ปล่อยพลัง! เลี้ยงด้วยกิจกรรม เสริมสร้างร่างกาย จิตใจและสมองให้ลูกพร้อมกับความสุขของทุกคนในครอบครัว

เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันนี้ กิจกรรมต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเลี้ยงลูกมากขึ้นทุกขณะ ด้วยมีงานวิจัยหลายอย่างจากนักจิตวิทยาทั้งจากไทยและต่างประเทศยืนยันว่า การเล่นหรือการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่รอบด้าน ทั้งทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยกิจกรรมนั้นก็อาจจะเป็นการบูรณาการมาจากต้นทางที่โรงเรียนจัดสรรให้อยู่แล้ว หรือทางผู้ปกครองนำเสนอให้ลูกตัวน้อยได้ลองเล่นด้วยตนเอง

“เหมือนให้เขาได้ปล่อยพลังค่ะ”

วารุณี ฤโณปการ คุณแม่ของน้องออสติน ด.ช.ติณห์ อาภรณ์ทรัพย์ อายุ 5 ขวบ เจ้าของสายเหลืองจากกีฬาเทควันโดหมาดๆ และน้องไตตั้น ด.ช.ตรัยคุณ อาภรณ์ทรัพย์ อายุ 2 ขวบ 4 เดือนเล่าให้เราฟังก่อนเสริม “เป็นวัยของเขาเลยค่ะ เด็กช่วงวัยนี้เราควรเน้นกิจกรรมให้เขาได้สนุกเป็นหลักก่อน ยังไม่ควรเน้นเรื่องเรียนหรือวิชาการให้เขามากนัก คืออยากได้เขาสนุกกับการเรียนปกติมากกว่า ถ้าเขาสนุกกับการเรียนเขาก็จะอยากไปโรงเรียน อยากเรียนรู้ของเขาเอง”

กิจกรรมที่วารุณีเลือกคือ เทควันโดซึ่งเป็นกีฬาที่โรงเรียนเปิดสอนให้เป็นกิจกรรมเสริมอยู่แล้ว โดยเลือกอยู่บนพื้นฐานที่ลูกชอบด้วย

“กิจกรรมเสริมหลังเลิกเรียนจะมีสอนทบทวน, ภาษาอังกฤษ, หุ่นยนต์ขั้นพื้นฐาน, เทควันโด เราก็จะถามเขาว่าออสตินอยากเรียนอะไรบ้าง เขาก็บอกว่า อยากเรียนเทควันโด เพราะชอบ สนุกดี ได้ออกกำลัง เราก็สนับสนุนเพราะว่าเห็นว่าเป็นกีฬาที่น่าสนใจ นอกจากได้เรียนรู้ยังทำให้เขาแข็งแรงด้วย ถ้ามีแวว เขาชอบจริงจังก็คิดว่าจะสนับสนุนเขาเต็มที่ค่ะ ตอนนี้อาจจะปูพื้นฐานให้เขาไปก่อนจากที่โรงเรียน อนาคตจากจะส่งเขาเรียนจริงจังตามโรงเรียนที่สอนเฉพาะทางไปเลยค่ะ”

ไม่ใช่เพราะโรงเรียนมีให้เลือกอย่างเดียว หากแต่ต้องบอกว่าครอบครัวนี้ปลูกฝังความเป็นนักกีฬาไว้ในตัวลูกด้วย

“อีกอย่างที่ออสตินเขาชอบ คือตีกอล์ฟค่ะ เพราะพ่อเขาเล่นกอล์ฟ เขาเห็นพ่อเขาตีกอล์ฟเขาก็อยากเล่น บางครั้งก็จะตามพ่อไปไดร์ฟบ้าง แต่ยังไม่เคยออกรอบ โตอีกสักหน่อยคงได้ไปออกรอบกับพ่อเขา” คุณแม่ลูกสองบอก

แต่ทั้งนี้การเลี้ยงลูกก็ใช่ว่าจะต้องทำกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อแต่เพียงอย่างเดียว

“ปกติคนโตไปเรียนจันทร์ถึงศุกร์ ชั้นอนุบาล 3 กลับจากเลิกเรียน เป็นข้อตกลงกับว่าเขาต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน หลังจากนั้นก็จะให้เราเล่นหรือดูการ์ตูนได้ พอช่วงเย็นๆ หน่อย ก็จะชวนกันไปเล่นที่สนามในหมู่บ้าน ปั่นจักรยานบ้าง วิ่งเล่นกับเด็กๆ ในหมู่บ้านบ้าง หรือเตะบอลเล่นกันบ้างค่ะ เราอนุญาตให้เขาได้ดูทีวีการ์ตูน หรือยูทูป แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขต จำกัดเวลา เพื่อไม่ให้เขาติดจนเกินไป เด็กยุคใหม่ส่วนใหญ่จะถูกเลี้ยงด้วยมือถือ ทีวีบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็มีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าเราให้เขาดูเยอะเกินไป เขาจะเป็นเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจ ออสตินเคยเป็นอยู่ช่วงหนึ่งค่ะ ก็ต้องคอยๆ ฝึกและสอนเขาใหม่”

“การเลี้ยงลูกวัยนี้ ต้องใจเย็นมากๆค่ะ เพราะเขาเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บ้างครั้งก็จะดื้อไม่เชื่อฟัง เราก็ต้องพยายามพูดคุยกับเขามากๆ คุยกันด้วยเหตุและผล”

