“การได้ลองสวมบทบาทเป็นตัวละครในเรื่องราวต่างๆ เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีเยี่ยมรองลงมาจากประสบการณ์จริงเลยนะคะ”
คุณญาณี เหล่าวิริยะรัตน์ หรือ ครูเชอร์รี่ ผู้ก่อตั้ง CherryLala Learning Center ผู้เชี่ยวชาญด้านละครสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและครูสอนการแสดงที่ Indelible Footprints Thailand เล่าให้ฟัง โดยเน้นย้ำว่า การได้สวมบทบาทเป็นคนอื่น รวมทั้งการได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นในการสร้างละครสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น จะช่วยพัฒนาพฤติกรรมและทักษะในการใช้ชีวิตหลายอย่าง อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร ทักษะทางสังคม เป็นต้น
“ค่าย CherryLala Learning Center ของเราคือใช้ละครสร้างสรรค์ จริง ๆ แล้วไม่ต้องมีผู้ชมเลย มีแค่เด็ก ๆ ที่ต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ละครนั้นขึ้นมา กับครู เขาก็จะเรียนรู้ไปขณะเล่น คือในขณะที่สวมบท เขาก็ได้ลองไปนั่งในหัวใจของคนอื่นดู สื่อสารออกมาในฐานะตัวละคร รวมทั้งได้ฝึกการทำงานร่วมกันกับเพื่อน ๆ คือเราไม่ได้ต้องการให้ภาพออกมาเพอร์เฟกต์เหมือนพวกละครเวที สิ่งที่พวกเขาได้คือการฝึกให้ได้คุยกัน ร่วมกันตัดสินใจ เวทีต้องเป็นอย่างไร เสื้อผ้าที่ใส่ต้องเป็นอย่างไร ตรงนี้ก็จะได้เรื่องการสื่อสารเพราะว่ามันเป็นงานกลุ่ม และบางทีก็ได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์ด้วย เพราะเป็นการทำอะไรที่มีคนมากกว่า 2 คนขึ้นไปมันอาจจะมีความไม่ถูกใจ ขัดใจเกิดขึ้นได้บ้าง”
CherryLala เลือกนิทานหรือเรื่องราวตามวัยของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม คือตั้งแต่อายุ 4 – 15 ปี ซึ่งแยกระดับอายุลงไปอีก แล้วให้เด็กได้ลองทำกิจกรรมโดยสวมบทบาทเป็นตัวละครแล้วเล่นตามเรื่องราวในหนังสือหรือนิทานเรื่องนั้นๆ จากนั้นเมื่อการแสดงจบลง ก็จะให้เด็กๆ ทุกคนมานั่งคุยกันว่า สิ่งที่ได้จากกิจกรรมที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งผลที่ได้รับคือ เด็กมีทักษะในการใช้ชีวิตและพัฒนาพฤติกรรมของตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น 100%
“เมื่อเร็วๆ นี้เรามีโครงการเวิร์คชอปละครสร้างสรรค์การกุศล Creative Drama Workshop for Charity No.2 ตอน รอนแรม The Journey และเป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้กิจกรรมนี้จะจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะและพฤติกรรมของเด็กๆ แต่เมื่อให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกลับยิ่งสนุกและได้ประโยชน์ต่อทั้งตัวเด็กและครอบครัวมากขึ้น”
