณะในระดับชั้นอุดมศึกษา หรือนักศึกษาที่เรียนแล้วระยะหนึ่ง คือ เพิ่งรู้ว่าสิ่งที่เคยคิดว่าชอบนั้น เมื่อมาสัมผัสจริงแล้ว กลับไม่ใช่อย่างที่คิด ซึ่งอาจจะทำให้เสียกำลังใจ เสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ และเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

สิ่งหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับนักเรียนนักศึกษาในเรื่องนี้ได้ก็คือ การได้เข้าไปสัมผัสกับโลกแห่งการทำงานในอาชีพนั้นๆ จริงๆ อย่างเช่น การฝึกงานในอาชีพเป้าหมาย ซึ่งจะได้ให้ได้รับรู้ประสบการณ์การทำงาน ได้เห็นในแง่มุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้ลองลงมือทำ ลงมือคิดจริงๆ เพื่อจะได้ไม่ตกหลุมอากาศกลางทางในการก้าวไปสู่อนาคตที่ควรจะสดใสและมีเส้นทางที่ชัดเจน

ที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือแหล่งรวมที่ฝึกงานสำหรับนักเรียนนักศึกษา อันมีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และทดลองทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสนใจ (นอกเหนือจากการสอบถามรุ่นพี่ และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย)

1. Daywork

Daywork มีทั้งแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ IOS และยังมีบริการในรูปแบบเว็บไซต์ www.daywork.co ด้วย โดยข้อมูลทั้งหมดที่มีก็ครบ จบทั้งหมดเรื่องงาน ไม่วาจะเป็น งานที่ต้องการหาคน หรือคนที่ต้องการหางาน ทั้งงานประจำ งานพาร์ทไทม์ และฝึกงานสำหรับนักเรียน นักศึกษา ในทุกสาขาวิชา และมีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศมากกว่า 200 บริษัท ดูแลตั้งแต่ต้นทุกขั้นตอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของการจัดการทรัพยากรพนักงาน ในการทำงาน และคุ้มค่ามากที่สุด สนใจดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Daywork ได้ทั้ง Google Playstore และ App store โดยน้องๆ ที่สมัครงานผ่านแอปพลิเคชัน daywork และได้ทำงาน ภายในแอปจะมีฟังก์ชันบันทึกข้อมูลไว้ในโปรไฟล์ส่วนตัวของผู้สมัคร เพื่อนำไปใช้เป็นประวัติการทำงานเมื่อเข้าสู่การสมัครงานจริงๆ อีกด้วย

2. เด็กฝึกงาน.com

เว็บไซต์ที่รวบรวมแหล่งฝึกงานของนักเรียนนักศึกษาไว้มากมายหลากหลายตำแหน่ง เหมาะกับนักศึกษาทุกคณะ ทั่วประเทศ มีการรวบรวมทักษะอาชีพต่างๆ จากรุ่นพี่ที่จะทำให้รุ่นน้องเตรียมตัวสำหรับการเข้าทำงานทั้งในการทำงานต่างๆ รวมถึงเคล็ดลับการใช้ชีวิตในที่ทำงานอีกด้วย ทั้งนี้ในเว็บไซต์ “เด็กฝึกงาน” นั้นไม่ได้มีข้อมูลเฉพาะบริษัทหรือหน่วยงานที่รับเด็กฝึกงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานพาร์ทไทม์ และงานประจำอีกด้วย

3.  a-chieve.org

“อาชีพ” เป็นเว็บไซต์ที่ไม่ได้รวบรวมสถานที่ฝึกงาน แต่เป็นเว็บไซต์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาเพื่อให้เรียนรู้ถึงการค้นหาตัวเอง รวบรวมประสบการณ์และเก็บเกี่ยวสิ่งละอันพันละน้อยผ่านกิจกรรมของ “a-chieve” เพื่อตัดสินใจเลือกสายการเรียน และต่อยอดไปยังอาชีพที่ใช่ พร้อมได้พูดคุยทำความรู้จักกับ “ต้นแบบอาชีพ” ที่เป็นผู้ที่ทำอาชีพนั้นๆ มาเล่าเรื่องการทำงานพร้อมตอบข้อซักถามให้ด้วย  เรียกได้ว่าเมื่อรับความรู้จาก “a-chieve” ก็เป็นไปได้ว่า ตัวเราได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเกือบครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงแต่เดินไปขอฝึกงานจากบริษัท หรือองค์กรที่มีสิ่งที่ตัวเราชอบเท่านั้น

