VR GAME ปลูกจิตสำนึกโลกเสมือน สู่การเปลี่ยนแปลงโลกจริงได้ ด้วยเกมแยกขยะ

อาจจะดูเป็นภาพใหญ่ หากต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยโลกให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Climate Change ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก แต่วันนี้… กลับมีทีมเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มารวมตัวกัน แล้วคิดโครงการดีๆ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กๆ ด้วยการเล่นเกมผ่านโลกเสมือน (VR GAME) แบบง่ายๆ แต่สามารถหยั่งรากฐาน ที่จะช่วยเปลี่ยนโลกอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

จนประสบความสำเร็จคว้า รางวัลชนะเลิศ ประเภทเยาวชน ในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดไอเดียนวัตกรรม “Virtual Climate : Red Summit” ที่จัดโดยสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ในนามทีมอาสายุวกาชาด “NEO RCY Team” จากสำนักงานอาสายุวกาชาด สภากาชาดไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ในการส่งโครงการ VR GAME (Virtual Game) ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และรู้จักวิธีในการแยกขยะแบบง่ายๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในครั้งนี้

ตัวแทนของทีม “น้องเจเล่ ธีรณิชา ปราบริปู” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาภาษาศาสตร์ ได้เล่าถึงแนวคิดในการปลูกความสนุกเพื่อก่อให้เกิดจิตสำนึกในการเปลี่ยนแปลงโลก ผ่านเกมสนุกๆ และง่าย เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าใจเรื่องของการแยกขยะได้แบบไม่ยัดเยียดนี้ว่า…

“จุดเริ่มต้นของหนูมาจากการเข้าร่วมชมรมอาสายุวกาชาด ตอนที่อยู่โรงเรียน ท่าวังผาพิทยาคม จ.น่าน ค่ะ ตอนนั้นหนูอยู่ ม.4 อายุแค่ 16 ปี คุณครูไก่ ชนนิศา เมืองมูล คุณครูที่ปรึกษาประจำชมรมอาสายุวกาชาด ที่โรงเรียนเลยชวนมาเรียนรู้พื้นฐานต่างๆ ในเรื่องของการเป็นอาสายุวกาชาดก่อน ซึ่งชมรมอาสายุวกาชาดที่อยู่ จะขึ้นตรงกับสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ทำให้ได้มาเจอกับ พี่หน่อย พิมพิศา ศุภะวัฒนะบดี (วิทยาจารย์ ระดับ3 สำนักงานยุวกาชาดฯ) ที่มาอบรมให้ แล้วช่วงนั้นพอดีมีให้สอบชิงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งปกติทางสำนักงานยุวกาชาดจะส่งตัวแทนไปปีละ 1-2คน ซึ่งทำให้เจเล่ได้มีโอกาสไปประเทศ อิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่ก่อกำเนิดองค์กรยุวกาชาดโลกเลยค่ะ ได้ไปเรียนรู้เรื่องของ Climate Change แบบเต็มๆ 3 เดือน ซึ่งตอนนั้นเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษ รวมถึงเรื่องของการทำงานจิตอาสา ในฐานะอาสายุวกาชาดด้วย เพราะเป็นช่วงของการจัดงานใหญ่ ที่ทางองค์กรกาชาด  หรือ The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies หรือ IFRC ครบรอบ 100 ปี พอดีด้วย ตอนนั้นเลยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของภาวะโลกร้อนจริงๆ ค่ะ”

ส่วนเรื่องของการส่งโครงการเข้าประกวด ทางองค์กรกาชาดจะมีการส่งจดหมายส่งมาที่สำนักงานยุวกาชาดอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เคยมีใครส่งไปแบบจริงๆ จังๆ พอดีเพื่อนเจเล่เขาสนใจโครงการนี้ ก็เลยมาคุยกันก็เลยมองในมุมของการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันค่ะ เพราะเราเองก็เคยไปเรียนมา และก็ตรงกับหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องของ “Innovative for Climate Change” ที่ทางนั้นต้องการพอดี ก็เลยมาตกผลึกที่เกม VR ที่เป็นเกมใส่แว่น 3 มิติแล้วเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน มีด่านที่ขยับเลเวลความยากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเราเชื่อว่าเด็กๆ น่าจะชอบเล่นเกมกันอยู่แล้ว ก็เลยคิดโครงการ “เกมเก็บขยะ” โดยใช้ชื่อโครงการว่า “Weast ไม่ Mai Weast” หรือ ขยะจะไม่กลายเป็นของเสียอีกต่อไป เพราะเรามองว่า มันเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ โดยเน้นในเรื่องของการแยกขยะ ผ่าน Virtual Variety Game (VR GAME) ที่จะทำให้ผู้เล่นหรือเด็กๆ ได้ตระหนักถึงกระบวนการในการแยกขยะได้อย่างเหมาะสม ผ่านฉากหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน 4 รูปแบบ เป็นเกมที่ทุกคนสามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่าย และเหมาะกับทุกช่วงอายุ ซึ่งเกมนี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้เล่นสามารถโต้ตอบและมีส่วนร่วมในเกมโดยประสบการณ์ตรง ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง หรือในชีวิตประจำวันได้

