โลกดิจิทัลหมุนไว การศึกษาไทยต้องก้าวให้ทัน ด้วยยุคสมัยที่คนต่างพูดถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงบรรจุหลักสูตร Coding หรือเรียกกันว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ ไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลปีแรก โดยจัดการสอน Unplug Coding สำหรับเด็กทุกชั้นปี
สำหรับประโยชน์ของการเรียน Coding จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ คิดแบบมีตรรกะ และคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ด้วยช่วงวัยที่แตกต่างของเด็ก ๆ ทำให้การเรียน “เขียนโค้ด” ต้องปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสม เช่น ระดับอนุบาลเน้นเกมการศึกษา Coding และระดับประถมศึกษาจะเพิ่มการเรียนรู้แบบ Project Approach เพื่อปลูกฝังให้เด็กใฝ่รู้จากการเล่นหรือทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ปูพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดความรู้ในอนาคต พร้อมกับพ่วงทักษะอันโดดเด่น ได้แก่ ทักษะการอ่าน-เขียน การวางแผน การคิดแบบสร้างสรรค์มีเหตุผล และความกล้าตัดสินใจ
Coding จึงกลายเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และแน่นอนว่า การเขียนโปรแกรมหรือเขียนโค้ด จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่หลายคนทำได้ในโลกอนาคต
ดร.บุญชู จิตนุพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวถึงความสำคัญของการเรียน Coding ว่า ในสมัยก่อนเรื่องการเขียนโค้ด หรือตำแหน่งงานด้านไอที อาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในปัจจุบันทุกคนใช้คอมพิวเตอร์กันหมด ทุกอย่างรอบตัวในการดำรงชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ หากมองว่าเราคือผู้ใช้ ก็จำเป็นต้องมีผู้สร้าง การเขียนโค้ดหรือความรู้ด้าน Coding จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้สร้างจำเป็นต้องรู้
การเขียนโปรแกรมหรือการเขียนโค้ดเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง เปลี่ยนจากภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ที่เป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล ให้กลายเป็นการสื่อสารระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ Coding จึงถูกเรียกว่า ภาษาคอมพิวเตอร์ อาจารย์บุญชู อธิบายเพิ่มเติมว่า การเขียนโปรแกรมหรือการสั่งการคอมพิวเตอร์ให้ทำงาน ก่อนจะสั่งการได้นั้นต้องเกิดกระบวนการคิดขึ้นมาก่อน Coding จึงจัดเป็นการเขียนรูปแบบหนึ่ง เพื่อสั่งการให้คอมพิวเตอร์กระทำการตามที่สั่งในแต่ละขั้นตอน
“การเรียนเขียนโค้ดตั้งแต่เด็กจะช่วยทำให้เด็กมีตรรกะ คิดเป็นลำดับขั้นตอน สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมทักษะด้านการแก้ไขปัญหา เพราะเด็กจะต้องคิดวิเคราะห์ว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะหาวิธีแก้ปัญหานั้นและขั้นตอนต้องทำอย่างไร เพราะการเขียนโปรแกรมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ ตรรกะการเขียนโค้ดจะช่วยให้เด็กวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนแก้ปัญหานั้นได้สำเร็จ”
หากเด็กมีพื้นฐาน Coding มาก่อน ก็จะสามารถต่อยอดสู่สายวิชาชีพที่ต้องการได้ง่ายยิ่งขึ้น ดร.บุญชู เสริมว่า การรับเด็กเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ต้องคัดสรรเด็กที่มีตรรกะเป็นพื้นฐานสำคัญ แล้วปั้นบุคลากรเหล่านั้นสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงโลกอนาคต จำเป็นต้องมีคนที่ทำงานด้านสายไอทีอีกจำนวนมาก เพราะโลกยุคดิจิทัลมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ และการเขียนโค้ดก็เป็นฐานของทุกวิชาที่เป็นสายวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งสามารถต่อยอดไปกับวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานสายวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งงานไม่ได้มีเพียง