“ทุนการศึกษา” ช่วงชีวิตดีๆ ที่ทุกคนมีโอกาส

เคยคำนวณกันบ้างหรือไม่ว่า กว่าจะจบการศึกษานั้น ต้องใช้งบประมาณตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับปริญญากันไปเท่าไร ดีดลูกคิดกันรัวๆ ในหัวสมอง คาดว่าตัวเลขหกหลักน่าจะปรากฏอยู่ในหัวของคนหลายคน ขณะที่บางคนอาจจะเลยเถิดไปถึงเจ็ดหลักแปดหลักได้ ซึ่งบางคนก็ควักกระเป๋าจ่ายเอาง่ายๆ แต่ต้องยอมรับว่า ในพื้นที่ประเทศไทยนี้ ตัวเลขอย่างที่บอกอาจจะทำให้บางคนน้ำตาไหล ต้องตัดใจกับอนาคตตัวเองกันเลยทีเดียว

แต่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางเสียเมื่อไร “ทุนการศึกษา” ยังเป็นคำที่น่าหลงไหลอยู่เสมอสำหรับนักเรียนที่ผลการเรียนดีและต้องการทุนการศึกษาเพื่อให้ตัวเอง “ไปต่อได้”

ปัญหาก็คือหลายทุนมักจะถูกมอบให้กับนักเรียนนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ทำให้มีอีกกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มที่อาจจะถูกมองข้ามไป อย่างเช่น นักเรียน-นักศึกษาที่มีความสามารถโดดเด่นเฉพาะด้าน

ทักษ์ดนัย รุณเจริญ หรือ เจมส์ นักศึกษาสาขานิเทศศาตร์ เอกดิจิตอลมัลติมีเดีย คณะนิเทศศาสตร์การจัดการ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เป็นผู้หนึ่งที่มีความสามารถและอุทิศตนทำงานเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอดระยะเวลาเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ทำให้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับทุนการศึกษาจากแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังซึ่งมีเกณฑ์คัดเลือกนักศึกษาผู้ได้รับทุนจาก ความสามารถ ความประพฤติ ความมีจิตอาสา และอื่นๆ

ทักษ์ดนัยคือช่างภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมไปถึงตัดต่อคลิปวิดีโอ และทำสื่อต่างๆ ที่ทำงานให้ทั้งระดับคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งความสามารถเหล่านี้รวมถึงการอุทิศตนเพื่อทำงานให้ส่วนรวมนี้ก็ทำให้เขาเข้าเกณฑ์การได้รับทุน และเพราะได้รับทุนเพราะความสามารถ หน้าที่หนึ่งของเขาซึ่งเป็นข้อบังคับของทุนก็คือ ต้องแสดงความสามารถในขณะที่ได้รับทุนอย่างสม่ำเสมอ

“เกณฑ์ของทุนนี้คือต้องทำกิจกรรมให้คณะ มีอาจารย์ที่ปรึกษาเสนอชื่อผมไปเพราะผมทำงานให้คณะมาตลอด อย่างผมเรียนนิเทศศาสตร์ ผมก็ถ่ายรูปเป็น ถ่ายวิดีโอได้ ตัดต่อเป็น แต่งรูปเป็น ก็ทำสื่อให้คณะ อาจารย์ก็จะเขียนใบรับรองส่งให้คณะ พอได้รับทุนก็ได้จับคู่กับอาจารย์ที่ดูแลเด็กทุนเพื่อป้อนงานให้ อย่างตัวผมเข้าไปอยู่กับสื่อสารองค์กรของคณะผมก็ทำงานให้หน่วยงานสื่อสารองค์กร ทำทุกอย่างเกี่ยวกับสื่อสาร ไปออกบูธ เวลามีงานผมก็ไปเป็นช่างภาพบ้าง ไปถ่ายวิดีโอมาตัดต่อ ทำสื่อลงเพจของคณะบ้าง ซึ่งผมก็ทำเกินจำนวนที่ทางคณะและเจ้าของทุนกำหนดครับ”

ทักษ์ดนัยบอกว่าแรกทีเดียวนั้นเขาไม่คาดหวังอะไรเลย เพราะถึงแม้ว่าทางบ้านจะมีกำลังทรัพย์ไม่มาก แต่ส่วนใหญ่จะขอทุนไม่ผ่านเพราะผลการเรียนที่อยู่ในระดับกลาง แต่ด้วยทุนที่มีเกณฑ์มอบให้ตามความสามารถนี้เขาจึงได้ทุนนี้มาในที่สุด

“ผมได้ทุนมาจำนวนหนึ่งครับ แต่เจ้าของทุนจะแบ่งจ่ายเป็น 2 ก้อน โดยให้ก้อนแรกมาก่อนจากนั้นก็วัดจากผลงานครับ ถ้าเราทำงานครบตามเกณฑ์ที่กำหนดมา เราก็จะได้ก้อนที่ 2”

