ปิดเทอมใหญ่ หัวใจ (ผู้ปกครอง) จะไม่ว้าวุ่นอีกต่อไป เมื่อเราสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เด็กๆ จะต้องอยู่กับผู้ปกครองตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรายังสามารถพลิกสถานการณ์ให้วันปิดเทอมกลายเป็นวันสนุกสนานของทั้งครอบครัว และทำได้ในทุกๆ วันด้วย
“ชนิดา สุวีรานนท์” หรือ “คุณแม่จั่น” คุณแม่ของ “เด็กหญิงเรไร สุวีรานนท์” บล็อกเกอร์ตัวน้อยที่มีคนติดตามเพจกว่า 200,000 คน อย่าง “เรไรรายวัน” เล่าให้เราฟังว่า วันปิดเทอมเป็นวันผ่อนคลาย ไม่มีตารางอะไรแน่ชัด แต่ถึงแม้ว่าจะไม่แน่ชัดอย่างไร ก็จะต้องมี ‘สิ่งที่ทำร่วมกัน’ ในแต่ละวันเสมอ
“ปิดเทอมบ้านเราไม่มีตารางแน่นอน ผ่อนคลาย สบายๆ เราจะแพลนวันต่อวัน อาทิตย์ต่ออาทิตย์ ดูสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กๆ เป็นหลัก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องคิดไว้เหมือนกันว่า กิจกรรมไหนที่เราอยากทำ หรือเด็กๆ อยากทำ เราเอาสนุกเป็นที่ตั้ง
เมื่อก่อนพ่อแม่หลายคนรวมทั้งแม่เองเวลาคิดถึงการทำกิจกรรมของเด็กก็จะต้องเป็นกิจกรรมที่สนุก มีสาระ และให้ความรู้ แต่พอเป็นกิจกรรมแบบนั้นบางทีเด็กก็ไม่สนุก พอมันไม่สนุกก็จะยากที่จะเก็บเกี่ยวความรู้ออกมาได้ เราจึงเลือกที่จะปล่อยให้เขาสนุกให้เต็มที่ แล้วเฝ้าดูว่า ณ ตอนนั้นเราเจออะไร และมีอะไรที่มันจะสามารถสอดแทรกประเทืองปัญญาได้โดยไม่ทำให้ความสนุกลดลง
กิจกรรมที่แม่ชอบส่วนใหญ่คืออ่านเขียน แต่เราไม่ได้เซีเรียสว่าจะต้องกลับมาเขียนนะ จะเห็นว่าเวลาไปเที่ยวกับเรไร เราจะไม่ได้บังคับให้เขาเขียน หรือบอกให้เดินถือสมุดโน้ตจดนั่นจดนี่ แต่ให้เขาเที่ยวเขาสนุกของเขาไปตามประสา แล้วค่อยชวนให้กลับมาทบทวนความสนุกเมื่อจบทริป มันจะทำให้เขาได้อะไรมากกว่าการไปนั่งจี้ใส่สาระความรู้ ณ ตอนเที่ยวนั้นเลย อย่างน้อยก็เรื่องของการจดจำ หรือนำไปสู่การสะท้อนมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ เพราะการให้เขาคิดทบทวนว่า เมื่อได้ประสบการณ์นั้น ๆ จากการไปเที่ยว เขาคิดอะไรกับมัน มักจะนำไปสู่ การคุย การเขียน หรือการวาดรูป
ดังนั้นปิดเทอมไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไรกับคนบ้านนี้ว่า จะต้องทำกิจกรรมอะไรที่สนุกมีสาระและได้ความรู้ เพราะมันมีการคิดการเขียนที่เป็นโครงเหนือสิ่งที่เราทำร่วมกันอยู่แล้ว แม่มองว่ากิจกรรมที่เราทำกับลูกได้เนี่ย บางครั้งพ่อแม่เบื่อ ไม่อยากทำซ้ำ เอ๊ะ เคยไปมาแล้ว น่าจะพยายามหาสิ่งใหม่ กิจกรรมใหม่ให้ลูกทำ บางบ้านที่ไหนว่าดีงามสำหรับเด็กก็ไปมาหมดแล้ว ทีนี้ก็เริ่มเครียดละ ต้องเสาะหากิจกรรมแปลกใหม่อยู่ร่ำไป