แม้หลายคนจะเริ่มเชื่อแล้วว่า วิถีชีวิตที่ไวรัสโควิด-19 หยิบยื่นให้เราโดยที่ไม่ร้องขอนี้มันจะอยู่กับเราไปอีกอย่างยาวนาน จนบางคนเอ่ยขึ้นมาว่ามันอาจจะไม่กลับไปเหมือนก่อนหน้านี้อีกแล้ว และนี่คือความปกติใหม่ หรือ นิว นอร์มอล (New Normal) แต่เราจะปล่อยให้นิว นอร์มอล มันดำเนินไปตามใจชอบได้จริงหรือ?!
ความ (จำเป็นต้อง) เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนั้นไม่ได้สามารถทำได้ในเวลาชั่วข้ามคืน นั่นทำให้เกิดหลายเรื่องที่อันตรายและควรต้องจับตามองกันอย่างจริงจัง การเรียนหรือการทำงานออนไลน์ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่กลายเป็นภัยเงียบ และทำอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจของผู้คนโดยไม่รู้ตัว อาทิ
- การต้องนั่งเรียน สอน หรือทำงานอยู่หน้าจอเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดสารพัดโรค เช่น โรคอ้วน สมาธิสั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพตา
- เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งเฉื่อยชา ต้องนั่งเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ทั้งที่โรงเรียนและเล่นโซเชียลมีเดียที่บ้าน พวกเขาก็ติดนิสัยเฉื่อยชาได้ ขณะที่เด็กที่ไม่เฉื่อยชาและออกกำลังกายเป็นประจำมีแนวโน้มจะเริ่มและรักษานิสัยที่ดีต่อสุขภาพไว้มากกว่า พวกเขามีแนวโน้มจะอาบน้ำเป็นประจำ มีอนามัยที่ดี และกินอาหารที่มีประโยชน์มากกว่า เมื่อนิสัยนี้ฝังลึกแล้ว ก็มีแนวโน้มจะติดตัวไปถึงวัยผู้ใหญ่
- เป็นโรคซึมเศร้าเพราะเกิดความเครียดความกังวลเกี่ยวกับการเรียนและปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน ครอบครัว เพื่อน และการดำรงชีวิต
ทั้งนี้เพื่อให้เด็กๆ มีความสุขและสุขภาพแข็งแรงมากยิ่งขึ้น มีวิธีใดบ้างที่ครูและผู้ปกครองซึ่งแม้จะมีความเครียดและความวิตกกังวลไม่แพ้กันต้องช่วยเด็กที่อาจจะรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ดีได้ไม่เท่า ผู้รู้หลายท่านบอกไว้ดังนี้
สถาบัน International Virtual Learning Academy หรือ IVLA เชื่อว่า ความสุขของบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนจริง
ชอว์น เอเกอร์ (Shawn Achor) กูรูทางด้านความสุข เจ้าของโปรแกรม Orange Frog เพื่อสอนเรื่องปรัชญาความสุข โดยมีเป้าหมายคือ “การสอนความสุข” การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความสุขมากขึ้นโดยเสริมสร้างนิสัยเชิงบวก กล่าวว่า ความสุขและทัศนคติที่ดีจะส่งเสริม หลายด้าน อาทิ จะทำให้เด็กๆ สุขภาพดีและมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น พัฒนาการของเด็กๆ เพิ่มมากขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้น
“การสอนความสุข” คือหลักการสำคัญของ Orange Frog ซึ่งก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่จากบทความของ เดวิด เลวิน (David Levine) จากเว็บไซต์ US New & World Report เปิดเผยว่า โครงการ Orange ได้ดำเนินการในเมือง ชวมเบิร์ก รัฐอิลลินอยส์ โดย Schaumburg Township Elementary District 54 ภายใน 3 ปีของผลสำฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ ในรัฐอิลลินอยส์เพิ่มขึ้นจาก 73 % มาอยู่ที่ 95% ผลลัพธ์น่าประทับใจมากจน แอนดรูว์ ดูรอส (Andrew DuRoss) ผู้กำกับการเขต 54 กล่าวว่า
“ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดที่ผมทำในฐานะผู้ดูแลกิจการโรงเรียน”
ดังนั้นจึงถือได้ว่าถึงจะไม่มีงานวิจัยใดรองรับ แต่ด้วยวิธีการแสนง่ายแต่แลกมาด้วยความสุของเด็กๆ ก็น่าทดลองทำมากทีเดียว
การสอนความสุข มีวิธีการง่ายๆ อย่างเช่น
ยิ้ม
รอยยิ้มสามารถช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายมากขึ้นได้ นี่เป็นเทคนิคที่ทรงพลังและเรียบง่าย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนให้ “ฝืนยิ้มปลอม” หากจำเป็น
บันทึกเรื่องราวดีๆ
ลองจดเรื่องราวดีๆ ลงในสมุด ยิ่งจดจะยิ่งเสริมสร้างให้รู้จักสรรหาและชื่นชมสิ่งดีๆ ในชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะทำให้ชีวิตมีแต่พลังบวกเพิ่มมากขึ้น การบันทึกความสุขนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ
การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Learning SEL)
นี่เป็นเทคนิคที่เน้นการให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข เป้าหมายคือสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างพลังอำนาจภายในตัวนักเรียนโดยเน้นที่แนวคิดหลัก เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความกล้าหาญ ความซาบซึ้ง และการให้อภัย
ออกกำลังกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายของเราจะเพิ่มความสุข โดยการนำกิจกรรมการออกกำลังกายขั้นพื้นฐานมารวมไว้ในโปรแกรมการศึกษาของนักเรียน หรืออาจจะหาเวลาออกกำลังเพิ่มขึ้นด้วยตนเอง เพื่อชดเชยเวลาที่นั่งติดที่นานเกินไปก็ได้จะทำให้ทั้งสภาวะทางร่างกายและจิตใจของนักเรียนดีขึ้น ผลการศึกษาของภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์พบว่า การออกกำลังกายสามารถเปลี่ยนรูปร่างและการทำงานของสมองเด็กได้ ความเข้าใจว่าการดำเนินชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงในวัยเด็กว่ามีประโยชน์ต่อระบบประสาทด้านการรู้คิดอย่างไร จึงมีผลสำคัญมากทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษา
เล่นดนตรี
การเพิ่มสีสันให้กับดนตรีเป็นอีกเทคนิคง่ายๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าส่งผลดีต่อนักเรียน การเล่นดนตรีไม่เพียงแต่ส่งเสริมบรรยากาศที่ผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความดันโลหิตและลดความวิตกกังวลได้อีกด้วย
ด้านกรมสุขภาพจิตของไทยเปิดเผยว่า สหประชาชาติได้ออกมาเตือนทั่วโลกแล้วว่า ให้เตรียมรับมือในพร้อมในเพราะคนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ เนื่องจากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความตาย ความเจ็บป่วย ความเศร้า โดดเดี่ยว ความยากจน และความเครียด อันเป็นผลจากโรคโควิด-19 ไม่เว้นแม้กระทั่งนักเรีนยที่นั่งเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน
สำหรับปัญหาที่เด็กไทยต้องเจอระหว่างการเรียนออนไลน์นั้นก็คือ ความเครียดเกี่ยวกับการเรียน การสอบ โดยเฉพาะเมื่อต้องสอบเข้าโรงเรียนใหม่หรือมหาวิทยาลัย การบ้านเยอะ และปัญหาเรื่องอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ซึ่งบางบ้านไม่สามารถหามาใช้งานได้ เหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและผู้ปกครองซึ่งอาจจะเครียดกว่าแต่ความสามารถในการรับมือกับความเครียดมากกว่าก็ต้องจับสังเกตอาการของเด็กๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงทีหากว่าพวกเขาต้องการ โดยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- จับสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ว่าแสดงความวิตกกังวลหรือไม่ หากพบให้ดูแลอย่างใกล้ชิด แสดงความรักความห่วงใย พร้อมรับฟังและอยู่เคียงข้าง ชวนทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ หรือกิจกรรมที่ลูกชอบ หาทางผ่อนคลายให้ลูกแล้วรอจนกว่าลูกพร้อมที่จะระบายให้ฟัง
- เติมพลังบวก กำลังใจที่ดีเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในสภาวะที่ร่างกายและจิตใจ่อนแอ พยายามใช้คำพูดทางด้านบวก มองปัญหาว่ามีทางออก เรื่องนี้หากครอบครัวเข้าใจจะช่วยให้อาการเครียดและวิตกกังวลต่างๆ ของเด็กลดลงได้มาก
นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างเว็บไซต์นวัตกรรม ‘My HERO’ เยียวยาความเครียดจากพิษโควิด โดย สสส.ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) พัฒนาเครื่องมือนวัตกรรมใจ เว็บไซต์ My HERO ที่ http://bsri.swu.ac.th/myhero/ เพื่อเป็นเครื่องมือออนไลน์สำหรับรู้เท่าทันสภาวะใจตนเอง ช่วยดูแลจิตใจ และสร้างเสริมสุขภาพจิตคนไทยในวิกฤติต่างๆ
My HERO ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ
- H-Hope การมีความหวัง
- E-Efficacy การเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
- R-Resiliency ความยืดหยุ่นทางจิตใจเมื่อเจออุปสรรค
- O-Optimism การมองโลกในแง่ดี สร้างมุมมองบวกต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน&อนาคต
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า
คนไทยได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตมาก มีการคาดการณ์ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก เพราะมีการศึกษาว่าเมื่อเกิดโรคระบาดระลอกแรกนั้น ปัญหาทางกายอาจจะจบที่ใส่หน้ากาก แต่ปัญหาสุขภาพจิตยังต่อยอดไปอีก 3-5 ปี ความเครียด เศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจะสูงขึ้นตามอัตราการแพร่ระบาด
การขยับร่างกายระหว่างวัน การบริหารจิตใจด้วยการเลือกทำและมองในสิ่งที่เป็นสุข เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเรื่องผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่เกิดจากพฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยนไป เพื่อให้ครอบครัว บ้าน โรงเรียน ที่ทำงานและทุกซอกส่วนเล็กๆ ของสังคมได้ประคับประคองกันและกันให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้
ที่มา :
- “7 เหตุผลที่การนั่งเรียนนาน ๆ ส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก” สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- “5 Ways to Teach Happiness in an Online Learning Environment” โดย International Virtual Learning Academy
- “ลดความตึงเครียดของเด็กเรียนออนไลน์” กรมสุขภาพจิต
- “สสส. เปิดเว็บไซต์ My HERO ชวนสร้างพลังสู้ ฝ่าวิกฤติโควิด” สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)