“ผมว่านอกจากจะดีที่ได้ทุนแล้ว ยังดีที่ได้โอกาสให้เราได้ฝึกปฏิบัติงานด้วยครับ เพราะเขากำหนดชิ้นงานตามสาขาที่เราเรียนมา อย่างผมทำสื่อ เขาก็ให้เราทำสื่อ ขณะที่สาขาอื่นก็ได้งานตามคณะที่เขาเรียน เหมือนทำงานจริงๆ เลยครับ พอได้ทุนก็เหมือนกับว่าเราไม่ได้แค่เรียน แต่ได้ประสบการณ์ด้วย”

ด้านนางสาววรางคณา คงเล่ง วิทยากรสอนภาษาจีน โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ดินแดง1) ผู้ที่มุ่งมั่นหาทุนการศึกษาจนได้รับทุนจากรัฐบาลจีน ได้เข้าไปเรียนปริญญาโทในคณะการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยกว่างซี เล่าให้ฟังว่า จริงๆ ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าของจีนมีเยอะมาก แต่คนไทยอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก

“ตอนนั้นเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร เอกเอเชียศึกษา เลือกภาษาจีน คิดว่าภาษาจีนในยุคนั้นก็ไม่ได้บูมมากเท่าปัจจุบัน คนเรียนก็ไม่ได้เยอะมากนะคะ เหมือนกับว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนสนใจซีรีส์เกาหลีกันมากกว่า พอเราเรียนภาษาจีนเราก็รู้สึกว่าไหน ๆ เราก็เรียนแล้ว ถ้าเกิดว่ามีทุนที่ทำให้เราไปเรียนต่อที่จีนได้มันก็ดี เลยลองขอทุนไปกับทางมหาวิทยาลัยค่ะ”

ซึ่งทุนที่ได้สามารถเรียกได้ว่าเป็นทุนให้เปล่าอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักเรียนทุนด้วย ทั้งนี้เหล่าซือวรางคณาให้ความคิดเห็นว่า น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลจีนต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมทางด้านภาษาให้แพร่หลาย 

“ค่าเครื่องบิน ค่าทำเอกสารวีซ่าเราออกเอง แต่ที่เหลือทางรัฐบาลจะเป็นคนจ่ายให้เราทั้งหมด ค่าเทอม ค่ากิน ค่าที่พัก เขาจะมีเบี้ยเลี้ยงให้เป็นรายเดือนแต่เหมือนกับมีค่าไฟที่เราต้องจ่ายเองถ้าเกิดว่าใช้เกินกำหนด เขาจะมีกำหนดค่าไฟว่าเราจะจ่ายให้คุณเท่านี้ถ้าคุณใช้เกินคุณต้องจ่ายที่เหลือเอง ค่าหนังสือก็สามารถ ขอใบเสร็จมาทำหนังสือเบิกได้ กระทั่งช่วงที่เราทำวิทยานิพนธ์ของเราเขาก็ให้ เขาเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และให้เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อันนี้ไม่เคยถามเอากับหน่วยงานหรือองค์กรไหน แต่เคยคุยกับเพื่อนชาวจีนว่ามีทุนแบบนี้จำนวนมากให้กับชาวต่างชาติ คิดว่าเขาน่าจะต้องการเผยแพร่ภาษาจีนให้เป็นที่รู้จักกับคนจำนวนมากเพื่อที่ว่าหลาย ๆ คนในโลกนี้จะได้พูดภาษาจีนได้ จะได้สื่อสารกับชาวจีนได้ง่ายขึ้น แทนที่เขาจะปรับคนข้างในประเทศเขา เขามาปรับคนข้างนอกแทน ซึ่งถือว่าฉลาดมาก เพราะเราไปก็ไปเรียนสาขาการสอน เวลาจบมาคนส่วนใหญ่ที่เรียนการสอนก็มักจะมาสอน พอมาสอนก็เป็นการเผยแพร่ภาษาจีนให้คนรู้จัก นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสนใจภาษาจีนมากขึ้น และเข้าใจสื่อจีนมากขึ้นด้วย”

เหล่าซือวรางคณามีข้อชี้แนะสำหรับเด็กๆ ที่กำลังมองหาทุนว่า แม้ตอนนี้นักเรียนนักศึกษาจะมีโอกาสเข้าหาทุนการศึกษาได้ง่ายมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แต่ที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามก็คือ ต้องรู้ว่าความชอบของตัวเองคืออะไร

