6 เทคนิค “พ่อแม่” ต้องรู้ก่อนวางแผนเที่ยว พาลูก “เปิดโลกกว้าง” อย่างสร้างสรรค์

ปิดเทอมใหญ่ทั้งที จะให้ลูกทำกิจกรรมอะไรดีที่จะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่เคร่งเครียด แถมสนุกด้วย??

คำถามนี้คงเป็นคำถามของพ่อแม่หลายคนเมื่อลูกๆ เข้าสู่ช่วงปิดเทอม และไม่อยากให้ลูกนั่งจับเจ่าอยู่กับบ้านเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต หรือเกม ทั้งวัน

ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ “พ่อแม่” อาจมองข้าม แต่จริงๆ แล้ว สร้างประโยชน์ให้ลูกได้ไม่น้อยนั่นคือ “การท่องเที่ยวเปิดโลกกว้าง” ที่ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ หรือเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น

เป็นการท่องเที่ยวเชิง “เอ็ดดูเทนเม้นท์” (Edutainment) ที่ได้ทั้งความสนุกและความรู้ไปพร้อมๆ กัน

แต่จะเที่ยวทั้งที “การวางแผนที่ดี” ก็เป็น “สิ่งสำคัญ” เพราะ “วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” แถมยังเป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้ “ทักษะการบริหารจัดการ” และ “ทักษะการเป็นผู้นำ” ทางอ้อมอีกด้วย

ครูหนู-ดร.วรนาท รักสกุลไทย

จะทำอย่างไรนั้น คุณครูหนู-ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา มีคำแนะนำดีๆ การวางแผนพาลูกเที่ยวมาฝาก

1. จับเข่าคุยกับลูก

ครูป้าหนู แนะว่า พ่อแม่ควร “จับเข่าคุย” กับลูกก่อนว่า ลูกสนใจอะไร

“พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกสถานที่ท่องเที่ยวเองตามความสนใจและความชื่นชอบ เช่น ลูกชอบธรรมชาติก็อาจจะพาไปเที่ยวทะเล ภูเขา ลูกชอบศิลปวัฒนธรรม ก็พาไปเที่ยวตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โบราณสถานต่างๆ หรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้แต่วางแผนไปอยู่บ้านญาติ ก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าทำ โดน เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ด้านการปรับตัวเมื่อไปอยู่กับผู้อื่น”

“นอกจากนี้ พ่อแม่ควรตั้งคำถามกับลูกว่า ทำไมถึงอยากไป ไปแล้วได้อะไร คาดหวังอะไรจากการไปเที่ยวครั้งนี้ ใช้คำถามไกด์ไลน์แนะนำลูกก็จะเป็นประโยชน์ทางหนึ่ง”

2. เลือกช่วงเวลาเที่ยว

ครูหนู บอกว่า การวางแผนเวลาต้องดูว่าลูกไปเที่ยวกับใคร กับเพื่อนหรือครอบครัว

“ถ้าไปกับเพื่อนก็ต้องมาดูว่าอายุเหมาะสมให้ไปเที่ยวลำพังแล้วหรือยัง หรือถ้าไปได้ จะไปเที่ยวนานเท่าไหร่ แบบวันเดย์ทริป หรือ 2-3 วัน ซึ่งอันนี้ อยู่ที่การพิจารณาของพ่อแม่ แต่ถ้าหากเป็นการไปเที่ยวกับครอบครัว พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกเป็นวางแผนเที่ยวเอง เพื่อให้เข้าได้เรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการ อย่าเลี้ยงลูกแบบคุณหนู โดยพ่อแม่ทำให้ทุกอย่าง จัดให้เป้นเวลาของแฟมิลี่ไทม์ เป็นช่วงเวลาของความสุข ซึ่งต้องเลือกเวลาให้เหมาะสม อย่าให้ไปสะดุดกับกิจกรรมพิเศษที่โรงเรียน”

ครูหนูย้ำว่า การทำแบบนี้จะเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้ทักษะการบริหารเวลาด้วย หลังจากนั้นก็มาเตรียมตัวเที่ยวในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก สภาพอากาศ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ เพียงกดกูเกิลก็มีข้อมูลมากมายให้วางแผนได้

3. เงินทองต้องรู้

ครูหนูแนะว่าการท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องไร้สาระเลย ถ้าพ่อแม่รู้จักจับจุดมาสอนลูก อย่างเทคนิคการบริหารเงินก็สามารถสอนได้ โดยให้นั่งจับเข่าคุยกันเลยว่า ไปเที่ยวครั้งนี้ ลูกจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง งบเที่ยว งบส่วนตัว รวมทั้งคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิด เช่น ถ้าไปกับเพื่อนแล้วเกิดเงินหล่นหาย ลูกจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร พ่อแม่ก็สามารถไกด์ได้แผน 1 แผน 2 ให้ได้

