“ปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่พ่อกับแม่จะได้ใช้มันเพื่อเปิดโลกกว้างให้กับลูกและร่วมรับประสบการณ์นั้นด้วยกัน” หมอโอ๋ พญ จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์ วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิปบดี เจ้าของเพจขวัญใจคุณแม่ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” และเมื่อช่วงเวลาที่ดีเหล่านี้เกิดขึ้น นิยามง่ายๆ ของคำว่า “ปิดเทอมสร้างสรรค์” จึงถูกตีความให้ชัดเจน
“ในปัจจุบันช่วงเวลาเปิดเทอมยังจำกัดให้เด็กๆ อยู่ในกรอบของห้องสี่เหลี่ยม ดังนั้นช่วงปิดเทอมมันจึงเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ดีที่เด็กๆ จะได้มีโอกาสพบกับโลกที่กว้างขึ้น เกิดเป็นประสบกาณ์ที่หลากหลาย เช่น พ่อแม่อาจจะมีโอกาสได้พาลูกไปในที่ที่ไม่เคยไปอย่าง คนเมืองไปเที่ยวต่างจังหวัด ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนต่างถิ่น หรือไปสวนสาธารณะ ได้พบกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่อยู่ในห้องเรียน อย่าง พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น”
แต่การเที่ยวในช่วงวันปิดเทอม ให้สมกับคำว่า “ปิดเทอมสร้างสรรค์” นั้น แค่ได้ประโยชน์จากการ “เที่ยว” คงไม่พอ หมอโอ๋ อธิบายว่า หากพ่อแม่ตระหนักรู้ และตั้งใจใช้เวลาให้เกิดประโยชน์กับลูกอย่างแท้จริงแล้ว ประโยชน์ที่ลูกจะได้รับ จะเกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่ตัดสินใจ
“ต้องตั้งวัตถุประสงค์เลยว่าที่จะพาลูกไปนี้เพื่อให้อะไร อะไรจะเป็นประโยชน์กับลูกบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเพียงแค่การเที่ยวที่เรื่อยเปื่อย เราสามารถให้ลูกได้เรียนรู้ตั้งแต่การวางแผนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นวางแผนการเที่ยว ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ไปทำอะไรที่นั่นบ้าง รวมไปถึงวางแผนจัดกระเป๋าด้วยตัวของเขาเอง จะเอาเสื้อผ้าอย่างไรไป จำนวนเท่าไรถึงจะพอ นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ยังมีของจำเป็นอย่างอื่นอีกหรือไม่ ให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง หรือภายในรถหากต้องนั่งนานจะมีเวลาเหลือ ระหว่างนั้นทำอะไรดี เหล่านี้จะช่วยให้เด็ก ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์”
“และการเที่ยวไม่ใช่การเปลี่ยนที่นอน ไม่ใช่ว่าพาลูกไปเที่ยวแต่กลับเอาแต่นอนในโรงแรมเท่านั้น พ่อแม่เองก็ต้องคิดวางแผนไว้ก่อนแล้วว่าจะพาเขาไปไหน ถ้าพาไปชมธรรมชาติก็ต้องพากันออกจากโรงแรม แล้วไปชมธรรมชาติ ชมบ้านเมืองที่แตกต่าง หรือไปเดินป่า ซึ่งหมายความว่า เราได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย อาการป่วยไข้ ซึ่งถ้าเจอก็เป็นเรื่องที่พ่อกับแม่จะต้องฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วยกัน”
แล้วการเที่ยวที่ดีต้องเป็นอย่างไร?
หมอโอ๋ตอบคำถามนี้ง่ายๆว่า “ต้องได้ประโยชน์จากการรับประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง”
“ต้องสร้างศักยภาพใหม่ และดึงศักยภาพที่เด็กๆมีอยู่แล้วให้ออกมาให้มากที่สุด อย่างเช่นไปเที่ยวในที่ที่ใช้ภาษาต่างออกไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือได้ลงมือฝึกใช้ภาษา ได้เห็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่แตกต่าง อย่างเจอคนที่ผิวคล้ำ ผิวขาว หรือผิวสีอื่นๆ เราก็จะสอนลูกได้ว่าโลกนี้มีหลายผิว แต่ทุกคนก็น่ารัก สอนว่า สูงต่ำตำขาว ไม่มีผลกับความเป็นมนุษย์ ต้องฝึกให้เด็กมีมุมมอง เช่นไปเจอบ้านที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนอยู่ได้ ก็ต้องสอนว่า บ้านมีหลายอย่างแต่ก็อยู่อย่างมีความสุขได้
หรือให้ลูกได้รู้สึกถึงการได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอย่างแท้จริง ได้ใช้เวลากับพ่อแม่ รู้สึกว่าความคิดเห็นของเขามีคนรับฟัง สนใจ แลกเปลี่ยน ให้เขาช่วยคิดช่วยวางแผน การที่รู้ว่าตัวเองสำคัญกับครอบครัว ก็จะทำให้ลูกเติบโตมากับครอบครัวที่มีความสุขได้”
หมอโอ๋กล่าวทิ้งท้ายว่าการท่องเที่ยวหรือใช้เวลานอกห้องเรียนนั้น สามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว เหมาะกับงบประมาณและเวลาที่มี
“พ่อแม่อย่ามองในเรื่องของการใช้ตัวเงิน อย่าคิดว่าไปเที่ยวไกลๆ จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาทุกที่ พ่อแม่เป็นครูที่สำคัญระหว่างการเดินทาง ก็ต้องวางแผนการสอนว่าอยากเสนออะไร อยากให้ลูกเรียนรู้อะไร การเรียนรู้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราจะไปเพียงอย่างเดียว แต่ระหว่างทางก็สามารถพูดคุยจนเกิดความรู้ขึ้นได้ ช่วงเวลาก็ขึ้นอยุ่กับความสะดวกของพ่อแม่ บางคนสะดวกมากจะไปเป็นสัปดาห์ก็ได้ บางคนไม่สะดวก วันสองวัน หรือ ไปเช้าเย็นกลับก็ได้เช่นกัน
ที่สำคัญคือ เวลาที่มี ต้องใช้ให้คุ้มค่า”