แต่เท่าที่แม่สัมผัส เด็กสามารถอยู่กับสิ่งซ้ำๆ ได้ สวนสัตว์ ไปสิบครั้งได้ หรือเคยไปพิพิธภัณฑ์แล้วก็ไปซ้ำได้ เด็กมักจะมีมุมมองใหม่ๆ เสมอ ถ้าเขามีเพื่อนเล่น เพื่อนเล่นคือสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีพี่น้อง เพื่อนเล่นก็คือ พ่อแม่ พ่อแม่ต้องลดอายุให้เท่ากับเขา เท่าที่เคยเลี้ยงเรไรมาหกปีคนเดียว เราก็เครียดว่าจะทำยังไงดี เราไปมาครบหมดแล้ว แต่ตอนหลังเมื่อมีลูกสามคน ก็พบว่า ไปซ้ำก็สนุกได้ เพราะเมื่อเขาเล่นด้วยกัน ก็จะคิดหาอะไรสนุก ๆ ทำด้วยกันได้เสมอ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล เขาไปในที่ซ้ำ ๆ ได้ ทำเรื่องซ้ำ ๆ ได้ แค่ให้อิสระในการเล่นและเผื่อเวลาให้เขาสนุกได้มากพอ แต่ถ้าไม่รู้จะทำอะไรเกมง่าย ๆ เช่น การชวนลูกเปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า ก็เพิ่มความเพลิดเพลินได้ไม่น้อย อีกทั้งพ่อแม่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไปเที่ยวกัน แม่ก็จะตกลงกับลูก ๆ ว่า เราจะเน้นเปิดประสาทจมูกรับกลิ่นมากกว่าประสาทสัมผัสอื่น เหมือนเล่นเกมแข่งกันว่าไปเที่ยวกันคราวนี้ ใครจะเก็บกลับมากลิ่นได้มากที่สุด ห้ามพูดห้ามบอกสิ่งที่ตัวเองได้กลิ่น จดจำไว้เงียบๆ ให้โจทย์สั้นๆ แค่นี้ พอกลับถึงบ้านมาเฉลยกันว่าใครได้กลิ่นอะไรบ้าง แม่มีรางวัลให้คนที่มีจมูกไวที่สุด แทนที่จะเดินเล่นอย่างไม่มีเป้าหมาย การมีกิจกรรมนี้ก็จะทำให้เขาสนุกและได้ฝึกความช่างสังเกตไปในตัว สุดท้ายแม่ก็จะได้ฟังลูกพูดถึงกลิ่นต่าง ๆ อย่างเพลิดเพลิน กลิ่นดอกไม้หอม ๆ กลิ่นไก่ย่างโชยมา กลิ่นท่อไอเสียรถยนต์ กลิ่นหอมของขนม บางกลิ่นก็ไม่รู้ว่าอะไรแต่พยายามอธิบายลักษณะของกลิ่นนั้น เช่น มัน ฉุน ๆ ตุ ๆ และเปรี้ยว ๆ แล้วเราก็จะช่วยกันคิดช่วยกันเดามามันคือกลิ่นอะไร นอกจากเรื่องกลิ่นแล้วแม่ก็เปลี่ยนโจทย์วนไปเป็น เรื่องของเสียง รสสัมผัส การมองเห็น และการจับต้อง เพื่อให้ลูกสนุก
นอกจากกิจกรรมที่ดูไม่เหมือนกิจกรรมแต่ทำให้เด็กๆ สนุกและเพิ่มพูน ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งจะหล่อหลอมให้พวกเขากลายเป็นคนช่างสังเกต จดจำ มีความคิดสร้างสรรค์ และรักการอ่านเขียนแล้ว สิ่งที่คุณแม่จั่นมอบให้กับลูกๆ ก็คือ การทำให้ทุกวันเป็นเหมือนวันปิดเทอม คือ มีกิจกรรมสนุกและทำให้พวกเขาเข้าใจชีวิตมากขึ้น
“เด็กบ้านนี้ไม่ได้เฝ้ารอปิดเทอมหรือวันหยุด เราพูดกรอกหูกับเด็กๆ เลยว่า เวลาเรียนในห้องเรียนต้องตั้งใจฟังครูสอน พอกลับบ้าน ปิดเทอม หรือวันหยุด จะเป็นเวลาเล่นสนุก เพราะฉะนั้น เรไรจะได้เกรดสี่ตลอด ทั้งที่ไม่ได้คร่ำเคร่ง หรือต้องไปเรียนติวอะไร