โดยงานนี้เราได้ให้คุณแม่ร่วมเล่นด้วย ในเรื่อง “รอนแรม” เป็นนิทานที่เกี่ยวกับ ผู้ลี้ภัย หนีภัยสงคราม ย้ายเมือง ย้ายประเทศ มันคือการรอนแรมอันยาวนานของแม่ลูกหลาย ๆ บ้าน ฝ่าเขตแดนกว่าจะข้ามดินแดนไปได้ มันมีความยากและหวาดกลัว อันนี้คือไม่ได้มีอะไรที่มีพื้นฐานเดียวกันกับผู้เรียนเลย แต่ต้องการให้ผู้เรียนมีประสบการณ์และเรียนรู้ว่า โอ้ อีกซีกโลกหนึ่งมีครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก เหมือนอย่างเรานี่แหละ แต่ว่ามีประสบการณ์ที่ต่างจากเรา ต้องหนี ต้องหาที่อยู่ใหม่ ต้องสร้างความหวังใหม่ ต้องอดทน ต้องมีความสามารถอีกหลายอย่างที่จะมีชีวิตรอดและอยู่ร่วมกัน จากนั้นเมื่อเล่นเสร็จก็ต้องคุยกันว่า เขาได้เรียนรู้อะไร เราก็จะค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่เขาได้เรียนรู้เยอะ เขารู้ว่าแม่ทุกคนเก่งที่สุดในโลกที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ รู้ว่าในการสูญเสียของสงครามนั้นเป็นอย่างไร ความอดทน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่างๆ
ตัวคุณแม่ก็แชร์กับลูกตรงๆ ว่าที่จริงแล้วในสถานการณ์นั้นแม่ก็กลัวนะ แต่ก็คิดว่า แม่ต้องรอดให้ได้ ต้องไปข้างหน้าให้ได้ เพราะว่ามันมีจังหวะที่ตัวละครแม่แอบนั่งร้องไห้ เพราะต้องคิดต่อว่าจะเอายังต่อไป เพราะในเรื่องนั้นมันมีปัญหาให้แก้ทุกวัน”
“ตัวเราเองมีหน้าที่วางแผนตั้งแต่ต้น มันเหมือนการเล่น แต่เป็นการเล่นที่มีโครงสร้าง เราก็จะเตรียมบทละครสำหรับเด็ก ๆ คือ นิทาน หนังสือภาพ วรรณกรรมเด็กที่เด็กอาจจะรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง คืออย่างน้อยถ้าเด็ก ๆ ไม่เคยอ่านก็จะสนใจ กลับบ้านไปอาจจะอยากไปหามาอ่าน เรื่องนี้ก็จะเชื่อมโยงกลับไปในเรื่องการอ่านหนังสือได้”
ขอพูดถึงการทำงานที่ได้ทำร่วมกับ Indelible Footprints Thailand ได้ทำงานกับเด็กที่คลองเตย เป็นเรื่องดีที่เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับเด็กๆ ก่อน เพื่อจะได้รู้ว่า เขามีปัญหาด้านไหน ด้านอารมณ์ สังคม อย่างไรบ้าง แล้วจากนั้นก็เริ่มปรับนิทานที่เราจะใช้ในกิจกรรมนั้นเพื่อให้ส่งผลในด้านที่เราตั้งเป้าหมาย เช่น การแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน ลดความรุนแรงทั้งทางกายและอารมณ์ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีระดับการรับรู้ หรือเรียนรู้เรื่องพวกนี้ได้ต่างกัน เพราะว่ามันเป็นเรื่องจิตใจ อารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็จะมีระดับต่างกันในมนุษย์แต่ละคน
“ตั้งแต่ทำมาก็ 100% เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ว่าขึ้นอยู่กับเวลา เพราะแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองช้าเร็วไม่เท่ากัน บางคนแค่เดือนเดียวก็ได้เลย หรือบางคนอาจจะ 3 เดือน ก็ตามแต่การเรียนรู้และการปรับตัวเด็กแต่ละคน แต่ว่าทุกคนเปลี่ยนแปลง ที่เห็นได้ชัดคือเด็กที่เป็นคนเก็บตัวเงียบๆ ขี้อาย เขาก็จะกล้าที่จะสื่อสารมากขึ้น มั่นอกมั่นใจ แต่ก็ต้องให้พื้นที่ที่ปลอดภัยกับเขาจริงๆ ในระหว่างที่ฝึกซ้อม ยังไม่ต้องคาดคั้นให้เขาไปโชว์ให้ใครดูเพราะกลุ่มนี้แค่คุยกับคนแปลกหน้าก็แย่แล้ว จะไปให้ไปโชว์ให้สายตาหลายๆคู่ดูมันก็จะโหดไป
