ความพิการไม่ใช่สิ่งผิดปกติ “ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล” ค้นหาความเท่าเทียมให้สังคม

“มุมมองของความพิการมันเปลี่ยนไปนะครับ ไม่ใช่ปัญหาบุคคลอีกต่อไป  มันคือปัญหาเชิงสภาพแวดล้อมแล้วครับ”

ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ และ มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม ซึ่งทำงานเพื่อยกระดับสังคมคนพิการให้เกิดความเท่าเทียม โดยใช้ทุกอย่างที่มีโดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ และ ‘ใจที่เกินร้อย’ บอกกับเราอย่างนั้น

 และเมื่อมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมให้กับคนพิการ กิจกรรมพิเศษพร้อมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นมาไม่ขาดสาย

เราได้รู้จักับ ‘กล่องดินสอ’ ซึ่งอุทิศตัวเองให้เป็นที่ที่รวบรวมสื่อสำหรับผู้พิการเข้าไว้ในครั้งแรกผ่าน ‘เล่นเส้น’ อุปกรณ์วาดรูปสำหรับคนตาบอดเมื่อเกือบ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแผนการเรียนการสอนในโรงเรียนได้

หลังจากนั้น ‘กล่องดินสอ’ ก็สร้างนวัตกรรมใหม่มากมายขึ้นโดยมีเป้าหมายในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน ‘พรรณนา’ แอปพลิเคชันเสียงบรรยายภาพที่ทำให้คนตาบอดได้มีโอกาสเข้าชมภาพยนตร์ในโรงพร้อมกับคนตาดี โดยไม่ต้องเสียเวลาทำรอบพิเศษ และไม่มีใครเสียโอกาสที่จะไม่ได้ดูหนังเรื่องนั้น โดยในปัจจุบันกับแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ ก็สามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ได้ด้วย

ต่อเนื่องกันมากับ ‘โวหาร’ แอปพลิเคชันที่จะทำงานส่งเสริมการทำงานของพรรณาให้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและใช้คนทำงานน้อยลงด้วย

นอกจากนี้ยังมี ‘ปรากฏ’ อุปกรณ์กายภาพบำบัดด้วยการสำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Neuromuscular Disorders) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะต้องกินยาและทำกายภาพบำบัดตลอดชีวิต แอปนี้ถูกสร้างมาให้สอดคล้องและร่วมงานได้กับแพล็ตฟอร์มเกมส์ทุกชนิด ทำให้การทำกายภาพไม่ต่างอะไรจากการเล่นเกมเป็นอีกหนึ่งวิธีการจูงใจที่ทำให้เด็กๆ ชอบการทำกายภาพบำบัดมากยิ่งขึ้น

ไม่ใช่เพียงแต่นวัตกรรมใหม่ๆ เท่านั้น แต่เพื่อความเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะการยกระดับคนพิการให้มีพื้นที่มากขึ้นนั้น เขายังสร้างกิจกรรมที่แทบจะเปลี่ยนสิ่งที่ผู้คนคิดให้พลิกกลับแบบ 360 องศาอีกด้วย และมีหลายกิจกรรมที่ทำจนประสบความสำเร็จแล้วอย่าง ‘โครงการวิ่งด้วยกัน’ มหกรรมการวิ่งที่รับนักวิ่งทั่วไปให้ได้วิ่งไปด้วยกันกับคนไม่พิการ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นไปได้ ‘เด็กพิการ โตไปเรียนไหนดี’ โครงการที่พยายามอย่างยิ่งที่จะให้เด็กพิการได้อยู่ในระบบการศึกษาให้ได้มากและยาวนานที่สุด หรือโครงการชื่อแปลกอย่าง ‘หากินกับคนพิการ’ โครงการที่ถูกสังคมไทยซึ่งหนักไปทาง ‘สังคมอุปถัมภ์’ มองอย่างคลางแคลงใจ

“เมื่อเราไปขอให้คนพิการได้เข้าร่วมกับงานวิ่งทั่วไปแล้วเขาบอกปฏิเสธ โดยอาจจะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย หรือใดๆ ก็ตาม เราจึงจัดงานวิ่งของเราขึ้นมาเอง เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่า เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้จริง คนพิการก็สามารถลงวิ่งมาราธอนได้จริงๆ จนหลายปีผ่านไป คนก็เริ่มเห็นภาพคนไม่พิการและคนพิการทุกประเภทมาวิ่งด้วยกันเป็นเรื่องปกติแล้วครับ ตอนนี้มีน้องๆ เด็กพิการบางคนวิ่งระยะมาราธอน ขณะที่บางคนก็จบที่ 100 กิโลเมตรไปแล้ว”