แต่เขาตั้งใจฟังครูในห้อง เขาตั้งใจเรียนตามที่แม่บอก ก้อนเมฆกับสายลมก็เหมือนกัน ครูบอกเวลาเรียนตั้งใจ พอถึงเวลาแม่ไปรับกลับบ้าน คือ แฮปปี้มาก เหมือนคำว่า แม่ แปลว่า ได้เล่นสนุก พวกเขาจึงไม่ได้ตั้งตารอวันหยุดหรือวันปิดเทอม เขารู้ว่าต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาต้องทำให้เสร็จก่อน ทำไมเด็กต้องเรียน ทำไมเด็กต้องทำการบ้าน ในเด็กถ้าเราอยากให้เขารู้จักเหตุผล เราก็พูดเป็นเหตุเป็นผลกับเขาไปเรื่อย ๆ ซ้ำ ๆ แต่พูดในบริบทที่เด็กเข้าใจได้ ถึงแม้พูดจนเราหรือเขาเบื่อก็ยังต้องทำต่อไป
เขาไม่ได้เฝ้ารอวันหยุดเพราะทุกวันเขาสนุกอยู่แล้ว เราให้เรียนใกล้บ้าน โชคดีที่ใกล้บ้านเรามีโรงเรียนที่มีคุณภาพ ห้านาทีสิบนาทีถึงแล้ว สามโมงครึ่ง สี่โมงเย็นถึงบ้าน นอนสองทุ่ม เขามีเวลาเล่นเยอะมาก แต่ยังมีปัญหาเหมือนหลายบ้านคือถ้าให้เลือกเด็กก็จะชอบเล่นเกมในมือถือหรือไอแพด แม่จึงต้องสอนให้เข้าใจเรื่องความหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ฝึกลูกกินอาหารให้หลากหลาย ชวนลูกเล่นให้หลากหลาย เปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อยๆ เกม ยูทูป อ่านหนังสือ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ต่อเลโก้ และอื่นๆ ไม่ปล่อยให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งแบบเสพติดนาน ๆ ถึงแม้จะรู้ว่าลูกชอบมากแค่ไหน ฝึกจนเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นเขาจะเป็นเด็กที่เล่นไปได้เรื่อยๆ ไม่ติดอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องเด็กติดเกมที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ ครอบครัว เมื่อก่อนตอนเด็กกว่านี้ เรไรก็ดูไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมแม่ชอบบอกให้เล่นกับเพื่อนให้ได้ทุกคนเล่นให้หลากหลาย จนวันหนึ่งเพื่อนสนิทเปลี่ยนไปเล่นกับคนอื่นก็เศร้า ล่าสุดเพื่อนย้ายโรงเรียนก็เศร้าบอกว่า “พรีมไม่อยู่ หนูก็ไม่มีใคร” คิดว่าตอนนี้เขาน่าจะเข้าใจความหลากหลายที่แม่พร่ำบอกได้ดีขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการสอนลูกให้รู้สึกสนุก มีความสุข และเห็นค่าในกิจกรรมที่ทำก็คือ “เรไรรายวัน” เพจการเขียนบันทึกของเด็กหญิงตัวน้อย ที่เริ่มต้นขึ้นจาก “เพื่อนแม่อยากอ่านบันทึกหลาน” เท่านั้น แต่เมื่อคุณแม่ผลักดันให้การเขียนนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพจเขียนบันทึกน่ารักๆ ก็กลายเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“ตอนนั้นไม่รู้ว่าการทำเพจมันกระจายไปไวรอลได้ จนมีคนเพิ่มมาได้จากสิบ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เพราะมีคนแชร์ คนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ทีมีลูกวัยเดียวกัน ครูที่อยากให้นักเรียนเขียนบันทึก วัยรุ่นที่เห็นว่าน้องเจ๋งดี อีกกลุ่มคือคนที่ไม่มีลูก และบันทึกของต้นหลิวทำให้เขาคิดถึงวัยเด็ก