เด็กที่รุนแรงมากๆ เอะอะต่อย เราก็จะพูดกับเขาว่า “น้องพิ้งค์ผู้น่ารัก ผู้แสนใจดีของคุณครู” “หูย คนใจดีมาแล้ว” คือ เป็นการโปรแกรมให้เขาเลยว่า เขาเป็นคนอย่างนี้ๆ จูนสมองเขาใหม่ แล้วเขาเปลี่ยนไปเร็วมาก นี่คือผ่านกระบวนการไปแค่ประมาณ 3 เดือน ตอนนี้เขาเป็นต้นแบบที่ดีเลย
แล้วก็มีเคส 1 ปี ที่เปลี่ยนไป ถือว่านานที่สุด แต่คุณแม่ใจเย็น ชิลๆ กลุ่มที่มาเรียนกับรี่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องโดดเด่นเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่เขาหวังว่าจะให้ลูกพัฒนาเรื่องความกล้าหาญ สื่อสาร ทำงานกับคนอื่นได้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่า เรื่องของ “พฤติกรรม” เป็นเรื่องที่ใช้เวลามาก”
ครูเชอร์รี่กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ของตนเองที่เหมือนได้รับการเปิดโลกใหม่เมื่อได้เรียนเรื่องวิชาละครสร้างสรรค์ในมหาวิทยาลัย ตนจึงเชื่อว่าในเด็กนั้น อย่างน้อยน่าจะต้องได้เข้าร่วมกิจกรรมละครสร้างสรรค์ 1 – 2 ครั้งในชีวิต
“กิจรรมนี้มันเกิดมาเพื่อเป็นประสบการณ์ที่เป็นสากล ทุกคนน่าจะได้ผ่าน ตัวรี่เองยังรู้สึกว่าเหมือนได้เปิดโลกใหม่เมื่อเรียนวิชานี้ในมหาวิทยาลัย ครูอนุญาตให้เราสื่อสาร คิด วิเคราะห์ คือเราเกิดมาในยุคการเรียนเป็นแบบ นั่งนิ่ง เรียน จดอย่างเดียว สู้กันที่ความทรงจำ เราไม่ได้ถูกสอนให้คิด วิพากษ์อะไรไม่เป็น แสดงความคิดเห็นก็ไม่กล้า กลัวจะผิดไปหมดทุกอย่าง พอได้มาเรียนรู้ตรงนี้จึงเหมือนกับอีกโลกหนึ่งเลย
พอมาทำงานตรงนี้เราได้เจอทั้งเด็กที่มาจากโรงเรียนในระบบปกติ และจากโรงเรียนทางเลือกนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เด็กที่มาจากโรงเรียนทางเลือกจะสนุกมาก เพราะว่าเขาเสรี ช่างตอบคำถาม คิดนั่นนี่โน่น เป็นธรรมชาติที่จะเรียนจากกิจกรรมแบบนี้ แต่อีกกลุ่มจะกลัวผิด ซึ่งถ้าผู้ปกครองมาเห็นก็จะได้ย้อนคิดว่า เราไม่เคยชวนลูกทำอะไรที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เลย หรือการที่ทำอะไรแล้วไม่ต้องกลัวผิด การกลัวผิด คือหายนะของการศึกษา เพราะรี่ก็เรียนผ่านการถูกเทรนว่า คุณผิดไม่ได้ แล้วพอเราพลาดอะไรในชีวิตซึ่งมันจะใหญ่แน่นอนเมื่อมันเป็นปัญหาในชีวิต เราก็จะยิ่งตอกย้ำหัวตะปูว่า แกล้มเหลว แย่ ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรจมนาน แต่เราถูกเทรนมาว่า เราผิดไม่ได้ เราต้องเลิศ เราต้องชนะเลิศ ต้องสำเร็จเท่านั้น ซึ่งมันผิดปกติธรรมชาติมนุษย์ เพราะความล้มเหลวเป็นธรรมชาติมนุษย์ ล้มก็แค่ลุกใหม่ แค่นั้น แต่ละครสร้างสรรค์ จะทำให้เห็นว่า เออ ผิดก็ไม่เป็นไร เล่นรอบที่แล้วตรงนี้ไม่เวิร์คนะ แก้ใหม่รอบต่อไป ก็รู้สึกว่าทุกคนควรจะมีประสบการณ์ละครสร้างสรรค์ เพราะมันมากกว่าแค่การแสดงออก แต่ว่ามันได้กระบวนการคิดที่ลึกซึ้งมาก สร้างความเข้าใจในเนื้อหาหรือปรัชญาบางอย่างได้อย่างดี” ครูเชอร์รี่กล่าว