4. workventure.com 

ดูเผินๆ ที่นี่อาจจะเป็นเว็บไซต์หางาน แต่ที่พิเศษกว่าที่อื่นก็ตรงที่ ที่นี่ยังมีการรีวิวการทำงานในองค์กรต่างๆ รวมถึงบทความที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เข้าทำงาน หรือมีความประสงค์จะเข้าทำงานในองค์กรนั้นๆ อีกด้วย พร้อมกันนี้ยังมีคอลัมน์สำหรับการหาสถานที่ฝึกงานโดยเฉพาะ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้เข้าไปใช้ประโยชน์ด้วย ตรงนี้เรียกว่า ครบ-จบในที่เดียว

5. เว็บไซต์หางาน

ต่อเนื่องมาจากด้านบน เว็บไซต์หางานอื่นๆ ก็มีช่องทางสำหรับการมองหาที่ฝึกงานเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น  www.jobthai.com www.jobsdb.com www.workventure.com  www.jobbkk.com careerjet.co.th หรือ https://th.wakuwaku.world/th (สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกงานภาษาญี่ปุ่น) และอีกมากมาย สนใจเว็บไหน เข้าเว็บนั้นพร้อมเข้าไปที่ช่องคนหา แล้วพิมพ์ “ฝึกงาน” ได้เลย

6. มหกรรมหางาน (Job Fair / Job Expo)

ถ้าตอนที่น้องๆ กำลังหาสถานที่ฝึกงานนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการจัดมหกรรมจัดหางาน ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะยื่นเรซูเม่ (Resume) หรือ CV เข้าไว้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ มหกรรมจัดหางานมีทั้งแบบออนไซต์ และออนไลน์แบบเสมือนจริง (Virtual) ด้วย

7. เลือกบริษัทที่ชื่นชอบและอยากร่วมงานด้วยในอนาคตแล้วลองติดต่อขอฝึกงาน

เชื่อว่าในใจของน้องๆ นักเรียน นักศึกษาจะต้องมีอาชีพที่รัก บริษัทที่ชอบอยู่ในใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อผ่านการทบทวนตัวเองกันมาบ้าง ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องทดลองเข้าไปทำงานจริง ในสถานที่จริง เพื่อรับบรรยากาศการทำงานที่แท้จริง ดังนั้นจงจับตามององค์กรที่เราสนใจ เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเตรียมรับโอกาสนั้นๆ เช่น โครงการฝึกงานของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นโครงการฝึกงานที่เข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีการจัดโครงการขึ้นทุกปี และในแต่ละปีก็จะมีเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่แล้วจัดทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสในนักศึกษาปี 2 และปี 3 ทุกคณะ จากทุกสถาบันทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีทั้งสิ้น 2 โครงการคือ SCG Excellent Internship Program (EIP) และ SCG Co-Operative Education Program (Co-op หรือ สหกิจศึกษา) เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าร่วมฝึกงานในสายงานที่เหมาะสม ทั้งนี้นักศึกษาที่สมัคร EIP จะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.0 ส่วนโครงการสหกิจศึกษาจะต้องมีเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 และต้องทำแบบทดสอบของทางบริษัท รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่ https://career.scg.com/th/Internship  

สำหรับองค์กรอื่นๆ ก็สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์หรือโทรศัพท์เข้าในองค์กรนั้นๆ ได้เลยเช่นกัน

ช่วงเวลาปิดเทอมอาจจะสั้นเกินไปที่จะบอกได้ว่า ชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่ได้ทดลองทำ แต่อย่างน้อยด้วยความพยายามที่เราใส่ลงไป ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาก็จะสามารถเก็บนำมารวบรวมเพื่อการตัดสินใจเมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกอย่างแท้จริง

/////

วิธีการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและการทำชูชีพจากของใกล้ตัว

ช่วงนี้หลายพื้นที่ทั้งภาคอีสาน เหนือ กลาง เพราะฝนตกอย่างต่อเรื่องจนหลายพื้นที่น้ำท่วม