“ผมว่ามันขึ้นอยู่กับว่า เขาได้รับโอกาสของสังคมขนาดไหน แล้วเขากล้าที่จะหาโอกาสในชีวิตตัวเองแค่ไหน แน่นอนครับคนที่เคยมองเห็นมาก่อนเคยเดินได้มาก่อนเนี่ย พอเขาสูญเสียความสามารถตรงนั้นไปมันจะเฟล แต่ว่าใครจะสามารถช่วยดึงตรงนั้นเขาขึ้นมาได้ให้เขาได้เห็นว่า จริงๆ ชีวิตมีโอกาสนะ มีคนพร้อมจะซัปพอร์ต ตรงนั้นสำคัญมากว่า ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีมูลนิธิ มีองค์กรอื่นๆ ที่ทำเรื่องนี้อีกเยอะครับ”

“สำหรับโครงการ ‘เด็กพิการโตไปเรียนไหนดี’ มันเกิดจากการที่เราได้ข้อมูลว่า มีเด็กพิการเข้าสู่ระบบการศึกษาในชั้นประถมประมาณ 70,000 คน แต่เรียนไปจนถึงระดับชั้นอุดมศึกษาเพียงแค่ 500 คนเท่านั้น หลายคนบอกว่า คนพิการเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร เพราะอาชีพของคนพิการมีตัวเลือกน้อย แต่ผมมองว่า การศึกษามันไม่ได้นำมาซึ่งอาชีพเท่านั้น แต่ความรู้มันช่วยให้เรารู้จักการพัฒนาชีวิตได้ด้วย แต่ว่าเด็กพิการมันมีข้อจำกัดเยอะ ตั้งแต่ตัวเด็กเอง ครอบครัว สถานศึกษา เรื่องสถานศึกษาเนี่ยเราเข้าไปยุ่งลำบาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องของนโยบาย เป็นเรื่องของความพร้อมทางการศึกษา ความพร้อมของครู อันนี้เป็นภาพใหญ่มากๆ ซึ่งเราไม่ได้เข้าไปแตะ สิ่งที่เราเข้าไปแตะ คือปัญหาของตัวนักเรียน เช่น ปัญหาของการเลือกที่จะไม่เรียนต่อเพราะ หนึ่งเรื่องความพิการของเขา สอง เรื่องความพร้อมด้านการเงิน เด็กพิการเนี่ยมีต้นทุนในชีวิตสูงกว่าเด็กไม่พิการครับ ทำให้เขาเรียนต่อไม่ไหว สาม เรียนต่อแล้วทำงานอะไร และสี่ข้อมูลที่เขาควรจะได้รับ เช่น ถ้าอยากเรียน เขาตอ้งไปเรียนที่ไหน สมัครยังไง เรามองว่าสี่อันนี้เป็นปัญหาของเด็กพิการในการเรียนต่อ และสี่อันนี้เป็นสิ่งที่โครงการเด็กพิการเรียนไหนดีอยากเข้ามาแก้ไขครับ

สิ่งที่เราเริ่มแล้ว คือเรื่องของข้อมูล เราเป็นศูนย์รวมข้อมูลการศึกษาของเด็กพิการ โดยเริ่มทำในระดับมหาวิทยาลัย ก็คือเด็กมัธยมเข้ามาในมหาวิทยาลัยนะครับ เราเป็นศูนย์ข้อมูลและก็ศูนย์แนะแนวนะครับ เชื่อมโยงทั้งเด็กพิการ ผู้ปกครอง  มหาวิทยาลัยให้มาอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งทีแรกก็มีเพียงแค่ 10 มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่เข้าร่วม แต่ตอนนี้ก็มีเยอะขึ้นแล้ว เพราะเขาเห็นว่ามันมีเด็กที่อยากเรียนนะ แล้วด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยนโยบายต่างๆ ทำให้เขาเปิดรับมากเราก็มีหน้าที่เชื่อมโยงตรงนี้เข้าด้วยกัน”

“ส่วนเรื่อง ‘หากินกับคนพิการ’ ตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นความเท่าเทียมที่ชัดเจนที่สุด เราอยู่ในโลกของทุนนิยม ถ้ามีใครอยากจะหากินกับผม ก็ต้องทำอาหารอร่อยๆ ทำเสื้อผ้าดีๆ ทำของที่ใช้ที่มีประโยชน์มา แล้วผมก็จ่ายเงินให้เขา นี่คือกระบวนการการหากินในกลไกของทุนนิยม ในฝั่งของคนพิการ ผมอยากช่วยให้ทุกคนมาหากินเหมือนกันนะครับ แต่การจะหากินกับคนพิการได้หมายความว่า คุณจะต้องทำของที่เขาใช้แล้วมีประโยชน์ ของที่มันเหมาะสมกับเขา ของที่มันดีกับเขาขึ้นมา เขาถึงจะยอมจ่ายตังให้คุณ