เราคุยกันกับเรไรว่า สื่อโซเชียลมันทำให้คนรู้จักลูกมากขึ้น สิ่งที่เขียนมันกระจายออกไปในวงกว้าง เพราะฉะนั้นเราน่าจะใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้างถ้าเราทำได้ และเมื่อเราพบว่าบางคนอ่านไม่ได้ เช่น เป็นผู้มีความบกพร่องทางสายตา หรือเด็กเล็กที่ยังอ่านไม่ออก แม่จึงชวนเรไรว่า อ่านบันทึกไหม แล้วแม่อัพเป็นคลิปเสียงลงในเพจ เหมือนเป็นนิทานก่อนนอนให้คนเปิดฟัง แล้วกิจกรรมนี้ก็ทำให้เขาอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น หรือ ประโยคไหนเขียนยาวไม่เว้นวรรค พอตัวเองอ่านแล้วหายใจแทบไมทัน เขาก็จะรู้ว่า ควรเว้นวรรคหรือปรับเป็นสองหรือสามประโยคก็ได้
“อยากจะบอกกับทุกๆ คนว่า การเขียนบันทึก ไม่ใช่เรื่องพิเศษ เรไรไม่ใช่คนแรกหรือคนเดียวที่เขียนได้เขียนเป็น แต่สิ่งที่ทำให้เรไรเป็นที่รู้จัก คือ เขียนทุกวันไม่ล้มเลิก สิ่งที่เขาได้ก็คือ ความอดทน ความเพียร ความมุ่งมั่น และความคิดที่เป็นระบบระเบียบขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทุกคนก็ทำได้ แค่ลงมือเขียนทุกวันเท่านั้น”
เคล็ดลับในการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมกับลูก ๆ ของคุณแม่ชนิดา คือ ต้องตั้งใจ ไม่ว่าคุณจะมีเวลาเท่าไร การจัดสรรเวลาให้ลูกได้ทำกิจกรรมของพวกเขาถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กอาจยังแบ่งเวลาเองไม่เป็น หรือไม่รู้ว่าอะไรควรทำก่อนหลัง
“แม่มักจะบอกลูกว่า ไม่จำเป็นต้องทำการบ้านก่อนเล่นเสมอไป ถ้าอยากเล่นแล้วแบ่งเวลาเผื่อไว้ทำการบ้าน และต้องมั่นใจว่าทำเสร็จแน่นอน แบบนี้แม่ยอมให้เล่นก่อนได้ แม่ก็ต้องทำอย่างอื่นนอกจากเลี้ยงลูกนะ แต่เรามีเวลาแค่ไหน เราก็ต้องทำแค่นั้น เช่น ปกติมีเวลาเล่นกับลูกหลายชั่วโมง แต่บางวันเรายุ่งมากอาจเหลือเวลากับเขาแค่สามสิบนาที ในสามสิบนาทีนี้เราอาจจะต้องใส่ความพยายามมากขึ้นเพื่อให้เป็นเวลาที่มีคุณภาพ แม้จะบอกว่าเวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่การจัดเวลาให้กับลูกคือสิ่งสำคัญ สิ่งต้น ๆ ที่แม่สอนเขา คือ การดูเวลา น้องแฝดรู้เรื่องเวลาตั้งแต่ยังดูนาฬิกาไม่เป็น เขาจะรู้ว่าฟ้ามืดแล้วต้องหยุดเล่น กลับเข้าห้องเตรียมนอน ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่มีที่อยากทำไม่เท่ากัน เรื่องนี้เราจึงต้องจัดสรรเวลา”