บางพื้นที่ท่วมขังมาเป็นเดือน บางพื้นที่ท่วมแบบไม่ทันตั้งตัว สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง

ปิดเทอมสร้างสรรค์จึงนำ 6 วิธีในการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมกันมาฝากกัน

 1. ติดตาม :

ข่าวและสถานการณ์น้ำท่วม โดยติดตามได้จากกรมอุตุนิยมวิทยา ข่าวสาร รวมทั้งสัญญาณเตือนความผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน อย่างสม่ำเสมอ

2. เตรียมพร้อม :

จัดหาน้ำสะอาด อาหารกระป๋องหรืออาหารแห้ง ยา เและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ให้สามารถยังชีพได้อย่างน้อย 3 ถึง 5 วัน โดยเฉพาะ อุปกรณ์การสื่อสารพร้อมแบตเตอรี่สำรอง ไฟฉายหรือเทียนไข  ถุงใส่ขยะหรือถุงพลาสติกให้เพียงพอ

3. รับมือ :

ศึกษาแผนปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของหมู่บ้าน หรือในชุมชน เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพและสถานที่ตั้งที่พักฉุกเฉินหรือศูนย์อพยพในพื้นที่ 

4. รู้รอบ :

เตรียมช่องทาง หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกับหน่วยงานกู้ภัยในท้องถิ่น ชุมชน ในกรณีต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ  เช่น เบอร์ 1669 ขอความช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 

เบอร์ 1784 สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เบอร์1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค ปรึกษากรณีเจ็บป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง 

5. หลีกเลี่ยง :

การเดินเท้าไปบริเวณที่น้ำท่วมเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหล อย่าให้เด็กเข้าใกล้สวิตช์ไฟ พร้อมนำเทปกาวมาแปะปิดช่องปลั๊กไฟในบ้าน เพื่อป้องกันปัญหากระแสไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด และป้องกันไม่ให้โคลน เศษดิน แมลงตัวเล็กๆ เข้าไปยังช่องเสียบปลั๊กไฟเมื่อเกิดน้ำท่วม

6. ระวัง :

น้ำท่วมเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าสัตว์พิษที่มากับน้ำ  

นอกจาก 6 วิธีรับมือน้ำท่วมแล้ว วันนี้ปิดเทอมสร้างสรรค์ยังนำวิธีการทำเสื้อชูชีพจากของใกล้ตัวมาฝากกันด้วย 

วิธีการทำเสื้อชูชีพจากของใกล้ตัว

เปลี่ยนแกนลอนพลาสติกให้เป็นชูชีพและอุปกรณ์ช่วยชีวิต

วัสดุ
  • แกลลอนน้ำ 1 ใบ ขนาด 4-5 ลิตร จำนวน 2 ใบ
  • เชือกที่มีความเหนียว
 วิธีทำ
  • ผูกเชือกที่แกลลอนทั้ง 2 ใบด้วยเงื่อนตาย (ระยะห่างประมาณ 1 ช่วงอก หากยาวไปอาจพันรอบคอ) 
วิธีใช้
  • นำแกลลอนมากอดไว้บริเวณหน้าอกแล้วนอนลอยตัวหงายและพยายามตีขาหาฝั่ง หรือนอนลอยตัวหงายนิ่งๆ และร้องตะโกนให้คนมาช่วยเหลือ หรือกอดไว้บริเวณหน้าอกแล้วนอนคว่ำ และแกลลอนยังนำไปใช้ช่วยผู้อื่นที่ตกน้ำได้ด้วยการ โยนแกลลอนไปให้คนที่ตกน้ำเกาเพื่อพยุงตัวเป็นชูชีพ

tips : สำหรับคนที่ไม่แกลลอนจะใช้ขวดน้ำดื่มขวดใหญ่ 2 ขวดก็ได้ แต่อย่าลืมปิดฝาขวดให้แน่นด้วยนะ