แต่ตอนนี้เราไม่มองว่าเขาเป็นลูกค้าด้วยซ้ำ เพราะเราไม่อยากหากินกับคนพิการไงครับ แต่ถ้าสมมุติว่าเราอยากหากินกับคนพิการ เราจะทำร้านอาหารของเราให้คนที่ใช้คนวีลแชร์หรือคนตาบอดเข้ามานั่งกินที่ร้านได้ ถามว่าการที่เขามากินร้านอาหารของเราได้เนี่ยชีวิตเขาดีขึ้นมั้ย ดีขึ้นครับ ชีวิตเราดีขึ้นมั้ยเราดีขึ้นครับ  ดังนั้นมันดีขึ้นทุกฝ่าย มันคือกลไกของทุนนิยมนะครับ ดังนั้นเราไม่ต้องมองในเรื่องของการสงเคราะห์หรือบริจาค แต่ให้คิดว่า ทำยังไงให้คนพิการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เราทำอยู่ได้ ก็คือให้เป็นกลไกปกติ เพียงแต่ให้มีคนพิการอยู่ในกลไกนั้นด้วยเท่านั้น”

และต่อคำถามที่ว่า คนไทยมีความคิดเรื่องระบบอุปถัมค่อนข้างเข้มข้น คุณต่อให้ความคิดเห็นว่า นี่เป็นโจทย์ที่ท้าท้ายอย่างหนึ่ง

“ฝั่งของคนพิการจะถูกปลูกฝังมาตลอดครับว่า เขาเป็นคนพิการ เขาต้องได้รับของฟรี ต้องได้รับความอนุเคราะห์ ความช่วยเหลือ มันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ในโรงเรียน สมาคมคนพิการ มูลนิธิคนพิการต่างๆ ที่เขาเคยอยู่มา ถ้าเราไปเลี้ยงอาหารกลางวันนะครับมันจะเป็นปกติมากเลยที่น้องๆ จะมาร้องเพลงให้ฟัง

แล้วคนที่มาบริจาคก็ร้องไห้ดีใจกัน โรงเรียนก็ได้เงินบริจาคไป แต่คำถามของผมก็คือ แล้วตัวเด็กที่ร้องเพลงแบบนั้นทุกวันน่ะ เขาจะรู้สึกยังไง

วิธีการแก้ไขปัญหานี้ของเราก็คือ ทุกครั้งที่เราหาอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมของเรา เราจะบอกเสมอว่า ‘ขออภัยด้วยนะครับงานนี้คุณไม่ได้มาทำบุญ คุณแค่มาร่วมกิจกรรมกับเพื่อนคนพิการของคุณเท่านั้นเอง และด้วยการที่เราเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาออกแบบกิจกรรมขบวนการต่างๆ เขาจะไม่รู้สึกว่าเขาแตกต่างจากคุณเลย’ นี่คือสิ่งเราพยายามจะสื่อสารออกไป”

ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ก่อตั้งมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคมยอมรับว่า แมสเสจที่ส่งไปมันยังไม่ออกสู่วงกว้างมากพอ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำให้มันดีขึ้นได้

“มันมีอยู่ 2 อย่างที่พวกเราสามารถมาช่วยกันได้ในเรื่องของคนพิการ  หนึ่ง ถามตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอาหาร ผลิตสินค้า งานด้านบริการหรือการศึกษาอะไรต่างๆ นั้น คนพิการเข้าถึงได้มั้ย ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีในจุดนี้มันแทบจะทำได้ทั้งหมดแล้ว สองก็คือลองถามตัวเองดูว่า เราเปิดโอกาสให้คนพิการเป็นส่วนหนึ่งของทีมเราได้มั้ย แค่ 2 อย่างนี้ครับ ไม่ต้องไปบริจาคเงิน ไม่ต้องไปเลี้ยงอาหารกลางวัน ไม่ต้องไปทำอะไรเลยครับ แค่ทำ 2 อย่างนี้ให้ได้เนี่ยพอแล้วสำหรับคนพิการ”

“เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่คนพิการต้องการมากที่สุด คือโอกาสที่เท่าเทียม”

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า