น้องผิงผิง ดญ. พรชนก อัมพรลักษณ์ วัย 6 ขวบ ก็เพิ่งได้สายเขียวจากการเล่นเทควันโดเช่นเดียวกัน โดย คุณแม่ผึ้ง พิมพ์ชนก อัมพรลักษณ์ เล่าให้ฟังว่า ลูกสาวเป็นทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ครูเห็นว่าทำได้ เช่น เต้น รำ กีฬาสี งานดนตรีต่างๆ และเมื่อได้คุยกับผู้ปกครองเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงส่งเสริมให้ทำ

“ตอนนี้เขายังไม่มีอะไรที่ตั้งธงว่าชอบอันนี้ แต่เราจะเป็นคนป้อนให้เขาเอง ว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี ดีอย่างไรไม่ดีอย่างไร แล้วเขาจะตามที่เราพูด อย่างที่บอกว่า เด็กเป็นผ้าขาว คือเขายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราบอกอะไรเขาก็เชื่อ เราจึงจำเป็นต้องป้อนแต่เรื่องดีๆ ให้เขา

อย่างเทควันโดเราเลือกให้เพราะได้ออกกำลังกาย ได้เล่นสนุก แล้วยิมเทควันโดก็ใกล้บ้าน ราคาไม่แพงมาก ทุกอย่างมันรวมกันแล้วได้หมด ตอนที่โน้มน้าวให้ไปเรียนตอนแรก เราใช้กุศโลบายโดยการเปิดละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ให้ดู ตอนที่นางเอกสู้กับผู้ร้าย แล้วก็บอกกับเขาว่า ถ้าเขาเรียนเทควันโด ก็จะไม่มีใครมารังแกผิงผิงได้ เหมือนนางเอกเรื่องนี้ เขาก็โอเคยอมเรียน เราไม่รู้ว่าเขาชอบไหม เพราะต่อให้อิดออดไม่อยากไปในบางครั้งแต่เขาก็ทำได้ อย่างสายเขียวเทควันโดที่เพิ่งได้มาก็ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ในที่สุดเขาก็ได้มาจนได้”

แต่ถึงอย่างไร หลังจากนี้ คุณแม่ก็จะปล่อยให้การเลือกกิจกรรมเป็นเรื่องที่ลูกสามารถเลือกได้ตามความชอบ

“พอโตกว่านี้เราจะปล่อยเขาเลย แต่ถ้าเขาเลือกไม่ดีเราจะต้องคอยบอก”

คุณแม่ผึ้งบอกว่า คำว่า “กิจกรรม” อาจจะไม่ได้หมายถึงกีฬาหรือการเล่นเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วกิจกรรมที่ทำให้ลูกมีความสุขอาจจะแค่ได้ทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกับคนที่เขารักเท่านั้น

“อย่างตอนปิดเทอมโควิดเขาอยู่กับตาและอาม่า สองคนนั้นแก่แล้วก็ไม่ได้รู้จักไอแพดหรือยูทูปอะไร แต่ลูกเราอยู่กับเขาแล้วมีความสุขมากโดยที่ไม่ได้แตะอุปกรณ์การสื่อสารเลยเพราะเขาชวนกันเล่น เช่น โดมิโน สมุดภาพระบายสี ปลูกต้นไม้ เก็บใบกระเพรา ช่วยล้างจาน เก็บขวด ช่วยกันทำกับข้าว แล้วก็สอนว่าอันนี้เรียกว่าอะไร อันนั้นใช้ทำอะไร กลายเป็นทุกคนในครอบครัวมีความสุขไปพร้อมๆ กับเขา”

“กิจกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะทั้งที่โรงเรียนให้ทำ หรือเราเป็นคนเลือกให้ลูก มันก็จะมีประโยชน์หมด เช่น ได้แสดงความสามารถ กล้าแสดงออก ได้เล่นสนุกกับเพื่อน ได้รู้จักคิด แก้ปัญหา แต่ทั้งหมดนี้คือเราต้องเลือกนะ ดูว่ามันประโยชน์จริง ดูว่าลูกเรามีความสุขจริงๆ” คุณแม่พิมพ์ชนกย้ำ

และเมื่อพูดเรื่องความสุขกับประโยชน์ที่ลูกๆ จะได้รับ คุณแม่วารุณีก็ให้เหตุผลไม่ต่างกัน

“เคยคุยกับแฟนว่าสมัยเราเรียนโรงเรียนวัด ไม่เคยได้เรียนพิเศษเรียนเสริมอะไร เราก็มีงานทำที่ดีได้ เข้าใจนะคะว่าสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยนี้การแข่งขันมีสูงมาก แต่ก็มองว่ามันอยู่ที่ตัวเด็ก ถ้าเขารักเรียนเขาก็จะมีความพยายามของเขาเอง ในใจเราเขาไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 หรือท็อป 5 ขอแค่เขาเอาตัวรอดได้ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมตามยุคที่เปลี่ยนไปได้ก็พอค่ะ ส่วนตัวเราถ้ากิจกรรมใดที่เด็กๆ ชอบมากจนอยากเรียนจริงจัง หรืออยากทำเป็นอาชีพ เราก็พร้อมส่งเสริมสนับสนุน”

สิ่งที่เขาได้จากกิจกรรมที่พ่อแม่เลือกให้ในวันนี้ อาจจะเป็นรอยยิ้ม เป็นความสนุกสนาน แต่ระหว่างมันก่อเกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เกิดความสามารถในการแก้ไขปัญหาจนก่อให้เกิดความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว และว่ากันว่า ถ้าอยากให้ลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เราต้องทำให้เขารู้จักความสุขตั้งแต่ยังเด็ก

แล้วความสุขของลูกๆ คุณ ปล่อยพลังออกมาเป็นแบบไหน

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า