“ตอนแรกที่ไปเรียนเพราะไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร ไม่รู้ว่าเราอยากเป็นอะไร มันทำให้เราไม่สามารถจับจุดที่ถูกต้องได้ บางทีเราอาจจะต้องลองทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราชอบและคิดว่าเราไม่ชอบ ลองได้มีโอกาสทำให้รู้แน่ ๆ ก่อนว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งนี้คือสิ่งที่เราชอบ แล้วเราก็ค่อยไปเฉพาะทางตรงนั้น ตัวเองยังโชคดีที่ตัดสินใจถูกเลือกเรียนสาขาที่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ เพราะเพื่อนหลายคนที่คิดว่า สาขานี้โอเคแล้วเลือกไปก่อน หรือรู้สึกว่าช่วงนี้สาขานี้ดี แต่ใจไม่ได้รัก สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสาขาที่ตัวเองเรียนมา เพราะว่ารู้สึกว่าพอเรียนแล้วมันไม่ใช่ทาง การขอทุนเพื่อเรียนต่อเป็นสิ่งที่ดียิ่งเรียนจบเร็วยิ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าการที่เราจะรู้ตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มันสำคัญกว่าการที่เราจะเอาแต่เรียน ทั้งที่จริงๆ เราควรที่จะค้นหาตัวเองในระหว่างที่เรายังได้ลองอะไรได้หลายๆ อย่าง

เวลาเราทำงานเราต้องอยู่กับมันอีกครึ่งชีวิตที่เหลือ ถ้ามันเป็นสิ่งที่เรารัก เราก็จะจะทำได้โดยไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อย ฉะนั้นอาจจะต้องรู้ก่อนว่าตัวเองสนใจทางด้านไหน แล้วก็มุ่งไปทางด้านนั้น สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเราเรียนเป็นคนที่เรียนเยอะมาก เรียนหลายวิชา ไม่ใช่ลงเรียนเฉพาะสาขาของตัวเอง ไปเรียนสาขาอื่นด้วยเพื่ออยากรู้ว่ามันโอเคไหม วิชาแบบนี้เราชอบหรือเปล่า ลองหาทางที่ตัวเองชอบแล้วไปทางนั้น การขอทุนเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่การที่จะแบบมีทุนมาแล้วก็เรียน ๆ ไปเถอะ เหล่าชือว่าเราต้องหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองเพราะเวลาเป็นสิ่งที่เรียกคืนไม่ได้ แต่ถ้าเราเจอในสิ่งที่เราชอบแล้วเรียนไปในทางที่เราชอบ มันจะคุ้มค่ามากกว่า” เหล่าซือวราคณากล่าว

สำหรับทุนการศึกษาต่างๆ นอกจากจะมีประกาศจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อเนื่องทุกปี ที่นักเรียน-นักศึกษาจะสามารถเข้าไปดูได้ในเพจหรือเว็บไซต์ของแบรนด์แล้ว ยังมีกลุ่มเฟซบุ๊กอีกหลายกลุ่มทั้งนี้อาจจะมีทั้งที่ต้องเสียเงินและไม่ต้องเสียเงิน โปรดพิจาณาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้โดยตรงกับมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าเรียน

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ทั้งของไทยและต่างประเทศที่รวบรวมทุนการศึกษาไว้มากมายทั่วโลก อาทิ

  • www.worldscholarshipforum.com เว็บไซต์รวบรวมรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับทุนการศึกษาทั่วโลก
  • www.scholarships.com เว็บไซต์ที่รวบรวมทุนการศึกษาทุกประเภททั่วโลกนับล้านทุนและมีการอัปเดตทุกๆ สองถึงสามเดือน
  • www.petersons.com เว็บไซต์ที่มีทุนการศึกษามากมาย รวมทั้งมีแบบสำรวจเพื่อให้ผู้หาทุนเจอกับทุนที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
  • www.fastweb.com  เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการฟรี และมีบริการวางแผนการขอทุนและอาชีพในอนาคตให้ด้วย
  • www.scholarship.in.th เว็บไซต์สัญญชาติไทยที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารทุนการศึกษาจากทั่วโลกทั้งระดับมัธยม ปริญญาตรี โท เอก
  • https://th.usembassy.gov/th รวบรวมทุนต่างๆ จากประเทศสหรัฐอเมริกาทุกระดับชั้น ทั้งทุนระยะสั้นและระยะยาว ดูแลของสถานทูตสหรัฐฯโดยตรง
  • www.wegointer.com รวบรวมข่าวสารของทุนต่าง ๆ ทั่วโลก และ อัพเดตอยู่ตลอด ที่สำคัญยังมีสรุปข้อมูลของแหล่งทุนต่าง ๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของผู้ได้รับทุนการศึกษาจากความสามารถและการไขว่คว้าหาโอกาสและส่วนหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมแหล่งทุนการศึกษาเท่านั้น ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีประโยชน์ต่อนักเรียน-นักศึกษาทุกคนที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการแสวงหาอนาคตนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า