รวม 10 Skills ทักษะสำคัญเป็นที่ต้องการคนรุ่นใหม่ควรมี

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เข้าสู่โลกดิจิตอลที่จะค้นหาข้อมูลอะไรก็ทำได้แค่ปลายนิ้วสัมผัส วัยรุ่นใน ‘ยุคโซเชียล’ ก็ต้องอัพเดตตลอดเวลา ยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเจอกับโควิด-19 ที่ถือว่าเป็น ‘ตัวแปร’ ที่ทำให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่นิวนอร์มอล ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองและมี ‘ทักษะที่เป็นที่ต้องการ’ เพื่อรองรับอนาคตที่ไม่แน่นอน และเว็บไซต์ ALLNEWBUSINESS ได้รวบรวม “ทักษะที่เป็นที่ต้องการในยุคนี้” คัดแบบเด็ดๆ มาให้แล้ว 10 ข้อ ด้วยกัน ดังนี้             

1. เรียนรู้การตัดต่อวิดีโอ

การตัดต่อวิดีโอเป็นทักษะที่มีค่าในการเรียนรู้ เรียกว่าเป็นวิธีสร้างเนื้อหาที่โดดเด่นสำหรับโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ เราสามารถสร้างสรรค์การตัดต่อวิดีโอง่ายๆ ด้วยการใช้มือถือถ่ายคลิป เช่น บันทึกเหตุการณ์ที่พบ หรือถ่ายคลิปในโอกาสพิเศษ เริ่มแรกอาจใช้ฟุตเทจง่ายๆ แล้วนำเรื่องราวมาตัดต่อในแอพพลิเคชั่นตัดต่อคลิปบนมือถือ ที่ปัจจุบันมีลูกเล่นมากมาย หากอยากให้ภาพมีความนิ่ง ควรใช้ขาตั้งกล้อง เมื่อมีความชำนาญก็สามารถสร้างรายได้ให้เราได้

2. เป็นผู้สอนออนไลน์และสอนคนอื่น

การสร้างหลักสูตรออนไลน์เป็นทักษะใหม่ ที่ยอดเยี่ยมในการเรียนรู้ เพราะจะสามารถช่วยให้สร้างรายได้ด้วยการสอน และยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้เรียนรู้สิ่งใหม่ เราทุกคนเป็นผู้สร้างหลักสูตรออนไลน์ได้ เราสามารถบันทึกคลิปง่ายๆ ลงบนมือถือ และนำไปโพสต์ลงในยูทูบ เริ่มเก็บเงินจากคนที่เข้าชม นอกจากนี้ ยังทำเงินจากการสอนหลักสูตรออนไลน์ ด้วยการเปิดคอร์สสอน สิ่งสำคัญคือต้องทุ่มเทเวลาและความพยายาม เคล็ดลับอันดับแรก คือ เลือกหัวข้อที่สนใจ, ลงทุนซื้อไมโครโฟน และกล้องคุณภาพสูง หลักสูตรควรเต็มไปด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้

3. การออกแบบกราฟิก

การออกแบบกราฟิกเป็นหนึ่งในทักษะที่หลากหลาย และเป็นที่ต้องการมากที่สุด เราสามารถเรียนรู้และปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของเรา การเรียนรู้การออกแบบกราฟิก ต้องคำนึงถึงการเลือกซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม ซอฟต์แวร์การออกแบบมีหลายประเภท และแต่ละซอฟต์แวร์ก็มีจุดแข็งและจุดอ่อน เมื่อเลือกซอฟต์แวร์ได้แล้ว จึงเริ่มฝึกฝนทดลองเทคนิคต่างๆ ใช้แนวคิดใหม่ อย่ากลัวที่จะทำผิด ยิ่งเราทดลองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างสรรค์งานออกแบบที่สวยงามมากเท่านั้น

4. เรียนรู้การสร้างวิดีโอเกม

วัยรุ่นหลายคนสนุกกับการเล่นวิดีโอเกม แต่มีเพียงไม่กี่คนที่คิดจะสร้างมันขึ้นมา ด้วยการพัฒนาเกมอิสระ ทักษะนี้มีเครื่องมือจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นใช้งาน อาจดูน่ากลัวในตอนแรก แต่การสร้างวิดีโอเกม สามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอน โดยอันดับแรก ควรเน้นที่ศิลปะของการพัฒนาวิดีโอเกม สองมุ่งเน้นไปที่ซอฟต์แวร์ยอดนิยมและทรงพลัง ที่จะใช้สำหรับการออกแบบวิดีโอเกม นี่คือ การเรียนรู้ศิลปะของวิดีโอเกม สำหรับผู้เริ่มต้น