ซึ่งในตอนนั้นทั่วโลกมีทีมที่ส่งโครงการเข้าประกวดทั้งหมดประมาณ 80 ประเทศได้ แต่แล้วก็ถูกคัดเลือกให้เหลือ 30 ประเทศ 30 โครงการ แล้วก็คัดอีกทีจนเหลือแค่ 10 ทีม จาก 10 ประเทศ เพื่อที่จะส่งโครงการแบบละเอียด ก่อนจะเตรียมพรีเซนท์ให้คณะกรรมการได้ฟังจริงอีกครั้งค่ะ แต่ละประเทศก็ต่างส่งวิทยาการและนวัตกรรมในแบบของตัวเองไป แต่ในที่สุดเราก็ได้รางวัลชนะเลิศมา

และแรงบันดาลใจอีกอย่างในการคิดโครงการ ก็น่าจะมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นแถวบ้านของเจเล่ที่จังหวัดน่านด้วยค่ะ เพราะว่าที่นั่นมีทั้งเรื่องของไฟป่า แล้วก็เรื่องของน้ำเสีย เพราะบ้านของเจเล่อยู่ติดกับแม่น้ำน่านเลย เมื่อก่อนเคยกระโดดเล่นน้ำได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว น้ำเสียหนักมาก มันเลยทำให้เราตระหนักถึงปัญหาตรงนี้

เลยคิดว่าน่าจะดีนะ ถ้าเราทำเกมนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยสร้างจิตสำนึก และปลูกฝังเรื่องการแยกขยะให้กับเด็กๆ ได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะในที่สุด มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงในอนาคต เพราะเมื่อเขาได้เล่น เขาก็จะได้เรียนรู้ พอรู้ปัญหาแล้ว ก็จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้นอีก ซึ่งในอนาคตข้างหน้า คิดไว้ว่าจะขยายแพลตฟอร์มต่อไปใน Google และใน Facebook ด้วยค่ะ น้องๆ จะได้เล่นได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้แว่น VR ด้วย ถือเป็นการให้เขาได้ทำความเข้าใจแบบง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องยัดเยียดเชิงวิชาการความรู้ แต่ให้ได้ความรู้สึกสนุกสนาน จะได้ซึมซับไปเอง ซึ่งเจเล่ใช้เทคนิคนี้คล้ายกับการสอนหนังสือที่ทำอยู่ค่ะ

ซึ่งเรื่องของปัญหาในการแยกขยะก็คือจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนโลก หากเราเริ่มจากตัวเราเอง ลงมือทำก่อน มีความเข้าใจก่อน ทางราชการจัดให้มีถังขยะให้ครบประเภท เพื่อที่จะสามารถแยกประเภทให้ทิ้งได้ง่าย ขยะก็จะไม่เป็นขยะ ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ไม่ต้องลำบากพวกพี่ๆ พนักงานแยกขยะ ต้องมาเพิ่มงานและทำงานหนักมากอย่างทุกวันนี้ เจเล่เคยไปที่โรงเก็บขยะตอนเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองมาด้วย มันเลยทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาและการทำงานตรงนี้ค่อนข้างเยอะ สงสารพี่ๆ เขามากค่ะ ต้องสูดกลิ่นแบบนั้นทุกวัน ถ้ามีการจัดการที่ดี ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีได้มากกว่านี้ค่ะ “

งานนี้ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง Climate Change เล็กๆ ในรูปแบบของความสนุกผ่านเกมเสมือนอย่าง VR GAME ของทีมเยาวชนไทย ทีมอาสายุวกาชาด “NEO RCY Team” และ “น้องเจเล่” คิดจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้มากขนาดไหน แต่เชื่อว่าอย่างน้อยๆ หลายคนก็คงเริ่มคิด ที่จะเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกที่เริ่มจากตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกจริงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้าแล้วอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า