เด็กกิจกรรม เรียนดีได้หรือ?
ทำกิจกรรมเยอะ แล้วจะเสียเวลาเรียนหรือเปล่า?
ทำกิจกรรมมากๆ แล้วได้ประโยชน์อะไร?
เชื่อว่าจนถึงวันนี้ คำถามเหล่านี้ก็จะมีปรากฏอยู่ในหัวของผู้ปกครองหลายท่าน วันนี้เรามีตัวอย่างเด็กกิจกรรมดีที่มีการเรียนเด่นให้ได้รู้จักกัน
นางสาวกนิษฐา สินธุพัฒน์สุข หรือ อายส์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ผู้ซึ่งรักในการทำกิจกรรมมากพอๆ กับการเรียน บอกกับเราว่า หากแบ่งเวลาให้ดี กิจกรรมก็ไม่ได้แย่งเวลาการเรียนไปเลย และยังจะทำให้เสริมทักษะด้านการเรียนที่ตัวเองสนใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อายส์ทำกิจกรรมทุกอย่างทั้งในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น เชียร์ลีดเดอร์ ประธานนักเรียน ประธานคณะสี พิธีกรงานสำคัญ และกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางโรงเรียนเป็นผู้จัด ส่วนนอกโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคม เด็กนักเรียนที่ขาดแคลน และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเริ่มจากการถูกชักชวนจากเพื่อนให้ร่วมทำงานกับสภาเด็กและเยาวชน
“ตอนที่เพื่อนมาชวนให้ร่วมเป็นจิตอาสาของสภาเด็กตรงนั้นเราตอบตกลงทันที ซึ่งก็รู้สึกชอบมากเพราะได้ทำกิจกรรมจิตอาสาหลายๆ อย่างเลย ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมทาสีโรงเรียน ทาสีบ้านพักครู ดูแลสถานที่ ทำบูธกิจกรรม รวมไปถึงทำคอนเทนต์โปรโมทประชาสัมพันธ์ให้กับสภาเด็กด้วยค่ะ”
“การทำกิจกรรมก็ทำให้เราได้พัฒนาทักษะของตัวเองไปเรื่อยๆ และรู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพื่อที่จะได้พัฒนาทักษะนั้นให้ดียิ่งขึ้นค่ะ อย่างตอนที่ทำพิธีกรให้กับสภาเด็ก เราก็สามารถนำมาต่อยอดในวันนี้ที่ได้ทำหน้าที่พิธีกรให้กิจกรรมของ สสส. (สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ในส่วนของปิดเทอมสร้างสรรค์ เราก็ได้มาเป็นพิธีกรในงาน ทำสคริปต์เองได้ รวมทั้งทำกิจกรรมไลฟ์สดด้วย กลายเป็นว่าเรายิ่งได้ฝึกพัฒนาทักษะของตัวเองมากขึ้นไปอีก”
“ข้อดีของการเป็นเด็กกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งมีข้อดีมากมายหลากหลาย อาทิ การได้ช่วยเหลือผู้คนมากมาย การได้ฝึกทักษะการพูด ฝึกทักษะการรับฟัง และยังได้พบเจอผู้คนหลากหลาย และได้ฝึกพัฒนาทักษะการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่เด็กกิจกรรมอย่างอายส์ได้รับมาจากการทำกิจกรรมจิตอาสา”
ที่สำคัญอายส์จะไม่ได้ทำกิจกรรมมากมายขนาดนี้เลย หากว่าไม่ได้แรงเชียร์แบบเต็มกำลังจากครอบครัว
“คุณพ่อคุณแม่ชอบให้ทำกิจกรรมค่ะ พาไปทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก อย่างกีฬา เอ่ยชื่อมาเถอะ อายส์เล่นมาแล้วเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำ เทนนิส ปิงปอง แบดมินตัน เปตอง หรือยิมนาสติก หรือแม้กระทั่งการทำอาหารที่อายชื่นชอบมาก ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ”
และเมื่อถามว่าจัดแบ่งเวลาเรียนกับเวลาทำกิจกรรมอย่างไร เพื่อให้ทำได้ดีทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะตอนนี้ อายส์กลายเป็นนิสิตสาขาวิชาการจัดการการสื่อสาร (หลักสูตรนานาชาติ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว อายส์ก็แชร์เคล็ดลับที่ง่ายและทำได้ทุกคนให้ฟัง
“อายส์จะจดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน แล้วจัดลำดับความสำคัญว่า สิ่งไหนด่วน สิ่งไหนรอได้ สิ่งไหนควรทำก่อน หรือสิ่งไหนไว้ทำวันถัดไปได้ จากนั้นก็ค่อยๆ ลงมือทำไปตามแผน ที่สำคัญก็คือ กิจกรรมที่เราทำมาทั้งหมดมันทำให้เรามีทักษะต่างๆ จนทำให้เรารู้ว่าเราชอบอะไร เช่น เราชอบเป็นพิธีกร ชอบอยู่หน้ากล้อง แต่ก็ทำการตลาดได้ เป็นโปรดิวเซอร์ได้ ทำให้เราจึงมีผลงานยื่นพอร์ตและผ่านเรียบร้อยแล้วค่ะ”
“และคิดว่าเราจะทำกิจกรรมจิตอาสาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วค่ะ เชื่อว่าตัวเองจะสามารถแบ่งเวลาได้ และเมื่อเรามีแรงกำลังมากกว่านี้ก็จะยิ่งทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้มากกว่านี้ด้วยค่ะ”
เธอพูดปิดท้ายด้วยรอยยิ้มและน้ำเสียงมุ่งมั่น
——
หมายเหตุ
- ชื่อมหาวิทยาลัย เป็นชื่อที่ได้จากการสัมภาษณ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นมหาวิทยาลัยตามที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์เท่านั้นจึงจะถูกเรียกว่า คนหัวไบร์ท
- ภาพจาก Ig: eyesmam