แม้การต่อสู้เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะจบลงด้วยชัยชนะ การฟื้นฟูเยียวยาอยู่ในกระบวนการเริ่มต้น แต่บทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 20 ปีได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมสืบสานวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชุมชนชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
จากเดิมที่เมื่อพูดถึง “หมู่บ้านคลิตี้ล่าง” ก็จะหมายถึงชุมชนที่มีปัญหามลพิษจากการทำเหมืองแร่ แต่ในวันนี้เด็กๆ ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้ลุกขึ้นมารวมตัวกัน นำบทเรียนในอดีตมาสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสืบสานตำนานการต่อสู้ ควบคู่ไปกับนำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาต่อยอดเป็น “พื้นที่เรียนรู้” เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในชนชาติพันธุ์ให้กับเด็กรุ่นใหม่
เพราะหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ ในชุมชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมานั้นจะสามารถ “อยู่ร่วม” กับคนอื่นๆ ในสังคม และสามารถ “อยู่รอด” ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้นั้นก็คือ “ความมั่นใจ” และ “ความภาคภูมิใจ” ในตัวตนของตนเอง
“ที่ผ่านมาเรื่องราวของคลิตี้ล่างที่ถูกนำเสนอออกไปมีแต่เรื่องของปัญหา ทั้งลำห้วยปนเปื้อนสารตะกั่ว ปัญหาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของชุมชน พวกเราจึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราจึงไม่เคยเห็นภาพชุมชนของเราถูกสื่อสารออกไปในทางที่ดีเลย แล้วเมื่อมันไม่ดี แต่ทำไมชาวคลิตี้ล่างก็ยังอยู่ที่นี่ ทำไมถึงไม่ย้ายออกไปข้างนอก คลิตี้ล่างมันมีดีอะไร” ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือ “น้ำ” แกนนำและผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนคลิตี้ล่างดีจัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน
พวกเขารวมตัวกันในชื่อ “คลิตี้ล่างดีจัง” ซึ่งเป็นหนึ่งใน“เครือข่ายพื้นที่ดีจัง” ที่ขับเคลื่อนโดย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อร่วมกันสื่อสารเรื่องราวดีๆ สิ่งที่มีคุณค่าของชุมชนออกไปสู่ภายนอก โดยนำเสนอผ่านประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาอาหารพื้นบ้าน การทอผ้า การจักสาน และการเรียนรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ในชุมชนได้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสร้างสรรค์
เพื่อร่วมกันลบภาพจำเก่าๆ ให้ “คลิตี้ล่าง” กลายเป็นภาพของชุมชนที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ และมีความผูกพันพึ่งพาอาศัยกันระหว่างชุมชนกับผืนป่าพร้อมกับร่วมกันเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้เป็น “พื้นที่เรียนรู้” ที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศวัย
“เราเชื่อว่าทุกตารางนิ้วของคลิตี้ล่างคือพื้นที่เรียนรู้ บ้านก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ เรื่องของความเชื่อและฮวงจุ้ย เตากลางบ้านก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจ แม้กระทั่งการทำไร่ จะมี 2 แบบทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ และการทำไร่หมุนเวียน เส้นทางเดินไปไร่ก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ เพราะระหว่างทางเราจะชอบเก็บผักเพื่อนำไปทำอาหาร ในชุมชนมีน้ำตก เด็กๆ ก็จะเล่นน้ำ ซึ่งก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเขา การจับกุ้ง จับปลาในน้ำ ก็ถือว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่ของคลิตี้ล่างจึงเป็นพื้นที่เรียนรู้ทั้งของคนในชุมชนและคนภายนอก” น้ำอธิบาย
เมื่อทุกพื้นของคลิตี้ล่างที่คือพื้นที่เรียนรู้ คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมเด็กๆ ในชุมชนต้องเรียนรู้ ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นคือวิถีชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งในประเด็นนี้มีคำอธิบายจาก “น้ำ” ไว้น่าสนใจว่า
“ก็เพราะว่ามันเป็นวิถีชีวิตของเรา เราจึงไม่ใส่ใจและละเลย ดังนั้นการที่จะเล่าเรื่องของตัวเองได้ จึงต้องทบทวนว่าวิถีชีวิตของเราคืออะไร เพราะไม่ใช่แค่คนนอกที่จะเข้ามาเรียนรู้ เราเองก็ต้องเรียนรู้ตัวเองด้วย เราจึงทำกิจกรรมกับเด็กๆ พยายามให้เขาได้เรียนรู้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนาแบบร่วมสมัย ให้คนรุ่นใหม่สนใจรักษาต่อ ส่วนคนรุ่นเก่าก็ยังได้เห็นของดีที่มีอยู่ในชุมชน สิ่งสำคัญคือกระบวนการที่จัดการกับสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ เช่น เทศกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูเกี่ยวข้าว เราก็จะชวนเด็กๆ มาเกี่ยวข้าว มาเรียนรู้ถึงความยากลำบากกว่าที่จะได้ข้าว แล้วให้เขาได้สื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไปในโซเซียลต่างๆ ด้วย”