4. เที่ยวกับเพื่อนไม่มั่วนิ่ม

ครูหนูบอกว่าแม้จะไปเที่ยวกับเพื่อนโดยไม่มีพ่อแม่ค่อยแนะนำอยู่ข้างๆ ก็ใช่ว่า ลูกจะได้เรียนรู้อะไร เพียงแต่พ่อแม่รู้จักสอดแทรกเทคนิคให้ลูก เช่น ไปเที่ยวตามรอยละครดังบุพเพสันนิวาส ลูกต้องไม่ใช่แค่ถ่ายรูปนะ แต่ต้องรู้ด้วยว่าสถานที่ที่ไปมีความสำคัญอย่างไร โดยการไปอ่านป้ายอ่านบอร์ดที่เขียนให้ความรู้ตามสถานที่นั่งๆ หรือพ่อแม่จะให้เครื่องมือกับลูกไปด้วย เช่น ถ่ายหนังสั้นมาให้พ่อแม่ดู หรือให้ลุกเล่าสั้นๆ ส่งไลน์มาให้อ่าน ก็มีหลายกลวิธีที่จะช่วยฝึกทักษะให้ลูกอีกรูปแบบหนึ่ง

“พ่อแม่ที่สอนลูกเก่ง จะเป็นพ่อแม่ที่คุยกับลูก และคาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาอะไร และให้คำแนะนำกับลูก”

4. วางแผนเที่ยวฝึกทักษะ “ผู้นำ”

การเป็นผู้นำ คือ คนที่คิดเป็น คิดได้รอบคอบ และนำตัวเองได้ ผู้นำ ในความหมายนี้ คือ ดูแลตัวเองได้ กำกับตัวเอง ควบคุมตัวเอง เป็นลีดเดอร์กับวิธีคิดของตัวเองก่อน ซึ่งอันนี้จะเป็นวัคซีนให้ลูกอยู่รอดปลอดภัยในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น ถ้าไปเจอเพื่อนที่รังแกก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ หรือถ้าลองให้ลูกบริหารค่าใช้จ่ายเอง ก็เป็นการฝึกทักษะนี้ได้

5. ท่องเที่ยวให้อะไรมากกว่าที่คิด

ครูหนูบอกว่าการท่องเที่ยวให้อะไรกับเด็กๆ มากกว่าที่คิด เพราะการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทำให้ชีวิตเกิดการกระตุ้น มีสิ่งเร้า ตื่นตาตื่นใจ เกิดอารมณ์กระหาย และสร้างความมั่นใจให้กล้าเผชิญสิ่งต่างๆ ที่แปลกออกไป รวมทั้งการได้ออกไปเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสด้วยการจำ ได้ดมกลิ่น คือกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด ซึ่งต่อไปอาจจะเป็นแรงบันดาใจให้เกิดเรื่องอาชีพ เป็นอินสปายเรชั่นได้

“การเรียนรู้จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าไม่เกิดจากประสบการณ์ตรง หรือการปฏิบัติจริง เอาท์ดอร์เลิร์นนิ่งจึงจำเป็นมาก และการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน ฉะนั้น การท่องเที่ยวไม่ใช่ไร้สาระ ถ้าวางแผนเป็น และมองเห็นว่าสร้างสรรค์ ตรงนี้อยู่ที่เจคติของพ่อแม่ และควบคู่ไปกับการวางแผนที่ดี เพราะวางแผนดีมีชัวไปกว่าครึ่ง วางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทั้งความสนุกผ่อนคลาย และสอดแทรกไปกับการเรียนรู้ด้วย” ครูหนูทิ้งท้าย

6. คุยกับลูกยังไงให้ทริปนี้มีแต่ความสนุก

นอกจาก “วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือ “การตั้งคำถาม” เพื่อพูดคุยกับลูก เพราะการพุดคุยและการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ก็เป็นอีกเครื่องมือในการ “กระตุ้นการเรียนรู้” ให้กับลูกได้

ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูนักวิทยาศาสตร์ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้เขียนแนะนำไว้ในโครงการหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ว่า การเตรียมตัวออกเดินทางไปเรียนรู้ สิ่งที่ต้องมี คือ สมุดบันทึก กระบอกน้ำ ดินสอ กล้องถ่ายรูป ยางลบ หมวก กระเป๋าเป้

