“โอกาส” เป็นคำพูดง่ายๆที่สอดแทรกมาพร้อมกับช่วงเวลา “ปิดเทอม”
นั่นจึงเป็นเรื่องต้องคิดให้หนักว่าจะทำอย่างไรที่ให้ โอกาสในช่วงเวลาทองสั้นๆนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ครูพายุ – ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม ครูสอนว่ายน้ำประสบการณ์กว่าสิบปี มีข้อแนะนำดีๆ สำหรับการใช้เวลาช่วงนี้
และถึงแม้ว่าครูพายุ จะเป็นครูสอนว่ายน้ำที่มีความเก่งกล้าสามารถในด้านการสอนทักษะว่ายน้ำให้กับ เด็กพิเศษ หรือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ ซนกว่าปกติ และเด็กที่มีความพิการทางการได้ยิน แต่คนที่เขาต้องการจะปั้นให้กลายเป็นคนใหม่จริงๆนอกจากคนทั้งสองกลุ่มนี้แล้ว ก็คือคนธรรมดาอย่างเราๆนี่แหละ
ครูพายุเริ่มต้นรู้จักกับการว่ายน้ำตั้งแต่เด็ก เพราะตัวเองมีอาการคล้ายสมาธิสั้นคุณพ่อจึงพาไปเรียนว่ายน้ำตามคำแนะนำของแพทย์ จากนั้นเมื่อตอนเรียนชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เริ่มสอนเด็กๆ เพื่อเป็นอาชีพเสริมระหว่างเรียน แล้วประสบการณ์ของทั้ง 2 ช่วงชีวิตก็ถูกนำมาใช้ควบคู่กันไป
“เคยมีผู้ปกครองของเด็กพิเศษคนหนึ่งมาให้สอนลูกเขาว่ายน้ำ เขามีปัญหาเรื่องสมาธิ จนผมคิดว่าผมไม่สามารถสอนได้แล้วล่ะ ก็เลยคุยกับคุณแม่ว่าขอคืนคอร์ส แต่แม่บอกว่าไม่เป็นไรให้ถือว่าลูกมาว่ายน้ำเล่น ผมจึงสอนจนจบ แล้วพบว่า เขาอาการดีขึ้น คือฟังคำสั่งได้ เลยเริ่มส่งสัยว่า หรือว่า การว่ายน้ำมันช่วยเรื่องนี้ได้จริงๆ”
หลังจากวันนั้นครูพายุจึงได้เข้าไปคุยกับนักกิจกรรมบำบัด และได้ข้อมูลมาว่า การใช้การว่ายน้ำเป็นกิจกรรมเพื่อบำบัดเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้นั้นมีบนโลกนี้มากกว่า 50 ปีแล้ว และมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ที่เห็นได้ชัดในระดับโลกก็คือ ไมเคิล เฟลฟ์ นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติสหรับอเมริกา
“ความสำเร็จของการสอนว่ายน้ำให้กับเด็กพิเศษเหล่านี้มีหลายระดับขึ้นอยู่กับอาการป่วยของพวกเขา บางคนแค่มาสันทนาการ บางคนก็ฟังคำสั่งได้มากขึ้น อาจจะยังว่ายน้ำไม่เก่ง แค่ลอยตัวได้ แต่บางคนว่ายน้ำเก่งเลยก็มี”
จนล่าสุด ครูพายุไมได้หยุดตัวเองไว้แค่นั้น เมื่อรู้ว่าการว่ายน้ำช่วยเหลือชีวิตผู้คน หรืออย่างน้อยเขาก็จะดีขึ้นจากกิจกรรมนี้แน่นอน จึงได้คิดถามตัวเองอีกว่า ว่ายน้ำจะมีประโยชน์กับใครได้อีก
“วันหนึ่งผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า โลกนี้มีใครบ้างที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ ตอนนั้นสมองซ้ายขวาของผมก็เริ่มคุยกัน จนได้รับคำตอบว่า คนที่เสี่ยงต่อการจมน้ำคือคนที่พูดไม่ได้ เพราะไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลืออะไรได้เลยหากเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้น และคนที่พูดไม่ได้ก็คือคนหูหนวกนั่นเอง”
จึงเริ่มลองเรียนภาษามือ แต่วิธีการเรียนก็ไม่เหมือนคนอื่นเลย
“วันหนึ่งผมเดินเที่ยวที่ถนนคนเดินท่าแพ มีสามีภรรยาคนหนึ่ง นั่งขายของ แต่ไม่ได้พูด นั่งใช้ภาษามือ ผมก็รู้สึกว่านี่ไงคนที่จะสอนน ตอนนั้นก็เริ่มจากการเขียนเพื่อสื่อสารกับเขา แล้วก็ค่อยๆศึกษาไปเรื่อยๆ ประสมประโยคไปเรื่อยๆ อยู่กับคนคู่นั้น 6 เดือน พอรู้สึกว่าผมเริ่มได้ ก็ยื่นเรื่องไป โรงเรียนสอนคนหูหนวก รวมทั้งได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กพิเศษที่ผมเคยสอนก็ได้ทุนมาจำนวนหนึ่ง แล้วผมก็เปิดโครงการสอนเด็กหูหนวกว่ายน้ำครั้งแรกในปี 2552 จำนวน 40 คน”