ซึ่งการเปิดและเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในชื่อ “คลิตี้ล่างดีจัง” นั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่ให้คนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ในวิถีชีวิตของพวกเขาเท่านั้น ในขณะเดียวกันเด็กและเยาวชน รวมไปถึงคนอื่นๆ ในชุมชนยังได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากผู้คนที่เข้าในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน และยังเป็นช่องทางเชื่อมโยงเปิดรับโอกาสดีๆ จากภายนอกเข้ามาหาเด็กและเยาวชน ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้สูงอายุและคนในชุมชน ให้เกิดความรู้และความเข้าใจใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความรู้สึกภาคภูมิใจและเท่าเทียม
“อย่างเช่นเรื่องอาชีพ เด็กๆที่นี่ส่วนใหญ่จะรู้เฉพาะอาชีพครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล แค่นั้น เมื่อมีอาชีพอื่นเข้ามาก็ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้นและสนใจอยากรู้ว่านี่คืออาชีพอะไร และเรียนรู้ที่จะถามถึงอาชีพต่างๆ มากกว่าที่เขารู้จัก สำหรับเด็กๆ แต่เดิมเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยในการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนภายนอกมากขึ้น เขาก็มีความภาคภูมิใจกล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน เมื่อมีความมั่นใจ สิ่งที่ตามมาก็คือการมีความคิดนอกกรอบมากขึ้น เด็กๆ เริ่มมีความคิดที่จะต่อยอด เช่นการนำผ้าทอไปผลิตเป็นกระเป๋าสตางค์ กิ๊ปช้อป หรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ แทนที่จะทำแค่เสื้อกับกระเป๋าซึ่งขายได้ยากกว่า รวมไปถึงการต่อยอดภูมิปัญญาด้านสมุนไพร ด้วยการผลิตชาใบเตย ชาตะไคร้ หรือชาดอกกุหลาบ ในแบรนด์ของชุมชนเอง” น้ำระบุถึงความเปลี่ยนแปลง
วิมลรัตน์ ทองผาภูมิปฐวี หรือ “วิ” หนึ่งในแกนนำเยาวชนเล่าว่า ถ้าไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในปี 2557 ก็คงไม่รู้ว่าปัญหาของหมู่บ้านนั้นมีอะไรบ้าง เพราะเด็กส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปเรียนข้างนอกทั้งหมดจึงแทบไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดของตนเอง แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมหลายๆ ครั้งเข้า ก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชนในหลายๆ ด้าน รู้ว่าทำไมในไร่ต้องปลูกดอกไม้อย่างดาวเรือง หงอนไก่ บานเย็น ก็เพื่อไล่แมลง ได้เรียนรู้ทำไมผ้าทอจึงได้มีราคาแพงเพราะทำได้ยากทั้งละเอียดและประณีต ใช้เวลากว่าที่จะได้ผ้าแต่ละผืนนานเกือบ 3 เดือน
“คลิตี้ล่างของเรามีวิถีความเป็นอยู่ที่ดี ดีตรงที่ได้อยู่กับธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์สมบูรณ์ มีวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ที่มีคุณค่า มีอาหารพื้นบ้านมากมายตามฤดูกาลที่สามารถหาได้จากริมห้วยและในป่าโดยไม่ต้องซื้อ อย่างหน้าหนาวก็มีแกงคั่วแตงเปรี้ยว หน้าฝนก็หน่อไม้ เห็ดโคน หน้าแล้งก็มีเผือก มัน และผักต่างๆ ริมลำห้วย” วิเล่าถึงบ้านเกิดของเขาอย่างภูมิใจ
จารุวรรณ สุขเจริญประเสริฐ หรือ “วรรณ” แกนนำรุ่นใหม่อีกคนเล่าว่า ถึงแม้จะเรียนจบจากข้างนอก แต่ก็ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้าน และมีความสุขมากกว่าอยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพสูง
“ที่หมู่บ้านเรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แบ่งปันอาหารซึ่งกันและกัน อาหารต่างๆ สามารถหาได้จากลำห้วยลำคลองโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ จะออกไปทำงานข้างนอกบ้างก็เมื่อที่บ้านไม่มีงาน ซึ่งเราอยากให้คลิตี้ล่างดีจังเป็นสื่อกลางในการรวมตัวกันของเด็กในหมู่บ้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของตนเอง มีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ทำ จะได้ห่างไกลจากปัญหาการติดเกมและยาเสพติดด้วย” วรรณกล่าว
“คลิตี้ล่างดีจัง จึงเป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้ทั้งสิ่งใหม่และเก่าไปพร้อมกัน เพื่อให้เด็กๆ ไม่ลืมของเก่า สร้างความมั่นใจ และภูมิใจในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถพัฒนาตัวเอง และอยู่ในสังคมได้ อย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ”
น้ำกล่าวสรุป
วันนี้ “คลิตี้ล่าง” ไม่ใช่ชุมชนสารพิษ(ตะกั่ว) แต่คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ผูกพันกับสายน้ำและธรรมชาติ ที่เยาวชนทุกคนได้ลุกขึ้นมาร่วมกันสืบสานตำนานการต่อสู้ ควบคู่ไปกับการร่วมอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงาม เพื่อร่วมกันเปลี่ยนภาพจำในอดีตให้กลายเป็น…“คลิตี้ล่างดีจัง”.
“พื้นที่เรียนรู้คลิตี้ล่าง” สร้างเด็กรุ่นใหม่เกิดความภูมิใจในชาติพันธุ์
- ลด Generation Gap คนต่างวัยสามารถเกิดความรู้ การเรียนรู้และความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้สูงอายุและคนในชุมชน ในการอยู่ร่วมกับสังคมที่แตกต่างอย่างมีความรู้สึกภาคภูมิใจและเท่าเทียม
- เยาวชนมีรายได้เพิ่มขึ้น นำผ้าทอของหมู่บ้านไปผลิตเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเอง กล้าบอกว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน มีความมั่นใจก็กล้าคิดกล้าทำ
- สามารถแก้ปัญหาเยาวชนติดเกมและยาเสพติด จากการเรียนรู้วัฒนธรรมของตัวเอง เป็นกิจกรรมที่นำมาซึ่งการแก้ปัญหาเยาวชนติดเกมและยาเสพติดด้วย
- เกิดการพัฒนาแบบร่วมสมัย จากการเรียนรู้อดีตและปัจจุบัน