ซึ่งการเดินทางครั้งนี้นั้น พ่อแม่หรือผู้ใหญ่สามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสนุกไปกับเด็กๆ ได้ด้วยการ กระตุ้น ให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สืบเสาะ จินตนาการ และลงมือทำ จากนั้นให้สังเกต พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ ส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด และเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริง และประเมิน การเรียนรู้และทักษะสำคัญที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กๆ

สำหรับ 4 ทักษะ ที่ควรส่งเสริมคือ

  1. แรงบันดาลใจ จดจ่อ อยากเรียนรู่ อยากทำต่อ เกิดแรงบันดาลใจ
  2. คิดสร้างสรรค์ สำรวจ เสาะแสวงหาคำตอบ สังเกต อธิบายข้อมูล สร้างแนวคิดใหม่ เชื่อมโยง บูรณาการ
  3. คิดวิเคราะห์ เข้าใจปัญหา เปรียบเทียบมุมมองต่างๆ ตรวจสอบความถูกต้อง วิเคราะห์ข้อมูล แสดงเหตุผล
  4. ลงมือทำ ปฏิบัติจริง กล้าลอง กล้าเรียนรู้ ลองลงมือทำ

สุดท้าย คือการเรียนรู้ไปกับเด็กๆ ด้วยการ

  1. กระตุ้นให้เด็กๆ สนใจ ชี้ชวนให้สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว
  2. ชวนเด็กๆ ตั้งคำถาม คิด และหาคำตอบ
  3. ลองให้เด็กๆ ได้เล่น ลองทำ สัมผัส และเรียนรู้สิ่งต่างๆ
  4. ชวนเด็กๆ ให้คิดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ กับตัวเอง ที่บ้าน ที่โรงเรียน และสังคมรอบตัว
  5. ตั้งคำถามให้เด็กๆ ทำความเข้าใจเรื่องราว ปัญหา และสาเหตุจองการเกิดปัญหาต่างๆ
  6. ตั้งข้อสังเกตให้เด็กๆ คิดถึงข้อดี-ข้อเสียของสิ่งต่างๆ ที่เห็น
  7. ตั้งข้อสงสัย และค้นคว้าข้อมูบเพิ่มเติมต่อจากแหล่งอื่นๆ และ
  8. ท้าทายเด็กๆ ให้คิดหาแนวทางแก้ปัญหาตามวิธีของตัวเอง

ครูเฉลิมพร เน้นย้ำว่า เวลาไปเที่ยวพ่อแม่ต้องชี้ชวน ชักนำ ชวนลูกพูดคุยนู่นนี่นั่น และลองให้สังเกตสิ่งรอบตัว แต่อย่าไปเฉลย ให้ลูกได้เรียนรู้ฝึกหาคำตอบด้วยตัวเองว่าลูกสามารถทำได้ เขาก็จะสนุก โดยพ่อแม่อาจมีคำชมให้บ้าง มีคำถามที่ท้าทายความคิดเขาบ้าง จากนั้นจึงค่อยใส่องค์ความรู้ไปทีหลัง ทำอย่างนี้ได้ ก็จะทำให้เด็กไม่เบื่อ และจดจำได้ง่าย

“ประโยชน์ของการตั้งคำถามจะทำให้ลูกได้คิด ถ้าเราไปบอกหมด ลูกจะรู้สึกอึดอัด เพราะเด็กไม่อยากรู้ ยิ่งถ้าเราเซ้าซี้เยอะๆ ก็จะกลายเป็นเบื่อ การเรียนรู้ก็จะไม่เกิด ฉะนั้นอย่าไปยัดความรู้ แต่ให้ลูกได้เรียนรู้จากกิจกรรม เมื่อเรียนรู้แล้วก็ให้เขาจดลงสมุดบันทึก สุดท้ายเด็กจะได้รับประโยชน์ เด็กจะได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน เป็นการเรียนรู้ที่คงทน จารึกความรู้ได้นาน และมองเห็นมิติองค์ความรู้ที่หามา เพราะอยู่ในห้องเรียนจะมองเห็นมิติเดียวที่ครูบอกให้ฟัง แต่แบบนี้จะมีมิติมุมมองต่างๆ ได้กว้างขึ้น และนำไปต่อยอดในอนาคตได้” ครูเฉลิมพรทิ้งท้าย

เมื่อทราบวิธีการส่งเสริมลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่และคุณลูกก็เตรียมแพคกระเป๋าเที่ยวได้เลย

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า