และโครงการของครูพายุก็เริ่มออกเดินทางไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็น ยะลา ประจวบ น่าน เชียงใหม่ ขอนแก่น และอีกหลายจังหวัด เป็นเวลา 8 ปีมาแล้ว นับจากนั้น
“ผมจะเป็นห่วงเรื่องการจมน้ำตายมาก เคยเห็นสถิติ ของ กระทรวงสาธารณสุข เด็กจมน้ำเสียชิวต 1500 คนต่อปี 5 คนต่อวัน เยอะสุดคือ ฤดูรอ้น ผมว่าถ้ามีทักษะในการว่ายน้ำอยู่บ้างมันจะช่วยได้ และผมก็เริ่มคิดถึง Social Impact คือ ถ้าผมทำคนเดียว เด็กที่จะได้รับความรู้ตรงนี้อาจจะมีหลักร้อย แต่ถ้าผมสร้างทีมด้วย ก็จะมีคนมาร่วมสร้างสิ่งดีๆตรงนี้ให้มากขึ้นไปอีก ดังนั้นระหว่างที่ผมทำงาน ผมก็สร้างทีมด้วย การทำงานที่ดีต้องส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกด้วย
เหมือน โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ช่วยสังคมได้ทั่วโลก สร้างความเปลีย่นแปลงได้ทั่วโลก แต่ผมก็ทำในสิ่งที่ผมถนัด ผมช่วยเชียงใหม่ได้ คนอื่นๆก็ช่วยพื้นที่ของเขาได้”
“โมเมนต์ที่ดีที่สุดในชีวิตผมก็คือ มีครูในพื้นที่ที่ผมไปเปิดคอร์สสอนว่ายน้ำ มาพูดคุยว่า เขาจะสอนเด็กพิเศษบ้าง เขาต้องทำยังไงบ้าง ผมรู้สึกดีที่มีคนตื่นตัวที่จะสอนว่ายน้ำเด็กพิเศษมากขึ้น ภูมิใจที่ได้เป็นตัวอย่างให้คนอื่นดู”
ครูพายุบอกว่า เด็กพิเศษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กสมาธิสั้น หรือ เด็กหูหนวกเมื่อเทียบกับจำนวนในประเทศไทย ถือว่ายังคงต้องการครูผู้รู้มาสอนเรื่องนี้ให้เขาอีกมาก โครงการยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน
“ผมเคยทำโครงการ “สระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส” สร้างสระว่ายน้ำแบบถอดประกอบขนาด 5×10 เมตร ใช้รถขนน้ำประมาณ 11 คันรถเพื่อไปสอนเด็กที่ดอยอ่างขาง ถามว่าทำไมต้องสอนเด็กดอยว่ายน้ำ ก็เพราะบนดอยก็มีแหล่งน้ำ และเคยมีเด็กเสียชีวิต 3 คนใน 5 ปี นี่คือที่ผมบอกว่า เด็กทุกคนควรมีทักษะในการว่ายน้ำติดตัวบ้าง”
ดังนั้นเขาจึงอยากจะฝากถึงน้องๆที่อาจจะกำลังมองหากิจกรรมที่มีประโยชน์กับสังคมในมุมใดมุมหนึ่ง
“ฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่ที่กำลังจะมีโอกาสเจอสังคมที่กว้างขึ้น เจอสังคมคนพิการเพิ่มขึ้น ผมจะบอกว่าเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือเยอะ แต่สิ่งที่ผมให้ตลอดคือโอกาส คือว่ายน้ำ ให้เขาได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้”
“ไม่ต้องเก่งนะครับ ไม่ต้องเริ่มต้นใหญ่ ผมบอกคุณครูคนหนึ่งที่ผมเคารพมาก ว่าผมอยากสอนว่ายน้ำให้เด็กทั่วประเทศเลย ครูบอวก่า ให้เริ่มต้นจากเล็กๆให้ดีก่อน คนเราไม่ต้องรอให้พร้อม เริ่มจากที่ถนัด ถ้าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ก็เอาโปรแกรมเมอร์ไปช่วยคนอื่น เราอาชีพที่เราถนัดไปทำ ไปแบ่งคนอื่นบ้าง
ถ้าปิดเทอม ก็ลองถามตัวเองดูว่าชอบอะไร ถ้าชอบพูดชอบสอนก็ไปสอนเด็กตาบอด ชอบร้องเพลงก็ไปอ่านหนังสือเสียง คือทุกอย่างมันเริ่มจากความถนัด ผมแนะนำว่าให้เริ่มจากถนัดครับ”
ขอให้มีปิดเทอมที่สดใสและสร้างสรรค์
ข้อมูลโรคสมาธิสั้น www.siamhealth.net