ครูเชอร์รี่ยังกล่าวอีกว่าหากไม่มีเวลามาหาครูที่ CherryLala Learning Center พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะร่วมเล่านิทานหรือชมภาพยนตร์กับลูกที่มีหัวข้อที่คุณแม่อยากจะสื่อสาร เมื่อดูเสร็จก็มาคุยกันธรรมดา ไม่ต้องใส่อารมณ์ร่วมเพื่อฟังไอเดียและความคิดเห็นของลูก ซึ่งบางครั้งก็อาจจะดีจนแทบไม่น่าเชื่อ
“ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง โจโจ้ เมื่ออ่านเสร็จแล้วอาจจะถามลูกว่า คิดว่าทำไมโจโจ้ทำแบบนี้ จากนั้นลูกคิดว่าโจโจ้ต้องทำอย่างไรถึงจะมีความสุขขึ้น คือตั้งคำถามให้ลูกตอบ ยังไม่ต้องรีบสอนก็ได้ ฟังไอเดียลูกก่อน บางทีก็เจ๋งนะ มันจะเกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาแทน เวลาที่เด็กจะเล่นอะไรก็อย่าไปห้ามก่อน มันอาจจะไม่เข้าท่าในสายตาเราบ้าง แล้วเดี๋ยวเราค่อยมาคุยกัน ต้องใจเย็นอย่าเพิ่งหวังผลลัพธ์ ลองเป็นผู้เฝ้ามอง แต่ถ้าจุดไหนไม่เข้าท่ามาก ๆ อยากสอน ก็สอนด้วยท่าทีปกติ ไม่ต้องเอาอารมณ์ไปใส่ด้วย เพราะเด็กจะมีเซ้นส์เรื่องอารมณ์ที่ดีมาก ถ้าเขารู้ว่าอารมณ์เราไม่ดีตอนพูดเรื่องนั้นมันก็จะฝังความทรงจำไปอีกแบบ แต่ถ้ามู้ดโทนเราดี เล่าไปว่า อันนี้นะ ไม่น่าทำบอกเขาไปด้วยเหตุด้วยผล เขาจะเข้าใจได้มากกว่า”
ครูเชอร์รี่ย้ำกับเราว่า การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเด็กรุ่นใหม่ มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ยุคนี้ผู้คนไม่ได้เรียนมาเพื่อเข้าระบบ สอบแข่งขัน หรือเป็นลูกจ้าง แต่มันยังมีงานใหม่ ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่อีก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเกิดจากความคิดริเริ่มของเขาเอง
“อย่างเช่น ยูทูเบอร์ แค่มีตัวเองกับกล้องมือถือ แล้วทำเองหมดเลย ตั้งแต่คิด ตั้งกล้องอย่างไรดี เอามาตัดต่ออย่างไร ใส่ซาวน์อย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้เขาทำด้วยตัวเองหมดเลย ด้วยความคิดริเริ่มและการกล้าที่จะลงมือทำ เป็นคุณสมบัติของคนที่มีภาวะผู้นำ เราสามารถเอาทักษะชีวิตมาจับได้เลยผ่านการเรียนรู้แบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแสดง เต้น หรือกิจกรรมปฏิบัติอื่นๆ
“ทุกการเรียนรู้แบบกิจกรรมให้ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตทุกอย่าง”
ก็นับว่าเป็นอีกไอเดียดีๆ สำหรับผู้ปกครองที่อยากให้เด็กๆได้ใช้เวลาที่มีคุณภาพในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม และหากพ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาร่วมทำกิจกรรมกับลูกๆ ก็สามารถเข้าชมรายละเอียดกิจกรรมละครสร้างสรรค์ได้ที่ CherryLala Learning Center www.facebook.com/TeacherCherryLala