5. การเขียนเรื่องราว

การเขียนเรื่องราวเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังเป็นทักษะที่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าคุณจะโพสต์หรือเขียนนวนิยาย เคล็ดลับที่จะช่วยให้เริ่มต้นง่ายๆคือ 1.ค้นหาแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในชีวิตจริงหรือจินตนาการ 2.ตัวละครจะต้องมีบทบาทให้คนอ่านสนใจ ต้องเห็นข้อบกพร่อง จุดแข็ง จุดอ่อน 3.มีโครงเรื่องชวนติดตาม มีความขัดแย้ง สร้างความประหลาดใจไปในตัว ให้ผู้อ่านคาดเดายาก 4. เขียน แก้ไข ทำซ้ำ บ่อยๆ

6. เปิดช่อง YouTube ของตัวเอง

เราสามารถเปิดช่อง YouTube ของตัวเองได้ สิ่งที่ต้องมีคือกล้องและเนื้อหาที่จะพูด YouTube สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลก เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการบันทึกชีวิตเพื่อน สมาชิกในครอบครัว  YouTube ยังสร้างรายได้ด้วยการสมัครหรือเข้าร่วมโปรแกรม Google Adsense และ YouTube เป็นช่องทางที่จะเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลก

7. เรียนพูดในที่สาธารณะ

การพูดในที่สาธารณะเป็นวิธีพัฒนาทักษะการสื่อสารของเรา มันสร้างความมั่นใจในการพูดต่อหน้าคนได้ ยังเปิดโอกาสให้เราสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ สิ่งที่เราต้องมี อันดับแรกให้พิจารณาเรื่องที่จะพูด อันดับสอง ค้นคว้าหาคนสอนที่แตกต่างกัน สุดท้ายฝึกฝนในการพูด เพื่อเพิ่มทักษะใหม่

8. เรียนรู้การถ่ายภาพ

การถ่ายภาพเป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ควรศึกษาพื้นฐานการถ่ายภาพ เรียนรู้การจัดองค์ประกอบภาพ แสง และรูรับแสง หากอยากเพิ่มทักษะต้องลงเรียนคอร์สออนไลน์ ศึกษาภาพถ่ายต่างๆ ทางเว็บไซต์ ทั้งนี้ กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่มีฟังก์ชั่นที่มากับตัวกล้อง ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่น หรือมืออาชีพ ก็สามารถถ่ายภาพออกมาสวยได้ เรายังสามารถนำภาพถ่ายโพสต์ลงในสื่อโซเชียลเพื่อดูฟีดแบค หากมีความเชี่ยวชาญสามารถต่อยอดเพื่อทำเงินได้

9. เรียนรู้ภาษาใหม่

การสื่อสารด้วยภาษาที่ 2 เป็นทักษะที่ล้ำค่า ไม่ว่าเราจะเดินทางไปต่างประเทศหรือติดต่อกับใคร การเรียนรู้ภาษาใหม่จะช่วยเพิ่มทักษะให้เรา ควรเริ่มต้นด้วยการเลือกภาษาที่สนใจ ฝึกฝนหรือลงเรียนคอร์สสอนภาษา รวมถึงแอพพลิเคชั่นฝึกภาษาก็สามารถอัพสกิลให้เราได้

10. เรียนรู้การขายออนไลน์

ยุคดิจิทัลหากใครทีทักษะการขายออนไลน์ถือว่าไม่ ‘อดตาย’ เพราะไม่ว่าเราจะไปทำอาชีพอะไร หากมีทักษะนี้ติดตัวก็สามารถสร้างรายได้ให้เรา เริ่มแรกอาจจะขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตก่อน โดยเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม หากเริ่มต้นขายลองสมัครกับเว็บไซต์ Etsy หรือ Amazon โดยต้องโพสต์สินค้าที่น่าสนใจ จากนั้นเริ่มโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เคล็ดลับมือใหม่ ควรเริ่มขายสินค้าที่ราคาถูกและเรียบง่ายก่อน

ทั้ง 10 ทักษะดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่เป็นที่ต้องการในสังคมยุคนี้ หากเรามีสกิลพวกนี้ติดตัวแล้ว เชื่อว่าเราสามารถเอาตัวรอดได้

/////////

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า