Programmer หรือ Developer เท่านั้น แต่ยังมีชื่อตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ด้านการเขียนโค้ดเป็นพื้นฐาน เช่น สายงานด้านข้อมูลอย่าง Data Scientist นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล Data Engineer วิศวกรข้อมูล และ Business and Data Analyst นักวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาชีพที่มาพร้อมกับโลกดิจิทัล หากอยากมุ่งมั่นไปด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีเส้นทางสายอาชีพอีกกว้างขวาง หรือสนใจงานด้าน AI (Artificial Intelligence) ก็มีตลาดแรงงานอีกมากมายที่ต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ
“ก่อนที่จะให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยากฝากเรื่อง Digital literacy (ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) ในมุมเด็ก สิ่งสำคัญต้องมีองค์ความรู้ของการใช้คอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสมเสียก่อน สอนให้เด็กรู้เท่าทันเทคโนโลยี ใช้งานอย่างพอเหมาะ เลือกเสพย์เนื้อหาที่เหมาะกับวัย และจำนวนชั่วโมงที่ต้องใช้ในแต่ละวัน เพราะการเรียนการสอนผ่านคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก เด็กสนุกที่จะเรียนรู้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมกับช่วงวัยด้วย” ดร.บุญชู ทิ้งท้าย
ด้านนายสุวิจักขณ์ ภาษิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า ในช่วงมัธยมศึกษาได้เรียนเรื่องการเขียนโค้ดมาบ้าง เป็นเป็นความรู้ขั้นพื้นฐาน จนได้เข้าเรียนการเขียนโค้ดอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัย จึงมองเห็นประโยชน์ของการเรียนวิชานี้มากขึ้น ทำให้ได้ฝึกความคิดวิเคราะห์และวางแผนงาน เพราะลำดับแรกต้องคิดก่อนว่า เขียนโปรแกรมนี้เพื่อนำไปทำอะไร วัตถุประสงค์ของการเขียนคำสั่งคืออะไร จากนั้นก็ทำตามรูปแบบขั้นตอนต่าง ๆ เมื่อหมั่นฝึกฝนก็จะเริ่มคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น เช่น ถ้าติดขัดการทำงานตรงนี้ต้องไปหาข้อมูลตรงส่วนไหน ถ้าอยากรู้เรื่องนี้ต้องอ่านและทำความเข้าใจในเรื่องใด
การเรียนเขียนโค้ดจึงไม่ใช่แค่พื้นฐานความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นการฝึกทักษะที่สำคัญ หากได้เรียนรู้ไวก็ง่ายที่จะต่อยอดความรู้ ช่วยปูทางอาชีพได้หลากหลายในอนาคต นายสุวิจักขณ์ เสริมว่า การเขียนโค้ดไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าได้เรียนรู้เร็วก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรียนในช่วงมหาวิทยาลัยก็ยังไม่สายเกินไป เพียงแต่ต้องหมั่นศึกษา ฝึกฝนด้วยการทำซ้ำ ๆ ในตอนนี้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนมีอยู่หลายสิบภาษา ซึ่ง Coding จะมีภาษาที่เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างโปรแกรมภาษาซี เมื่อรู้ภาษานี้แล้ว การไปเรียนภาษาอื่น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของไวยากรณ์
“งานด้านสายไอทีในปัจจุบันมีมากมาย เพราะทุกบริษัทก็มีแผนกเกี่ยวกับไอทีและดิจิทัล เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล ดิจิทัลจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นกว่าสมัยก่อน แม้แต่มือถือในยุคปัจจุบันก็เป็นสมาร์ทโฟน ซึ่งต้องมีโปรแกรม มีซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ด้าน Coding เพื่อสร้างสรรค์ การเขียนโค้ดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะกลายเป็นพื้นฐานความรู้ในโลกอนาคต”
แม้ว่าภาษาที่ใช้ในโลกปัจจุบันจะเป็นการสื่อสารระหว่างคนกับคน แต่อีกไม่นานจากนี้ ภาษาคอมพิวเตอร์อาจกลายเป็นหนึ่งในภาษาหลักที่คนทั่วโลกใช้พูดคุยด้วยภาษาเดียวกัน และ Coding ก็จะกลายเป็นทักษะความรู้พื้นฐานที่ใช้เชื่อมต่อกันระหว่างผู้คนทั่วทุกมุมโลก