“การเล่น” ถือเป็นกิจกรรมทางกายสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายและลดสภาวะเนือยนิ่ง จากสภาวะปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ติดเกม โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องพฤติกรรมและสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคอ้วนที่เป็นบ่อเกิดไปสู่โรคร้ายต่างๆ กลุ่ม NCDs เมื่อเติบโตขึ้น ดังนั้นหากมีการส่งเสริมการเล่นอย่างสร้างสรรค์ และยิ่งได้นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์เข้าไปสนับสนุน ก็เชื่อว่าจะดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอเพื่อให้กลับมามีสุขภาวะดีขึ้นได้
ล่าสุดมีการเปิดตัว “สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ” ที่บ้านพักตำรวจน้ำ ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกันพัฒนา 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่นของเด็กช่วงอายุระหว่าง 6-14 ปี ที่เหมาะสำหรับชุมชนย่านเจริญกรุง ภายใต้การดำเนินโครงการออกแบบพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและแนวทางสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการ Active Play
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. บอกถึงความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กว่า ปัจจุบันเด็กไทยกำลังเผชิญภาวการณ์มีพฤติกรรมทางกายน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 60 นาทีต่อวัน โดยปัจจุบันเด็กไทยมีพฤติกรรมทางกายประมาณ 23 นาทีต่อวันเท่านั้น หากไม่เร่งส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเด็กตั้งแต่ยังเล็ก อาจเกิดผลทั้งด้านสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอนาคตได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ หรือขาดทักษะการเข้าสังคม โดยกิจกรรมทางกายจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยนั้นเกิดจากการได้เล่นน้อย ไม่ว่าจะในบ้านหรือชุมชน ประกอบกับในสังคมปัจจุบันที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กหันมาเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ต ทำให้เกิดภาวะติดจอมากขึ้นด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรสนับสนุนและจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ลูกหลานได้เล่นอย่างมีคุณภาพมากขึ้น